Skip to main content
sharethis

สคอ.จัดเวทีชี้แจงก่อนประกาศห้ามขายเหล้าออนไลน์จะมีผลในอีก 4 วันที่จะถึงนี้(7 ธ.ค.63) ผู้ประกอบการขายเหล้าเบียร์รายย่อยท้วง สคอ.ไม่ยอมรับฟังความเห็นก่อนออกประกาศห้ามขายเหล้าออนไลน์ อีกทั้งมาตรการใหม่ไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนจนเหมือนห้ามขายเด็ดขาดและจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจอย่างมากเพราะในช่วงที่ผ่านมาก็ขายผ่านหน้าร้านยากอยู่แล้ว

3 ธ.ค.2563 สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) จัดชี้แจงเรื่อง “ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563” ซึ่งกำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 7 ธ.ค.2563 นี้ โดยมีผู้เกี่ยวข้องกับการร่างประกาศฉบับนี้มาตอบประเด็นทางกฎหมายและตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการปฏิบัติ ได้แก่ คมสัน โพธิ์คง นักวิชาการด้านกฎหมายและ บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ

ในการชี้แจงช่วงแรกบนเวทีรุปได้ว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2550 มีมาตรการที่ใช้ในการควบคุมการเข้าถึงทั้งการกำหนดอายุ เวลาและสถานที่ขาย รวมถึงการโฆษณาเป็นหลัก ซึ่งรัฐบาลไทยก็ได้ดำเนินการออกกฎหมายตามแนวทางที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ ซึ่งจะมีมาตรการทางภาษีด้วยแต่ของไทยจะอยู่ในกฎหมายสรรพสามิตรแยกออกไป เนื่องจากมีแนวโน้มที่เยาวชนจะเข้าถึงได้ในอายุที่น้อยลงและมีผู้หญิงดื่มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งประกาศห้ามขายเหล้าออนไลน์นี้ก็เป็นการออกตามอำนาจของพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะไม่มีการเลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ เพราะตอนนี้รายใหญ่ที่เคยออนไลน์เขาก็เริ่มหยุดขาย ถ้ามีก็จะดำเนินคดีหมด

ในคำชี้แจ้งยังระบุอีกว่า เหตุที่ต้องออกประกาศห้ามขายเหล้าออนไลน์นี้ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์กันมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถควบคุมเวลาและสถานที่ในการขายได้ รวมถึงควบคุมอายุของผู้ซื้อไม่ได้ทำให้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กระจายออกไปมาก

อ้างงานวิจัยของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) โดยมีผู้วิจัยคือ กนิษฐา ไทยกล้า พบว่ามีการโพสต์ขายทางเฟซบุ๊กเป็นจำนวนมากที่สุด ตามด้วยอินสตาแกรม twitter ไลน์ และทางเว็บไซต์ตามลำดับ โดยลักษณะการโพสต์มากที่สุดเป็นการส่งเสริมเรื่องการดื่ม ในรูปแบบของสูตรส่วนผสมชนิดต่างๆ รองลงมาเป็นการขายโดยตรง และโฆษณาในประเด็นการจัดส่ง และตามด้วยการส่งเสริมการตลาดแบบลดแลกแจกแถมเป็นอันดับสุดท้าย สิ่งที่พบจากงานวิจัยคือการขายเครื่องดื่มทางสื่อออนไลน์มีการขยายตัวอย่างมาก แล้วพบว่าเด็กก็สามารถซื้อได้ และยังมีการขั้นตอนการซื้อที่ทำได้ง่าย ชั้นตอนการพิสูจน์ตัวตนก็ทำได้ยากเพราะต่อให้มีการคลิกบนเว็บว่าอายุถึงหรือไม่ก็ไม่สามารถป้องกันเยาวชนไม่ให้เข้ามาซื้อได้โดยเปรียบกับเว็บไซต์ผู้ใหญ่ และยังมีการจัดส่งไปยังสถานที่ห้ามดื่มสุรา เช่น ในหอพักนักศึกษา

ทั้งนี้ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมการค้า ณ จุดขาย หากเป็นสถานที่ที่ได้รับอนุญาตให้ขายอยู่แล้วก็ไม่มีปัญหา แต่ปัญหาของการขายออนไลน์ คือ เกิดการขายที่ไม่ได้เกิด ณ จุดขายโดยวิธีต่างๆ ซึ่งเดิมตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 30 มีการกำหนดห้ามวิธีการขายไว้หลายรูปแบบ ซึ่งไม่ได้เป็นการขายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งในวงเล็บ 6 เปิดช่องเอาไว้ให้สำหรับการห้ามวิธีการขายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

ในการชี้แจงยังอธิบายว่าสำหรับการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นี้ ถือว่าการนำเสนอขายก็ถือว่าสัญญาซื้อขายเกิดขึ้น ณ จุดที่มีการตกลงกันแล้ว การส่งมอบหรือไม่ส่งมอบสินค้าไม่ใช่สาระสำคัญแต่ที่สำคัญคือเกิดการซื้อขายขึ้น ซึ่งมีการยกเปรียบเทียบกรณีตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติที่มีการแสดงสินค้าพร้อมราคาก็ถือว่าเป็นการนำเสนอขายแล้วแม้ว่าจะยังไม่มีการกดเครื่องเพื่อซื้อขายก็เป็นความผิดตามกฎหมายแล้วโดยยังไม่มีการขายด้วยซ้ำ

ในช่วงแลกเปลี่ยนมีการวิจารณ์ว่าในการชี้แจงครั้งนี้ไม่ได้ทำให้มีความชัดเจนมากขึ้นอีกทั้ง สคอ.เองก็ไม่ได้ออกคู่มือที่ระบุถึงแนวทางปฏิบัติออกมาว่าทางผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติอย่างไร และจะมีคู่มือออกมาก่อนที่ประกาศห้ามขายเหล้าออนไลน์นี้มีผลบังคับใช้หรือไม่ ซึ่งการออกประกาศในลักษณะนี้ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจมากเพราะเหมือนถูกห้ามขายเด็ดขาด และเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาก็ขายหน้าร้านได้ยากเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และกฎหมายควบคุมการขายที่มีอยู่เดิม

อีกทั้งยังตั้งคำถามหลายประเด็นทั้งกรณีที่มีการออกประกาศมาโดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ และถึงแม้ไม่มีประกาศฉบับนี้การขายออนไลน์ก็ทำได้ยากอยู่แล้วเนื่องจากที่ผ่านมามีการใช้มาตรา 32 ในพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาดำเนินคดีกับการโพสต์ขายทางออนไลน์เนื่องจากทาง สคอ.มองว่าเป็นการโฆษณาอยู่แล้วซึ่งที่ผ่านมาก็มีการตีความไปจนถึงการให้ข้อมูลสินค้าอย่างเช่นวัตถุดิบที่ใช้ การแสดงรูปของสินค้าว่าเข้าข่ายเป็นการโฆษณา

นอกจากนั้นผู้เข้าร่วมยังทวงถามในประเด็นค่าปรับและเงินสินบนนำจับในกรณีขายออนไลน์นี้อีกว่า จะเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกับกรณีผู้ประกอบการที่ถูกรายงานถึง สคอ.และมีการแจ้งความดำเนินคดีตามมาหรือไม่

นอกจากนั้นผู้เข้าร่วมบางคนได้เสนอถึงวิธีการควบคุมการเข้าถึงของผู้ซื้อ เช่น ให้ผู้ซื้อต้องใช้เอกสารประจำตัวในการยืนยันตั้งแต่ขั้นตอนการสั่งซื้อที่ต้องลงทะเบียนด้วยหมายเลขประจำตัวประชาชนและในตอนรับสินค้าต้องแสดงบัตรประชาชนตัวจริงในตอนรับของหากไม่ตรงก็ไม่สามารถรับสินค้าได้ เป็นต้น แต่ก็มีการวิจารณ์ สคอ.ได้ศึกษามาตรการควบคุมอื่นๆ และมาตรการที่ใช้ในต่างประเทศบ้างหรือไม่ก่อนที่จะออกประกาศฉบับนี้

นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผอ.สคอ. ได้ตอบประเด็นเรื่องการเปิดรับฟังความเห็นว่ามีการประกาศทางหน้าเว็บไซต์แล้วตั้งแต่ 4-5 ปีก่อน และจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกหากมีการออกกฎหมายระดับรองต่อไป ส่วนประเด็นสินบนนำจับเขาตอบว่าการขายด้วยวิธีการตามที่มาตรา 30 ห้ามเอาไว้นี้มีค่าปรับสูงสุดน้อยเพียง 3,000 บาท และมียี่ต๊อก(แนวการใช้ดุลพินิจของศาล) อยู่ที่ 1,500 บาท สินบนนำจับมีส่วนแบ่งน้อยมากเกินกว่าที่ผู้แจ้งจะยอมเสียชื่อเสียงเพราะเรื่องนี้

นพ.นิพนธ์ตอบประเด็นที่ถูกทวงถามถึงคู่มือแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายว่าคาดว่าจะเสร็จช่วงที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ โดยไม่ได้ระบุว่าจะมีออกมาเผยแพร่ในวันใด

ผู้ประกอบการสะท้อน สคอ.ไม่รับฟังความเห็น

หลังการประชุมประชาไทได้สัมภาษณ์ ประภาวี เหมทัศน์ ผู้ประกอบการจัดจำหน่ายคราฟท์เบียร์ไทย บริษัท กรุ๊ปบี(Group B) ที่มีเว็บไซท์ไว้ขายเบียร์คราฟท์ไทยออนไลน์ ทั้งขายส่งให้กับร้านเบียร์และขายปลีกให้กับผู้บริโภค โดยเธอบอกว่าหลังจากประกาศฉบับนี้เริ่มมีผลบังคับใช้ เว็บกรุ๊ปบีก็คงไม่ถึงกับปิดไปเลยทั้งเว็บ โดยจะปิดเฉพาะในส่วนของการซื้อขายไปอย่างระบบการโอนเงิน แต่จะยังให้ข้อมูลสินค้ากับลูกค้าอยู่โดยให้สอบถามเพิ่มเติม

ผู้สื่อข่าวถามว่าแล้วจะยังให้ข้อมูลอย่างไรแม้ว่าประกาศฉบับนี้จะไม่ได้ระบุเรื่องห้ามให้ข้อมูลสินค้าแต่ที่ผ่านมาก็มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาตรา 32 ในการดำเนินคดีกับผู้ประกอบการ ประภาวี ตอบในประเด็นนี้ว่า ที่ยังทำได้ก็คือเขียนแค่ชื่อ สไตล์และราคาสินค้า แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเบียร์ที่ขายป็นของอะไร ใช้วัตถุดิบอะไร ขวดเป็นอย่างไร ตามการตีความมาตรา 32 ที่เขาใช้อยู่จะบอกไม่ได้เลย ซึ่งก็เหมือนมีเว็บไซต์ไว้ให้โทรมาสั่งอย่างเดียว ปิดเว็บไปเลยอาจจะง่ายกว่า

“ส่วนตัวเชื่อว่ากฎหมายตัวนี้มีอะไรที่ไม่เมคเซนส์หลายอย่างมากแล้วก็คนส่วนน้อยมากที่เขาเห็นด้วย ยังไงก็ตามต้องกดดันให้รัฐมีการแก้ไขกฎหมายตัวนี้แน่ๆ” ประภาวีกล่าวต่ออีกว่า ในเรื่องนี้ก็ได้ไปฟ้องศาลปกครองมาแล้วโดยใช้ทนายความอาสาของประชาชนเบียร์ แต่กระบวนการก็ช้ามากยังต้องรอศาลพิจารณาว่ารับฟ้องหรือไม่ แล้วถ้ากฎหมายยังไม่บังคับใช้จะฟ้องได้หรือไม่ ก็เลยจะแบ่งชุดฟ้องต่อศาลปกครองอีกชุดหนึ่งหลังประกาศห้ามขายเหล้าออนไลน์ฉบับนี้มีผลในวันที่ 7 ธ.ค.นี้อีกชุดหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ก็ต้องเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไปก่อนเพราะทำได้แค่นี้

ประภาวีกล่าวว่า ตอนที่ได้ยินว่าจะมีร่างประกาศฉบับนี้ออกมาเคยยื่นคัดค้านถึงสำนักนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ซึ่งก็ได้ชี้แจงไปหมดเลยว่าผลเสียหากมีประกาศออกมาคืออะไร วิธีการควบคุมมันทำอย่างไรได้บ้างเช่นตรวจบัตรประชาชนตอนส่ง ให้ลงทะเบียนตอนซื้อออนไลน์ และออกใบอนุญาตขายออนไลน์ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ตรวจสอบได้ทั้งหมดคือต้องยอมรับว่าในทางออนไลน์มันติดตามยืนยันตัวบุคคลได้ง่ายกว่าออฟไลน์มาก

“คือถ้ามาคุยกันแล้วกันหาทางออกร่วมกันจริงๆ มันทำได้แน่ๆ แล้วก็จะไม่เกิดแบบวันนี้ที่เรามาบ่นให้เจ้าหน้าที่ฟังแล้วเจ้าหน้าที่ก็เสียหน้าตลอดเวลา” ประภาวีกล่าวถึงทางออกร่วมกันที่เคยทำแต่ไม่ได้รับการตอบรับหลังจากยื่นเรื่องคัดค้านไปแล้ว อีกเพียงหนึ่งเดือนถัดมาประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้ก็ถูกประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เธอคิดว่าทางหน่วยงานก็ไม่ได้รับข้อเสนอไปพิจารณาและเรียกไปถามความคิดเห็น

ประภาวีกล่าวว่ากังขากับการทำงานของ สคอ.ในหลายเรื่อง แม้ว่าจะขอไปแสดงความคิดเห็นและถูกเรียกเข้าสภาหลายรอบ เคยคุยกับกฤษฎีกาด้วย แต่ก็ยังมีความพยายามผลักดันประกาศออกมาใหม่ เรียกตัวคนไปดำเนินคดี แม้ว่าจะรู้ถึงปัญหาทางกฎหมายและข้อโต้แย้งต่างๆ ก็ไม่หยุดใช้ เธอคิดว่าก็คงต้องพยายามกันต่อไปและคนที่มาร่วมกันสู้ก็คงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ประภาวียังกล่าวถึงการล่ารายชื่อเพื่อแก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เพิ่งได้รายชื่อครบตามเป้าหมาย 12,000 ชื่อว่าตอนนี้รายชื่อครบแล้ว กำลังยื่นร่างสุดท้ายเข้าสภาเพื่อให้สภารับเรื่องไป ซึ่งการแก้ไขนี้นอกจากประเด็นที่เกี่ยวกับการห้ามโฆษณาในมาตรา 32 แล้วยังมีประเด็นอื่นๆ อีก เช่น ทำให้อำนาจในการออกกฎหมายระดับรองลงมาของ สคอ.มีขอบเขตมากขึ้น ไม่ใช่อยากออกอะไรมาก็ออก แล้วใน สคอ.เองก็ไม่มีผู้ประกอบการร่วมด้วยเลยทั้งในระดับอนุกรรมการและคณะกรรมการเลย เพราะฉะนั้นก็คงจะบอกไม่ได้ว่ารับฟังผู้เกี่ยวข้องจริงๆ ทั้งหมด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net