'ควบคุมโรค' ยัน 6 หญิงไทยข้ามจากพม่า ติด COVID-19 ระบุยังไม่พบติดเชื้อเพิ่มจากกลุ่มนี้

กรมควบคุมโรคยืนยัน 6 หญิงไทยข้ามจากพม่าติด COVID-19 รวมเป็น 10 คน กระจายไป 6 จังหวัด พร้อมระบุยังไม่พบติดเชื้อเพิ่มจากกลุ่มนี้ ด้าน ‘หมอเอก’ ก้าวไกล แนะหาสมดุลระหว่างจำนวนผู้ติดเชื้อกับเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนย้ำ ความเข้าใจในการดูแลโรคของผู้นำเป็นเรื่องสำคัญ

2 ธ.ค.2563 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงว่า ขณะนี้พบมีหญิงไทย ที่ลักลอบข้ามผ่านธรรมชาติจากประเทศพม่า เข้ามาทาง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งก่อนหน้านี้รายงานผู้ป่วยไปแล้ว 4 คน คือ จ.เชียงใหม่ 1 คน เชียงราย 3 คน และการสอบสวนค้นหาผู้สัมผัสเพิ่มเติมอีก 6 คน คือ เชียงใหม่ 2 คน พะเยา 1 คน กรุงเทพฯ 1 คน พิจิตร 1 คน และราชบุรี 1 คน ทั้งหมดเกี่ยวข้องกลุ่มหญิงไทย 4 คน ที่ลักลอบเข้าเมืองก่อนหน้านี้ รวมผู้ติดเชื้อล่าสุด 10 คน โดยพบว่า ครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ

จากการสอบสวนโรคพบว่า หลังจากเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยแล้ว บุคคลกลุ่มดังกล่าว ได้เดินทางไปในหลายสถานที่ ซึ่งขณะนี้อยู่ใน จ.เชียงใหม่ พะเยา พิจิตร กทม.และ ราชบุรี โดยใช้บริการรถสาธารณะ โดยสารเครื่องบิน และไปเที่ยวสถานบันเทิง ขณะที่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ล่าสุดการติดตามกลุ่มดังกล่าวยังไม่พบการนำเชื้อไปติดยังผู้อื่น จึงยังไม่พบการแพร่กระจายในประเทศ

ยังไม่พบติดเชื้อเพิ่มจากกลุ่มนี้

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า กรณีดังกล่าว ติดตามตัวได้ครบทั้งหมดแล้ว ขณะนี้ได้ตรวจหาเชื้อและกักตัวอยู่ในโรงพยาบาล ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงใกล้ชิด เช่น นั่งรถมาด้วยกัน ได้ตรวจหาเชื้อทั้งหมด ยังไม่พบคนที่ติดเชื้อเพิ่มเติมจากกลุ่มลักลอบเข้าไทย ถือว่ายังไม่เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ และขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบสาธารณสุขของไทย สธ.มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ระบาดหนักเหมือนช่วงต้นปี เพราะวันนี้มีความพร้อมในระบบสาธารณสุขและองค์ความรู้

นพ.โสภณกล่าวอีกว่า สำหรับกรณีหญิงไทย อายุ 29 ปี ที่ยืนยันการติดเชื้อคนแรกเมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งพบมีผู้สัมผัสทั้งหมด 326 คน และแบ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง 105 คน และสัมผัสเสี่ยงต่ำ 149 คน และอื่นอีก 72 คน

ผลตรวจหาเชื้อออกแล้วผลเป็นลบ และยังรอผลตรวจอีก 91 คน ส่วนกรณีหญิงอายุ 26 ปี จ.เชียงราย (รายที่ 1) ที่ตรวจยืนยันเชื้อ 29 พ.ย.63 มีผู้สัมผัสทั้งหมด 28 คน โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 4 คนพบว่า 1 คนมีผลเป็นบวก (พบว่าติดเชื้อคือหญิงอายุ 23 ปี) ซึ่งเป็นการติดเชื้อจากเมียนมา

‘หมอเอก’ ก้าวไกล แนะหาสมดุลระหว่างจำนวนผู้ติดเชื้อกับเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน 

วันเดียวกัน (2 ธ.ค.63) ที่อาคารรัฐสภา นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เขต1 จังหวัดเชียงราย พรรคก้าวไกล ได้แสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่มีผู้ติดเชื้อโควิดจากประเทศเมียนมาร์เข้ามาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยา

นายแพทย์เอกภพ กล่าวว่า สถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นในขณะนี้ว่าคล้ายกับช่วงที่โรคโควิด19ระบาดในช่วงแรกเกิดในประเทศไทยที่ผู้ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ แต่ความแตกต่างคือขณะนี้เรามีความรู้มากขึ้นมีความพร้อมในด้านความรู้ ความเข้าใจโรคนี้มีมากขึ้น พร้อมกับมีศักยภาพในการตรวจหาเชื้อที่พร้อมขึ้น ยกตัวอย่างเช่นในกรณีของจังหวัดเชียงรายที่ได้มีการแถลงจากทางจังหวัดว่าสามารถทำการตรวจโรคได้วันละ 500 รายมีเตียงสำรองไว้สำหรับผู้ป่วยโควิด 400 เตียง และมีการสำรองเครื่องช่วยหายใจไว้สำหรับผู้มีอาการหนักจำนวน 100 กว่าเครื่อง ดังนั้นด้วยระบบสาธารณสุขและความพร้อมของเชียงรายน่าจะรับมือได้ รวมทั้งความพร้อมในระบบสาธารณสุขของประเทศไทยเองนั้น เรามีความพร้อมของบุคลากรสาธารณสุข ความพร้อมในการมีองค์ความรู้เรื่องการสอบสวนโรคมากขึ้น เรามีประสบการณ์ในการจัดการโรคมากขึ้น ถึงแม้ตอนนี้เราจะมีคนไข้แต่สถานการณ์ตอนนี้เปลี่ยนไปจากเดิม แต่ทั้งนี้ก็ยังหวังว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อที่มากขึ้น

นายแพทย์เอกภพ ยังได้ชวนสังคมให้ตั้งคำถามและตั้งสติว่า ตอนนี้เราควรกลัวอะไรกันแน่ระหว่างโควิดกับกลัวต้องปิดเมืองปิดเศรษฐกิจจากมาตรการโควิดเพราะถ้าตั้งต้นผิดทุกอย่างที่ตามมาก็จะผิดหมด 

“การรับมือโควิดไม่ใช่แค่ทำให้การติดเชื้อเป็นศูนย์ แต่การรับมือโควิดที่ดีคือการหาสมดุลระหว่างจำนวนผู้ติดเชื้อที่ไม่เกินกับที่ระบบสาธารณสุขจะรับได้กับเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนที่ต้องดีด้วย ที่ผ่านมารัฐบาลไปมุ่งเน้นกับการยึดติดตัวเลขผู้ติดเชื้อให้เป็นศูนย์ โดยระบบสาธารณสุขของประเทศไทยมีการทดสอบระบบแล้ว บุคลากรทางด้านสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขต่างได้รับความชื่นชม มีความเสียสละและมีความสามารถ รวมทั้งระบบการรักษาโรคก็ได้รับการชื่นชม มีประสิทธิภาพ เมื่อรวมๆกันเรามีระบบสาธารณสุขที่ดีมาก มีความพร้อมที่จะรองรับผู้ติดเชื้อได้บ้างในช่วงที่ยังไม่มีวัคซีน ไม่ได้เกินศักยภาพของระบบสาธารณสุข ดังนั้นเราจึงไม่จำเป็นต้องปิดเมือง ปิดเศรษฐกิจ” นายแพทย์เอกภพ กล่าว

นายแพทย์เอกภพ ยังได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ระบบการสอบสวนโรคหรือ contact tracing ที่รัฐบาลเลือกใช้คือ "ไทยชนะ" นั้นได้รับการทดสอบว่าอาจไม่สามารถสืบหาผู้สัมผัสเชื้อได้ดีเท่าที่ควร ทั้งนี้มีระบบที่ดีกว่าและเป็นระบบมากกว่าแบบที่หลายประเทศใช้คือการใช้เทคโนโลยี bluetooth ที่ชื่อว่า "หมอชนะ" โดยระบบนี้ทำออกมาก่อนไทยชนะอีกแต่ไม่ถูกเลือกใช้ อีกทั้งยังมีปัญหาการจัดการโรคระบาดด้วยมาตรการทางปกครองและมาตรการทางกฏหมาย โดยตนเองเห็นว่าการใช้วิธีการเช่นนี้ไม่ได้เป็นวิธีการรับมือกับโรคระบาดลักษณะนี้ เพราะการปิดเมืองปิดเศรษฐกิจนานๆ ทำให้เกิดผลกระทบมากกว่าตัวโรค การรับมือกับโรคระบาดลักษณะนี้ควรจำเป็นต้องมีความเข้าใจเรื่องทางระบาดวิทยาด้วย

“นอกจากนี้ปัญหาสำคัญที่รัฐทำพลาดมาตลอด คือการสื่อสารทำให้ผู้ติดเชื้อกลายเป็นคนผิด เป็นผู้ที่ถูกประณามจะเห็นว่าในหลายกรณีจะมีการโจมตีผู้ติดเชื้ออย่างรุนแรง เทียบเคียงให้เข้าใจมากขึ้นซึ่งก็เหมือนกับตอนที่ HIV ระบาดใหม่ๆ คนที่ติดเชื้อจะเป็นที่รังเกียจของสังคมและถูกประณามจากสังคม กว่าที่จะสามารถเปลี่ยนทัศนคติของสังคมได้ว่าเป็นการติดเชื้อชนิดหนึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร” นายแพทย์เอกภพ กล่าว

นอกจากนี้ สืบเนื่องจากกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ในต่างจังหวัดลดลงเพราะตำรวจส่วนหนึ่งต้องเข้ามาดูแลการชุมนุมในกรุงเทพ ซึ่งนายแพทย์เอกภพ กล่าวว่า คนที่มีหน้าที่ตรงนั้นควรให้เขาอยู่ตรงนั้นใครเป็นคนสั่งให้พวกเขาเข้ามาในเมือง ยิ่งไปกว่านั้นหากพูดให้ถึงที่สุดปัญหาหลักอาจหมายรวมไปถึงความเข้าใจในการดูแลโรคของผู้นำเองด้วย เพราะการใช้กำลังในการดูแลโรคไม่สามารถมีประสิทธิผลได้ รวมทั้งการปิดชายแดนเลยอาจไม่มีประโยชน์เพราะอาจมีการลักลอบเข้ามาไม่ว่าจะปิดดีแค่ไหนก็ตาม ดังนั้นการดูแลตามแนวชายแดนจำเป็นต้องมีการประสานงานพูดคุยกันระหว่างสองประเทศที่มีพรมแดนติดกันเป็นเรื่องที่สำคัญ ต้องมีการตรวจโรคที่ชายแดน มีการลงทะเบียนประวัติผู้ที่เดินทางเข้าออก

นายแพทย์เอกภพ ยังกล่าวด้วยว่า ถ้ารัฐแสดงความพร้อมในการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแสดงความพร้อมว่าคนที่สงสัยทุกคนสามารถตรวจหาเชื้อได้ฟรีและรักษาได้ฟรี แทนที่จะต้องเสียเงินเองถ้าไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง รวมทั้งถ้ารัฐแสดงให้เห็นว่าหนทางข้างหน้ายังมีความหวังไม่ใช่ให้ต้องต่อสู้ดิ้นรนเอง โรคโควิดที่เราต้องอยู่ด้วยไปอีกหลายปีก็จะเป็นโรคที่คนไทยรู้วิธีป้องกันตัวและยังอยู่ร่วมกับโรคนี้ได้โดยที่เศรษฐกิจก็ยังเดินไปได้ 

“ในสถานการณ์เช่นนี้ บทบาทของผู้นำเป็นเรื่องสำคัญ คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา มีภาวะผู้นำขนาดไหน มีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร การอ้างประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯอยู่ ที่อ้างมานั้นอ้างเพื่อยับยั้งโรคโควิดหรืออ้างเพื่อจัดการกับผู้ชุมนุมกันแน่” นายแพทย์เอกภพ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : ไทยพีบีเอส, ทีมสื่อพรรคก้าวไกล และเพจ ศูนย์ข้อมูล COVID-19

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท