Skip to main content
sharethis

ทำไมม็อบถึงไป 'ราบ1' และ 'ราบ11' กับการแปลงสภาพเป็น 'ส่วนราชการในพระองค์' การแต่งตั้งและการให้พ้นจากตําแหน่ง การจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลให้เป็นไปตาม 'พระราชอัธยาศัย' และจาก 'ที่ดินสาธารณสมบัติฯ' และ 'ที่ราชพัสดุ' สู่ 'เขตพระราชฐาน' ?

จากกรณีวันนี้ (29 พ.ย.63) ผู้ชุมนุมเดิมกำหนดนัดหมายชุมนุมที่ ราบ 1 ก่อนย้ายมาเป็น ราบ 11 นั้น ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานนี้เป็นส่วนหนึ่งใน 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่เรียกร้องให้ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น

ส่วนราชการในพระองค์

ในรายงานสำรวจภูมิทัศน์การเมืองไทยช่วง ‘รอยต่อ’ ที่ทีมข่าวการเมืองประชาไทรายงานไปเมื่อต้นปีระบุ ไว้ถึงประเด็นนี้ โดยอ้างถึง วาด รวี’ นักเขียนผู้สนใจการเมืองเคยศึกษาเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ คือ ฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่สนช.โหวตไม่ผ่าน, ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ผ่านประชามติ, ฉบับปัจจุบันซึ่งมีพระราชวินิจฉัยแก้บางส่วนหลังผ่านประชามติ เขานำเสนอว่าบทบัญญัติที่เกี่ยวกับ ‘ส่วนราชการในพระองค์’ ไม่มีระบุไว้ในฉบับบวรศักดิ์ แต่มีระบุไว้ในมาตรา 15 ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยซึ่งนำไปให้ประชาชนโหวต โดยที่ในระหว่างการทำประชามติไม่มีใครทราบนัยของมาตรานี้ และไม่มีการอภิปรายประเด็นนี้แต่อย่างใด

มาตรา ๑๕ การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตําแหน่ง ให้เป็นไปตาม พระราชอัธยาศัย
การจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา

เดือนเมษายน 2560 หรือราว 6 เดือนหลังรัชกาลที่ 10 ทรงขึ้นครองราชย์ ได้มีการออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 โอนหน่วยงานราชการ 5 แห่งมาเป็นส่วนราชการในพระองค์ โดยการจัดระเบียบส่วนงานต่างๆ กำหนดไว้ให้เป็นไป “ตามพระราชอัธยาศัย” ได้แก่

1.สำนักราชเลขาธิการ-เดิมเป็นส่วนราชการอิสระ มีฐานะเทียบเท่ากรม ราชเลขาธิการอยู่ใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี
2.สำนักพระราชวัง-เดิมเป็นหน่วยราชการในพระองค์ มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง โดยขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
3.กรมราชองครักษ์-เดิมสังกัดกระทรวงกลาโหม
4.หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์-เดิมสังกัดกระทรวงกลาโหม
5.สำนักงานนายตำรวจราชสำนัก-เดิมสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สำหรับเหตุผลในการสร้างหน่วยงานลักษณะนี้ขึ้นมา เราอาจทำความเข้าใจได้ผ่านหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติที่ระบุว่า

 

โดยที่กรมราชองครักษ์และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ กระทรวงกลาโหม เป็นส่วนราชการที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับราชการในพระองค์และพระราชกรณียกิจขององค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งต้องถวายงานตามโบราณราชประเพณีและพระราชอัธยาศัย การปฏิบัติราชการจึงแตกต่างจากส่วนราชการของฝ่ายบริหารทั่วไป กรณีจึงสมควรกำหนดฐานะของส่วนราชการดังกล่าวขึ้นใหม่ ให้เป็นส่วนราชการในพระองค์โดยปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ มีการจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลเป็นการเฉพาะให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อให้การบริหารราชการในพระองค์เหมาะสมและสอดคล้องกับภารกิจของราชการในพระองค์ และสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ตามพ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้ส่วนราชการในพระองค์ “ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และไม่เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายอื่นใด” ซึ่งนั่นส่งผลให้หน่วยงานเหล่านี้ไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบขององค์กรตรวจสอบต่างๆ ที่มีหน้าที่ตรวจสอบหน่วยงานราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามปรกติ ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช., ผู้ตรวจการแผ่นดิน, สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือหากมีผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของหน่วยงานต้องการฟ้องร้องก็จะไม่สามารถกระทำผ่านศาลปกครองได้เหมือนกรณีกระทรวงทบวงกรมทั่วไป

อย่างไรก็ดี ในพระราชกฤษฎีกาได้กำหนดรายละเอียดว่า ส่วนราชการในพระองค์ได้แบ่งส่วนงานเป็น 3 ส่วนหลักและมีสถานะเป็น “นิติบุคคล” คือ (1) สํานักงานองคมนตรี (2) สํานักพระราชวัง (3) หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ 

ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ส่วนราชการในพระองค์ตั้งงบประมาณไว้ที่ 7,685.3 ล้านบาท จากเดิมที่เคยได้ 6,800 ล้านบาทในปี 2562 เพิ่มขึ้น 885.3 ล้านบาทหรือ 13%

มาตรา ๑๔ การโอนข้าราชการในพระองค์ไปเป็นข้าราชการฝ่ายอื่นที่ไมใช่ข้าราชการในพระองค์หรือการโอนข้าราชการฝ่ายอื่นเช่นว่านั้นมาเป็นข้าราชการในพระองค์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย และให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฏหมายเพื่อให้มีการโอนตามพระราชอัธยาศัยต่อไป

มาตรานี้ในพระราชกฤษฎีกามีนัยสำคัญว่าพระมหากษัตริย์สามารถโอนย้ายกำลังพลระหว่างส่วนราชการในพระองค์และส่วนราชการอื่นได้ตามพระราชอัธยาศัย รูปธรรมสะท้อนผ่านการโอนย้ายกำลังพลที่เกิดขึ้นในกรณีที่รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพล และงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562  โดยกำหนดให้โอนกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ไม่เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่คณะรัฐมนตรีจะออกเป็นพระราชกำหนด แต่สุดท้าย พ.ร.ก.นี้ก็ผ่านสภาเป็นที่เรียบร้อยเมื่อเดือนตุลาคม 2562

หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ แบ่งโครงสร้างหน่วยงานเป็น 1.สำนักงานผู้บังคับบัญชา  2.สำนักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์ 3.สำนักงานฝ่ายเสนาธิการในพระองค์ 4.กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์  5.กองบัญชาการตำรวจราชองครักษ์ในพระองค์

จะเห็นได้ว่าไม่เพียงทหารเท่านั้นที่ต้องโอนย้ายไปสังกัดหน่วยราชการในพระองค์ ตำรวจก็เช่นกัน

ในวงการตำรวจ ปี 2562 ถือว่าเป็นปีที่ระส่ำระสายหนัก วันที่ 16 สิงหาคม 2562 คอลัมน์อาณาจักรโล่เงินใน นสพ.แนวหน้า ‘เกลือสมุทร’ คอลัมนิสต์ที่มักเขียนถึงเรื่องราวในวงการตำรวจได้เผยแพร่บทความที่มีอายุสั้นมากเพราะถูกถอดออกหลังเผยแพร่ได้ไม่กี่วัน บทความดังกล่าววิจารณ์ผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อย่างรุนแรงกรณีที่ปล่อยให้นายตำรวจผู้ใหญ่บางคนสร้างความก้าวหน้าให้ตนเองด้วยการ “มัดมือชก” ตำรวจจำนวนมากให้ไปเป็น “ตำรวจราบ” ซึ่ง ไม่สังกัด สตช. อีกต่อไป แม้ไม่ได้กล่าวถึงโดยตรง แต่หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์เป็นองค์กรเดียวที่มีตำรวจอยู่ใต้สังกัดและขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์

แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ระบุว่า มีหนังสือคำสั่งให้คัดเลือกนายตำรวจชั้นสัญบัตรและชั้นประทวน “ชั้นดีเลิศ” เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมและโอนย้ายไปสังกัดหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ โดยมียอดรวม 873 นายตั้งแต่ระดับ พ.ต.อ. จนถึง ส.ต.ต. คนกลุ่มนี้ต้องได้รับการฝึกปรับพื้นฐานเป็นเวลา 6 เดือน (1 ต.ค.2562-31 มี.ค.2563) เกณฑ์การคัดเลือกดูจากมีบุคลิกภาพเหมาะสม (ขาไม่โก่ง ไม่ผอมกะหร่อง ไหล่ไม่เอียง ไม่สวมแว่นตา น้ำหนักเหมาะสม สูง 170-180 ซม.) มีความจงรักภักดี มีทัศนคติที่ดี มีร่างกายแข็งแรง มีความพร้อมทุกด้านและลงนามในบันทึกสมัครใจปฏิบัติหน้าที่

อย่างไรก็ดี ภายใต้สถานการณ์นี้เกิดความขัดแย้งไม่น้อยเนื่องจากไม่มีความชัดเจนในโครงสร้างใหม่ การคัดเลือกมีการกำหนดกลุ่มเพียงคร่าวๆ ว่า เป็นข้าราชบริพารสังกัดใดก็ได้ กับ ข้าราชบริพารสังกัดตำรวจ ทำให้ตำรวจที่ถูกคัดเลือกจำนวนหนึ่งชิงลาออกจากราชการและอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่สมัครใจโอนย้ายก็ไม่ยอมมารายงานตัว กลุ่มหลังนี้ถูก “ธำรงวินัย” ด้วยฝึกยาว 9 เดือน โดยช่วงเวลาหนึ่งต้องไปฝึกในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ด้วย เบื้องต้นทราบว่ากลุ่มนี้มีกว่าร้อยนาย

26 ก.ย.2562 นิตยสาร COP’S ซึ่งเป็นนิตยสารเกี่ยวกับตำรวจ เผยแพร่บทความระบุว่า ตำรวจชั้นประทวนจำนวนมากรู้สึกอึดอัด “พวกผมผิดอะไร หากพวกผมไม่ไปฝึก ทำไมต้องให้พวกผมลาออก” “ผมเหมือนโดนหลอก เหมือนพ่อแท้ๆ ของตัวเอง หลอกขายลูกตัวเองให้หน่วยงานอื่น” 

30 ก.ย.2562 หรือก่อนเริ่มต้นการฝึกปรับพื้นฐานตำรวจราบ 1 วัน พล.ต.ท.มนู เมฆหมอก ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ลงนามในคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 552/2562 เรื่อง อนุญาตให้ข้าราชการตำรวจลาออกจากราชการ ตามโครงการปรับเปลี่ยนกำลังพล รุ่นที่ 20 (งบประมาณ พ.ศ.2563) รวมทั้งสิ้น 933 นาย ตั้งแต่ระดับดาบตำรวจ ไปจนถึงพันตำรวจเอก และมีระดับพลตำรวจตรี 2 นาย นี่น่าจะเป็นการลาออกครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของวงการตำรวจหรือไม่และจะส่งกระทบอย่างไรต่อประชาชน ยังคงเป็นคำถาม

จาก 'ที่ดินสาธารณสมบัติฯ' และ 'ที่ราชพัสดุ' สู่ 'เขตพระราชฐาน' ?

เฟซบุ๊ก 'Wassana Nanuam'  ของวาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหารหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ โพสต์ว่า หลังจากที่ ร.11 รอ. ย้ายโอนจาก ทบ. มาเป็นหน่วยในพระองค์ และ เรียกว่า “ทม.ร.11 มหด.รอ.” กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และเป็น เขตพระราชฐานในพระองค์ (บางเขน) แล้ว

ขณะที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ 'พูติกาล ศายษีมา' โพสต์ว่า

วาสนายืนยันว่าทั้ง ร.1 และ ร.11 เป็นเขตพระราชฐานทั้งคู่ ? ทำให้เกิดคำถามคำโตว่าจากเดิมที่ดินของทั้งสองหน่วยงานมีสถานะเป็น "ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน" และ "ที่ราชพัสดุที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะของ" ได้กลายมาเป็น "เขตพระราชฐาน" ตั้งแต่เมื่อไหร่?

แล้วการเปลี่ยนสถานะจากที่ดินสาธารณฯสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน/ที่ราชพัสดุ มาเป็น "เขตพระราชฐาน" คือการเอาที่ดินรัฐสมบัติแผ่นดินเป็นเกือบ 2 พันไร่กลางใจเมืองให้กลายมาเป็นสมบัติส่วนตัวหรือไม่?

ราบ 11

ที่ดินของราบ 11 บริเวณบางเขนเดิมนั้นมีสถานะ 2 แบบ คือ 1. เป็น" ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน" และ 2. เป็น"ที่ราชพัสดุอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ" ซึ่งเมื่อเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่สามารถจะโอนย้ายถ่ายเทได้ยกเว้นออกเป็น พรบ.

แต่ในวันที่ 13 กค.2562 มีการออก พ.ร.ฎ. เพื่อถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะของที่ราชพัสดุ ซึ่งเป็นที่ดินของ ราบ 11 ไปเป็นเนื้อที่ 1,340 ไร่... ทำให้ที่ราชพัสดุในบริเวณนั้นไม่มีสถานะเป็นสาธารณสมบัติฯอีกต่อไป การสามารถโอนเปลี่ยนสภาพเปลี่ยนเจ้าของก็ทำได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องออก พ.ร.บ. ใช้เพียง มติ ครม.

จะเหลือเพียงที่ดินบางส่วน(ที่เป็นคลอง) ที่ยังมีสถานะเป็นสาธารณะสมบัติ (ใน พ.ร.ฎ. ฉบับเดียวกัน มีการถอนสภาพที่ดินริมน้ำใกล้ท่าพายัพ ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯด้วย แต่จะขอละไม่อธิบายในที่นี้)

ถอนสภาพที่ดินสาธารณะ 'ราบ 11 บางเขน' 1,340 ไร่ และที่ดินใกล้ท่าพายัพ 2 งาน 

อีกราว 2 เดือนกว่า (30 ก.ย.62) มีการออก พ.ร.ก.โอนกำลังพล ร.1 และ ร.11 ไปให้เป็นส่วนราชการในพระองค์)https://www.bbc.com/thai/thailand-49880897

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 63 ก็มีการออก พ.ร.ฎ.ถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันอีกประมาณ 34 ไร่ ทำให้ที่ดินบริเวณ ราบ 11 ทั้งหมดไม่มีสถานะเป็นที่ดินสาธารณสมบัติอีกต่อไป การโอนเปลี่ยนสภาพสามารถทำได้ง่ายขึ้นไม่ต้องออกเป็น พ.ร.บ.

ราบ 1

ที่ดิน ราบ 1 (มี 2 ส่วนคือ สามเสน และ วิภาวดี) เดิมก็มีสถานะเป็น "ที่ราชพัสดุอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ" เช่นกัน

แต่เมื่อวันที่ 5 ก.ค 62 ได้มีการออก พ.ร.ฎ.เพื่อถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะของที่ราชพัสดุ บริเวณพื้นที่ ราบ 1 ทั้ง 2 ส่วนรวมกันประมาณเกือบ 500 ไร่ อย่างเงียบๆ ขนาดที่ไม่ค่อยมีสื่อรายงาน เพราะยังไม่เข้าใจในนัยยะที่แท้จริง ส่วนใหญ่คาดว่าเป็นไปตามนโยบายย้ายทหารออกนอกเมือง

เมื่อที่ราชพัสดุบริเวณนั้นไม่มีสถานะเป็นสาธารณสมบัติอีกต่อไป ก็สามารถโอนเปลี่ยนสภาพเปลี่ยนเจ้าของได้ง่าย ไม่ต้องออก พ.ร.บ. ใช้เพียง มติ ครม.

อีกราว 2 เดือนกว่า (30 ก.ย. 62) ถึงมีการออก พ.ร.ก. โอนกำลังผล ร.1 และ ร.11 ไปให้เป็นส่วนราชการในพระองค์) เมื่อถึงตอนนี้สื่อถึงพึ่งเข้าใจถึงจุดประสงค์ในการถอนสภาพการเป็นสาธารณฯที่ทำไปทันที https://www.bbc.com/thai/thailand-49880897

กฎการโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุฯเปลี่ยนให้ง่ายขึ้นสำหรับ "กิจการของพระมหากษัตริย์"

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 62 มีการประกาศกฎกระทรวงเรื่อง "การโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุที่มิใช่ที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ พ.ศ. 2562" ซึ่งเป็นฉบับใหม่ โดยมีเนื้อหาที่เปลี่ยนไปที่สำคัญใน ข้อ 2 วรรค 2 ยกเว้นให้การโอนกรรมสิทธิ์ให้ "กิจการของพระมหากษัตริย์" ไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงนี้ เพียงแค่ให้ปลัดเสนอ รมต และ ให้ ครม อนุมัติก็สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ทันที ต่างจากฉบับเดิมที่ออกในปี 2550 ซึ่งไม่มีข้อยกเว้นเรื่องนี้

อย่างไรก็ตามจนถึงวันนี้รัฐบาลไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูลว่าได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเกือบ 2 พันไร่กลางกรุงเทพฯไปให้ "กิจการของพระมหากษัตริย์" แล้วหรือไม่อย่างไร? มีเพียงการเอ่ยถึงอย่างไม่เป็นทางการเป็นครั้งคราวว่าบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็น "เขตพระราชฐาน"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net