Skip to main content
sharethis

สปสช. นำร่องจัดสรร “หน่วยบริการ คนกรุง” เพิ่มเติม 18 แห่ง ครอบคลุมประชากรเพิ่มอีก 1.4 แสนราย 9 ธ.ค.นี้ เสนอบอร์ด สปสช.หนุน รพ.บริการฟอกไต ช่วยเหลือผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ขณะที่นโยบาย ‘โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม’ แนะสร้างความเข้าใจผู้ป่วย-วางระบบหลังบ้านให้ราบรื่น 

สปสช.นำร่องจัดสรร “หน่วยบริการ คนกรุง” เพิ่มเติม 18 แห่ง ครอบคลุมประชากรเพิ่มอีก 1.4 แสนราย 

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ สปสช.ได้ทำการยกเลิกสัญญากับคลินิกชุมชนอบอุ่นในพื้นที่ กทม. ที่มีความผิดปกติในการเบิกค่าใช้จ่ายในรายการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพฯที่ขึ้นทะเบียนกับคลินิกเหล่านี้ถูกยกเลิกหน่วยบริการประจำไปด้วย อย่างไรก็ดี ทาง สปสช.ได้กำหนดมาตรการให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้สามารถไปเข้ารับบริการที่หน่วยบริการไหนก็ได้ในเครือข่ายของ สปสช. เพื่ออำนวยความสะดวกและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น และยืนยันว่าสิทธิของประชาชนไม่ได้ถูกยกเลิกตามหน่วยบริการไปด้วย 

ขณะเดียวกัน สปสช. ก็ได้ดำเนินการเชิญชวนคลินิกเอกชนรายใหม่มาเข้าร่วมให้บริการประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามนโยบายยกระดับบัตรทองสู่หลักประกันสุขภาพยุคใหม่ โดยในพื้นที่ กทม.เป็นพื้นที้นำร่องของการให้บริการในรูปบบรักษาทุกที่ ณ เครือข่ายหน่วยบริการชุมชนอบอุ่น โดย อปสข.เขต 13 กทม.ได้กำหนดให้หน่วยบริการชุมชนอบอุ่นหรือคลินิกชุมชนอบอุ่นจับกลุ่มเป็นเครือข่าย ในการกำกับดูแลของ ศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร และได้เริ่มรับสมัครคลินิกใหม่ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม โดยทยอยจัดสรรประชากรให้เข้าไปอยู่ในความดูแลของคลินิกที่ผ่านกระบวนการขึ้นทะเบียนกับ สปสช. โดยเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา ได้ขึ้นทะเบียนคลินิกที่เข้าร่วมเครือข่ายกับ สปสช.แล้ว 9 แห่ง รองรับประชาชนประมาณ 7 หมื่นคน  

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 สปสช.ได้ขึ้นทะเบียนคลินิกที่เข้าร่วมเครือข่ายเพิ่มอีก 18แห่ง ซึ่งจะรองรับประชากรได้อีกประมาณ 144,000 คน โดยกำหนดให้ลงทะเบียนประชาชนที่อยู่ไกล้คลินิกในจำนวนเริ่มต้น 8,000 คนต่อ 1 คลินิก เมื่อรวมกับหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนและรับจัดสรรประชากรในการดูแลไปแล้วก่อนหน้านี้ ทำให้ขณะนี้มีคลินิกเข้าร่วมให้บริการเพิ่มรวมเป็น 27 แห่ง รองรับประชากรประมาณ 210,000 ราย ขณะเดียวกันยังมีคลินิกที่สมัครเข้าร่วมให้บริการและอยู่ระหว่างการตรวจประเมินอีกหลายแห่ง คาดว่าอาจได้ถึงกว่า 200 แห่งภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ ประชาชนผู้ใช้สิทธิฯที่ได้รับการจัดสรรให้ลงทะเบียนกับคลินิกทั้ง 27 แห่งนี้ สามารถเข้ารับบริการได้ทันทีตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ส่วนสำหรับประชาชนที่ยังไม่ได้รับการลงทะเบียน ขอความกรุณารอการแจ้งจาก สปสช.ต่อไป และในระหว่างนี้ก็สามารถไปใช้บริการ ณ หน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ที่ไหนก็ได้ รวมทั้งคลินิก 27 แห่งที่ขึ้นทะเบียนใหม่นี้ด้วย 

โดย ประชาชนสามารถตรวจสอบหน่วยบริการประจำของตนได้จากเว็บไซต์ของ สปสช.http://eservices.nhso.go.th/eServices/mobile/login.xhtml หรือแอปพลิเคชัน สปสช. ตลอดจน Line official Account ของ สปสช.เขต 13 กทม. @UCBKKสร้างสุข 

ทั้งนี้ สปสช.นำร่องดำเนินการลงทะเบียนสิทธิบัตรทองให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากหน่วยบริการถูกยกเลิกสัญญา ในพื้นที่ กทม. อีก 18 เครือข่ายหน่วยบริการชุมชนอบอุ่น จำนวนประมาณ 144,000 คน สิทธิการรักษาใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 63 สามารถไปรับบริการที่เครือข่ายหน่วยบริการชุมชนอบอุ่นที่ สปสช.จัดให้ได้เลย 

 

นโยบาย ‘โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม’ แนะสร้างความเข้าใจผู้ป่วย-วางระบบหลังบ้านให้ราบรื่น 

ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง (Thai Cancer Society) เปิดเผยว่า นโยบายยกระดับผู้ป่วยมะเร็งสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลที่รักษาโรคมะเร็งที่ไหนก็ได้ที่พร้อม หรือนโยบายโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 ม.ค. 2564 นับเป็นนโยบายที่ดี ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้มีทางเลือกในการรักษามากขึ้น และคุณภาพชีวิตโดยรวมดีขึ้นได้จากการประหยัดเวลาในการเดินทาง ประหยัดเวลาในการรักษาเมื่อถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง 

ศิรินทิพย์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในมุมมองของเครื่อข่ายผู้ป่วย เนื่องจากปัจจุบันการพัฒนาระบบได้มีการนำเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสแกนคิวอาร์โค้ด หรือระบบที่มุ่งสู่การเป็น Paperless มากขึ้น ดังนั้นสำหรับผู้ป่วยในต่างจังหวัดอีกจำนวนมาก ที่อาจยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ไม่มีอุปกรณ์สมาร์ทโฟน หรือแม้แต่ทำโทรศัพท์หาย การไม่มีเอกสารอยู่ในมือจึงเป็นเรื่องน่ากังวลถึงการส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง 

“แม้นโยบายจะรักษาทุกที่ก็จริง แต่เมื่อคนไข้ไปถึงแล้วปรากฏว่าระบบหลังบ้านไม่เชื่อมกัน ไม่มีข้อมูล ก็ทำให้คนไข้เสียเวลา ดังนั้นสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นคือการทำให้บัตรประชาชนใบเดียวสามารถสแกนแล้วมีการเก็บประวัติคนไข้ และเชื่อมต่อกันในระบบหลังบ้านได้ทุกโรงพยาบาล ไม่ว่าจะโรงพยาบาลต้นสังกัด หรือโรงพยาบาลที่รับส่งตัว ทำให้คนไข้ไม่ต้องถือเอกสารเยอะ และสามารถเข้ารับบริการที่ไหนก็ได้จริง” ศิรินทิพย์ กล่าว 

ขณะเดียวกัน สิ่งที่อยากจะให้มีคือตัวกลางในการประสานงานหลัก เพื่อให้ระบบการส่งต่อสามารถเป็นไปได้อย่างราบรื่น โดยมีตัวกลางที่คอยจัดการเรื่องเหล่านี้ในแต่ละหน่วยบริการ เพื่อไม่เกิดความสับสนหรือเสียเวลาจากการติดต่อหลายแห่ง เนื่องจากนโยบายการรักษาทุกที่นั้นย่อมทำให้เกิดการไหลไปมาของผู้ป่วย ซึ่งอาจทำให้ขั้นตอนในกระบวนการรักษาช้าลงได้ หากเกิดความไม่เข้าใจในระบบบริหารจัดการ 

ศิรินทิพย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังจะต้องมีการสื่อสารกับผู้ป่วยให้ชัดเจนถึงนโยบายการรักษาทุกที่ ว่าไม่ได้เป็นไปเพื่อให้มุ่งไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจทำให้เกิดความแออัด รอคอยคิวนานและทำให้มะเร็งลุกลามมากไปกว่าเดิมได้ แต่จะต้องปรับทัศนคติและความเชื่อของผู้ป่วยให้รับรู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่หรือเล็กล้วนเป็นขั้นตอนเดียวกัน และการได้รับแผนการรักษาที่ดีก็ทำให้มะเร็งหายได้เช่นเดียวกัน 

“นอกจากสื่อสารให้ชัดเจนกับคนไข้แล้ว รัฐบาลเองก็ต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่ามาตรฐานของการรักษาทุกที่ไม่แตกต่างกัน เพื่อที่จะทำให้ระบบไม่เหนื่อยไปยังใครคนใดคนหนึ่ง รวมถึงความเชื่อที่ว่ายานอกบัญชีรักษาได้ดีกว่ายาในบัญชีหลัก ก็ต้องให้ความรู้คนไข้ว่า ไม่ว่าจะยาอะไ ถ้ามีการปฏิบัติตัวที่ดี มีการดูแลดี ก็สามารถหายได้เหมือนกัน และอาจเพิ่มในเรื่องของการติดตามผลหลังการรักษา หรือการให้ความรู้เรื่องสิทธิการรักษาแก่คนไข้ด้วย” ศิรินทิพย์ กล่าว 

 

9 ธ.ค.นี้ เสนอบอร์ด สปสช.หนุน รพ.บริการฟอกไต ช่วยเหลือผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี 

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.)เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 63 ขอให้มีมาตรการส่งเสริมให้หน่วยบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (หน่วยไตเทียม) จัดบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (ฟอกไต) ให้กับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคติดเชื้ออื่น โดยไม่เลือกปฏิบัติ และหาแนวทางชดเชยค่าบริการฟอกไตที่เหมาะสมให้กับหน่วยบริการ สปสช. ได้รับมอบนโยบายในการเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะทำงานและคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง  

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น สาเหตุที่ทำให้หน่วยไตเทียมปฏิเสธการฟอกไตให้กับผู้ติดเชื้อ หรือมีการเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มจากผู้ป่วยจำนวน 2,500 - 3,500 บาท/ครั้ง เพิ่มเติมจากที่เรียกเก็บจาก สปสช. จำนวน 1,500 บาท/ครั้ง รวมเป็นค่าบริการ 4,000-5,500 บาท/ครั้ง เนื่องจากต้องเปลี่ยนตัวกรองทุกครั้งที่ให้บริการ ส่งผลให้ต้นทุนการบริการผู้ป่วยฟอกไตกลุ่มนี้สูงกว่าการให้บริการฟอกไตปกติ 

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ คณะทำงานสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการด้านโรคไตและการบำบัดทดแทนไตในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 63 ซึ่งคณะทำงานฯ ชุดนี้ ตระหนักต่อปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงเห็นชอบให้มีการปรับอัตราการจ่ายชดเชยค่าบริการฟอกไตสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ติดเชื้อเอชไอวี เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ป่วยก่อน ทั้งในส่วนต้นทุนบริการ (Fix cost) และต้นทุนส่วนที่เพิ่มที่เป็นค่าดำเนินการอื่น อาทิ ค่าแรง ค่าความเสี่ยง เป็นต้น พร้อมประสานสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและสมาคมพยาบาลโรคไต ดำเนินการวิเคราะห์ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม รวมถึงการวางแนวทางให้บริการในระยะยาวต่อไป 

ขณะที่ในการประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน เมื่อวันที่ 18 พ.ย.63 ได้หยิบยกเรื่องนี้เข้าสู่พิจารณาโดยเร่งด่วนเช่นกัน และเห็นชอบในหลักการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว เบื้องต้นมีมติให้ สปสช. จัดเตรียมงบประมาณปี 2564 สำหรับเป็นค่าบริการฟอกไตสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดเชื้ออื่นเฉพาะไม่เกิน 4,000 บาท/ครั้ง วงเงิน 20.75 ล้านบาท พร้อมให้พิจารณาเงื่อนไขในการรับบริการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ นอกจากนี้ให้ประสานคณะอนุกรรมการพัฒนาบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ เพื่อพิจารณาการพัฒนาระบบบริการฟอกไตสำหรับผู้ติดเชื้อให้เพียงพอต่อไป     

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาเพื่อดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่เป็นผู้ติดเชื้อเบื้องต้นนี้ ทั้งข้อเสนอจากคณะอนุกรรมการกำหนัดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน และคณะทำงานสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการด้านโรคไตฯ จะนำเข้าสู่การพิจารณาที่ประชุมบอร์ด สปสช. ในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาให้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีโดยเร็ว เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ขณะเดียวกันยังเป็นการแก้ไขปัญหาทางการเงินให้กับผู้ป่วยจากการถูกจัดเก็บค่าบริการเพิ่มเติม โดยหลายคนต้องกู้ยืมจนเป็นหนี้เป็นสินและเดือนร้อน   

“หลักการสำคัญของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือการดูแลประชาชนทุกกลุ่มให้เข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็น ซึ่งกรณีของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่ผ่านมามีปัญหาในการเข้าถึงบริการจากค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการฟอกไตที่ต้องจ่ายเพิ่มเติม ทำให้ผู้ป่วยเกิดปัญหาในการเข้ารับบริการ ดังนั้นเพื่อความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช. จึงได้เร่งแก้ไขปัญหาเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และหลักการโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว  

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net