รู้จักรุ่นพี่ตาสว่าง ‘เว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน’ การแลกเปลี่ยนเรื่องสถาบันในโลกออนไลน์ยุคแรก

ฟ้าเดียวกัน เป็นสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือเนื้อหาหนักๆ แนววิพากษ์ โดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทยและสถาบันกษัตริย์ นั่นเป็นความเข้าใจที่ไม่ผิด แต่ฟ้าเดียวกันมีตำนานลึกลับมากกว่านั้น ในฐานะเมืองลับแลที่มี ‘คุณซาบซึ้ง’ เป็นไอค่อน

สำนักพิมพ์นี้ทำวารสารเป็นหลักก่อนจะเริ่มตีพิมพ์หนังสือวิชาการ วารสารเล่มแรกเปิดตัวในปี 2546 ผู้ก่อตั้งประกอบด้วย ธนาพล อิ๋วสกุล-ชัยธวัช ตุลาธน-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ร่วมหุ้นกันทำตามฝันอยากให้สังคมมีวารสารคล้ายสังคมศาสตร์ปริทรรศน์ หากย้อนดูหน้าปกแต่ละเล่มจะเห็นความหลากหลายของประเด็นที่วิพากษ์โดยเฉพาะในยุคที่รัฐบาลทักษิณกำลังเฟื่องฟู กระทั่งมาถึงจุดที่แยกย้ายกันเดินทาง มีเพียง ‘ปุ๊’ ธนาพลหัวเรือหลักที่ไปต่อ จนปัจจุบันหนังสือของสำนักพิมพ์นี้ลงจาก ‘หิ้ง’ ไปอยู่ในกระเป๋าของคนรุ่นใหม่จำนวนมาก

ในยุคนั้น อินเทอร์เน็ตเพิ่งแพร่หลายในหมู่คนชั้นกลางได้ไม่นาน การทำเว็บไซต์ของบริษัท องค์กร ผู้ประกอบการต่างๆ ก็เรียกได้ว่าเพิ่งเริ่มต้น ผู้คนไม่รู้จัก Wi-Fi จะต่ออินเทอร์เน็ตทีหนึ่งต้องไปซื้อแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตมาต่อเข้ากับโมเด็มเชื่อมโทรศัพท์บ้านแล้วทนฟังเสียง แอดอีแอดดดดอีแอดดดด อยู่พักใหญ่ ไม่ต้องนึกถึงโซเชียลมีเดียใดๆ

ฟ้าเดียวกันก็ทำเว็บไซต์ขายหนังสือเช่นกัน เปิดตัวในเดือนกรกฎาคม 2549 หรืออีกนัยหนึ่งคือ 2 เดือนก่อนรัฐประหารของ คมช.นำโดยสนธิ บุญยรัตกลิน ช่วงนั้นการเมืองร้อนแรงยิ่งนัก การเคลื่อนไหวของคนเสื้อเหลืองนำโดยสนธิ ลิ้มทองกุล กำลังไต่ระดับ ในเว็บไซต์ฟ้าเดียวกันมีส่วนของเว็บบอร์ดหรือกระดานสนทนากับเขาด้วย สมัยนั้นเว็บบอร์ดทำหน้าที่คล้ายโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน เป็นพื้นที่ให้คนมาพูดคุยเรื่องต่างๆ สารพัดเรื่อง สำหรับเรื่องการเมือง แหล่งที่ดังมากคือ พันทิปห้องราชดำเนิน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ประชาไท ฟ้าเดียวกัน เสรีไทย เป็นต้น

“ตอนนั้นเว็บบอร์ดมันเป็นอะไรที่เป็นของฟรี ของแถมน่ะ เว็บไซต์ที่ใช้ของสำนักพิมพ์ก็เป็นเว็บสำเร็จรูป แล้วมันแถมเว็บบอร์ดให้ด้วย” ธนาพลเล่าถึงจุดเริ่มต้นของเว็บบอร์ดในตำนาน

แน่นอนว่าไอค่อน ‘คุณซาบซึ้ง’ ที่ผู้คนซาบซึ้งกันนั้นก็เป็นอิโมจิแถมฟรีที่ติดมากับเว็บบอร์ดฟรี แต่แม้ไม่ได้ออกแบบมาเป็นพิเศษ ผู้คนก็ยกให้เป็นสัญลักษณ์สำคัญบางอย่างที่เป็นอันรู้กันในหมู่ผู้ร่วมยุคสมัย อารมณ์น่าจะคล้ายยุคนี้ (แต่ไม่แสบเท่า) ซึ่งมี กรมหลวงเกียกกายราษฎร์บริรักษ์ นามเดิม เป็ดยาง

หลังเกิดรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 พื้นที่สนทนาเรื่องการเมืองหลายแหล่งถูกปิด บรรยากาศโดยรวมของการเซ็นเซอร์ตรวจตราในโลกออนไลน์ก็เข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกับที่กระแสวิพากษ์บทบาทของสถาบันกษัตริย์ก็เริ่มพุ่งขึ้นเพราะการรัฐประหาร เพียงไม่นานก็เหลือพื้นที่สนทนาอยู่ไม่กี่แห่งที่ยอมให้คนถกเถียงกันได้อย่างค่อนข้างจะเสรี และที่ที่เพดานสูงสุดก็คือ เว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน

“เราคิดแค่ว่า เป็นพื้นที่ที่ไปให้ไกลที่สุดเท่าที่ประเทศนี้จะไปได้ คิดแบบโพสต์อะไรก็ได้ ไม่ต้องมีล็อกอิน ไม่มีอะไรเลย ถ้าเราเชื่อเรื่องเสรีภาพมันก็ต้องสุด ประเทศนี้มีเรื่องที่พูดไม่ได้เยอะเกินไป พูดเรื่องอื่นๆ ก็ได้นะ ไม่ได้ตั้งเว็บบอร์ดมาเพื่อเรื่องสถาบันอย่างเดียว แต่สถานการณ์ช่วงนั้นมันร้อนมาก เริ่มมีแฟนขาประจำอย่างอาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) แกมาตั้งแต่แรกๆ เป็นผู้บุกเบิกคนหนึ่งในประเทศไทยในการปล่อยบทความ ปล่อยเอกสารในเรื่องที่คุยไม่ได้หรือคุยได้ยาก เราก็โอเคนะ ให้คนได้มาเถียงกัน” ธนาพลเล่า

ความคิดเรื่องเสรีภาพของธนาพลอาจดูสุดโต่งในยุคนั้นซึ่งกำลังถกเถียงกันเรื่อง เสรีภาพ vs. ความรับผิดชอบ เพราะผู้คนประหวั่นพรั่นพรึงกับปรากฏการณ์ anonymous ซึ่งตอนนั้นยังเป็นเรื่องใหม่มากที่ใครคิดจะพิมพ์อะไรก็ได้ตามใจโดยไม่ต้องรับผิดชอบสิ่งใด อย่างไรก็ดี ดูเหมือนธนาพลจะเชื่อในพลังของการถกเถียงอย่างมากว่าจะเขย่าสิ่งต่างๆ ให้อยู่ในร่องในรอยของเหตุผล ความเหมาะสมได้เองโดยธรรมชาติ

“เราไม่ค่อยเห็นด้วยเรื่องการเซ็นเซอร์ แม้กระทั่งความเห็นห่วยๆ ถึงที่สุดถ้าคุณมีความเห็นห่วยๆ การที่มีคนมาแย้ง มาต่อว่า คนที่ได้อ่านก็ได้ประโยชน์ ดูอย่างสมศักดิ์ ถ้าเป็นพวกเดียวกันเองสมศักดิ์อาจจะด่าแรง แต่ถ้าสมศักดิ์ตอบฝ่ายตรงข้ามจะค่อนข้างสุภาพ มันเป็นทริค เขาไม่ได้เขียนตอบโต้เฉพาะคนนั้นแต่เขียนให้ฝ่ายขวาคนอื่นๆ อ่านด้วย เราคิดคล้ายๆ อย่างนั้นเหมือนกัน ถ้ามีคนห่วยๆ มาเขียน มาเลย มึงมาเลย ไม่ลบด้วย แล้วคนก็จะมาตอบ มาแย้ง คนอื่นที่ได้อ่านจะรู้เองว่าความเห็นแบบไหนเป็นยังไง แบบไหนน่ารังเกียจ ได้เรียนรู้และไม่กล้าแสดงความน่ารังเกียจแบบนั้น” ธนาพลอธิบาย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสมศักดิ์ เจียมฯ คือผู้ทรงอิทธิพลในเว็บบอร์ดในเวลานั้น นักวิชาการและนักวิจารณ์ผู้ไม่ย่อท้อ เขายืดหยุ่นต่อการหาพื้นที่ถกเถียง ในขณะที่นักวิชาการรุ่นเดียวกันอาจยังปรับตัวไม่ทันหรือไม่อาจยอมรับได้กับวัฒนธรรมในโลกออนไลน์ สมศักดิ์ไม่ได้พูดแค่เรื่องเจ้าอย่างเดียว แต่ยังสร้างความ ‘เดือด’ ด้วยการวิจารณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ วิพากษ์แนวคิดของนักวิชาการคนสำคัญต่างๆ ขย่ม เขย่า ไม่เกรงใจโดยเฉพาะแนวทางแอนตี้ทักษิณที่ก่อตัวในหมู่ปัญญาชนอย่างหนักหน่วงก่อนรัฐประหาร (กระทู้ต่างๆ ของสมศักดิ์รวมไว้ที่ http://somsakcoup.blogspot.com/)

แล้วเรื่อง taboo อย่างสถาบันกษัตริย์นั้นหนักหน่วงขนาดไหนในเว็บบอร์ด อันที่จริง น้ำหนักหรือความแรงของประเด็นย่อมสัมพันธ์กับบริบทของสังคมการเมืองด้วย ฟ้าเดียวกันถือกำเนิดก่อนรัฐประหาร 2549 พุ่งทะยานในช่วงปี 2551-2552 ก่อนจะปิดตัวไปในราวปี 2554 (ช่วงคาบเกี่ยวกับการเข้ามาของเฟสบุ๊ค) ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ครองราชย์มานานเกิน 6 ทศวรรษแล้ว กระแสความนิยมและความรักมากล้นโดยเฉพาะเมื่อพระองค์เข้าสู่วัยชราและทรงประชวรจนต้องนอนโรงพยาบาลยาวนาน การพูดคุยเรื่องนี้หากมิใช่การยกย่องแล้วแทบจะเป็นเรื่องต้องห้าม การแสดงความเห็นเชิงวิพากษ์แม้ในทางวิชาการก็มีไม่มาก ขณะเดียวกันการใช้ไม้แข็งก็เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางหลังการรัฐประหาร 2549 นั่นคือ การดำเนินคดีตามมาตรา 112 ประกอบกับกฎหมายใหม่อย่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ถูกใช้ในฐานะกฎหมายความมั่นคงจัดการกับโลกออนไลน์โดยเฉพาะ

การถกเถียงเรื่องนี้ในเว็บบอร์ดจึงอาจเป็นดังที่ผู้ใช้เว็บบอร์ดคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ไว้ว่า น่าหวาดเสียวที่สุดและสนุกที่สุดไปในเวลาเดียวกัน

“มันเป็นยูโทเปียนะ free speech ของจริงเลย พูดอะไรก็ได้ เล่นไปก็กลัวไป แต่มันคัน มันสนุก มันติด ต้องเข้าไปติดตามอ่านทุกวัน และมันไม่ใช่แค่เรื่องเจ้าด้วย คนอาจเข้าใจว่าบอร์ดฟ้ามีแค่การเมือง จริงๆ แล้วมีหลายห้อง ห้องไลฟ์สไตล์ก็มี ดูดหนังโป๊มาแจกกันก็มี แลกเปลี่ยนเรื่องเพศก็มี ไปสุดหมดทุกประเด็น ตั้งกระทู้ถามคำถามบ้าๆ บอๆ ก็มี อย่างถ้าเราชักว่าวพร้อมกันทั่วประเทศน้ำจะท่วมไหม”

ผู้ใช้งานเว็บบอร์ดอีกคนหนึ่งกล่าวว่า สำหรับเขาการอ่านเว็บบอร์ดไม่ได้ส่งผลต่อความคิดมากเท่าความรู้สึกว่ายังมีพื้นที่เสรี เหมือนที่ที่หายใจได้คล่อง ปลอดโปร่ง ไม่อึดอัด อย่างน้อยข่าวสารเกี่ยวกับการชุมนุมหรือคนฝั่งเดียวกับเสื้อแดงก็อยู่ที่นี่ เป็นหน่ออ่อนๆ ของการตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในช่วงที่สถาบันกษัตริย์ได้รับความนิยมสูงสุด

ผู้ใช้งานเว็บบอร์ดอีกรายหนึ่งเล่าสถานการณ์ในเวลานั้นว่าคนที่สนใจการเมืองไปคุยกันที่ไหน และแต่ละแห่งมีลักษณะอย่างไร  

“ที่เว็บบอร์ดประชาไทคุยกันแบบมีเพดาน อย่างมากก็ไปสุดที่พลเอกเปรมว่าอยู่เบื้องหลังรัฐประหาร แต่มันก็มีบางส่วนพยายามทะลุเพดานขึ้นไปอีก ซึ่งเว็บบอร์ดประชาไทไม่ตอบโจทย์ และคนก็มีความเห็นอกเห็นใจผู้ดูแลที่เริ่มโดนคดี เลยเบนไปหาที่ใหม่ที่เว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน บรรยากาศที่นี่ก็มีคนอย่าง ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มาโพสต์เรื่องบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในทางการเมือง และการสืบค้นกรณีที่เคยเป็นเรื่องต้องห้าม อย่างกรณีสวรรคตของในหลวง ร.8 กรณี 6 ตุลาคม 2519 เป็นการให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาเปิดเผย และอยู่ใต้กรอบกฎหมายที่จะไม่เป็นการละเมิดหมิ่นประมาทตามมาตรา 112 พวกเราเรียกกันว่า "เพดานของสมศักดิ์" นั่นคือกล่าวถึงประเด็นต้องห้ามเกี่ยวกับสถาบันได้ แต่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง ไม่ไปไกลเกินกว่าที่ ดร.สมศักดิ์ทำไว้ ใครที่เลยอาจถูกเรียกหรือดำเนินคดี เรื่องนี้มีให้เห็น ทุกคนที่เล่นบอร์ดฟ้าเดียวกันจึงต้องเล่นโดยดูเพดานของสมศักดิ์เข้าไว้”

กระทู้อันหนึ่งของสมศักดิ์ เจียมฯ ที่มีผู้จัดเก็บไว้ได้คือ กระทู้ที่ตั้งชื่อแบบถามเองตอบเอง ชงเองตบเอง ว่า ถึงบรรดาผู้จงรักภักดี เวลาคุณพูดว่า "ในหลวงทรงทำดี" (คนไทยจึงเคารพ) ถ้าผมถามว่า "คุณรู้ได้อย่างไร?" พวกคุณตอบไม่ได้หรอก เผยแพร่ในเว็บบอร์ดในวันปีใหม่ 1 ม.ค.2552 หากใครพอจำบรรยากาศ 10 กว่าปีก่อนได้ย่อมรู้ดีว่ามันเป็นคำถามที่คนเขาไม่ถามกัน แม้แต่คนเขียนเองก็ต้องเก็บข้อเขียนไว้เกือบ 2 ปีกว่าจะนำมาโพสต์และกล่าวเกริ่นนำอย่างระมัดระวังความรู้สึกของผู้เห็นต่าง เปรี้ยวยิ่งกว่านั้นคือ สมศักดิ์นำข้อความเดียวกันนี้ไปตั้งกระทู้ในเว็บบอร์ดแหล่งรวมรอยัลลิสต์อย่างเสรีไทยด้วย แต่น่าเสียดายที่ไม่นานก็ถูกลบไป

“ข้อเขียนนี้ ผมเขียนเสร็จตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2550 แต่ไม่นําออกเผยแพร่ เพราะความกลัวการถูกเล่นงานจากอํานาจมืด หรือจากผู้ไม่มีสติปัญญา อย่างไรก็ตาม หลังจากเวลาผ่านไป และผมได้คิดทบทวนอย่างหนักแล้ว ผมยังเห็นว่าประเด็นที่นําเสนอมีความสําคัญ และเชื่อว่าการนําเสนอนี้ไม่ผิดกฎหมาย และที่สําคัญ ไม่ผิดหลักประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นหลักการสําคัญของโลกปัจจุบันที่ทุกคนอ้างว่ายอมรับ ผมจึงขอนําเสนอในที่นี้เพื่อให้พิจารณาถกเถียงกัน ผมขอยืนยันว่า ผู้ที่มั่นใจในความถูกต้องของความเชื่อของตน ต้องพร้อมที่จะโต้แย้ง หักล้างด้วยเหตุผลกับความเห็นที่ไม่ตรงกับความเชื่อของตน ไม่ใช่อ้างหรือคุกคามด้วยกําลังหรือการบังคับ ซึ่งเพียงแต่แสดงให้เห็นว่าความเชื่อของตนไม่มีความมั่นคงในความถูกต้องอย่างแท้จริงเท่านั้น”

 การอภิปรายของสมศักดิ์ในกระทู้นั้นเน้นการวิจารณ์การประชาสัมพันธ์ด้านเดียวโดยไม่อาจพิสูจน์ได้ การมีกฎหมาย 112 ปิดปากผู้คนและการขาดการตรวจสอบประสิทธิภาพในโครงการพระราชดำริต่างๆ ซึ่งแทบจะกลายเป็นข้อยกเว้นอัตโนมัติ การถกเถียงกลับมีอยู่ประปราย

น่าเสียดายที่เราสืบค้นร่องรอยของกระทู้ต่างๆ ในฟ้าเดียวกันไม่ได้แล้วในอินเทอร์เน็ต

4 ม.ค. 2551 หรือเพียงปีกว่าๆ หลังเปิดตัว เว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันก็ถูกสั่งปิด ก่อนจะมีการออกแถลงการณ์ตอบโต้ “ปิดก็เปิดใหม่ได้” จากนั้นมีการย้ายเซิร์ฟเวอร์ไปต่างประเทศ

21 ม.ค.2551 มีอีกกระทู้โด่งดังที่ยังมีคนเก็บหลักฐานไว้ได้ จึงคัดบางส่วนนำมาเสนอเป็นตัวอย่างของบรรยากาศในเว็บบอร์ด กระทู้ดังกล่าวชื่อ คุณเริ่มมีความคิด(แอนตี้เจ้า)แบบนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่คะ โพสต์โดยผู้ใช้ชื่อ ‘เจ้า_ข้าฟ้าเดียวกัน’ มีคนไปตอบคำถามนี้มากมาย อาทิ 

  • ของเราบอกเป๊ะๆ ไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ รู้แต่ว่าพ่อจะพูดให้ได้ยินอยู่เรื่อยๆ ว่า
    "ทำไมจะต้องมีข่าวหลังสองทุ่มให้ดูทุกวัน"
    "ทำไมเดินๆ อยู่ถ้าเป็นตอนหกโมงเย็นต้องหยุดเดินด้วย"
    "จะดูหนัง ยังต้องมาเปิดเพลงให้ฟังอีกเหรออออออออ"
    "จะไปไหนที คนอีกเป็นพันเป็นหมื่นต้องมาติดเพราะ...."
    (อุ้ยเซียป้อ)
  • ตอนบอลโลกหนที่แล้ว คนจะดูบอลสดๆ ต้องรอให้ข่าวสองทุ่มจบเสียก่อน กว่าจะได้ดูก็เตะไปแล้ว 20 นาที งี่เง่าสุดๆ 
    (Anonymous Coward)
  • ตั้งแต่ผมเริ่มสนใจการเมืองครับ แล้วเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมประชาธิปไตยบ้านเราจึงไม่เวิร์ก ทำไมทหารครองเมืองได้ตลอด แล้วก็หาเหตุผลย้อนกลับไปเรื่อย ผมหาข้อมูลอยู่หลายเดือนเหมือนกัน จนมาถึงตรงระบบนี้แหละ ทางเดียวคือ xyz ต้องเลิกเล่นการเมืองทางอ้อม เลิกสะสมอำนาจ ประชาชนต้องเคารพในเสียงของประชาชนมากกว่าที่จะไปเคารพในบุคคลใดคนหนึ่ง  (monarchy)
  • 55555555ก๊ากกกกกกกกกกคริคริคริคริ กรุม่ายถึงกะแอนตี้ว่ะ เฉยๆๆ บางทีกรุก็มีขำขำ เบื่อๆ ปนๆ เปๆ กานปายแต่ก้อม่ายด้ายเจ้าคิดเจ้าแค้นปายเกลียดอารายขนาดพวกเมิงหลายๆ ในบอร์ดนี้หรอกว่ะ 555555 บางคนก็เอาแต่ด่าทุกงานจนกรูรำคาญ ด่าจนเลอะเทอะฟุ่มเฟือยก้อมี 555555 กรูเป็นตัวของตัวเองว๊อย กรูไม่เชื่ออารายง่ายๆ หรือฟังขี้ฟันขี้ปากใครแล้วก้อด่าเจ้าเอามันส์หรอกว่ะ แต่กรูก็ม่ายด้ายคลั่งเจ้าเหมือนกันว่ะ เพราะกรูหงุดหงิดทีวีกรูมากๆ ว่าทามมายดันมาเป็นขาวดำได้ยางงาย 55555555 กรูว่าเปนเรื่องๆ ปายว๊อย เรื่องไหนม่ายชอบกรูก้อบ่น เรื่องไหนเขาทำดีกรูก้อม่ายขัด ครายทามดีกรูก็ว่าดี หนับหนุน กรูไม่ติเรือทั้งโกลนเหมือนพวกเมิงหรอกว่ะ
    (บัฟฟาโล่บอยคนเลี้ยงฟาย)
  • เป็นตั้งแต่เด็กๆ ครับ มักมีคำถามในใจ ทำไมต้องยืนในโรงหนัง อยากให้เป็นความสมัครใจมากกว่า
    (Sovereignty)
  • ผมไม่ Anti นะครับ เรียกว่าเฉยๆ ดีกว่า และอยากให้เจ้าในอนาคตช่วยทำตัว "เฉยๆ" ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติมาก ผมกลัวว่าหลัง ร.9 แล้วจะเหมือนหลัง ร.5 นี่สิ
    (Prometheus)
  • อืม ก็เหมือนเดอะแม้วที่ไม่อยากให้ใครรู้ว่ามีตังค์เท่าไร ต้องแบ่งไปฝากไว้กะคนรถ คนสวน แม่บ้านบ้าง
    (ผัวเผลอแล้วเจอกัน)
  • ตอนที่เริ่มไม่โอเคก็ตอนที่ได้อ่านบทความเกี่ยวกับ เพลงพระราชนิพนธ์ เราสู้ ของอ.สมศักดิ์นี่ล่ะค่ะ ...ไม่น่าเชื่อว่าแค่ "เพลง" มันจะมีความหมายลึกลับซับซ้อนอะไรขนาดนี้..เริ่มรู้สึกตงิดๆๆๆ พอได้อ่านเรื่อง 6 ตุลาอย่างละเอียด โอ้...
    (อุ๊จุ๊)
  • ตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เพราะรอดูการ์ตูนหลังข่าวแต่ดันถูกงดเพราะมีสารคดีท่านเทพ เอาจริงๆ นะครับไม่ได้ถึงกับเกลียดหรือ Anti เพียงแต่ไม่ชอบวัฒนธรรมยกย่องเสมือนเทพ และไม่ชอบการใช้คำศัพท์เฉพาะต่างๆ มันรู้สึกเหมือนเป็นการแบ่งชั้นวรรณะ แล้วทีวีสมัยนี้มันก็อะไรกันไปหมดแล้วไม่รู้ กรอกหูกรอกตาซะเต็มที่อย่างกับจะสะกดจิตให้ได้
    (Siegfriend)
  • แอนตี้เจ้าไร ไม่เค๊ย ไม่เคยมี คลั่ง เอ้ย รักเจ้ายิ่งกว่าเมียอีก
    (ฉันรักคณะราษฎร)
  • ใครวะ ใครแอนตี้เจ้า เฮ้ยยยยย..มีด้วยเหรอ อิมพอสสิเบิ้ล มากๆ ค่ะ ไม่จริ๊ง ไม่จริง... แว่นไม่เชื่อเด็ดขาด ....ถ้าเป็นคนไทยนะ ต้องรักและเทิดทูนแน่นอน ไม่มีใครบังอาจแตกแถว แตกเหล่าหรอก ถ้าไม่มีเจ้า เราจะไม่มีชีวิตที่สุดแสนสบายในเมืองไทย ไฮไลฟ์ควอลิตี้ อย่างนี้กันนะยะ แล้วเจ้าน่ะเทวดามาเกิดนะยะ อัจฉริยะทุกท่าน มาแอนต้งแอนตี้อะไร ให้มันเจียมซะมั่ง อิจฉาละเซ่
    (แว่นหนา)
  • ปฏิญาณหน้าเสาธง ก็ไม่พูด ตอนรับปริญญาด้วย เพื่อนหันมอง อีนี่ทำไมไม่พูด แต่มีหลายเรื่องที่ไม่เห็นด้วยกะหลายคนที่เถียงๆ กันนะ
    1. ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม: อันนี้คงไม่มีใครเขาทํากันจริงๆ หรอก มันเป็นวัฒนธรรมทางภาษา มองในแง่ภาษา มันก็เป็นเรื่องสวยงาม และเอกลักษณ์ของภาษาไทย คือเป็นภาษาที่มี "ระดับของภาษา" เป็นความงามของภาษาอย่างหนึ่ง ภาษามันก็ออกมาจากวิถีชีวีตประจําวันของคนแต่หลายประเทศทเขามี "ศักดินา" และเข้มแข็งกว่าเราเป็นไหนๆ "ระดับของภาษา" ก็ไม่ชัดเจนเท่าภาษาไทย ข้อนี้อยากให้ภูมิใจกัน
    2. เรื่องปิดการจราจร: อันนี้เห็นจะเป็นเรื่องการให้ความปลอดภัย เพราะเขาเป็นประมุขประเทศ ทุกประเทศ เมื่อผู้นําจะไปไหน ปิดการจราจรเป็นเรื่องปกติ
    (Der Hund)
  • ถ้าเริ่ม "ตะหงิดๆ" (ขอเน้นว่าแค่นั้นจริงๆ) คือ ตอน ม.ปลายครับ ความรําคาญที่จะต้อง "ท่องราชาศัพท์" เพื่อสอบ คิดในใจว่า "ทําไมต้องมาแบ่งวรรณะกันด้วยวะ? Turning Point สําคัญ คือ การได้เข้าเรียนคณะรัฐศาสตร์ครับ แล้วก็กลายเป็นพวก "บ้าการเมืองและคลั่งประชาธิปไตยไป" พอเกิด 19 กันยาก็ยิ่งไปกันใหญ่ สุดท้าย ผ่านกระบวนการWebboardization อย่างต่อเนื่องประมาณปีกว่า ก็เป็นดังทุกวันนี้ล่ะครับ ปล. ตอนเด็กๆ ผมเคยนับถือมากขนาดเคยคิดว่า "ตัวเองตายแทนได้เลย" นะครับ (ช่วงก่อนวัยรุ่นนิดหน่อย)
    (fallingangels)
  • พวกมึงก็ได้แต่เห่าล่ะวะ ถึงเจ้าจะเสียภาษี พวกมึงก็หาเรื่องอื่นมาด่าอีกนั่นแหละ ไอ้สัตว์
    (freeman)
  • สันติบาลมาหลอกตั้งคำถาม ใครหลุดชิบหายแล้ว
    (บุญแหก หนองสามเถียก)
  • รวยอันดับ1 ในขณะที่คนไทยยังจน
    (ตาสว่าง)
  • เจริญเลยนะพวกมึงรวมทั้งไอ้เจ้าของกระทู้ เจ้าท่านก็มีทั้งดีและส่วนเสียบ้าง แต่พวกเหี้ยๆ อย่างพวกมึงที่ว่าเจ้าอยู่อย่างนี้เคยทำประโยชน์อะไรให้ชาตินี้ประเทศนี้บ้าง อ้ายสันดานเอ๋ย
    (มาจับเข้าคุก)
  • ด้วยเกียรติของลูกเสือ ข้าขอสาบานว่า
    1.ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
    2.ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ
    3.ที่กล่าวมาข้าโกหก
    (TKNS_interpreter)

ฯลฯ

ความร้อนแรงในการถกเถียงทะยานขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจำนวนผู้ใช้งานเว็บบอร์ดการเมืองที่เพิ่มอย่างมหาศาลและความแหลมคมของประเด็นที่คุยกัน รวมถึงรูปแบบการเสียดสี อารมณ์ขัน การใช้สัญลักษณ์ แทคติกการเล่าเรื่องที่เฟื่องฟูมาก ด้วยหวังจะหลีกเลี่ยงมาตรา 112  

จนกระทั่งเดือนมีนาคม 2552 จีรนุช เปรมชัยพร ในฐานะผู้ดูแลเว็บบอร์ดประชาไทถูกออกหมายจับตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฐานเป็นตัวกลางปล่อยให้มีข้อความจำนวน 10 โพสต์ที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบันอยู่ในระบบหลายวันกว่าจะลบ ประชาไทก็เป็นอีกที่หนึ่งที่เพดานของเสรีภาพค่อนข้างสูงแต่ก็ยังไม่เท่าฟ้าเดียวกัน หลังโดนคดี ประชาไทพยายามเปิดเว็บบอร์ดไว้จนกระทั่งในที่สุดก็ต้องยุติไปในเดือนกรกฎาคม 2553

ช่วงปี 2552 มีการไล่ฟ้องไล่จับผู้ใช้เว็บบอร์ดอีกหลายรายตลอดทั้งปี โดยเฉพาะสุวิชา ท่าค้อ ผู้ต้องหาคนแรกที่ถูกศาลพิพากษาจำคุก 10 ปี จากการโพสต์รูปและข้อความที่เข้าข่ายมาตรา 112 จำนวน 2 ชิ้นลงในอินเทอร์เน็ต เขาถูกพิพากษาในเดือนเมษายน 2552 ติดคุกอยู่ราว 1 ปีก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษ

เดือนมิถุนายน 2552 ธนาพลถูกเรียกเข้าให้ปากคำตำรวจในฐานะพยานในคดีที่มีผู้โพสต์เข้าข่ายความผิดมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยธนาพลปฏิเสธจะให้ IP Address กับเจ้าหน้าที่นอกจากจะมีหมายศาล กระนั้นก็ตาม ในเดือนถัดมา กรกฎาคม 2552 ธนาพลประกาศแยกยูอาร์แอลเว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน ออกจาก เว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน พร้อมประกาศไม่ดูแล-ไม่รับผิดชอบทางกฎหมายต่อเว็บบอร์ด ทำให้สมาชิกต้องหาผู้ดูแลกลุ่มใหม่กันเอง หลังจากนั้นพักหนึ่งจึงมีการเปลี่ยนชื่อเว็บบอร์ดจาก ฟ้าเดียวกัน เป็น คนเหมือนกัน (weareallhuman) ในราวปี 2553 โดยชื่อเว็บบอร์ดใหม่นี้ก็ได้มาจากการโหวตของเหล่าสมาชิก

ความเป็นชุมนุมของที่นี่ผนึกแน่นขนาดไหน คำตอบคือ ขนาดที่คนในชุมนุมซึ่งไม่รู้ว่าใครเป็นใครออกแถลงการณ์ตอบโต้ปฏิบัติการของรัฐในการกวาดจับผู้แสดงความเห็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ซึ่งสัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมือง สังคม ในเวลานั้นอย่างแยกไม่ออก เช่น กรณีหุ้นไทยดิ่งลงอย่างผิดปกติเพราะข่าวลือบางอย่าง

“การจับกุมอิสรชนสามท่าน ซึ่งได้แก่ คุณคฑา คุณธีระนันท์ และคุณสมเจต ในข้อหาป่วนตลาดหุ้น จากข้อเท็จจริงคุณคฑาได้แสดงความคิดเห็นถึงสาเหตุหลังเหตุการณ์หุ้นตกไปแล้ว และคุณธีระนันท์ ได้แปลข่าววิเคราะห์จากต่างประเทศถึงสาเหตุของการหุ้นตกที่ผ่านมา เห็นได้ว่า ทั้งสามท่านมิได้เป็น "ต้นเหตุ" ของภาวะเหล่านั้นไม่ว่าจะพิจารณาในทางใด เหล่านี้สะท้อนได้ว่า การจับกุมอย่างจงใจสะเพร่าเช่นนี้ เกิดขึ้นเพื่อรองรับมูลเหตุจูงใจบางประการ และพยายามเร่งขยายผลต่อไป เช่น การคุกคามเว็บบอร์ดของชุมชนฟ้าเดียวกัน(www. sameskyboard.com) เว็บบอร์ดประชาไท(www.prachataiwebboard.com) และกระดานสนทนาฟรีสปีชอื่นๆ โดยอาศัยกฎหมายล้าสมัยและไร้ศีลธรรมต่ำทรามอย่างที่สุด เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๑๑๒ ซึ่งพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือแห่งการคุมคามนี้

การแสดงความคิดเห็น และการเผยแพร่ข่าวสารในเหตุการณ์ต่าง ๆ ล้วนเป็นสาระสำคัญพื้นฐานแห่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน การอ้างภัยแห่งความมั่นคงนั้น ล้วนเป็นข้ออ้างของรัฐบาลเผด็จการทุกยุคสมัย ในความเป็นจริง มีข่าวลือจำนวนมากในตลาดหุ้น รวมถึงปัจจัยตัวแปรต่าง ๆ การเจาะจงเรื่องนี้ซึ่งก็คือ ข่าวลือเกี่ยวกับสถาบัน แสดงให้เห็นว่า ผู้มีอำนาจต้องการขยายผลเพื่อละเมิดสิทธิในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนผู้ใช้อินเตอร์เน็ท-ชุมชนออนไลน์ต่างๆ โดยมีลักษณะเป็นเผด็จการในการปิดกั้นการรับรู้และแสดงออกทางการเมืองของ ประชาชน โดยพยายามอ้างนักลงทุนเป็นพวก....”

แม้สถานการณ์จะสุ่มเสี่ยงคุกตารางมากขึ้นทุกวัน แต่ดูเหมือนมันก็ยังไม่สามารถปิดปาก ปิดตาของผู้อยากรู้อยากเห็นในประเทศนี้ได้ เพราะมีตำนานหน้าใหม่ที่ผู้คนยังกล่าวขวัญถึงตราบจนปัจจุบัน นั่นคือ ‘นิยาย’ ขนาดยาวเกือบ 200 ตอน ปล่อยในเวลาเกือบ 3 ปีในเว็บบอร์ด ‘โรงงานปลากระป๋อง’ ของยายไฮ หรือ Hi S สมศักดิ์ เจียมฯ ระบุว่า นิยายนี้เริ่มปล่อยแทบทุกวันในเว็บบอร์ดตั้งแต่กรกฎาคม 2552 ถึงครึ่งปีแรกของปี 2553 แต่ละวันจะมีคนมารออ่านเป็นพันๆ รายที่ออนไลน์อยู่ ในช่วงท้ายก่อนปิดเว็บบอร์ดยอดวิวกระทู้นี้สูงเป็นล้านวิว

“ที่ว่า กึ่งเรื่องจริง กึ่งเรื่องแต่ง คือ คนเขียนเล่าในลักษณะใช้ "ชื่อปลอม" เช่น "ลุง" "ป้า" "จ่า" "เมพ" ฯลฯ แต่ทุกคนที่อ่านก็รู้ดีว่ากำลังพูดถึงในหลวง พระราชินี พระบรมฯ พระเทพ ฯลฯ หรือ "โรงงาน" หมายถึงประเทศไทย "ลูกจ้าง" หมายถึงประชาชน "ผู้จัดการคนก่อน" (หรือ "แมว") หมายถึง ทักษิณ ฯลฯ ข้อเขียนหรือที่เรียกกันว่า “นิยาย” นี้ เริ่มปรากฏครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2552 เมื่อมีผู้ใช้ชื่อล็อคอินว่า “Hi s” โพสต์ “กระทู้” ทางบอร์ดฟ้าเดียวกันในชื่อกระทู้ว่า “รายงานความคืบหน้าอาการป่วยของ xxx” นี่คือระยะเริ่มต้นที่ในหลวงเริ่มพระอาการประชวรยืดเยื้อและเข้ารับการรักษาที่ศิริราช ... ภายในเวลาอันรวดเร็ว ชาวบอร์ดก็เริ่มรู้กันว่า กระทู้นี้เป็นอะไรที่ไม่เคยมีมาก่อน คือมีลักษณะเป็นทำนอง “ข้อมูลวงใน” ทั้งในเรื่องอาการป่วยของในหลวงเอง (ป่วยอะไรบ้าง หาหมอชื่ออะไร ฯลฯ) ไปจนถึงเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวในครอบครัวระหว่างเจ้าองค์ต่างๆ (ผมเองซึ่งเป็นคนเขียนเรื่องเกี่ยวกับเจ้าเป็นหลักที่บอร์ด ไม่เขียนถึงประเด็นเหล่านี้)”

มีคำถามปิดท้ายว่าหากมองเว็บบอร์ดในยุคนั้นเปรียบเทียบกับโซเชียลมีเดียยุคนี้แล้ว เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร คำตอบคงต้องหาจากคนที่มีประสบการณ์ทั้งในเว็บบอร์ดและโซเชียลมีเดีย

“คนเรามันเปลี่ยนกันได้ หรืออย่างน้อยทำให้ความคิดต่างเป็นเรื่องปกติ คนไม่อยู่นิ่ง และเชื่อเถอะมันไม่ได้ส่งทอดความเกลียดชังอะไรกันขนาดนั้น การมีพื้นที่กลางเท่านั้นที่จะทำให้คนเปลี่ยน อย่างน้อยมันมีที่ให้ถกแบบเป็นธรรม ถ้าเป็นเฟซบุ๊กมันเหมือนเราไปบ้านคนอื่น พอเถียงกันหนักคนนั้นก็บล็อกก็ลบคุณได้ แต่ในเว็บบอร์ดคนจะลบคุณได้ต้องแอดมิน ไม่ใช่คู่กรณี” ธนาพลกล่าว

ผู้ใช้เว็บบอร์ดอีกคนหนึ่งที่เข้าไปเล่นตั้งแต่ม.5 จนปัจจุบันไปศึกษาอยู่ต่างประเทศให้ความเห็นโดยเปรียบเทียบกับโลกทวิตเตอร์ว่า

“ทวิตเตอร์​โดยรวมคล้ายกับบรรยากาศ​เว็บบอร์ด​สมัยนั้นอยู่​ คือมีการพูดถึงสถาบันกษัตริย์​อย่างตรงไปตรงมา​ แต่ข้อจำกัดของทวิตเตอร์รวมทั้งเฟซบุ๊ก​อาจเป็นว่ามันไม่ใช่พื้นที่ของการถกเถียง​เรื่องซับซ้อน​ที่ดีพอ​ เพราะระบบมันออกแบบมาให้คนมีความสนใจในระยะสั้นๆ​ แล้วข้อความใหม่ๆ​ ก็จะฟลัดของเก่าให้หายไป​ คนจึงถูกเร่งให้พูดเรื่องใหม่ๆ​ อยู่ตลอดเวลา​ ในขณะที่ในเว็บบอร์ด​ฟ้าเดียวกัน​ บางกระทู้ที่ได้รับความนิยมมาก​มีการถกเถียงกันข้ามปี ผมอาจพูดด้านด้อยมาก​ แต่ส่วนตัวก็ยังคิดว่านี่คือธรรมชาติและความเปลี่ยนแปลง​ของเทคโนโล​ยีที่เราต้องปรับตัวเข้ากับมัน​มากกว่า”

ขณะที่ผู้ใช้เว็บบอร์ดรุ่นแรกคนหนึ่งกล่าวให้ความเห็นว่า เว็บบอร์ดจำลองโลกจริงมากว่าในแง่ที่ว่า ไม่ว่าเราจะเกลียดกันแค่ไหนเราก็ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ ได้เจอคนที่หลากหลายไม่ถูกคัดกรองโดยอัลกอลิทึ่มของโซเชียลมีเดีย

“เว็บบอร์ดมันมีหลายห้อง เถียงกันจะเป็นจะตายห้องการเมือง เกลียดแม่งมาก พอไปดูห้องไลฟ์สไตล์ก็จะเห็นคนที่เราเกลียดอีกมุมหนึ่ง มนุษย์มันมีหลายมิติ มันฝึกให้เราอดทน ถกเถียง และไม่ยกตัวเองว่าดีกว่าคนอื่น ไอ้คนที่เห็นไม่เหมือนเราก็คือมันเห็นไม่เหมือนกับเราจริงๆ แค่นั้น”

คำพูดนี้สะท้อนชัดเมื่อเว็บบอร์ดปิดตัวลง เขาเล่าว่ามีการนัดคนที่ถกเถียงหรือคุยกันประจำในเว็บบอร์ดกลุ่มเล็กๆ เพื่อกินข้าวและเจอตัวกันเป็นๆ หลังจากนั้นพวกเขาก็กลายเป็น ‘เพื่อน’ กันทั้งที่ความเห็นทางการเมืองก็ยังต่างกันอยู่เหมือนเดิม

“ด่ากันได้ ด่าจบก็จบ ไม่ได้โกรธ พ่อแม่ใครตายก็ยังไปงานศพกัน ที่สำคัญ คนในบอร์ดถึงเกลียดกันมากตอนนั้นก็ไม่มีใครล่าแม่มด เอาไปฟ้อง 112 กันเอง ไม่มีแบบนั้นเลย อ้อ ยกเว้น iPad” ผู้ใช้รายเดิมกล่าว

ในขณะที่ผู้ใช้งานอีกคนเล่าถึงวีรกรรมของตัวเองว่า พื้นที่เว็บบอร์ดสนุกมากตรงที่เขาใช้ล็อกอินหลายชื่อในเว็บบอร์ด และมีชื่อหนึ่งที่สวมบทบาทคอยทำหน้าที่ดีเฟนด์สถาบันกษัตริย์ คอยตอบโต้คนที่วิจารณ์ด้วยเหตุผลและข้อมูล

“เช่น กรณีที่มีคนตั้งคำถามว่าทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ว่าเป็นของส่วนตัวหรือของชาติ ผมก็นำหลักกฎหมายเกี่ยวข้องมายืนยันว่าเป็นของชาติเป็นสาธารณะสมบัติ แต่หากแม้ต่อไปโอนเป็นของส่วนพระองค์ก็เป็นผลดีเพราะเท่ากับลดข้อวิจารณ์ว่าสำนักงานทรัพย์สินไม่ต้องจ่ายภาษีเหมือนธุรกิจอื่น เมื่อเป็นของส่วนพระองค์จะได้จ่ายภาษีเข้ารัฐ มีคนคล้อยตามผมอยู่จำนวนไม่น้อย ผมตอบโต้อย่างมีเหตุมีผล ต่างไปจากพวก Ultra-royalist ที่เข้ามาก็ด่าสาดเสียเทเสียอย่างเดียว ผมมีเจตนาอยากให้รอยัลลิสต์ทั้งหลายมาใช้เหตุผลในการพูดคุยกันเรื่องสถาบันน่ะ บรรยากาศกำลังเถียงกันมันส์ อาจารย์สมศักดิ์คงทนไม่ไหวก็เข้ามาตอบโต้ผมเป็นรายประเด็น และพยายามชี้ว่าผมไม่ได้ตรรกะดีสมกับราคาอ้าง แม้จะเงื้อง่าราคาแพง ดูท่าจะมีเหตุมีผล แต่ข้างในก็กลวง คนแบบนี้ไม่อาจนำพาให้สถาบันเกิดการปฏิรูปอะไรได้ การถกกับอาจารย์สมศักดิ์เป็นเรื่องสนุกตรงที่ว่าเราต้องค้นคว้ากันมากเพื่อมาตอบโต้แก และแม้ขนาดนั้นก็ยังไม่วายโดนแกว่าเป็นพวกที่ไม่มีกระดูกสันหลังอยู่ดีนั่นแหละ”

ผู้ใช้งานเว็บบอร์ดรายสุดท้ายให้ข้อมูลว่า หลังการรัฐประหาร 2557 เขาถูกเรียกเข้าค่ายทหารและเจ้าหน้าที่นำเอกสารซึ่งเป็นการปรินต์สิ่งที่เขาเคยโพสต์ในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันซึ่งฝ่ายความมั่นคงเก็บไว้มาด้วย นั่นทำให้เห็นว่าตัวเขาถูกจับตามาอย่างยาวนาน

“สิ่งที่เราเคยทำไปนั้น หากเราย้อนวันเวลากลับไปได้ เราก็คงต้องทำมันแบบนั้น ผมชอบท่อนหนึ่งของเพลง Fernando ที่ว่า เพื่อเสรีภาพของประเทศ แม้เราเสี่ยงภยันตรายเพียงใด เฉียดใกล้ความตายแค่ไหน และเรากลัวมันเพียงใด เราก็คงยังต้องทำเหมือนเดิม แบบที่เราได้ทำไปแล้ว .. For liberty, Fernando”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท