Skip to main content
sharethis

ผลสำรวจธุรกิจ 4,500 แห่งใน 45 ประเทศ โดย ILO พบธุรกิจขนาดเล็กและเล็กมากมีปัญหากระแสเงินสดไม่เพียงพอที่จะรักษาพนักงานไว้ในช่วงวิกฤต COVID-19


ที่มาภาพประกอบ:  Yacine Imadalou/ILO (CC BY-NC-ND 2.0)

29 พ.ย. 2563 รายงานฉบับใหม่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) 'A global survey of enterprises: Managing the business disruptions of COVID-19' ที่ทำการศึกษาผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ต่อธุรกิจต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าความท้าทายที่สำคัญที่สุดของภาคธุรกิจคือกระแสเงินสดไม่เพียงพอที่จะรักษาระดับพนักงาน และการดำเนินงานที่หยุดชะงักในส่วนของซัพพลายเออร์และการเข้าถึงวัตถุดิบ

ทั้งนี้ธุรกิจต่าง ๆ ได้รับแรงกดดันทางการแข่งขันอย่างมากก่อนเกิดวิกฤตนี้อยู่แล้ว รัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกจึงมีความท้าทายในการ 'กู้คืน' ทั้งทางด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ

กระแสเงินสดหยุดชะงักเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดจากการสำรวจ มากกว่าร้อยละ 85 ระบุว่าการระบาดของ COVID-19 มีผลกระทบทางการเงินในระดับสูงหรือปานกลางต่อการดำเนินงาน มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ระบุว่าพวกเขามีเงินทุนเพียงพอสำหรับการกู้คืนธุรกิจสู่สภาพปกติ ทั้งนี้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดเล็กมาก (ที่มีพนักงาน 99 คน หรือน้อยกว่า) ได้รับผลกระทบมากที่สุด

การสำรวจนี้ ILO ได้ร่วมมือกับองค์การนายจ้างและธุรกิจ (EBMO) ทำการสำรวจธุรกิจมากกว่า 4,500 แห่งใน 45 ประเทศทั่วโลก EBMO รวบรวมข้อมูลจากสมาชิกระหว่างเดือน มี.ค.-มิ.ย. 2563 ธุรกิจต่าง ๆ ถูกถามเกี่ยวกับความต่อเนื่องในการดำเนินงาน สถานะทางการเงิน และพนักงาน ในช่วงที่ต้องเผชิญกับปัญหา COVID-19

ร้อยละ 78 ของผู้ที่ถูกสำรวจระบุว่าได้เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงาน แต่ 3 ใน 4 ระบุว่ายังสามารถดำเนินการต่อได้ในบางรูปแบบแม้จะมีมาตรการจากข้อจำกัดของรัฐบาลก็ตาม และร้อยละ 85 มีมาตรการเพื่อปกป้องพนักงานที่จากไวรัส COVID-19

เกือบร้อยละ 80 ระบุว่าพวกเขาวางแผนที่จะรักษาพนักงานไว้ (ส่วนใหญ่ในจำนวนนี้เป็นธุรกิจขนาดใหญ่) อย่างไรก็ตามประมาณ 1 ใน 4 ระบุว่าพวกเขาคาดว่าจะสูญเสียพนักงานมากกว่าร้อยละ 40 

เมื่อมองไปในอนาคตจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันและลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการหยุดชะงักของการดำเนินธุรกิจ น้อยกว่าครึ่งหนึ่งขององค์กรที่สำรวจมีแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCP) เมื่อเกิดการระบาดใหญ่ โดยธุรกิจขนาดเล็กและขนาดเล็กมากไม่ค่อยมีการเตรียมตัวดังกล่าว นอกจากนี้มีเพียงร้อยละ 26 ตอบว่าได้รับการประกันโดยสมบูรณ์ แต่ร้อยละ 54 ระบุว่าไม่มีความคุ้มครองใด ๆ เลย ธุรกิจขนาดกลาง (ที่มีพนักงาน 100 ถึง 250 คน) มักจะได้รับความคุ้มครองทั้งหมดหรือบางส่วน

การเสริมสร้างมาตรการสนับสนุนของรัฐบาลสำหรับธุรกิจต่าง ๆ ก็มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวเช่นกัน ธุรกิจ 4 ใน 10 แห่งระบุว่าพวกเขาไม่มีเงินทุนเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของธุรกิจ ในขณะที่ 2 ใน 3 ระบุว่าเงินทุนไม่เพียงพอ จากการวิเคราะห์พบว่าภาคการท่องเที่ยวและการบริการ ตามด้วยการค้าปลีกและการขาย มีแนวโน้มมีปัญหาการระดมทุนมากที่สุด

ที่มา
Cash flow the biggest problem facing business during COVID-19 crisis (ILO, 27/11/2020)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net