Constitution คือ สังวิธาน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในปัจจุบันนี้ เมื่อพูดถึงคำว่า “constitution” เราก็มักจะนึกถึง “กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ” ซึ่งบัญญัติเป็นภาษาไทยว่า “รัฐธรรมนูญ” ใช่ไหมครับ แน่นอนครับ คำว่า “รัฐธรรมนูญ” เป็นคำที่ถูกบัญญัติมาใช้แทน “constitution” เมื่อคณะราษฎรได้จัดทำ “กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ” หลังปฏิวัติการปกครองจาก “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็น “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” ใน ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) 

ความหมายโดยนัยของคำว่า “constitution” และ “รัฐธรรมนูญ” หมายถึง “กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ” ส่วนความหมายโดยตรงของ “รัฐธรรมนูญ” เมื่ออ้างอิงข้อมูลจาก “พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554” สามารถแยกคำว่า “รัฐธรรมนูญ” ออกเป็น 3 คำ ได้แก่ “รัฐ” “ธรรม” และ “มนูญ” คำว่า “รัฐ” เกิดจากการย่อรูปของ “รฏฺฐ” ในภาษาบาลีซึ่งมีความหมายว่า “ประเทศ” คำว่า “ธรรม” เกิดจากการขยายรูปของ “ธรฺม” ในภาษาสันสกฤตซึ่งให้ความหมายในบริบทนี้ว่า “กฎหมาย” และคำว่า “มนูญ” เกิดจากการย่อรูปและเปลี่ยนเสียงสระของ “มนุญฺญ” ในภาษาบาลีซึ่งมีความหมายว่า “เป็นที่พอใจ” เมื่อนำคำทั้ง 3 คำนี้มารวมกันก็เกิดการกลืนรูป “ม” ของคำว่า “ธรรม” และ “มนูญ” เกิดเป็น “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งให้ความหมายโดยตรงได้ว่า “กฎหมายของรัฐอันเป็นที่พอใจ”

คำว่า “constitution” มาจากภาษาละตินว่า “constitutio” ตามหนังสือ “The Historical and Institutional Context of Roman Law” ซึ่งเขียนโดย George Mousourakis ได้อธิบายว่า “แต่เดิมเป็นคำใช้เรียกข้อบังคับและคำสั่งในสมัยจักรวรรดิโรมัน ต่อมาถูกนำมาใช้เป็นชื่อของคำสั่งของสันตะปาปาผู้เป็นประมุขแห่งศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก” คำว่า “constitutio” เมื่ออ้างอิงข้อมูลจากหนังสือ  “An Elementary Latin Dictionary” ซึ่งเขียนโดย Charlton Thomas Lewis สามารถแยกคำว่า “constitutio” ออกเป็น “constituo” และ suffix “-tio” คำว่า “constituo” มาจาก prefix “con-” แปลว่า “ร่วมกัน” และ “statuo” แปลว่า “จัดทำ” เมื่อนำมารวมกันเกิดเป็นกริยาให้ความหมายว่า “จัดทำ” และ suffix “-tio” ที่นำมาต่อท้ายก็ทำให้คำกริยากลายเป็นนามจึงให้ความหมายโดยตรงได้ว่า “การจัดทำร่วมกัน”

นับแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา มีการสร้าง “กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ” แบบเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นในหลายประเทศ “สหรัฐอเมริกา” และ “ฝรั่งเศส” ได้จัดทำกฎหมายดังกล่าวขึ้นในชื่อ “constitution” ใน ค.ศ. 1787 (พ.ศ. 2330) และ ค.ศ. 1791 (พ.ศ. 2334) ตามลำดับ การใช้ชื่อว่า “constitution” เป็นไปเพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่า “กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ” เกิดจาก “การจัดทำร่วมกันของประชาชน” 

ต่อมาใน ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) ประเทศ “อินเดีย” ได้รับอิสรภาพจาก “สหราชอาณาจักร” และ      ได้ประกาศใช้ “กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ” ซึ่งถูกร่างโดยคณะกรรมการร่างอันมี B. R. Ambedkar เป็นประธาน ใน ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) คณะกรรมการร่างดังกล่าวได้นำความหมายของคำว่า “constitution” มาใช้เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่า “กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ” เกิดจาก “การจัดทำร่วมกันของประชาชน” โดยบัญญัติเป็นภาษาฮินดีจากภาษาสันสกฤตว่า “संविधान” ซึ่งปริวรรตเป็นอักษรไทยได้ว่า “สํวิธาน” คำว่า “สํวิธาน” เมื่ออ้างอิงข้อมูลจาก “A Sanskrit-English Dictionary” ซึ่งเขียนโดย Sir M. Monier-Williams สามารถแยกคำว่า “สํวิธาน” ออกเป็น 2 คำ ได้แก่ “สํ” และ “วิธาน” คำว่า “สํ” แปลว่า “ร่วมกัน” และคำว่า “วิธาน” ซึ่งให้ความหมายในบริบทนี้ว่า “การจัดทำ” เมื่อนำมารวมกันจึงได้ความหมายโดยตรงว่า “การจัดทำร่วมกัน” ซึ่งสอดคล้องกับความหมายโดยตรงของคำว่า “constitution”

จากที่ผมได้กล่าวมาข้างต้น ทั้ง “constitution” และ “รัฐธรรมนูญ” ก็ล้วนถูกนำมาให้ความหมายโดยนัยว่าเป็น “กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ” หากแต่ความหมายโดยตรงของทั้ง 2 คำ นั้นแตกต่างกัน เมื่อต้องตัดสินใจว่าจะใช้คำใดเป็นชื่อของ “กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย” สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องคำนึงก็คือ “ความหมายโดยตรงของชื่อกฎหมายที่จะบัญญัติขึ้นนั้นสื่อความหมายถึงการมีส่วนร่วมในการปกครองของประชาชนมากน้อยเพียงใด” เมื่อเทียบความหมายโดยตรงของคำว่า “รัฐธรรมนูญ” กับ “constitution” หรือ “สํวิธาน” จะพบว่า “รัฐธรรมนูญ” ให้ความหมายว่าเป็น “กฎหมายของรัฐอันเป็นที่พอใจ” ในขณะที่ “constitution” หรือ “สํวิธาน” ให้ความหมายว่าเป็น “การจัดทำร่วมกันของประชาชน” เมื่อพิจารณาความหมายโดยตรงของทั้ง 2 คำนี้ ผมมีความเห็นว่า “constitution” หรือ “สํวิธาน” สามารถสื่อความหมายถึง “การมีส่วนร่วมในการปกครองของประชาชน” ได้มากกว่า “รัฐธรรมนูญ” ผมจึงเห็นควรให้บัญญัติชื่อของ “กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ” เป็น “สังวิธาน” ซึ่งเป็นการสะกดตามหลักการสนธิคำภาษาบาลีสันสกฤตที่นำมาใช้ในภาษาไทย เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่า “กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ” เกิดจาก “การจัดทำร่วมกันของประชาชน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท