อานนท์ นำภา ความหวังให้สถาบันพระมหากษัตริย์ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง | 2 ธ.ค. 63

อานนท์ นำภา ปราศรัยที่ห้าแยกลาดพร้าวกับข้อเสนอให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในหลักการปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ในการปราศรัยของอานนท์ นำภา แกนนำผู้ชุมนุม 'ราษฎร' เมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ในตอนต้นเขาระบุถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณี พล.อ.ประยุทธ์ ว่าไม่ได้แปลกใจมาก ออกมาเหมือนที่คิดคือ พล.อ.ประยุทธ์ รอดคดี แต่คำวินิจฉัยสร้างบรรทัดฐานใหม่ว่าถ้าข้าราชการที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศ อาศัยระเบียบที่ออกตามกฎหมายใช้ทรัพย์สินนั้นก็จะไม่ผิด หากใช้สามัญสำนึก โดยไม่จำเป็นต้องให้นักกฎหมายหรือศาลตีความ การไปอยู่บ้านราชการใช้น้ำใช้ไฟ ก็เป็นการรับประโยชน์หรือทรัพย์สินอื่นใด แต่เมื่อศาลสร้างบรรทัดฐานกันไว้แบบนี้ สถาบันตุลาการก็จะถูกปฏิรูปด้วย หากคำตัดสินมันแย่ในข้อกฎหมาย เราสามารถวิจารณ์ได้อย่างตรงไปตรงมาด้วยภาษาบ้านๆ ขณะเดียวกันคำพิพากษาไหนดีประชาชนก็ชื่นชม หากคำพิพากษาใดชมได้อย่างเดียว คำเยินยอก็จะเป็นเรื่องโกหก เช่นเดียวกับสถาบันกษัตริย์ หากเยินยอ หรือทรงพระเจริญได้อย่างเดียว คำเยินยอนั้นก็จะเป็นเรื่องโกหก 

เขาระบุว่า การเขียนห้ามดูหมิ่นศาล หลักการนี้ก็คัดลอกมาจากการห้ามวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ซึ่งชนชั้นนำไทยได้ปลูกฝังจนซึมไปถึงเด็กมัธยม รวมไปถึงการออกแบบเครื่องแต่งกาย ทรงผม ใช้บังคับกับข้าราชการ นักเรียน มันก็คือหลักการเดียวกัน "หลักอำนาจนิยม"

ต่อมาอานนท์กล่าวถึงการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ให้ดีงามเกินจริง เป็นสมมุติเทพ หลักการเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในเรื่องนี้ยังปรากฏในรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้”

ซึ่งหลักการนี้จะไม่มีปัญหาเลย หากกษัตริย์ไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อีกทั้งยังไม่เป็นไปตามหลัก The king can do no wrong และหลักปกเกล้าไม่ปกครอง ซึ่งหลักการดังกล่าวปรากฏในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคราวยุบพรรคไทยรักษาชาติด้วย

เขาขยายความว่าถึงการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับหลักปกเกล้าไม่ปกครอง เช่น การรับรองรัฐประหารในรัชสมัยก่อน หรือการมีหน่วยงานของตนเอง การนำกองกำลังทหารไปเป็นของตนเอง มากไปกว่านั้นคือการโอนทรัพย์สาธารณะ ทั้งนี้ตามหลักการปกเกล้าไม่ปกครอง กษัตริย์ต้องเป็นกลางทางการเมืองด้วย หากสถาบันกษัตริย์ไม่เป็นกลาง การเป็นที่เคารพสักการะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 6 จะเป็นไปไม่ได้เลย

และหากดูประเทศที่เจริญแล้วอย่างอังกฤษ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธจะกล่าวอะไรต้องมีการร่างเตรียมให้โดยนายกรัฐมนตรียินยอม ในขณะที่กรณีของไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น เช่น กรณีพระมหากษัตริย์ให้สัมภาษณ์นักข่าวต่างประเทศ ว่าประเทศไทยเป็นประเทศแห่งการประนีประนอม

นอกจากนี้ในการปราศรัยตอนท้าย เขากล่าวถึงปัญหาเรื่องการ์ดอาสา ว่าผู้ชุมนุมจะต้องช่วยกันแก้ปัญหา นอกจากนี้เขายังเรียกร้องให้ เมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกาดำรงตนเป็นกลาง พร้อมขอให้แถลงชี้แจงว่าเคยร่วมชุมนุม กปปส. ก่อนรัฐประหาร 2557 หรือไม่ เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อการตัดสินคดีความทางการเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท