กรรมการสิทธิฯ ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กในที่ชุมนุม แนะผู้ปกครองไม่ควรพาไป

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยและสวัสดิภาพของเด็กในพื้นที่การชุมนุมแนะผู้ปกครองไม่ควรพาเด็กเล็กเข้าร่วมชุมนุม ย้อนอ่านความเห็นกลุ่ม ‘ในม็อบมีเด็ก’ จัดกิจกรรมให้ความรู้ผู้ชุมนุมเรื่องการดูแลเด็กในพื้นที่ชุมนุม ย้ำเด็กสามารถมาร่วมชุมนุมได้โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาดูแลเลยด้วยซ้ำ โดยที่รัฐไม่ควรใช้วิธีการคุกคามหรือใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบตั้งแต่แรก

 

1 ธ.ค.2563 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานว่าประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มอบหมายกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และพนักงานเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุมและได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่การชุมนุมมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดปรากฏภาพข่าวในสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์พบว่า มีเด็กและเยาวชนเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองซึ่งทำให้หลายฝ่ายและสังคมมีความห่วงกังวลถึงผลกระทบที่อาจมีต่อเด็กและเยาวชน นั้น

กสม. เห็นว่า เด็ก ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC) หมายถึง บุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี มีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นและเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมโดยสงบสันติ อันเป็นสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช  2560 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม เช่น เด็กสามารถมีความคิดเห็นเป็นของตนเอง รัฐควรตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นได้เสรีในเรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็ก และการเข้าร่วมการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นของเด็ก ควรต้องได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังตามสมควรแก่อายุและวุฒิภาวะตามวัยที่เหมาะสม

อย่างไรก็ดี เนื่องจากเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมหรืออยู่ในพื้นที่การชุมนุมมีหลายช่วงอายุ ซึ่งมีทั้งเด็กเล็กที่ยังอยู่ในช่วงวัยที่มีความเปราะบางและอาจถูกชักชวนให้หลงกระทำในเรื่องที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัย ไม่เหมาะสม หรือขัดกับกฎหมายได้ ดังนั้น ฝ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ปกครองที่นำบุตรหลานเข้ามาในพื้นที่ชุมนุม ผู้จัดการชุมนุม ผู้ชุมนุม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำเป็นต้องให้ความสำคัญในการช่วยกันดูแลคุ้มครองเด็กและเยาวชนในพื้นที่การชุมนุม โดยคำนึงถึงวุฒิภาวะและสถานการณ์แวดล้อมของการชุมนุม เช่น ความปลอดภัย กิจกรรมที่สุ่มเสี่ยง และอื่น ๆ ด้วย

“ไม่ว่าในสถานการณ์ใด ๆ กสม. เห็นว่าทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก ซึ่งในพื้นที่การชุมนุม ความปลอดภัยและสวัสดิภาพเป็นสิ่งที่สำคัญลำดับแรกที่ต้องคำนึงถึง ผู้ปกครองจึงไม่ควรนำเด็กเล็กเข้าร่วมในการชุมนุมเพราะยังไม่สามารถดูแลตนเองได้ รวมทั้งอาจอยู่ในสภาวการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัย และอาจทำให้เด็กซึมซับพฤติกรรมความก้าวร้าวหรือความรุนแรง” ประกายรัตน์ กล่าว

กลุ่ม ‘ในม็อบมีเด็ก’ จัดกิจกรรมให้ความรู้ผู้ชุมนุมเรื่องการดูแลเด็กในพื้นที่ชุมนุม

ขณะที่เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา ในพื้นที่การชุมนุม ที่บริเวณหน้าเซ็นทรัลเวิล์ด กลุ่ม ‘ในม็อบมีเด็ก’ ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันหลายองค์กร ทั้งกลุ่มสิทธิเด็กและคนที่ทำงานด้านสุขภาพจิตเด็ก จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องสิทธิเด็ก การดูแลเด็กในพื้นที่ชุมนุม และชวนผู้ชุมนุม, ผู้ปกครอง รวมถึงเด็ก ร่วมติดสติ๊กเกอร์สถิติ ‘เด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากการสบายการชุมนุม’ ตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค. - 17 พ.ย. 63 Child in mobs. #ในม็อบมีเด็ก โดยใช้สีต่างๆ เป็นตัวกำหนดช่วงอายุของเยาวชน

รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์ สมาชิกกลุ่มในม็อบมีเด็ก กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของกิจกรรมนี้ว่า เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้ร่วมชุมนุมทุกคนรู้จักพื้นที่ปลอดภัยและจุดปฐมพยาบาลสำหรับเด็กภายในม็อบ รวมถึงวิธีการดูแลเด็กหากมีการสลายการชุมนุม

รวงทัพพ์ กล่าวต่อว่า สิทธิการแสดงออกทางการเมืองเป็นสิทธิของเด็ก เด็กควรที่จะได้รับการคุ้มครองตั้งแต่มาม็อบตลอดจนกลับบ้าน แต่ที่ผ่านมาไม่มีการคำถึงถึงความปลอดภัยของเด็กเท่าที่ควร ยกตัวอย่างเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวานนี้ (17 พ.ย.63) มีการสลายการชุมนุมที่บริเวณรัฐสภาเกียกกาย เด็กหลายคนได้รับผลกระทบทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ทางกลุ่มจึงตัดสินใจตัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นเพื่อนให้ความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองเด็ก

รวงทัพพ์ กล่าวต่อว่า ผู้ใหญ่หลายคนกังวลไม่อยากให้เด็กไปร่วมชุมนุมซึ่งทำตัวคล้ายกับรัฐที่ไม่อยากให้มา แต่จริงๆ เด็กมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะเข้าร่วมเพราะมันคือความรู้สึกที่เขาเจอ และมีผลประโยชน์ที่เขาต้องดำเนินต่อไป และมันคืออนาคตของตัวเขาเอง

“เราไม่ได้บอกว่าเราจะชวนเด็กมาม็อบ แต่เราบอกว่าการมาม็อบต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง และความปลอดภัยคือสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึง ผู้ปกครองหรือแกนนำก็ต้องคำนึงถึง แต่พื้นที่ม็อบในไทยมันไม่เคยถูกทำให้ปลอดภัยมาโดยตลอด”

เขามองว่าความอันตรายมันไม่ควรจะเกิดขึ้นตั้งแต่แรกอยู่แล้ว “เรารู้สึกว่าม็อบมันสามารถทำให้มันปลอดภัยได้ ยกตัวอย่างในต่างประเทศในระดับสากล เด็กสามารถมาร่วมชุมนุมได้โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาดูแลเลยด้วยซ้ำ รัฐไม่ควรใช้วิธีการคุกคามหรือใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในการชุมนุมโดยสันติวิธีตั้งแต่แรกอยู่แล้ว” รวงทัพพ์ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท