Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากประสบการณ์ของการชุมนุมในทั่วโลกเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า การชุมนุมโดยสงบและสันติมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าการชุมนุมที่มีการใช้ความรุนแรง เนื่องจากการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง จะทำให้ประชาชนไม่กล้าเข้าร่วม เพราะกลัวการสูญเสีย อีกทั้งการเคลื่อนไหวที่มีการใช้ความรุนแรงมักจะทำในลักษณะลับหรือที่เรียกว่าเป็นขบวนการใต้ดิน ซึ่งรัฐสามารถใช้ความรุนแรงเป็นข้ออ้างในการกวาดล้างหรือปราบปราม ซึ่งงานวิจัยของเซโนเว็ธและมาเรีย สเตฟาน จากศูนย์นานาชาติด้านความขัดแย้งแบบสันติ (International Center on Nonviolent Conflict) ในสหรัฐอเมริกาได้แสดงให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวอย่างสันติวิธีประสบความสำเร็จมากกว่าความเคลื่อนไหวที่รุนแรงถึงสองเท่า


การชุมนุมคืออะไร

ไมนา คิไอ (Maina Kiai) ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการสมาคม (UN Special Rapporteur on the Rights to Freedom of Peaceful Assemmbly and of Association – SR FPAA) ได้ให้นิยามความหมายของ “การชุมนุม” ไว้ว่าหมายถึง “การรวมตัวชั่วคราวในพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่สาธารณะ เพื่อเป้าประสงค์ที่เฉพาะเจาะจง ได้แก่ การประท้วง การชุมนุมภายใน การนัดหยุดงาน การเดินขบวน การเดินรณรงค์ หรือการนั่งประท้วง”

จากข้อความดังกล่าวจะเห็นได้ว่า “การชุมนุม” มีความหมายรวมถึงกิจกรรมในหลายๆประเภทด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น 1.การชุมนุมในลักษณะเคลื่อนที่ เช่น การเดินชุมนุมพร้อมการปราศรัย/การขับรถรณรงค์ เป็นต้น 2.การชุมนุมที่มีการค้างคืนหรือตั้งเวทีปราศรัย เช่น การชุมนุมของเสื้อเหลือง-เสื้อแดงในอดีต/การชุมนุมคัดค้านโครงการของรัฐ เป็นต้น 3.การชุมนุมระยะสั้นที่เน้นความรวดเร็วและระยะสั้นหรือที่เราเรียกว่า”flash mob” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เช่น การรวมตัวทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ชูป้ายข้อความก่อนแยกย้าย/การชุมนุมของคณะราษฎร 63 เป็นต้น

นอกจากนั้นแล้วการชุมนุมยังหมายถึงการรวมตัวกันทางอินเตอร์เน็ตหรือการรวมตัวเพื่อประท้วงทางออนไลน์  ซึ่งกล่าวโดยสรุปก็คือ การชุมนุม หมายถึง การรวมตัวกันชุมนุมชั่วคราวในรูปแบบใดๆ โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อสื่อสารประเด็นของกลุ่มตนเองนั่นเอง ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญของการชุมนุมจะมีอยู่ 3 ประการ คือ 1.สถานะชั่วคราว (temporality) 2.เป้าประสงค์ในการชุมนุม (Intentionality) และ 3.เพื่อเป้าหมายของการแสดงออกร่วมกันเพื่อส่งสาส์นบางอย่าง (purpose of a common expression of a message) ต่อบุคคล กลุ่ม องค์กร หรือสังคมโดยทั่วไป


ความสำคัญของการชุมนุม

เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights - UDHR) ข้อที่ 19 และ กติการะหว่างประเทศว่าสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ( International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ข้อที่ 21 โดยสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมือง การมีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหา ตลอดจนกำหนดทิศทางอนาคตของสังคม

กล่าวได้ว่าในการปกครองรูปแบบประชาธิปไตย นอกจากการที่พลเมืองสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคมผ่านการเลือกตั้งแล้วนั้น พลเมืองยังมีสิทธิและเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลผ่านการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกที่พลเมืองทุกคนมีและได้รับการยอมรับไว้ในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร์ไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยการชุมนุมนั้นถือเป็นหนึ่งในรูปแบบของการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอันเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

มาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลในการจัดการการชุมนุมของรัฐ

รัฐมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยรัฐต้องเคารพและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุม ดังนี้

1.การอำนวยความสะดวกในการชุมนุมและการคุ้มครองการชุมนุมโดยสงบ โดยคุ้มครองการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน

2.กฎหมายการชุมนุม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมต้องมีเนื้อหาที่ชัดเจนและสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล ควรหลีกเลี่ยงนโยบายการกระทำใดหรือขั้นตอนใดๆ ที่เป็นการขัดขวางทั้งทางตรงและทางอ้อม ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องมีข้อสันนิษฐานว่าการใช้เสรีภาพในการชุมนุมเป็นสิทธิพื้นฐานที่สามารถกระทำได้

3.ความได้สัดส่วน การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยหน่วยงานรัฐต้องได้สัดส่วน เหมาะสมกับความจำเป็นโดยไม่ส่งผลกระทบต่อเนื้อหาและสาระสำคัญในการจัดการชุมนุมของประชาชน ตัวอย่างของการปฏิบัติที่ไม่ได้สัดส่วนของรัฐ เช่น การออกข้อกำหนดห้ามการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะกลางเมือง หรือการออกกฎหมายห้ามการชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปในสถานการณ์ปกติ เป็นต้น

4.การไม่เลือกปฏิบัติ เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับอย่างเท่าเทียมกัน รัฐจะต้องไม่เลือกปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับรัฐหรือต่อต้านรัฐ ตลอดจนรัฐต้องอำนวยความสะดวกในการชุมนุมให้แก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

5.การบริหารจัดการที่ดีของรัฐ รัฐต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนถึงหน่วยงานที่ดูแลการชุมนุม ให้ความมั่นใจว่าประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมายของรัฐได้

6.ความรับผิดของหน่วยงานที่กำกับดูแล หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการชุมนุมต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และต้องรับผิดตามกระบวนการทางกฎหมายหากเกิดข้อผิดพลาดหรือกมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นด้วยเช่นกัน

7.ห้ามมีการใช้กำลังใดๆ เว้นเสียแต่เป็นกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ และหากมีการใช้กำลังต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

8.ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับการชุมนุม โดยมีสิทธิที่จะสังเกต เฝ้าติดตาม และบันทึกการชุมนุม

จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดเราคงจะพอเห็นได้ว่าการชุมนุมโดยสงบและสันตินั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน และรัฐก็ต้องมีมาตรการต่อการชุมนุมฯที่ได้มาตรฐานสากล โดยทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐหรือฝ่ายผู้ชุมนุมต่างก็ต้องยึดถือกฎ กติกา มารยาท ซึ่งหากฝ่ายใดละเมิดหลักการตามหลักสิทธิมนุษยชน ก็ย่อมหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไปไม่ได้

-----------------

หมายเหตุ: ขอขอบคุณข้อมูลจาก “คู่มือการจัดการการชุมนุมโดยสงบ เพื่อความหวังของพรุ่งนี้ (Protest for Tomorrow)” ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net