Skip to main content
sharethis

เมื่อวานนี้ (1ธ.ค.63) รัฐสภามีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. …. ของ ครม. ผ่านด้วย 561 เสียง และให้ตั้ง กมธ.พิจารณา 49 คน ทั้งนี้ฝ่ายค้านอภิปรายจี้จุดหลายมาตรามีปัญหาทั้งจำกัดและเปิดช่องละเมิดสิทธิคนเห็นต่าง โรม ห่วงซ้ำรอยประชามติ 59 คนโดนคดีกันมาก

1 ธ.ค.2563ในการประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. …. วาระที่ 1 ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ทั้งนี้ในการอภิปรายฝ่ายค้านได้แสดงความกังวลร่าง พ.ร.บ.ประชามติร่างนี้เนื่องจากเห็นว่ามีการจำกัดสิทธิและอาจซ้ำรอยเดิมการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อ 2559 ที่มีการจำกัดสิทธิคนไม่เห็นด้วยจนเกิดคดีขึ้นมากมาย

มติชนออนไลน์รายงานการอภิปรายสมาชิกรัฐสภาไว้หลายคนได้แก่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายว่า ต้องขอบคุณ กกต. เพราะเขียนหลักการณ์ไว้ดีมาก แต่มีอ้างพระราชบัญญัติบางประการที่ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพตาม มาตรา 26 34 40 ตรงนี้คือการปล้นเอาสิทธิประชาชน โดยที่ยังไม่รู้เลยว่า เรื่องที่ฝ่ายบริหารจะไปปรึกษาประชาชนในการเขียนกฎหมายตีเช็คปล่าคืออะไร ยังไม่รู้ว่ามติครม.คืออะไร รัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขยังไม่รู้เลยว่าจะแก้ไขมาตราใด รวมทั้งร่างที่จะให้มีส.ส.ร.ด้วย แค่การจั่วหัวก็ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนแล้ว ฝากถึงกกต.และคณะกรรมาธิการชุดนี้ว่า เมื่อเรามาทำกฎหมายร่วมกัน การทำประชามติคือการทำประชาธิปไตยโดยตรง ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพในการรับข้อมูลรอบด้าน มีสิทธิเสรีภาพในการตัดสินใจ การแสวงหาข้อมูล และต้องมีสิทธิที่จะประกาศหรือชุมนุมว่าสิ่งที่จะเป็นกฎหมายในอนาคตนี้ หากเกิดขึ้นแล้วเผ่าพันธุ์บางเผ่าพันธุ์หรือชาติพันธุ์จะถูกละเมิดสิทธิอย่างไรบ้าง

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ประชาชน ต้องการมากที่สุด แต่อ่านหลักการ เหตุผล สาระสำคัญของร่าง และกระบวนการนำเสนอแล้ว ตนรับหลักการแห่งกฎหมายนี้ไม่ได้ เสียดายอยากได้แต่รับไม่ได้ คิดดูว่า ประชาชน จะข่มขื่นขนาดไหน เป็นเรื่องที่ทำให้ทุกฝ่ายทรมานมาก เหตุผลที่ตนบอกว่า รับไม่ได้ มี 2 เรื่องหลัก เรื่องแรก กระบวนการในการเสนอกฎหมาย ซึ่งมีสภาขิกรัฐสภาพูดไปหลายคน ตนขมวดประเด็นว่า คณะรัฐมนตรีอาศัยช่องของมาตรา 270 วรรคสองและสาม บอกว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ โดยอ้างมาตรา 258 ก. (1) ว่าเป็นการปฏิรูปด้านการเมือง จึงเสนอมาทางประธานรัฐสภา เพื่อบรรจุเข้าพิจารณา ความประสงค์ที่จะบรรจุในรัฐสภา

“ผมพยายามฟังรองนายกฯ ให้เหตุผลประกอบ มีเพียงแต่บอกว่า ต้องทำให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หากฟังว่า ต้องการที่จะเร่งรัดให้มีกฏหมายฉบับนี้ให้ทันรัฐธรรมนูญที่อยู่ในชั้นกรรมาธิการ อาจจะมีความชื่นใจบ้าง แต่ไม่ได้ฟังคำตอบและคำชี้แจงนี้เลย ซึ่งขณะนี้บ้านเมืองปกครอง 2ระบอบ คือระบอบรัฐสภากับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบบรัฐธรรมนูญฉบับนี้เฉพาะการมีสภาเดี่ยว ท่านต้องการเอาเข้าสภาเดี่ยวเพื่อพิจารณาได้เร็วขึ้น และมั่นใจว่า สิ่งที่ทำเป็นไปตามสิ่งที่กำหนด กระบวนการเช่นนี้ ที่บอกกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายปฏิรูป หากไปดูรัฐธรรมนูญมาตรา 166 ประโยคสุดท้ายเขียนไว้ว่า การจัดทำประชามติ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ รัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ให้ความสำคัญถึงกับเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แต่ฉบับนี้ไม่ได้ให้ความสนใจเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแต่เขียนไว้ว่าต้องมีกฎหมายบัญญัติมารองรับในกรณีที่จะต้องทำประชามติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปิดกั้นไม่ให้สมาชิกเสนอกฎหมายเข้ามาประกบกัน ทำให้หลายฉบับไม่ผ่าน”

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรื่องที่สองที่ตนไม่รับหลักการ สิ่งที่สำคัญกฎหมายฉบับนี้บอกว่าเป็นประชามติ อาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 26 ประกอบกับ 34 และมาตรา 40 ตนไม่แน่ใจว่า ที่เขียนบทจำกัดสิทธิเอาไว้เพื่อไปจำกัดสิทธิของประชาชนในการแสดงออกความคิดเห็น ในการออกเสียงโดยอิสระเสรี แต่มาตรา 40 ไปจำกัดสิทธิเพื่ออะไร ท่านไปจำกัดสิทธิในการแสดงออกที่เป็นสิทธิเสรีภาพ เรื่องนี้ฝากเลยหากเข้ากมธ. เชื่อว่าเสียงข้างมากรับ และหากเข้ากมธ.ต้องดูรายละเอียด การจำกัดสิทธิทำได้ หากเป็นการสนับสนุน ส่งเสริมแต่นี่เป็นการจำกัดสิทธิในการออกเสียงประชามติที่โปร่งใส สุจริต เที่ยงธรรม ตนไม่แน่ใจว่าเหตุผลย้อนแย้งอย่างไร

“นอกจากจำกัดสิทธิของประชาชนแล้ว กฎหมายฉบับนี้ยังจำกัดการมีส่วนร่วม ท่านบอกกฎหมายนี้ปฏิรูปการเมืองเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่บทบัญญัติทั้งหมดกว่า 60 มาตรา โดยเฉพาะหมวด 2 เรื่องการแสดงความคิดเห็น การออกเสียง การรณรงค์ กลับให้เฉพาะภาครัฐทำ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำ หน่วยงานอื่นไม่เขียนให้ ประชาชนจะมาอออกเสียงได้ท่านไม่เขียน ในกฎหมายประชามติ 2552 มีบทบัญญัติหนึ่งเขียนไว้คล้ายกัน คล้ายกับมาตรา 16 ว่าด้วยการให้การแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางแต่สิ่งที่เห็นคือการตัดใจความสำคัญ ซึ่งประโยคสำคัญคือรวมทั้งจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ เท่าเทียมกันทั้งคนที่เห็นและไม่เห็นด้วย ร่างของท่านไม่มี พูดง่ายๆ คือปิดกั้นไม่มีการรณรงค์“ นพ.ชลน่าน กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม รองนายกฯ รับปากว่าให้คำมั่นสัญญาว่าสิ่งที่สมาชิกตั้งข้อสังเกตทักท้วงว่ายินดีรับไปแก้ไขในชั้นกมธ. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจำกัดสิทธิ บทกำหนดโทษ พวกตนก็ยินดีที่จะร่วมพิจารณากฎหมายฉบับนี้แม้จะถูกรวบเป็นสภาเดี่ยว

ด้าน ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า กฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็นแต่เมื่ออ่านร่างที่เสนอมามีความวิตกกังวลว่ากฎหมายนี้อาจไม่ใช่กฎหมายประชามติที่สร้างการรับรู้ของประชาชน หรือแรงบันดาลใจให้คนรับรู้และออกมาแสดงสิทธิของตัวเองว่าจะลงมติไปทางใด เพราะกฎหมายฉบับนี้ออกแบบในรูปแบบที่ควบคุมไม่ใช่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกเสียงประชามติ สิ่งสำคัญการลงประชามติต้องทำให้ประชาชนได้รับรู้ว่าประเด็นแต่ละประเด็น รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ แต่ละมาตรา มีความหมายอย่างไร ถ้าเข้าใจถ่องแท้ก็จะเกิดความเข้าใจและลงมติได้ไม่คลาดเคลื่อน แต่ร่างประชามติฉบับนี้ไม่ให้โอกาสประชาชนและพรรคการเมืองได้รณรงค์ กลับให้กกต.กำหนด ทราบกันดีว่ากกต.เป็นองค์กรที่สืบเนื่องมากจากรัฐประหาร ดังนั้น จะหาความเป็นกลางจากกกต.ได้อย่างไร

ธีรัจชัย กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ทำในระดับชาติเพียงอย่างเดียวคือระดับนโยบายรัฐบาลและรัฐธรรมนูญ แต่ระดับพื้นที่ไม่มี ไม่สามารถใช้ได้ทั่วไป และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเสนอทำประชามติแต่ละเรื่องได้ เป็นการออกแบบที่สนองต่ออำนาจของรัฐบาลเท่านั้น ไม่อายที่จะออกกฎหมายแบบนี้มาเหรอ ไม่เอาเปรียบมากเกินไปเหรอ ดังนั้น ควรปรับตัวร่าง อย่าปิดกั้นอย่าใช้วิธีการแยบยลแบบนี้ ควรช่วยกันเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้

ขณะที่ องอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายว่า สิ่งที่ตนอยากเสนอคือเมื่อเรามีกฎหมายออกเสียงประชามติหวังว่ากฎหมายฉบับนี้เมื่อดำเนินการมีประชามติแล้วจะต้องเกิดการยอมรับในผลของประชามติ แต่ถ้าประชาชนไม่ยอมรับผลจะเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศของสังคมไทย เนื่องจากการทำประชามติไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทั้งประเทศ โดยกฎหมายประชามติฉบับนี้เกี่ยวข้องกับการออกเสียงการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น จึงมีความสำคัญเราควรหาทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหลังการออกเสียงประชามติและจะต้องทำให้เกิดการยอมรับ

องอาจ กล่าวว่า แนวทางการออกกฎหมายต้องยึดหลักทำกฎหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกกต.ต้องทำให้ประชาชนรับทราบข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาไม่ชี้นำ และต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รณรณรงค์การออกเสียงอย่างเสรีสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากที่สุด และสิ่งสำคัญการออกเสียงต้องดำเนินการชอบด้วยกฎหมาย ชอบธรรม สุจริตและเที่ยงธรรม

“โรม” เล่าคดีประชามติ 59 หวั่นร่าง พ.ร.บ.ประชามติปิดปากคนซ้ำรอยเดิม

ทีมสื่อพรรคก้าวไกลรายงานการการอภิปรายของ รังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า หลักการของร่างกฎหมายฉบับนี้เขียนไว้อย่างกว้าง เป็นการให้มีกฎหมายเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพิ่มเติม ซึ่งมีประเด็นเนื้อหาข้างในที่รัฐสภาต้องกังวลต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือบทเรียนในอดีตว่าด้วยการทำประชามติ 7 ส.ค. 59 ส่วนเรื่องที่สองคือ ปัญหาในเนื้อหาสาระที่อาจทำให้โกลาหลและละเมิดสิทธิมนุษยชน

รังสิมันต์ ระบุถึงปัญหาการทำประชามติเมื่อปี 2559 ที่มีผลเป็น รัฐธรรมนูญ 60 ที่ใช้อยู่และกำลังจะต้องแก้

"ถามว่าปัญหาของการประชามติครั้งนั้นคืออะไร ในระหว่างที่มีการรณรงค์รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มีบันทึกอย่างกว้างขวางว่า มีการดำเนินคดีกับคนที่เห็นต่าง 64 ราย ด้วยมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ประชามติ ปี 2559 และอีก 131 คน ถูกดำเนินคดีตามคำสั่งที่ 3/58 ของหัวหน้า คสช. เบ็ดเสร็จรวมกันเกือบ 200 คน ตัวอย่างของผู้ที่ถูกคดี หนึ่งในนั้นก็คือผม ถูกเอาไปขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 12 วัน ยังจำได้ดี ตอนที่อยู่ในเรือนจำ เวลานั้นเป็นช่วงเวลาประมาณบ่ายสามถึงบ่ายสี่โมงเย็น กำลังอ่านหนังสือเรื่องฮังเกอร์เกมอยู่ ระหว่างอ่านมีเพื่อนนักโทษกำลังปรึกษากันว่าคดีของตนควรจะทำอย่างไร คนหนึ่งเข้าใจว่าผิดในเรื่องการลักทรัพย์ถามอีกคนที่น่าจะมีประสบการณ์มากกกว่าว่า ควรจะสารภาพให้จบๆไปไหม อีกคนที่น่าจะโดนคดีเรื่องฉ้อโกงบอกว่า อย่าสู้เลย ยิ่งสู้ยิ่งยาว รับสารภาพไปดีกว่า พวกเขาเห็นผมนั่งอยู่เลยถามว่าผิดอะไร ผมก็บอกว่าไปแจกใบปลิวไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ เขาถามผมว่าเดี๋ยวนี้ข้างนอกแจกใบปลิวผิดด้วยหรือ ก็ไม่รู้จะตอบอย่างไร ได้แต่คิดในใจว่า การดำเนินคดีกับคนที่เห็นต่างเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ขัดต่อสามัญสำนึกของคนทั่วไป แสดงให้เห็นว่าการลงประชามติครั้งนั้นเป็นกระบวนการที่วิปริต เป็นการะบวนการที่ทำให้คนทั่วไปมีคำถามว่า เมื่อมีการเปิดให้ลงประชามติเหตุใดจึงไม่สามารถรณรงค์ให้คนเข้าใจได้"

รังสิมันต์ ยังกล่าวต่อไปว่าที่เราไม่ควรมีกฎหมายแบบนี้อีก เพราะพ.ร.บ.ประชามติ 2559 ยังเป็นเครื่องมือใช้ทำลายฝ่ายตรงข้าม ใส่ร้ายทางการเมือง แทนที่จะเป็นเครื่องมือเพื่อเสรีภาพของประชาชน สาเหตุที่ทำให้ได้ผลตรงข้าม เพราะพ.ร.บ.ดังกล่าวใช้ถ้อยคำคลุมเครือเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐตีความอย่างกว้างขวางที่เป็นผลร้ายต่อผู้รณรงค์ เช่น มาตรา 71 ใช้ถ้อยคำว่าก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ ซึ่งเงื่อนไขแบบนี้ได้นำไปสู่การสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวและข้อเท็จจริงคือการดำเนินคดีอย่างกว้างขวางต่อคนที่คิดว่าไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญ 60 สาเหตุที่กล่าวมาก็คือ แต่ร่างที่ส่งเข้ามาในสภาก็ยังมีปัญหาลักษณะเดียวกันนี้ 3 ประการ

ประการแรก มาตรา 60 อนุ 3 มีการใช้ถ้อยคำคลุมเครือไม่ต่างจากประชามติ 2559 เช่น ใช้ถ้อยคำว่า หลอกลวง บังคับขู่เข็ญ หรือจูงใจ เพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิ และยังมีการบัญญัติข้อความว่าหรือให้ข้อมูลต่อเรื่องที่จะออกเสียงประชามติเป็นเท็จให้กลายเป็นความผิดด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาการตีความและบังคับใช้กฎมายเพื่อกลั่นแกล้งผู้รณรงค์ได้ไม่ต่างจากอดีต ยังมีเรื่องโทษจำคุก 10 ปีเหมือนกัน ปรับไม่เกิน 200,000 บาท และเปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยตัดสิทธิทางการเมืองถึง 5 ปี จะทำให้มีบรรยากาศช่วงประชามติไม่ต่างจาก ปี 2559

ประการที่ 2 มาตรา ที่ 31 เป็นเสมือนการนิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่รัฐ สาระสำคัญคือ การระบุว่า การปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ หากเป็นไปอย่างสุจริตก็ไม่ต้องรับผิด ทั้งการแพ่ง อาญา และปกครอง การบัญญัติแบบนี้เท่ากับส่อว่าจะมีการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิผู้รณรงค์ได้ โดยแค่อ้างว่าทำตามกฎหมา ย ทำตามการวินิจฉัยแม้ก่อผลร้ายเพียงใดก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เป็นการสร้างความเหิมเกริมให้เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวให้กับประชาชน ก่อนหน้านี้พูดกันเยอะเรื่องกฎหมายเซ็นเช็คเปล่า นี่แหล่ะคือตัวอย่างของการเซ็นเช็คเปล่า นิรโทษกรรมไว้ล่วงหน้าชัดเจน

ประการที่ 3 การกำหนดให้ผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ จึงจะถือว่าเป็นการออกเสียงที่มีผลตามกฎหมาย หมายความว่า จะต้องมีประชาชน 26 ล้านคนมาลงประชามติ ตรงนี้ฟังเหมือนจะดูดี หมายความว่า ต่อไปการออกเสียงประชามติต้องทำให้ทุกฝ่ายมาช่วยกัน ทำให้ประชาชนออกมาให้มากที่สุด ภาครัฐมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ แต่การกำหนดเงื่อนไขแบบนี้ก็อาจเข้าทางรัฐบาลได้ หากไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่จะมีการประชามติก็อาจปล่อยปละละเลย ไม่รณรงค์ หรือรณรงค์ให้ประชาชนไม่ออกมาลงประชามติก็ได้

“เสียดายที่ร่างกฎหมายนี้วางข้อจำกัดมากกว่ายืนยันอย่างหนักแน่นว่า ประชาชนต้องสามารถรณรงค์วิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเต็มที่ โดยเจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่ขัดขวาง การมองว่าประชาชนมีเสรีภาพอยู่แล้วเป็นหลักทั่วไปทางกฎหมาย แต่ต้องยืนยันว่า เวลานี้เราอยู่ในสังคมที่มีสภาพไม่ปกติ เรามีรัฐบาลที่ถูกวิจารณ์รณ์ทางสังคมอย่างกว้างขวาง มีตุลาการณ์ที่ถูกวิจารณ์ว่าช่วยเหลือผู้มีอำนาจ และที่สำคัญคือมีตำรวจที่ใช้กฎหมายดำเนินคดีที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง ราวกับว่าวันๆตำรวจไม่ทำอะไร เอาแต่จับผู้ชุมนุมอย่างเดียว นี่คือสภาพที่เป็นปัญหาต่อการใช้สิทธิเสรีภาพ

สุดท้ายในฐานะที่ผมเคยเป็นผู้รณรงค์และถูกจับไปในเรือนจำ ขอยืนยันอีกครั้ง ผู้รณรงค์ไม่รับอนาคตที่ไม่ได้เลือก พวกเราคือผู้บริสุทธิ์” รังสิมันต์ กล่าว

สว.หนุนร่างเพราะส่งเสริมอำนาจอธิปไตยของประชาชน

ไทยรัฐออนไลน์รายงานการอภิปรายของ สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายในการประชุมรัฐสภา ว่า ระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน เป็นระบอบประชาธิปไตยทางอ้อม (Indirect Democracy) หรือ ประชาธิปไตยตัวแทน (Representative Democracy) ที่ให้ประชาชนใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางผู้แทนเพื่อทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติและทางบริหาร ทั้งนี้ระบอบประชาธิปไตยสากล ประชาชนมีสิทธิใช้อำนาจอธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) เช่น การริเริ่มเสนอกฎหมายโดยประชาชน (Inititative) ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในกระบวนการของรัฐสภาอยู่แล้ว

สถิตย์ อภิปรายว่าเห็นชอบด้วยในหลักการ เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (Referendum) ในครั้งนี้เพราะเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงของประชาชนเช่นกัน แต่มีข้อสังเกต 2 ประการ ดังนี้

ประการแรก อำนาจในการออกเสียงประชามติ มาตรา 11 ที่ระบุว่า เมื่อ ครม. มีมติโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใดให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติ ตามวันที่กำหนดตามที่ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการซึ่งต้องไม่เร็วกว่า 90 วัน และไม่ช้ากว่า 120 วัน นับแต่วันที่ ครม.มีมติ ในประกาศดังกล่าวต้องระบุเรื่องที่จะขอให้ประชาชนออกเสียงประชามติโดยมีข้อความที่ชัดเจนเพียงพอที่จะให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องที่จะจัดทำประชามติได้โดยสะดวก

พร้อมกันนี้ สถิตย์ ได้เสนอว่า นอกจากอำนาจในการเสนอให้มีการออกเสียงประชามติโดย ครม. แล้ว เห็นควรให้มีการออกเสียงประชามติได้ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ โดยให้เพิ่มเติมคำว่า “ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติ” รวมอยู่ในมาตรา 11 ของร่างพระราชบัญญัติที่ได้เสนอในครั้งนี้ด้วย

ประการที่สอง วิธีการออกเสียงประชามติตามร่างมาตรา 33 ซึ่งกำหนดว่า “บัตรออกเสียงและวิธีการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด” นั้น หากในกรณีผู้มีสิทธิออกเสียงไม่สามารถไปออกเสียงที่คูหาเลือกตั้งได้ อาจมีข้อกำหนดให้มีการออกเสียงทางไปรษณีย์ได้เช่นเดียวกับการออกเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับโรคระบาดโควิด-19 หรือหากในอนาคตระบบการออกเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ได้พัฒนาและสามารถทำได้อย่างรอบคอบ ปลอดภัย โปร่งใสแล้ว ก็สมควรมีข้อกำหนดให้มีการออกเสียงผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้

วิษณุแจงแก้ รธน.ต้องมีกฎหมายรองรับ ชี้ยังไม่พอใจก็แก้ได้

มติชนออนไลน์รายงานว่า เมื่อ 17.00 น. หลังจากสมาชิกได้อภิปรายเสร็จสิ้น วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า การเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วบการออกเสียงมติ พ.ศ. … ไม่ได้รีบร้อนอย่างที่สมาชิกหลายท่านอภิปราย เรื่องนี้ต้องให้เครดิตกกต. เพราะกกต.เสนอร่างพ.ร.บ.นี้มาตั้งแต่ปี 2562 ก่อนมีการเลือกตั้งส.ส.ปีที่ผ่านมาด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากเป็นปลายสมัยของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รัฐบาลขณะนั้นเห็นว่า ความจำเป็นเร่งด่วนที่จะให้มีการออกเสียงประชามติคงยังไม่เกิดขึ้น หากรอไว้ก่อนก็จะทำให้ส.ส.ที่เข้ามาใหม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น และปรับปรุงให้ร่างนั้นสมบูรณ์ขึ้น รัฐบาลจึงตัดสินใจไม่นำเสนอร่างนั้นต่อ สนช.แต่เก็บไว้จนการเลือกตั้งแล้วเสร็จก่อนส่งคืนไปยังกกต. ให้พิจารณาปรับรปรุงกลับมาใหม่ จังหวะเดียวกันมีการออกพ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดร่างกฎหมายและการรับฟังความคิดเห็น โดยได้กำหนดว่าการรับฟังความเห็นตามาตรา 77 จะต้องทำอย่างไร

วิษณุ กล่าวว่า กกต.จึงใช้โอกาสนั้นดำเนินการให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ดังกล่าว และส่งกลับมารัฐบาลช่วงกลางปีนี้ ทำให้รัฐบาลได้รับฟังความเห็นของหน่วยงานต่างๆ กระทั่งครม.มีมติเมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมา ให้เสนอมายังรัฐสภาได้ จึงยืนยันว่า ไม่ได้มีความรีบร้อนเร่งด่วนหรือชิงตัดหน้าใครทั้งนั้น การพิจารณาได้เร็วเป็นปัจจัยสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าเมื่อจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่การรับฟังความเห็นเพื่อออกเสียงประชามติ จำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับ รัฐบาลจึงเร่งรัดให้กฤษฎีกาตรวจจนแล้วเสร็จ เพราะหากไม่มีกฎหมายรองรับจะต้องหยุดทิ้งไว้นาเกินควร หากเป็นเช่นนั้นจะต้องออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ก็จะไม่สวยงามถูกครหา ดังนั้น การเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. … จึงน่าจะเหมาะสมด้วยกาลเทศะทุกประการ

วิษณุ กล่าวอีกว่า ส่วนเนื้อหาสาระหากไม่เป็นที่พอใจของสมาชิก ก็เป็นอำนาจและหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่จะปรับปรุงแก้ไขให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตนรับปากว่าสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ รัฐบาลไม่ขัดข้องหมองใจหากสมาชิกรัฐสภาจะแก้ไขส่วนใด หลายท่านฝันอยากเห็นแบบไหนก็แก้ไขในชั้นกมธ. ท่านสามารถรื้อได้ทั้งฉบับตามที่ท่านเห็นสมควร หากจะแปรญัตติอย่างไรรัฐบาลก็ยินดี นอกจากนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้มีการรับฟังความคิดเห็นแล้วหลายครั้ง อาจจะมากกว่าร่างพ.ร.บ.อื่นๆด้วยซ้ำ ส่วนที่ประชาชนไม่ค่อยแสดงความเห็นกลับมา ก็เป็นธรรมดาเพราะประชาชนอาจจะรู้สึกว่ากฎหมายบางอย่างยากต่อความเข้าใจ หรือคิดว่าไม่เกี่ยวอะไรกับตนจึงไม่ได้แสดงความคิดเห็นมา ส่วนที่สมาชิกเห็นว่า น่าจะมีการออกเสียงประชามติทางไปรษณีย์หรือออนไลน์ได้นั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่มีเพราะยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นที่ยอมรับของประชาชนหรือไม่ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่หากชั้นกมธ.คิดว่าทำได้ก็ลองเสนอปรับปรุงเข้ามา หรือเสนอไปยังกกต.ก็ได้ จึงขอให้สมาชิกรับร่างนี้ไว้เพื่อให้การดำเนินการอื่นๆที่จะตามมาดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติเห็นด้วยกับหลักการร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ด้วยคะแนน 561 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง งดออกเสียง 50 และให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว 49 คน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net