Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การดำเนินคดีตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับแกนนำราษฎร 12 คน ชัดเจนว่าผู้มีอำนาจรัฐตอบรับข้อเสนอ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” อย่างไร เพราะ 1 ใน 10 ของข้อเสนอปฏิรูปสถาบันคือให้ “ยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112” การตอบรับเช่นนี้ คือการเผชิญหน้าระหว่าง “เก่ากับใหม่” อย่างแหลมคม

เก่าคือสิ่งที่ตกทอดมาจากยุคก่อนสมัยใหม่ (pre-modern) เช่นสถาบันกษัตริย์ ศาสนา และความเชื่ออื่นๆ ทุกสังคมล้วนผ่านประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างเก่ากับใหม่ แต่สังคมอารยะหรือสังคมที่เจริญแล้วคือสังคมที่สามารถยกเลิกอำนาจเผด็จการแบบยุคเก่าของระบบกษัตริย์และศาสนจักรได้ แล้วแทนที่ด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ไม่มีสถาบันกษัตริย์ หรือถ้ายังมีสถาบันกษัตริย์ก็ต้องเป็นสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ที่ประชาชนมีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบได้

พูดให้ชัดคือ สิ่งเก่าที่ตกทอดมาจากยุคก่อนสมัยใหม่ เช่น สถาบันกษัตริย์และศาสนาต้องอยู่ภายใต้หลักการและกติกาของโลกสมัยใหม่ หรือยู่ภายใต้การกำกับของหลักเสรีภาพและประชาธิปไตย กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่เทพหรือสมมติเทพที่ศักดิ์สิทธิ์มีอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จแตะต้องไม่ได้เหมือนกษัตริย์ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่คือ “คนเท่ากัน” กับพลเมืองทุกคน เพียงแต่มีสถานะเป็นประมุขของรัฐเท่านั้น

แต่มาตรา 112 ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับสถานะ “คนเท่ากัน” ของกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมมนูญที่ประชาชนมีเสรีภาพตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบ ล้อเลียน เสียดสีได้ เหมือนประชาชนมีเสรีภาพกระทำเช่นนั้นต่อประมุขของรัฐที่เป็นประธานาธิบดี หากเป็นกฎหมายที่ยึดโยงอยู่กับสถานะของกษัตริย์ที่เป็นสมมติเทพศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ อันเป็นสถานะของกษัตริย์ตามคติรัฐพุทธผสมพราหมณ์แบบยุคกลาง

ดังนั้น จึงถูกแล้วที่เรียกกันว่า “112 คือกฎหมายล่าแม่มด” แบบยุคกลาง เพราะเป็นกฎหมายที่มีไว้ปกป้องสถานะศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ของกษัตริย์ อันเป็นสถานะที่ถูกสถาปนาขึ้นด้วยหลักความเชื่อทางศาสนาแบบยุคกลาง ทำให้การทำผิดกฎหมายนี้มีความหมายเป็น “ความผิดบาป” และถูก “ตีตราบาป” จากรัฐ สังคม ที่ทำงาน ทำให้คนที่ถูกลงโทษด้วยกฎหมายนี้และครอบครัวถูกรังเกียจจากผู้คน ถูกกีดกันจากหน่วยงานราชการและเอกชน ราวกับว่าเขาได้ทำความผิดต่อเทพ หรือพระเจ้าตามความเชื่อของสังคมจารีตยุคกลาง อีกทั้งการเปิดให้ใครก็ได้แจ้งความเอาผิดตามกฎหมายมาตรานี้ จึงเป็นไปได้เสมอที่กฎหมายนี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือไล่ล่าทำลายคนเห็นต่างทางการเมือง 

เมื่อ 112 ผูกโยงกับความเชื่อต่อสถานะศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ที่ถูกสถาปนาขึ้นด้วยศาสนาแบบยุคกลาง การใช้กฎหมายนี้จึงไม่ได้อยู่บนหลักของ “ความเป็นเหตุเป็นผล” (rationality) แต่เป็นเรื่องของ “ศรัทธา” (faith) จึงเป็นกฎหมายที่สร้าง “นักโทษมโนธรรมสำนึก” (prisoner of conscience) หมายถึง 112 ทำให้ปัจเจกบุคคลไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามมโนธรรมสำนึกของตนเองได้ นั่นคือ เมื่อปัจเจกบุคคลใช้เหตุผลและมโนธรรมสำนึกของตนเองวินิจฉัยว่ากษัตริย์ทำผิดในเรื่องนั้นเรื่องนี้ เช่นทำผิดหลักการ กติกา มารยาท ประเพณีปฏิบัติของระบอบประชาธิปไตยที่สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เขาก็ไม่สามารถใช้เสรีภาพในการวินิจฉัยตัดสินอย่างเป็นสาธารณะได้ ถ้าใช้เสรีภาพเช่นนั้นเขาย่อมถูกทำให้กลายเป็นนักโทษ 

ดังนั้น ที่ว่าเป็นนักโทษมโนธรรมสำนึก ก็เพราะว่าเขาเป็นคนผิดและกลายเป็นนักโทษ ไม่ใช่เพราะเขาทำผิดหลักการ กติกาประชาธิปไตย หรือหลักสิทธิมนุษยชน แต่เขาผิดและกลายเป็นนักโทษเพียงเพราะเขาใช้เหตุผล มโนธรรม และเสรีภาพในการแสดงออกที่ “ถูกต้องชอบธรรม” ตามหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ดังเห็นได้จากแกนนำราษฎร 12 คน ที่ใช้เสรีภาพในการพูด การแสดงออกซึ่งเหตุผลและมโนธรรมสำนึกของตนเองตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนสากลในการพูดถึงปัญหาสถาบันกษัตริย์และเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และยืนยันให้ปฏิรูปผ่านกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งการกระทำเช่นนี้ย่อมไม่ใช่ความผิด การใช้มาตรา 122 ต่างหากที่ทำให้พวกเขาผู้ซึ่งทำสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมกลายเป็นคนผิด เป็นนักโทษ เพียงเพราะพวกเขาใช้เหตุผลและมโนธรรมสำนึกของตนเอง

เมื่อมองจากจุดยืนของเสรีประชาธิปไตย สิ่งที่บ่งบอกถึง “ความเป็นมนุษย์” ของประชาชนคือ การที่ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพที่จะใช้ความคิด ใช้เหตุผล ใช้มโนธรรมของตนเองตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และวินิจฉัยตัดสินการกระทำใดๆ ของบุคคลสาธารณะที่ใช้อำนาจสาธารณะและภาษีของประชาชนได้ ไม่ว่าบุคคลนั้นๆ จะเป็นข้าราชการ นักการเมือง หรือประมุขของรัฐก็ตาม การใช้มาตรา 112 ปิดปากประชาชนจึงเป็นการละเมิดความเป็นมนุษย์ของประชาชนอย่างถึงราก

มองในทางปรัชญาการเมือง มาตรา 112 ที่มีไว้ปกป้องสถานะสมมติเทพศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ของกษัตริย์ คือกฎหมายที่ยึดโยงอยู่กับปรัชญาการเมืองแบบยุคกลางที่ถือว่ากษัตริย์มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ย่อมขัดกับปรัชญาการเมืองแบบเสรีนิยมที่ยืนยันเสรีภาพ ความเสมอภาค และปฏิเสธอำนาจเผด็จการทุกรูปแบบ

มองในแง่ญาณวิทยา มาตรา 112 คืออุปสรรคในการเข้าถึงความจริง เพราะการจะเข้าถึงความจริงของปัญหาทางการเมืองและอื่นๆ ได้ จำเป็นต้องมีเสรีภาพในการพูด การตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบได้ทุกเรื่อง

มองในแง่ความยุติธรรม มาตรา 112 ที่ขัดกับหลักเสรีภาพในการพูด การตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบประมุขของรัฐ ย่อมเป็นกฎหมายที่ขัดต่อ “หลักความยุติธรรมสาธารณะ” อย่างถึงราก เพราะหลักเสรีภาพคือหลักการพื้นฐานของความยุติธรรมสาธารณะในระบอบเสรีประชาธิปไตย ไม่มีเสรีภาพ ความยุติธรรมมีไม่ได้

มองในแง่ศีลธรรม มาตรา 112 ย่อมทำให้ศีลธรรมเป็น “มายา” หรือเป็นเรื่อง “เฟค” เพราะการกำหนดให้ประชาชนสรรเสริญคุณธรรมความดีของชนชั้นปกครองได้ด้านเดียว ตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้ หรือเสนอข้อมูลด้านตรงข้ามกับการสรรเสริญไม่ได้ คุณธรรมความดีต่างๆ ที่ยกย่องสรรเสริญกันตามประเณี ก็ย่อมพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นจริงหรือไม่

สรุป มาตรา 112 คือเงื่อนของของความขัดแย้งระหว่างอำนาจโบราณกับประชาธิปไตยสมัยใหม่ การใช้กฎหมายนี้ปกป้องอำนาจโบราณย่อมทำให้ประชาธิปไตยสมัยใหม่เกิดไม่ได้ เพราะยิ่งทำให้อำนาจแบบโบราณกดทับสิทธิ เสรีภาพอันเป็นแก่นแกนความเป็นมนุษย์ของประชาชน 112 เป็นกฎหมายที่เป็นอุปสรรคปิดกั้นการเข้าถึงความจริง ความยุติธรรม และทำให้ศีลธรรมเฟค การยกเลิก 112 จึงจำเป็นต่อการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นคนของประชาชน เพราะจะทำให้ประชาชนมีความเป็นคนผู้เป็นเจ้าของสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจอธิปไตยได้จริง  


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net