Skip to main content
sharethis

2 นักเรียนเลว 1 นักเรียนไท เข้ารายงานตัว สน.ลุมพินี ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากกรณีการร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ต.ค. บริเวณแยกราชประสงค์

 

30 พ.ย. 2563 เวลา 13.00 น. ที่ สน.ลุมพินี ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ หรือ มิน, เบญจมาภรณ์ นิวาส หรือ พลอย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มนักเรียนเลว และคณพศ เเย้มสงวนศักดิ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มนักเรียนไท พร้อมด้วย คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางมาตามหมายเรียกรายงานตัวของ สน.ลุมพินี ฐานฝ่าฝืน ข้อกำหนดที่ออกตามมาตราที่ 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จากกรณีการร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ต.ค. บริเวณแยกราชประสงค์

คุ้มเกล้า ระบุว่า วันนี้เป็นเดินทางมารับทราบข้อกล่าวตามหมายเรียกของ สน.ลุมพินี  พนักงานสอบสวนได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งพฤติการณ์ที่พนักงานสอบสวนนำมาใช้ในการแจ้งข้อกล่าวหานั้นทราบเพียงแค่เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ต.ค. แต่จะเป็นกรณีใดนั้นยังไม่ทราบเนื่องจากยังไม่ได้เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา

ส่วนแนวทางการช่วยเหลือทางด้านคดีความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนนั้น คุ้มเกล้า ระบุว่า มีแนวทางในการปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ส่วนพฤติการณ์หากทราบว่ามีอะไรในรายละเอียดนั้นก็จะมีการให้การในละเอียดเพื่อโต้แย้งข้อกล่าวหาขอพนักงานสอบสวน

ลภนพัฒน์คาดว่าการตั้งข้อกล่าวหาตอนนี้อาจเกี่ยวข้องกับการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ซึ่งมองว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิของพลเมือง ฉะนั้นการโดนตั้งข้อกล่าวหาจากการชุมนุมทางการเมืองถือเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม และเมื่อดูจากพฤติการณ์เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ตน และ เบญจมาภรณ์ ได้ขึ้นเวทีปราศรัยจริง แต่ขึ้นไปเต้นเพลงเเจวเรือเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจพอสมควรหากการตั้งข้อกล่าวหาจากกรณีนี้

“มันดูไม่ค่อยเมคเซนต์เท่าไหร่ในการที่จะมาดำเนินคดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น ต่อให้เราไปร่วมชุมนุมหรือขึ้นไปอยู่บนเวทีก็ตาม แต่สิ่งที่ตำรวจทำนั้น ไม่ได้ดูเลยเหรอว่าพฤติการณ์ของพวกเราคืออะไร และมันแทบจะเกี่ยวข้องกับการเมืองน้อยมาก” ลภนพัฒน์ กล่าว พร้อมย้ำว่า ออกไปชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ควรเป็นสิ่งที่ประชาชนในประเทศสามารถทำได้  และรัฐธรรมนูญได้รองรับสิทธิเสรีภาพในเรื่องนี้ รวมทั้งอนุสัญญาด้านสิทธิเด็กก็ระบุเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน แต่เมื่อประชาชนไปใช้สิทธิเสรีภาพของตัวเองก็ถูกรัฐยัดข้อกล่าวหาให้ เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามว่า สมควรแล้วหรือไม่ 

“มันสมควรหรือไม่กับการที่เด็กออกไปแสดงออกทางการเมือง แล้วถูกดำเนินคดีกลับมา เด็กหลายคนที่ออกไปชุมนุมทางการเมือง หรือแสดงออกการเมืองต้องเอาเทปมาแปะป้ายชื่อตัว แปะป้ายชื่อโรงเรียน คำถามคือพวกเขาต้องทำขนาดนั้นเลยหรอ ทั้งๆ ที่ กฎหมายต่างๆ ก็ได้คุ้มครองพวกเขาไว้ แต่เราอยู่ในรัฐที่ มีความไม่ปกติสูงมาก สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเราต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น” ลภนพัฒน์ กล่าว

นอกนี้ ลภนพัฒน์ แจ้งด้วยว่า วันพรุ่งนี้ได้มีการรณรงค์จากองค์กรนักเรียนหลายแห่งทั่วประเทศให้นักเรียนใส่ชุดไปเวทไปโรงเรียน ซึ่งถือเป็นการแสดงออกเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐอย่างหนึ่ง เพราะแท้จริงแล้วการใส่หรือไม่ใส่เครื่องแบบนักเรียนไปโรงเรียนนั้นไม่ได้กระทบต่อผลการเรียนของนักเรียนเลย 

ส่วนกิจกรรมในวันนี้ ลภนพัฒน์ เปิดเผยว่าขอให้ติดตามสถานที่ทั้ง 9 แห่งนี้ไว้ขณะที่ตนเข้าไปรายงานตัวกับพนักงานสอบสวน ประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ , อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย , แอร์พอร์ตลิงค์พญาไท , แอร์พอร์ตลิงค์มักกะสัน , ท่าเรืออโศก , เอ็มอาร์ทีสุขุมวิท , บีทีเอสสยาม , สกายวอล์คปทุมวัน และบีทีเอสศาลาแดง โดยขอให้สื่อมวลชนติดตามพื้นที่เหล่านี้ไว้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net