รวมทุกความตีบตัน: 10 ปีคดีคนตายจากการสลายชุมนุมปี 53 ไปถึงไหน

เป็นเวลา 10 ปีแล้วตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) ที่ชุมนุมกันยาว 3 เดือนเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาเลือกตั้งใหม่

และเพราะเป็น 10 ปีหรือครึ่งทางของอายุความคดีอาญาแล้ว เราจึงขอทบทวนมันอีกครั้ง โดยเฉพาะความคืบหน้าคดีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมทั้ง 94 คน แบ่งเป็นประชาชน 84 คน เจ้าหน้าที่ 10 คน (อ้างอิงตัวเลขตามรายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53 หรือ ศปช.ซึ่งนับการเสียชีวิตภายหลังเหตุการณ์แต่สืบเนื่องจากการสลายการชุมนุมเพิ่มด้วยอีก 3 ราย)

เท้าความก่อนกว่า การชุมนุมในยุคก่อนนั้นโดยมากเป็นการชุมนุมยืดเยื้อเพื่อบรรลุข้อเรียกร้อง กรณีของนปช.เริ่มต้นในวันที่ 12 มีนาคม มวลชนหลักนอกจากคนจนเมืองแล้วยังประกอบไปด้วยคนต่างจังหวัดจำนวนมากที่พร้อมปักหลักค้างแรม

ช่วงแรกนายกรัฐมนตรีรับมือด้วยการออกคำสั่งตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบหรือ ศอ.รส.ขึ้น (11 มี.ค.) ตามอำนาจของ พ.ร.บ.ความมั่นคงก่อนเพื่อควบคุมสถานการณ์ แต่การชุมนุมก็ยังดำเนินต่ออีกหลายสัปดาห์ นอกจากจะปักหลักที่ถนนราชดำเนิน ยังยกระดับไปปักหลักที่ราชประสงค์ (6 เม.ย.) เพิ่มเติม ต่อมา 7 เม.ย.รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเพื่อใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเปลี่ยนชื่อ ศอ.รส.เป็น ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง หรือ ศอฉ.

สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี (ที่มา: ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล)

สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. ส่วน พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ เป็นรองผู้อำนวยการ คณะกรรมการประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปลัดกระทรวงต่างๆ อัยการสูงสุด ฯลฯ ทุกปฏิบัติการในการสลายการชุมนุมมาจากส่วนนี้

บุคคลที่นั่งใน ศอฉ.เวลานั้นหลายคนทรงอำนาจอยู่ในทุกวันนี้ เช่น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รอง ผบ.ทบ.ช่วงสลายการชุมนุมอยู่ในฐานะผู้ปฏิบัติงานและได้ขยับเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศอฉ.พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในเวลานั้นก็เป็นรัฐมนตรีมหาดไทยในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็มีบุคคลที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของ ศอฉ.แต่ถูกดำเนินคดีเสียเองอย่าง ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

3 วันต่อมา ศอฉ.ก็ใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธสงครามเข้าสลายชุมนุมครั้งแรก ภายใต้ชื่อปฏิบัติการที่ดูอ่อนโยน ‘ขอคืนพื้นที่’ ที่ถนนราชดำเนินในวันที่ 10 เม.ย. ก่อนจะมีปฏิบัติการพร้อมอาวุธสงครามครั้งที่สองในชื่ออันเป็นมิตร ‘กระชับพื้นที่’ โดยใช้ทหารตั้งวงล้อมพื้นที่ศาลาแดงตั้งแต่ 13 พ.ค.และสลายการชุมนุมได้สำเร็จในวันที่ 19 พ.ค.

โอนคดีจากตำรวจไป ‘ดีเอสไอ’ เปิดช่องไร้กรอบเวลา

คืนวันที่ 10 เม.ย.เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญเพราะเป็นเหตุการณ์แรกที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ต่อมาวันที่ 16 เม.ย. ศอฉ.มีมติให้คดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของ นปช.ไปอยู่ในมือดีเอสไอทั้งหมด โดยธาริต เพ็งดิษฐ์ นั่งเก้าอี้อธิบดีดีเอสไอควบตำแหน่งใน ศอฉ.ด้วยในคราวเดียวกัน

ก้าวย่างนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการโอนคดีไปดีเอสไอกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คดีของผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน ยังไม่ไปถึงไหนจนปัจจุบัน เนื่องจากกฎหมายดีเอสไอไม่มีการกำหนดเวลาทำสำนวนเพื่อไต่สวนการตายดังเช่นคดีปกติ

ต้องเข้าใจกระบวนการทางกฎหมายกันก่อนว่า หากมีการเสียชีวิตผิดธรรมชาติทั้งการวิสามัญฆาตกรรมหรือการตายในระหว่างการควบคุมตัวหรือรักษาพยาบาลที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง ไม่ว่าทหาร ตำรวจ ราชทัณฑ์ รวมถึงแพทย์พยาบาล จะต้อง ‘ไต่สวนการตาย’ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ซึ่งมีเวลากำหนดชัดเจนว่า ตำรวจและอัยการต้องดำเนินการโดยแม้ขยายเวลามากที่สุดแล้วก็ต้องอยู่ภายใน 247 วัน ก่อนยื่นขอต่อศาลให้มีการไต่สวนการตาย หลังจากศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายแล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนของการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา

ขั้นตอนโดยสรุปมีดังนี้

  1. ตำรวจท้องที่และกองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบเก็บหลักฐาน
  2. ตำรวจ อัยการ ฝ่ายปกครองและแพทย์นิติเวช ชันสูตรพลิกศพร่วมกัน
  3. ตำรวจทำสำนวนส่งให้อัยการ
  4. อัยการพิจารณาแล้วยื่นคำร้องต่อศาลให้ไต่สวนการตาย
  5. ศาลไต่สวนการตายและมีคำสั่งว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ได้ ตายด้วยสาเหตุใด ใครเป็นผู้กระทำ

ดังนั้น ตามกระบวนการมาตรา 150 ไม่ว่าจะทำให้ช้าขนาดไหนก็ช้าได้แค่ 8 เดือนกว่าก่อนถึงศาล และไม่มีดีเอสไอเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนกระบวนการไต่สวนในศาลอาจใช้เวลาตั้งแต่ 1 เดือนจนถึง 2 ปี แล้วแต่จำนวนพยานที่นำสืบ

สิบเอก คชารัตน์ เนียมรอด (ซ้าย) และ สิบเอกศฤงคาร ทวีชีพ (ขวา) ทหารสองนายเคยเป็นพยานที่ดีเอสไอเคยเรียกสอบเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่บริเวณบ่อนไก่ ถ.พระราม 4

เมื่อเรื่องถึงศาลจะมีการเปิดการไต่สวนแบบเปิดสาธารณะ (แม้ว่าหลายครั้ง ในคดีสลายการชุมนุมผู้พิพากษาสั่งห้ามจดบันทึกหรือไม่ให้นักข่าวร่วมฟัง โดยอ้างเรื่องความเป็นส่วนตัวของพยานทหาร) โดยอัยการจะนำพยานบุคคลมาเบิกความถึงเหตุการณ์และแสดงหลักฐานว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายเมื่อไร ที่ไหน อย่างไร โดยครอบครัวผู้ตายสามารถตั้งทนายความเข้ามาซักถามพยาน ขอดูหลักฐานของอัยการและนำพยานบุคคลและหลักฐานมาแสดงต่อศาลเพิ่มเติมได้

แต่เมื่อคดีนี้ไปอยู่ในมือดีเอสไอทำให้เกิดความล่าช้า เพราะเมื่อพนักงานสอบสวนในท้องที่ทำการชันสูตรศพแล้ว แทนที่จะส่งอัยการได้เลยก็ต้องส่งสำนวนคดีกลับไปให้ดีเอสไอสืบสวนสอบสวนต่อก่อน และ พ.ร.บ.กรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาไว้ว่าต้องแล้วเสร็จภายในกี่วัน จึงไม่แปลกที่คดีจะแทบไม่มีข่าวคราวความเคลื่อนไหว

อย่างไรก็ตาม คดีของผู้เสียชีวิต 91 ราย (ตัวเลขทางการ) มีความคืบหน้าอยู่ในช่วงสั้นๆ ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนจะโดนรัฐประหารในที่สุด เท่าที่ประชาไทสืบค้นได้พบว่ามีการไต่สวนการตายในศาลไปแล้ว 33 คน หลังจากศาลมีคำสั่งไต่สวนแล้ว คดีก็จะกลับไปที่ดีเอสไออีกครั้งเพื่อทำสำนวนคดีอาญาแล้วส่งต่อให้อัยการพิจารณาส่งฟ้อง(หรือไม่ฟ้อง) เป็นคดีอาญาต่อไป

ผลการไต่สวนการตาย 33 คน

  • 11 คน ศาลมีคำสั่งอย่างชัดเจนว่าเป็นการตายที่เกิดจากการกระทำของทหาร

  • 16 คน ศาลเพียงระบุว่ากระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่โดยไม่ทราบผู้กระทำ (ในจำนวนนี้มี 3 คนที่ศาลระบุว่ากระสุนมาจากพื้นที่ใด แต่ไม่ระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวทหารควบคุมแล้ว)

  • 6 คน ศาลไม่ระบุทั้งผู้กระทำและทิศทางการยิง

กว่าจะรู้ความคืบหน้าคดีจากดีเอสไอ

หลังการรัฐประหาร ไม่มีความคืบหน้าใดในเรื่องนี้กว่า 6 ปี ในเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมาประชาไทจึงทำหนังสือขอทราบความคืบหน้าคดีของผู้เสียชีวิตที่เหลือไปที่ดีเอสไอว่าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว ต่อมาดีเอสไอปฏิเสธให้ข้อมูลอ้างว่าเป็นความลับในสำนวนคดี ประชาไทจึงยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ คณะกรรมการวินิจฉัยให้ดีเอสไอให้ข้อมูลเพราะเป็นเพียงการถามความคืบหน้า มิใช่ข้อมูลในสำนวนคดี วันที่ 16 ต.ค.2563 ดีเอสไอจึงมีหนังสือตอบกลับมาว่า “ได้ส่งสำนวนคดีของผู้เสียชีวิตทั้งหมดที่เหลืออยู่ไปให้อัยการคดีพิเศษแล้ว” (ดูรายชื่อในล้อกรอบด้านล่าง) นอกจากนี้ประชาไทได้ทำหนังสือถึงสำนักงานอัยการเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2563 เพื่อสอบถามความคืบหน้าคดีทั้งหมดว่ามีการไต่สวนการตายไปแล้วกี่ราย หรือถึงขั้นดำเนินคดีอาญาบ้างแล้วหรือไม่ แต่จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 อัยการยังไม่ได้มีหนังสือตอบกลับมา นอกจากคำตอบจากเจ้าหน้าที่ผ่านสายโทรศัพท์ว่าอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลจากสำนักงานอัยการคดีพิเศษกองที่ 1 และ 4

6 เดือนที่ติดตามความคืบหน้าทางคดีจาก 2 หน่วยงานได้ผลสรุปว่า ไม่มีคำตอบที่ชัดแจ้ง

ศาลพลเรือนไม่รับ-อัยการทหารไม่ฟ้อง

อย่างไรก็ตาม ปรากฏมีคดีของผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 คดีที่มีความเคลื่อนไหวอยู่บ้าง คือ

  • พัน คำกอง ครอบครัวและทนายความยื่นฟ้องต่อศาลอาญาเอง ศาลอาญา-ศาลอุทธรณ์ไม่รับฟ้องอ้างว่าอยู่ในอำนาจของศาลทหาร

  • กมนเกด อัคฮาด ดีเอสไอมีความเห็นสั่งฟ้องและส่งสำนวนต่อให้อัยการศาลทหาร อัยการทหารสั่งไม่ฟ้อง อ้างหลักฐานไม่เพียงพอ

(อ่านรายละเอียดคำสั่งในล้อมกรอบท้ายรายงาน)

พะเยาว์ อัคฮาด: "เถ้ากระดูกเขายังอยู่" จนกว่าคนที่ฆ่าลูกจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ทั้งนี้ ในชั้นไต่สวนการตาย ทั้ง 2 คดีนี้ศาลยุติธรรมเห็นว่า พยานหลักฐานเพียงพอที่จะมีคำสั่งว่าเสียชีวิตจากการที่ทหารใช้อาวุธปืนสงครามยิง นี่เป็นเพียง 2 คดีที่มีความคืบหน้ามากที่สุดจนถึงขั้นการฟ้องเป็นคดีอาญา แม้การฟ้องจะต่างเส้นทาง แต่ก็ไปสู่จุดร่วมเดียวกันคือ ไปต่อไม่ได้ ไม่มีใครต้องรับผิด

“ถ้าเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมโดยปกติจะไม่ใช่แบบนี้ แต่นี่มันไม่ปกติ เพราะมีคนไปทำให้มันไม่ปกติ มันจึงไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น” โชคชัย อ่างแก้ว กล่าว

โชคชัย อ่างแก้ว เป็นหนึ่งในทนายความที่ให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมหลายคนในคดีไต่สวนการตาย และยังเป็นทนายความให้ครอบครัวของพัน คำกองอีกด้วย

โชคชัยกล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมาทำได้แค่ไต่สวนการตายเพื่อทราบสาเหตุว่าการตายเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร ขณะที่ความคาดหวังของญาติผู้เสียชีวิตต้องการให้ผู้กระทำความผิดได้รับการลงโทษ พวกเขาพยายามไปร้องที่ ป.ป.ช. ดีเอสไอ อัยการ เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดแต่ผลสุดท้ายก็หยุดไปหมด เหมือนถูกสะกัดทุกช่องทาง สุดท้ายจึงต้องพึ่งตัวเองด้วยการฟ้องผู้กระทำความผิดด้วยตัวเอง

“เราเริ่มฟ้องเมื่อกันยายน 2562 โดยเอาการตายของพัน คำกอง มาฟ้องเพราะศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายชี้ชัดแล้วว่าการตายเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร พยานหลักฐานค่อนข้างชัดเจน ทั้งคลิปทั้งผู้ที่ทราบถึงหน่วยทหารที่รับผิดชอบแล้วก็ผู้ควบคุมการปฏิบัติ เราฟ้องผู้ควบคุมการปฏิบัติในการกระทำการที่เป็นเหตุให้นายพัน คำกอง ถึงแก่ความตาย แต่ศาลก็มีคำสั่งไม่รับฟ้อง”

ทนายความอธิบายว่า เมื่อฟ้องว่าทหารร่วมกระทำความผิดกับพลเรือนแต่ยังไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด โดยปกติแล้วศาลจะรับฟ้องไว้ก่อนแล้วไต่สวนว่ามีพลเรือนหรือใครที่เกี่ยวข้องที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง แล้วทำให้ข้อเท็จจริงปรากฏ กระบวนการยุติธรรมต้องพิสูจน์ว่ามีเจตนาฆ่าหรือไม่อย่างไร แต่เมื่อศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้อง เขาจึงอุทธรณ์ต่อ แต่สุดท้ายศาลอุทธรณ์ก็มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น อย่างไรก็ตาม เขายังคงยืนยันว่ายังมีช่องทางให้ยื่นฟ้องต่อไปได้ แต่อาจกระทำในเวลาที่คิดว่าเหมาะสม เป็นประชาธิปไตยเต็มที่

ภาพแนวทหารที่ถนนราชปรารภในวันที่ 14 พ.ค.2553 ในช่วงบ่าย

“ก่อนหน้าจะตัดสินใจฟ้องเอง ตอนแรกมันเป็นหน้าที่ ป.ป.ช.ต้องไต่สวน เพราะเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ ป.ป.ช.ส่งมาให้ดีเอสไอ เพราะป.ป.ช.ไม่มีความเชี่ยวชาญในคดีอาญา ทราบว่าดีเอสไอก็ทำไปเยอะแล้ว คดีไหนที่ศาลสั่งไม่มีตัวผู้กระทำผิดชัดเจนก็ยุติการสอบสวนไป บางสำนวนส่งไปที่อัยการ อัยการก็ยุติการสอบสวนไปเยอะแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีใครออกมาบอกว่าคดีไหนไปถึงไหน ถึงอย่างนั้นก็ตาม การที่ดีเอสไอหรืออัยการยุติการสอบสวน ไม่ได้ทำให้สิทธิในการฟ้องคดีระงับไป ผู้กระทำผิดที่ลอยนวลอยู่วันหนึ่งข้างหน้าก็อาจถูกลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมได้”

“ก่อนที่จะมีการยึดอำนาจ ผมทราบว่ามีอีกหลายศพที่เขาจะดำเนินการไต่สวนการตาย แต่แล้วก็เงียบไปหลังจากยึดอำนาจ เช่นคดีน้องเฌอ (สมาพันธ์ ศรีเทพ)” โชคชัยกล่าว

...ไม่ฟ้องอภิสิทธิ์-สุเทพ-อนุพงษ์ เหตุทำใต้ พ...ฉุกเฉิน

ที่ผ่านมายังมีความพยายามในช่องทางอื่นๆ อีกคือ

กรณีที่ดีเอสไอฟ้องผู้สั่งการคือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ แต่ศาลก็มีคำสั่งเหมือนกันทั้ง 3 ศาลคือ ไม่รับฟ้อง โดยอ้างว่าศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ แต่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้มีตำแหน่งทางการเมืองซึ่งอำนาจสอบสวนอยู่ในมือของ ป.ป.ช.

ด้าน.ป.ช.ก็มีมติยกคำร้อง ทั้ง อภิสิทธิ์ สุเทพ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ทำให้ไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา เนื่องจากในช่วงเวลานั้นมีประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง อีกทั้งศาลเคยระบุว่าการชุมนุมของ นปช.เป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมายและมีบุคคลที่ใช้อาวุธปืนที่ชุมนุมอีกด้วย

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ(ภาพซ้าย) และธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ(ภาพขวา)

การดำเนินการของดีเอสไอในการฟ้องอภิสิทธิ์และสุเทพในครั้งนั้นยังทำให้ธาริต อดีตอธิบดีดีเอสไอและเจ้าหน้าที่ดีเอสไออีก 3 คนถูกอภิสิทธิ์และสุเทพดำเนินคดีเสียเองด้วยข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตและมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200 โดยพวกเขาถูกกล่าวหาว่าการสรุปสำนวนคดีส่งฟ้องอภิสิทธิ์และสุเทพในครั้งนั้นเป็นการแจ้งข้อหาบิดเบือนจากข้อเท็จจริง และเจตนากลั่นแกล้งทั้งสองคน แม้ว่าในศาลชั้นต้นจะยกฟ้องธาริตและพวกโดยให้เหตุผลว่าพยานโจทก์มีน้ำหนักน้อยแต่เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2563 ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกธาริตและพวกอีก 3 คน คนละ 2 ปี คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด และทั้งหมดได้รับการประกันตัวออกมาสู้คดี

โชคชัยกล่าวถึงกรณีที่ดีเอสไอฟ้องสุเทพและอภิสิทธิ์ว่า ตอนนั้นญาติผู้เสียชีวิตเข้าไปเป็นโจทก์ร่วมด้วย แต่สุดท้ายศาลมีคำพิพากษาในลักษณะที่ว่าการสอบสวนของดีเอสไอไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากอยู่ในอำนาจสอบสวนของ ป.ป.ช. ประเด็นจึงเหมือนกับช่องทางฟ้องไปไม่ถูกต้อง การสอบสวนมาไม่ถูกต้อง แต่ไม่มีโอกาสพิจารณาว่าการกระทำของผู้ที่ถูกฟ้องผิดจริงหรือไม่อย่างไร

“ที่จริงแล้วการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กำหนดไว้ชัดเจนว่าคุณต้องกระทำเท่าที่จำเป็นโดยสุจริต เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มันเกินกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะคุ้มครอง การสั่งสลายการชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักสากล มีการใช้อาวุธกระสุนจริง เป็นปฏิบัติการที่เราเห็นชัดว่าเลยจากที่กฎหมายจะคุ้มครอง” โชคชัยให้ความเห็น

โชคชัยยังกล่าวอีกว่า ในรัฐธรรมนูญ 2550 เคยมีช่องทางตามมาตรา 275 ให้ผู้เสียหายสามารถยื่นคำร้องต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อขอให้ตั้งผู้ไต่สวนอิสระมาพิจารณาคดีได้ในกรณีที่ ป.ป.ช.ตีตกไม่รับดำเนินการไต่สวนในความผิดต่อตำแหน่งที่ราชการของผู้มีตำแหน่งทางการเมือง แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ได้ตัดช่องทางนี้ออกไป

ทั้งนี้โชคชัยเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนทำกันเองไม่พอ แต่ต้องหวังให้รัฐบาลเจตจำนงค์ในการทำให้เกิดความยุติธรรมด้วยซึ่งเขาเห็นว่าถ้าเป็นรัฐบาลชุดนี้ก็เหมือนวิ่งชนกำแพง ทั้งนี้ยังเหลือเวลาอีก 10 สำหรับคดีอาญาที่มีอายุความ 20 ปี แต่ในกรณีที่เป็นคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ก็จะเหลือเพียง 5 ปีเนื่องจากมีอายุความเพียง 15 ปี

ฟ้องแพ่งไม่ได้ ฟ้องศาลปกครองไม่ได้

นอกจากการดำเนินคดีอาญาจะปิดเกือบหมดแล้ว กระบวนการทางแพ่งก็สิ้นสุดไปเมื่อมีการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้เสียชีวิตในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะเงื่อนไขหนึ่งในการรับเงินเยียวยาคือต้องไม่มีการฟ้องเป็นคดีแพ่งอีก

ขณะที่ศาลปกครองก็ถูกตัดอำนาจในการเข้ามาพิจารณาคดี เนื่องจากมาตรา 16 ในพ.ร.ก.ฉุกเฉินได้กำหนดให้คำสั่งทางปกครองที่ออกภายใต้อำนาจของพ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่เป็นความผิดทางปกครอง

หลังเหตุการณ์ไม่นานนัก คารม พลพรกลาง ทนายความที่ให้ความช่วยเหลือทางคดีกับผู้ชุมนุม นปช.เคยยื่นฟ้องอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นว่ามีการใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเนื่องจากเป็นกฎหมายที่ออกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 กฎหมายจึงต้องสิ้นสภาพไป ศาลปกครองได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นนี้และประเด็นที่ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้หรือไม่เนื่องจากมาตรา 16 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ตัดศาลปกครองออกจากการพิจารณาคดีที่สืบเนื่องจากคำสั่งของรัฐบาลที่ออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 9 มิ.ย.2553 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงของรัฐบาลนั้นสมควรแก่เหตุ เนื่องจากมีเหตุจลาจลเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ย่อมมีเหตุจำเป็นต้องใช้อำนาจรัฐในการระงับเหตุ และที่พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีมาตรา 16 ตัดอำนาจในการพิจารณาคดีของศาลปกครองออกไปก็เพื่อให้การดำเนินการของรัฐเป็นไปอย่างรวดเร็วในการแก้ไขสถานการณ์ และนอกจากพ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วก็ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่ตัดอำนาจศาลปกครองในการเข้ามาพิจารณาด้วยเหมือนกัน ศาลรัฐธรรมนูญจึงเห็นว่ามาตรา 16 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2550

คนอนุมัติเยียวยาอาจถูกดำเนินคดีเสียเอง

ในขณะที่คดีอาญาไม่เห็นความคืบหน้า ครอบครัวของสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือเฌอ และครอบครัวของกมนเกด อัคฮาด ได้เดินหน้าฟ้องคดีแพ่งต่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้ออกคำสั่งตั้ง ศอฉ.และสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. เรียกค่าเสียหายในความผิดฐานละเมิดเอาไว้ แต่ก็จบไปหลังจากมีการจ่ายเงินเยียวยา

ปี 2555 ครม.ยิ่งลักษณ์มีมติให้จ่ายชดเชยค่าเสียหายแก่ผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงผู้ที่ทรัพย์สินเสียหายจากการสลายการชุมนุมไปแล้ว โดยมีวงเงินในการชดเชยกว่า 2 พันล้านบาทและให้แก่ผู้เสียหายต่างๆ ย้อนหลังกลับไปถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งรวมถึงเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ด้วย โดยผู้เสียชีวิตจะได้เงินเป็นจำนวน 7.5 ล้านบาท ในแบบฟอร์มยินยอมรับเงินเยียวยาระบุว่าผู้รับเงินต้องยินยอมสละสิทธิรับเงินช่วยเหลืออื่นๆ จากภาครัฐ และต้องไม่ใช้สิทธิฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานรัฐอีก

เศกสิทธิ์ ช้างทอง(ขวา) และ สันติพงษ์ มูลฟอง (ซ้าย) ผู้ที่ต้องเสียดวงตาไปในเหตุการณ์สลายการชุมนุม 2553 ขณะเข้ารับเงินเยียวยากรมคุ้มครองสิทธิฯ ในปี 2554 ก่อนรอบรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะมีมติจ่ายเงินเยียวยาในปีถัดมา

อย่างไรก็ตาม มีความพยายามดำเนินคดีกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์จากขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้ามด้วย โดยสาธิต ปิตุเตชะ พรรคประชาธิปัตย์ฟ้องศาลปกครองให้ระงับมติ ครม.ในการจ่ายเงินเยียวยาโดยระบุว่าเป็นการเยียวยาบุคคลที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดหรือไม่ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับฟ้อง เนื่องจากกิจการในทางรัฐประศาสน์นโยบาย ไม่ใช่การกระทำทางปกครองที่จะอยู่ในอำนาจของศาล ความพยายามจัดการกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ด้วยประเด็นจ่ายเงินเยียวยานี้ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อวิชา มหาคุณ หนึ่งในกรรมการ ป.ป.ช.ให้ข่าวว่า ป.ป.ช.มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหายิ่งลักษณ์ และครม.36 คนที่มีมติจ่ายเงินเยียวยาโดยไม่มีอำนาจ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับและเป็นไปเพื่อช่วยเหลือพวกพ้อง เป็นการหลีกเลี่ยงละเว้นไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของประเทศ คดีนี้ ป.ป.ช.ยังคงมีการไต่สวนข้อเท็จจริงอยู่

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ดูเหมือนว่ากระบวนการยุติธรรมภายในประเทศแทบไม่สามารถทำงานเพื่อคืนความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ครั้งนี้ได้ อีกทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความรุนแรงต่างก็ยังมีอำนาจอยู่ในรัฐบาลหรือกองทัพในทุกวันนี้

คำถามคือแล้วเราจะตามหาความยุติธรรมในประเทศนี้ได้ที่ไหนอีกบ้าง? กลไกระหว่างประเทศช่วยได้ไหม? ติดตามต่อในตอนหน้า

 

    คดีของพัน คำกอง

    ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ ไม่รับฟ้อง โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร เนื่องจากจำเลยเป็นทหาร อีกทั้งศาลชั้นต้นมีคำสั่งในชั้นไต่สวนการตายว่าผู้เสียชีวิตถูกยิงโดยเจ้าหน้าที่ทหารโดยไม่ได้มีพลเรือนร่วมกระทำการด้วย ที่โจทก์อ้างว่ามีพลเรือนด้วยนั้นยังไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดและมีจำนวนกี่คน ดังนั้นคดีจึงไม่ได้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลอาญา

    ศาลอุทธรณ์ยังระบุอีกว่า ที่โจทก์อ้างคำพิพากษาศาลฎีกามา 2 คดีว่าศาลยุติธรรมเคยรับพิจารณาคดีมาแล้วในคดีที่ทหารร่วมกับพลเรือนกระทำความผิดแม้ไม่รู้ว่าพลเรือนเป็นใครนั้น เห็นว่ามีข้อเท็จจริงต่างจากคดีนี้ ศาลอุทธรณ์จึงเห็นด้วยกับศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับฟ้อง

    ทั้งนี้ เมื่อลองค้นคำพิพากษาศาลฎีกาโจทก์ใช้อ้างในคดีนี้พบว่า หนึ่งในนั้นเป็นคดีที่ทหารร่วมกับพวกซึ่งไม่ได้แต่งเครื่องแบบทหาร-ไม่ปรากฏชัดว่าเป็นทหาร ที่ยังหลบหนีอยู่กระทำการขโมยปลอกกระสุนในฐานทัพสหรัฐอเมริกา (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1105/2513) ส่วนอีกคดีเป็นคดีที่ทหารร่วมกับพวก “ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าพวกของจำเลยเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารหรือไม่ คดีนี้จึงต้องขึ้นศาลพลเรือน” (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 191/2532)

    อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ พิเศษ 1/2553 เรื่อง การจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และ 2/2553 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จะเห็นว่าไม่ได้มีเพียงเจ้าหน้าที่ทหารที่ต้องปฏิบัติการตามคำสั่งของ ศอฉ. เท่านั้น แต่ยังรวมถึงตำรวจและพลเรือนด้วย

    คดีของกมนเกด

    “กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอเรียนว่ากรณีดังกล่าวได้สอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว และส่งสำนวนการสอบสวนให้สำนักงานอัยการทหารพิจารณาแล้ว ซึ่งสำนักงานอัยการทหารได้มีความเห็นว่า คดีนี้ไม่ปรากฏว่ามีประจักษ์พยาน พยานพฤติเหตุแวดล้อม หรือพยานหลักฐานอื่นใด ที่ยืนยันได้ว่าผู้ต้องหาทั้งแปดกระทำผิดดังกล่าว ดังนั้น ทางคดีจึงไม่มีพยานหลักฐานพอรับฟังได้ว่าผู้ต้องหาทั้งแปดกระทำความผิดร่วมกันฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,83 จึงสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งแปด”

    ย่อหน้าข้างต้นเป็นข้อความที่ดีเอสไอมีหนังสือแจ้งผลคดีถึงพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของกมนเกด ลงวันที่ 25 พ.ค.2563 ว่าอัยการทหารสั่งไม่ฟ้องทหารจำนวน 8 คนที่ปฏิบัติการบนรางรถไฟฟ้าในวันที่ 19 พ.ค.2553 และมีการยิงเข้าไปในเขตวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ซึ่งเป็นคดีที่ศาลอาญามีผลคำสั่งไต่สวนการตายแล้วว่าเป็นการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ทหาร

     

    รายชื่อผู้เสียชีวิตที่สำนวนไต่สวนการตายยังอยู่ในชั้นอัยการ


    ลำดับ

    รายชื่อ

    สถานที่เสียชีวิต

    10 เมษายน 2553

    1

    ตะนาว (สี่แยกคอกวัว)

    2

    ตะนาว (สี่แยกคอกวัว)

    3

    ตะนาว (สี่แยกคอกวัว)

    4

    ตะนาว (สี่แยกคอกวัว)

    5

    ตะนาว (สี่แยกคอกวัว)

    6

    ตะนาว (สี่แยกคอกวัว)

    7

    ตะนาว (สี่แยกคอกวัว)

    8

    ตะนาว (สี่แยกคอกวัว)

    9

    ตะนาว (สี่แยกคอกวัว)

    10

    ตะนาว (สี่แยกคอกวัว)

    11

    ดินสอ(สตรีวิทยา)

    12

    ดินสอ(สตรีวิทยา)

    13

    ดินสอ(สตรีวิทยา)

    14

    ดินสอ(สตรีวิทยา)

    15

    ดินสอ(สตรีวิทยา)

    16

    ดินสอ(สตรีวิทยา)

    17

    ดินสอ(สตรีวิทยา)

    18

    ดินสอ(สตรีวิทยา)

    7-8 พฤษภาคม 2553

    19

    อาคารซิลลิคเฮ้าส์ ถนนสีลม

    20

    สวนลุมพินี

    13-19 พฤษภาคม 2553

    21

    สวนลุมพินี

    22

    บ่อนไก่ พระราม 4

    23

    บ่อนไก่ พระราม 4

    24

    บ่อนไก่ พระราม 4

    25

    บ่อนไก่ พระราม 4

    26

    บ่อนไก่ พระราม 4

    27

    บ่อนไก่ พระราม 4

    28

    บ่อนไก่ พระราม 4

    29

    บ่อนไก่ พระราม 4

    30

    ทางเท้าหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลุมพินี

    31

    ซอยหลังสวน

    32

    ราชดำริ

    33

    ราชดำริ

    34

    ราชดำริ

    35

    ราชดำริ

    36

    ราชปรารภ

    37

    ราชปรารภ

    38

    ราชปรารภ

    39

    ราชปรารภ

    40

    ราชปรารภ

    41

    ราชปรารภ

    42

    ราชปรารภ

    43

    ราชปรารภ

    44

    ราชปรารภ

    45

    ราชปรารภ

    46

    ราชปรารภ

    47

    ราชปรารภ

    48

    ราชปรารภ

    49

    ราชปรารภ

    50

    ราชปรารภ

    51

    ราชปรารภ

    52

    ราชปรารภ

    53

    ราชปรารภ

    54

    ราชปรารภ

    55

    อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

    หมายเหตุ 1 – รายชื่อในตารางไม่นับรวมผู้เสียชีวิตในต่างจังหวัดอีก 3 ราย คือ 1.ทรงศักดิ์ ศรีหนองบัว ถูกยิงในการชุมนุมที่หน้าบ้านพัก ส.ส. ประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ จังหวัดขอนแก่น 2.เพิน วงศ์มา และ 3.อภิชาติ ระชีวะ ถูกยิงในเหตุการณ์การชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี และ 4. กิตติพงษ์ สมสุข ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เนื่องจากกำลังรอข้อมูลเพิ่มเติมจากทางกรมสอบสวนคดีพิเศษอยู่

    หมายเหตุ 2 - รายชื่อในตารางไม่นับรวมผู้เสียชีวิตที่เป็นเหตุสืบเนื่องอีก 3 ราย ได้แก่ อนันท์ ชินสงคราม และมนต์ชัย แซ่จอง เป็นผู้เสียชีวิตที่คาดว่าเกิดจากแก๊สน้ำตาที่ถูกทิ้งจากเฮลิคอปเตอร์ในวันที่ 10 เม.ย.2553 เนื่องจากใบรับรองแพทย์ระบุสาเหตุการตายเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โดยมนต์ชัยเสียชีวิตในไม่กี่ชั่วโมงหลังถูกนำส่งโรงพยาบาลด้วยอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ส่วนอนันท์เสียชีวิตด้วยโรคปอดติดเชื้อในอีกหลายเดือนให้หลังซึ่งมีการรักษามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังเหตุการณ์ ละอองดาว กลมกล่อม เป็นผู้เสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองแตกขณะเกิดเหตุชุลมุนที่แยกราชประสงค์ในวันที่ 14 พ.ค.

     

     

    ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
    Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
    Twitter : https://twitter.com/prachatai
    YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
    Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
    เรื่องที่เกี่ยวข้อง
    ข่าวรอบวัน
    สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

    ประชาไท