ชาวกะเหรี่ยงได้รับรางวัลสิ่งแวดล้อมระดับโลกจากโครงการ 'อุทยานสันติภาพสาละวิน'

ซอพอลเส่งทวา ผู้อำนวยการเครือข่ายปฏิบัติการทางสิ่งแวดล้อมและสังคมกะเหรี่ยง (KESAN) ได้รับรางวัลสิ่งแวดล้อมโกลด์แมนแห่งเอเชียจากการที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งอุทยานสันติภาพสาละวิน (SPP) ในรัฐกะเหรี่ยง โดยที่เจ้าของรางวัลคือมูลนิธิสิ่งแวดล้อมโกลด์แมนระบุว่าพวกเขาได้ให้รางวัลกับนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมระดับรากหญ้า 6 ราย ที่เป็นแรงดลใจให้คนอื่นๆ "ปกป้องโลกของพวกเรา"

อุทยานสันติภาพสาละวิน (SPP) ที่กินพื้นที่ 5,485 ตร.กม. มาจากความริเริ่มของกลุ่มชุมชนชาวกะเหรี่ยง เพื่อที่จะรักษาวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในแถบลุ่มน้ำสาละวินเอาไว้ไปพร้อมๆ กับการคุ้มครองสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์หรือมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ เช่น เสือโคร่ง, เสือลายเมฆ, ตัวนิ่ม, หมีหมา และ ชะนี รวมถึงคุ้มครองผืนป่าที่สัตว์ป่าเหล่านี้อาศัยอยู่ด้วย

ซอพอลเส่งทวากล่าวว่า แนวคิดเรื่อง "อุทยานสันติภาพ" ถือกำเนิดมาจากการโต้ตอบกับภัยคุกคามของการบุกรุกพื้นที่ป่าและการพัฒนาอย่างไม่ยั่งยืนในเขตมูตรอ หลังจากที่มีสนธิสัญญาหยุดยิงระหว่างสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือเคเอ็นยู (KNU) กับกองทัพพม่าและรัฐบาลเต่งเส่ง

ซอพอลเส่งทวาเล่าถึงตอนที่มีการหารือกันระหว่างกองกำลังเคเอ็นยูและกองทัพพมาว่ามีการแสดงความกังวลในเรื่องอันตรายจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่มาจากกลุ่มบริษัทซึ่งเล่นพรรคเล่นพวกกับกองทัพพม่า นั่นทำให้ซอพอลเส่งทวาโต้ตอบกับภัยคุกคามเหล่านี้ด้วยการสร้างอุทยานสันติภาพขึ้น

พื้นที่ป่าหนาแน่นแห่งนี้เป็นปราการธรรมชาติที่ป้องกันการรุกรานจากกองทัพพม่าที่เรียกว่าทัตมะตอว์ได้ นอกจากนี้ยังป้องกันไม่ให้คนในพื้นที่ถูกดูดกลืนวัฒนธรรมเช่นที่เกิดขึ้นกับชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่อื่นๆ ที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลทหารด้วย ซอพอลเส่งทวากล่าวว่าชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่เหล่านี้ "มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับผืนแผ่นดิน"

หลังจากที่เคเอ็นยูสูญเสียฐานทัพมาเนอปลอร์ให้กับการรุกรานของกองทัพพม่าและดีเคเอบีในปี 2538 กองทัพพม่าก็รุกคืบเข้าไปในพื้นที่ของชาวกะเหรี่ยงได้มากกว่าเดิม มีชาวกะเหรี่ยงหลายคนที่ลี้ภัยเข้ามาในไทยในขณะที่อีกหลายคนยังคงอยู่เพื่อ "ปกป้องดินแดนของพวกเขา"

ซอพอลเส่งทวาใช้ชีวิตวัยเด็กทั้งในเขตมูตรอและในอุทยานแห่งชาติสาละวันในเขตแดนฟากของประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ต่อมาในช่วงวัยรุ่นซอพอลเส่งทวาก็ได้รับรู้เรื่องอันตรายจากการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในตอนนั้นเขาได้เผชิญกับน้ำท่วมและแผ่นดินถล่มในแถบลุ่มน้ำสาละวินและได้เห็นผลกระทบจากการถางป่าจากบริษัทในไทย ตอนนั้นเป็นช่วงประมาณปี 2523-2533

ต่อมาหลังจากที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพครูที่ชายแดนไทย เขาก็ไปฝึกงานด้านสิ่งแวดล้อมกับสตีฟ ผู้ที่เป็นคนฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อมจากนิวซีแลนด์ ในเวลาเดียวกันนั้นเขาก็รับรู้เรื่องที่รัฐบาลพม่ามีแผนการจะสร้างเขื่อนพลังงานน้ำบนแม่น้ำสาละวิน ซึ่งถ้าหากสร้างเสร็จจะทำให้บ้านเกิดของเขาจมอยู่ใต้น้ำ มันทำให้เขานึกถึงตอนสมัยเด็กที่เขากับครอบครัวต้องย้ายที่อยู่อาศัยบ่อยๆ เพราะเรื่องน้ำท่วมนั่นทำให้ซอพอลเส่งทวาตัดสินใจอุทิศชีวิตตัวเองให้กับประเด็นสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำสาละวิน

หลังจากได้รับฝึกอบรมทางสิ่งแวดล้อมแล้วซอพอลเส่งทวากับสตีฟก็ตั้งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกะเหรี่ยงขึ้นมาในปี 2539 กับผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ โดยที่สตีฟเคยมีบทบาทในการรณรงค์ต่อต้านท่อก๊าซยาดานาที่เคยมีองค์กรระดับโลกฟ้องร้องเอาผิดกองทัพพม่าว่าบังคับใช้แรงงานชาวบ้านในการสร้างท่อก๊าซ สำหรับกลุ่มของซอพอลเส่งทวากับสตีฟนั้นมีการจัดทำสวนออร์แกนิค การจัดการของเสีย และการอนุรักษ์ลุ่มน้ำ

นอกจากนี้ยังมีการเน้นให้การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมกับประชาชนในบ้านเกิดชาวกะเหรี่ยงโดยจัดทำอุปกรณ์การสอนเป็นภาษาของพวกเขาเอง และในปี 2544 เขากับชาวกะเหรี่ยงคนอื่นๆ ก็จัดตั้งองค์กรปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมกะเหรี่ยง (KSEAN) ขึ้น กลุ่มของพวกเขาทำกิจกรรมเกี่ยวกับการประเมินผลเสียหายจากการถางป่าของรัฐบาลเผด็จการพม่าในทางตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยงแล้วรายงานออกมาเป็นภาษากะเหรี่ยงและภาษาอังกฤษให้กับผู้ร่วมทำงานของพวกเขาที่เป็นชาวยุโรป

ในช่วงหลายปีถัดจากนั้นซอพอลเส่งทวาก็ทำงานกิจกรรมหลายอย่าง ทั้งเรื่องเกี่ยวกับสัตว์ป่าและการดูแลคุ้มครองป่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตในแบบชุมชน การส่งเสริมการวางเขตแดนของกลุ่มชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่มาก่อน โครงการริเริ่มเกี่ยวกับป่าชุมชน การผลิตสื่อในเชิงการศึกษาและการรณรงค์ และการสนับสนุนพัฒนาการของความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมในหมู่ชนพื้นเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า แล้วเขาก็ได้นำประสบการณ์จากการทำงานทั้งหมดนี้มาทำให้อุทยานสันติภาพ "สาละวินพีชพาร์ค" เป็นจริงได้

มีการประกาศเปิดตัวสาละวินพีชพาร์คอย่างเป็นทางการในเดือน ธ.ค. 2561 หลังมีการปรึกษาหารือกับชุมชนต่างๆ มาเป็นเวลาหลายปีเกี่ยวกับการจัดการดินแดนและทรัพยากรเพื่อให้ดีกับทั้งชาวกะเหรี่ยงและกับสัตว์ป่า สิ่งที่ทำให้โครงการนี้ต่างออกไปจากโครงการอนุรักษ์อื่นๆ ยังเป็นเรื่องการพยายามสร้างความสมดุลกันระหว่างการรักษาวัฒนธรรม วิถีชีวิต และอำนาจการตัดสินใจของตัวเองสำหรับประชาชนชาวกะเหรี่ยง ไปพร้อมๆ กับการรักษาป่าไม้ แม่น้ำ และสัตว์ป่าไปในตัวด้วย

การพัฒนาอุทยานสันติภาพแห่งนี้ยังมีการฟื้นฟูระบบที่ดินที่เรียกว่า "จ่อ" มาใช้ซึ่งเป็นสิ่งที่เคยใช้กันมาตั้งแต่สมัยที่มีการนับถือผี ระบบจ่อนี้เองที่ช่วยให้เกิดการคุ้มครองป่าและสัตว์ป่า ในประเพณีของกะเหรี่ยงนั้นมีการห้ามล่าสัตว์บางชนิด ซึ่งหลายชนิดเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์หรือมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ระบบจ่อยังเน้นเรื่องสายสัมพันธ์ระหว่างชาวกะเหรี่ยงกับผืนดินบรรพบุรุษรวมถึงชีวิตทั้งหมดและวิญญาณทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่เหล่านั้นด้วย

ในสุนทรพจน์รับรางวัลสิ่งแวดล้อมโกลด์แมนไพรซ์ ซอพอลเส่งทวากล่าวว่าชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มคนที่ต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติในการใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี พวกเขาจึงใช้ธรรมชาติไปพร้อมๆ กับปกปักษ์รักษาธรรมชาติ นี่คือเหตุผลว่าทำไมถึงแม้จะมีสงครามมาเป็นเวลาหลายสิบปีและมีการฉวยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทั้งจากฝั่งไทยและฝั่งพม่า แต่ก็ยังมีความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ในพื้นที่ของพวกเขา

มีการพูดถึงปัญหาการรุกรานและโจมตีจากรัฐบาลพม่า ถึงแม้ว่าสนธิสัญญาหยุดยิงจะทำให้การโจมตีจากกองทัพพม่าเบาบางลงแต่แต่ก็ยังคงมีการโจมตีเกิดขึ้นอยู่ จึงมีการเรียกร้องให้กองทัพพม่าเคารพในสนธิสัญญาสันติภาพและกระบวนการรักษาสันติภาพกับโครงการรากหญ้าต่างๆ ในสังคมเช่นสาละวินพีชพาร์คแทนที่จะพยายามสร้างฐานทัพใหม่ๆ พวกเขาควรจะพัฒนาความเชื่อมั่นกับชาวกะเหรี่ยงที่มีบาดแผลจากสงครามและกลายเป็นผู้ลี้ภัยหรือไม่ก็ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศมากกว่า เพราะการตั้งฐานทัพใหม่เข้ามาแย่งพื้นที่ลาบลุ่มที่อุดมสมบูรณ์และเคยใช้ในการเกษตรมาก่อน

การรุกรานอีกรูปแบบหนึ่งคือโครงการพัฒนาและการใช้อำนาจรัฐบาลปราบปรามเพื่อนร่วมงานที่ปกป้องชุมชนเช่นกรณีที่ตำรวจพม่าพยายามจับกุมเพื่อนร่วมงานของซอพอลเส่งทวาคนหนึ่งที่เปิดโปงเรื่องการที่โครงการพัฒนาของรัฐบาลทำให้แหล่งน้ำมีสารปนเปื้อน เขาจึงใช้โอกาสในการได้รับรางวัลโกลด์แมนเพื่อเรียกร้องให้นานาชาติและคนในชาติพม่าหันมาใส่ใจและสนับสนุนสาละวินพีชพาร์คเพื่อให้คุ้มครองตัวเองได้

"โครงการพัฒนา (ของรัฐบาลพม่า) เป็นภัยต่อการมีอยู่ของพวกเรา ไม่ใช่เฉพาะสำหรับชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงเท่านั้น แต่กับผู้คนที่อาศัยในโลกทั้งหมดด้วย ... การสูญเสียป่าใหญ่ การทำให้แหล่งน้ำมีมลพิษ ไฟป่า และภัยแล้ง ที่มาจากปัญหาสภาพภูมิอากาศ และมีสัญญาณอีกมากมายที่แสดงให้เห็นหนทางอันนำไปสู่หายนะ"

ซอพอลเส่งทวาบอกอีกว่าอนาคตของอุทยานสันติภาพยังขึ้นอยู่กับการที่รัฐบาลจะยอมรับในความมั่นคงและเสรีภาพในการเดินทางภายในเขตแดนบรรพบุรุษของชาวกะเหรี่ยงเองด้วย เขาจึงเรียกร้องให้กองทัพพม่ายกเลิกฐานทัพในพื้นที่เหล่านี้ ไม่อนุญาตให้มีเขื่อน และทำเกิดการมีส่วนร่วมของชนพื้นเมืองในการจัดการแม่น้ำและทางน้ำ

รางวัลสิ่งแวดล้อมโกลด์แมนเริ่มตึ้นจากการที่นักการกุศล โรดา และ ริชาร์ด โกลด์แมน ตั้งขึ้นในปี 2532 หลังจากที่มีการตั้งรางวัลนี้ขึ้นมาก็มีคนได้รับรางวัลนี้แล้ว 200 ราย จาก 90 ประเทศ

เรียบเรียงจาก : 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท