จาก ‘การเป็นไทย’ สู่ ‘การเป็นมนุษย์’: การประท้วงในประเทศไทยและการนิยามชาติใหม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

‘คนไทยรึเปล่าเนี่ย?’

‘คุณยังเป็นมนุษย์อยู่มั้ย?’

สองคำถามด้านบนสรุปอัตลักษณ์หลักของขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆในช่วงเวลาที่แตกต่างกันของประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้เป็นอย่างดี คำถามแรกที่ว่า ‘คนไทยรึเปล่าเนี่ย?’ เป็นคำถามที่พบได้ทั่วไปในหมู่ผู้ประท้วงฝ่ายขวา เช่น คนเสื้อเหลือง ซึ่งมีความเคลื่อนไหวสูงระหว่างปี 2548 ถึงปี 2549 เช่นเดียวกับคณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งมีบทบาทอันสำคัญต่อการเมืองไทยจากปี 2556 ถึงปี 2557 ในช่วงระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษนี้ผู้ชุมนุมฝ่ายขวาได้ถามคำถามนี้ต่อฝ่ายตรงข้ามหลายต่อหลายครั้ง

คำถามที่สองที่ว่า ‘คุณยังเป็นมนุษย์อยู่มั้ย?’ ถูกหยิบมาใช้ไม่นานมานี้โดยคณะราษฎร 2563 ซึ่งเป็นผู้ประท้วงหัวก้าวหน้า ที่ปัจจุบันยังคงเคลื่อนไหวอยู่บนท้องถนนเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองและการยุติบทบาทของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา

คณะราษฎร 2563 อาจเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับชาติกลุ่มแรกที่รวมเอา ‘ความเป็นมนุษย์’ มาใช้เป็นวาทกรรมหลักของการเคลื่อนไหว ซึ่งนี่ถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญมากต่อการเมืองไทย และสะท้อนถึงการท้าทายต่อการวางเงื่อนไขการเป็นสมาชิกของชาติ

อุดมการณ์ของคณะราษฎร 2563 นั้น นอกจากจะมีการนับรวม (inclusiveness) มากกว่า ‘การเป็นไทย’ แล้ว ยังอาจจะมีการนับรวมมากกว่าวาทกรรม ‘กรรมาชีพ’, ‘คนจน’, และ ‘ไพร่’ ซึ่งถูกใช้โดยขบวนการเคลื่อนไหวก่อนหน้าเช่นขบวนการเสื้อแดงอีกด้วย ผลก็คือคณะราษฎร 2563 มีศักยภาพในการขับเคลื่อนแรงสนับสนุนทางการเมืองอย่างกว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จินตนาการใหม่และการขยายขอบเขตของสมาชิกในชาติและขอบเขตของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของขบวนการคณะราษฎร 2563 จึงอาจจะเป็นก้าวแรกสู่ประชาธิปไตยที่นับรวมมากขึ้นและปรึกษาหารือมากขึ้น (more deliberative) ในการเมืองไทย

‘การเป็นไทย’

สายชล สัตยานุรักษ์ นักวิชาการชั้นนำของไทยเสนอว่าแนวคิด ‘ความเป็นไทย’ ถูกประกอบสร้างขึ้นมาโดยรัฐไทยและปัญญาชนฝ่ายขวาเพื่อสนับสนุนระเบียบสังคมและการเมืองแบบมีลำดับชั้น วาทกรรม ‘ความเป็นไทย’ ยืนยันว่าคนไทยมีความไม่เท่าเทียมโดยธรรมชาติ ทุกคนควรรู้จัก ‘ที่ต่ำที่สูง’ และปฏิบัติตนไปตามนั้น การประพฤติตัวโดย ‘รู้จักที่ต่ำที่สูง’ นั้นเริ่มตั้งแต่การอยู่ในสถาบันทางการเมืองขนาดเล็ก เช่น สถาบันครอบครัว แต่การปฏิบัติตนเช่นนี้มีพลังหนุนเสริมกันเป็นลำดับขั้นไปเรื่อยๆจนไปสู่สถาบันที่ทรงอิทธิพลที่สุดในชาติ นั่นก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์ อาทิ พ่อต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว พลเมืองต้องไม่ตั้งคำถามต่อผู้มีอำนาจ และไพร่ต้องเชื่อฟังคำสั่งของผู้ปกครอง

วาทกรรม ‘ความเป็นไทย’ ได้ทำให้การจะเป็นสมาชิกในชาติได้นั้นมีเงื่อนไขเคร่งครัดมาก กล่าวคือ การที่บุคคลหนึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของชาติและได้รับพื้นที่ทางการเมือง บุคคลนั้นต้องพิสูจน์ให้เห็นว่ามีคุณสมบัติตรงตามความเป็นไทยเสียก่อน ซึ่งสำหรับกลุ่มอนุรักษ์นิยมนั้นการเป็นไทยมีศูนย์กลางอยู่ที่ความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ดังนั้นคำถามว่า ‘คนไทยรึเปล่าเนี่ย’ ซึ่งถูกใช้โดยกลุ่มคนเสื้อเหลืองตั้งแต่ปี 2548 และถูกผลิตซ้ำจนเข้มข้นตามกาลเวลานั้นจึงมาพร้อมกับการกีดกัน (exclude) คนจำนวนมากออกไปจากการเมือง การถูกถามด้วยคำถามนี้จึงเป็นการกล่าวหาถึงการขาดความรักชาติ ผ่านสมมติฐานว่าการวิจารณ์รัฐ พระมหากษัตริย์ หรือตลอดจนถึงระเบียบสังคม-การเมืองเป็นการคุกคามชาติ ซึ่งการกระทำเช่นนี้คู่ควรจะถูกลงโทษนั่นเอง เพราะฉะนั้น ‘ความเป็นไทย’ จึงเบียดขับกลุ่มคนที่หลากหลายออกไปจากพื้นที่ทางการเมือง เช่น คนรุ่นใหม่หัวขบถ นักสตรีนิยม กลุ่ม LGBTQ และผู้มีแนวคิดสาธารณรัฐ

กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้เพียงแค่ถูกลิดรอนพื้นที่ทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังตกเป็นเป้าหมายของการกลั่นแกล้งทางการเมือง (persecution) อีกด้วย คนที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือยุยงปลุกปั่นมักจะถูกแปะป้าย ณ ตอนนั้น หรือตั้งแต่ก่อนหน้านั้นว่า ‘ไม่เป็นไทย’ หรือเป็น ‘พวกชังชาติ’ ในบางกรณีคนที่ไม่แสดงความเคารพต่อสถาบันกษัตริย์ก็ถูกทำร้ายร่างกายโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยม

การนิยามชาติใหม่

เมื่ออยู่เบื้องหน้ากฎหมายที่กดขี่ ความรุนแรงทางการเมือง และการกีดกันทางการเมือง ฝ่ายก้าวหน้าจึงต้องสู้กลับด้วยการใช้วาทกรรมใหม่ นั่นก็คือ ‘ความเป็นมนุษย์’ ผู้สนับสนุนคณะราษฎร 2563 เริ่มตั้งคำถาม ‘คุณยังเป็นมนุษย์อยู่มั้ย?’ เพื่อกระตุ้นให้ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยกลับไปทบทวนว่าการปกป้อง ‘ความเป็นไทย’ สามารถให้ความชอบธรรมต่อการสละซึ่งสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานได้จริงหรือ แฮชแทกซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ผู้สนับสนุนคณะราษฎร 2563 ที่ว่า ‘ลดความเป็นไทยให้น้อยลง เพิ่มความเป็นคนให้มากขึ้น’ สรุปข้อถกเถียงนี้ได้เป็นอย่างดี

คณะราษฎร 2563 ได้นิยามชาติเสียใหม่โดยการดึงเงื่อนไขของความเป็นไทยออกไป และสร้างจินตนาการที่นับรวม (inclusive) มากขึ้นและอดทนอดกลั้นต่อความหลากหลาย (tolerant) มากขึ้นแทน หนึ่งในคำพูดติดปากของขบวนการเคลื่อนไหวครั้งนี้คือวลี ‘ชาติคือประชาชน’ ซึ่งคำว่า ‘ประชาชน’ ในบริบทนี้ไม่ได้หมายถึง ‘คนไทย’ แต่หมายถึง ‘พลเมือง’ หรือ ‘มนุษย์’ ซึ่งมีความหมายที่เป็นกลางในทางวัฒนธรรมและชาติพันธ์ ชาติซึ่งถูกนิยามใหม่นี้จึงไม่ได้นับรวมเฉพาะ ‘คนไทย’ และไม่มีการแบ่งแยกอุดมการณ์ทางการเมืองและความแตกต่างเชิงวัฒนธรรมและชาติพันธ์ นอกจากนี้ผู้ชุมนุมยังแสดงความเคารพต่อชาติในฉบับของพวกเขาและยืนยันว่าพวกเขาไม่ใช่ ‘พวกชังชาติ’ โดยการยืนเคารพธงชาติก่อนจะสลายการชุมนุมอีกด้วย

อนึ่ง การนิยามชาติใหม่อาจไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับการนิยาม ‘ความเป็นไทย’ ใหม่ ในขณะที่คณะราษฎร 2563 พยายามนิยามชาติใหม่นั้น ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าพวกเขาพยายามนิยาม ‘ความเป็นไทย’ ใหม่ด้วย คำว่า ‘ไทย’ นั้นไม่ค่อยปรากฏในการประท้วงหรือการถกเถียงในโลกออนไลน์ ซึ่งแตกต่างจากคำว่า ‘มนุษย์’ หรือ ‘ชาติ’ ถ้าคำว่า ‘ไทย’ ถูกกล่าวถึงขึ้นมาก็มักจะเพื่อวิพากษ์วิจารณ์และไม่จำเป็นว่ามันจะถูกนิยามใหม่

ผลงานของฝ่ายอนุรักษ์นิยมตลอดหลายปีที่ผ่านมาทำให้ ‘ความเป็นไทย’ ได้ฝังลึกเป็นวาทกรรมสาธารณะซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับประชาธิปไตยไปเสียแล้ว และ ‘ความเป็นไทย’ ยังเป็นค่านิยมที่มีสถานะนำ (hegemonic status) ถึงขั้นที่ว่าการนิยามใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย นี่อาจจะเป็นเหตุผลว่าเหตุใดผู้ชุมนุมจึงเลือกที่จะนิยามเงื่อนไขการเป็นสมาชิกในชาติใหม่โดยการแทนที่ความเป็นไทยด้วยความเป็นมนุษย์เสียเลย และไม่เลือกที่จะท้าทายความหมายของความเป็นไทยในตัวของมันเอง

พลังของ ‘มนุษย์’

หนึ่งในหน้าที่ของวาทกรรม ‘ความเป็นมนุษย์’ ซึ่งคณะราษฎรนำมาใช้ก็คือการป้องกันความรุนแรงทางการเมือง โดยการเปิดเผยให้เห็นถึงความไม่สมเหตุสมผลของการสร้างภาพให้ผู้ชุมนุมเป็นปีศาจร้าย (demonisation) ความเป็นมนุษย์ของคณะราษฎร 2563 ยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้ชุมนุมฝ่ายขวาเคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอีกด้วย นี่อาจจะเป็นเพราะฝ่ายคณะราษฎรนั้นรู้ดีว่าการสลายการชุมนุมในอดีต เช่น การสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง ได้รับความชอบธรรมจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมบนพื้นฐานของการขจัด ‘ภัยต่อชาติ’

อย่างไรก็ดี วาทกรรมความเป็นมนุษย์ยังอาจสร้างผลกระทบอันสำคัญต่อการเมืองไทยนอกเหนือไปจากการป้องกันความรุนแรงทางการเมืองอีกด้วย คณะราษฎร 2563 มีศักยภาพที่จะได้รับแรงสนับสนุนที่หลากหลายและกว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีขบวนการเคลื่อนไหวใดในอดีตที่ช่วงใช้วาทกรรมความเป็นมนุษย์มากถึงระดับนี้ ขบวนการ 14 ตุลาและพฤษภา 2535 โดยรากฐานแล้วเป็นขบวนการชาตินิยมซึ่งรับเอาแนวคิด ‘ความเป็นไทย’ เป็นค่านิยมหลัก ผู้ชุมนุม 6 ตุลา สมัชชาคนจน และคนเสื้อแดงนิยามตนเองว่าเป็น ‘กรรมาชีพ’, ‘คนจน’, และ ‘ไพร่’ อัตลักษณ์เหล่านั้นมีใจกลางอยู่ที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และอาจจะสร้างความผูกพันต่อกลุ่มที่ถูกเบียดขับในมิติอื่น เช่น อายุ เพศสภาพ หรือความเป็นท้องถิ่น ได้ยาก

คณะราษฎร 2563 ได้รองรับกลุ่มคนซึ่งถูกกีดกันเพราะโดนมองว่า ‘เป็นไทยน้อย’ หรือ ‘ไม่เป็นไทย’ เหล่านี้เอาไว้ และมอบพื้นที่ให้แก่กลุ่มคนซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายเพื่อให้พวกเขานำเอาประเด็นละเอียดอ่อนออกมาถกเถียงกันในที่สาธารณะ ตัวอย่างหนึ่งก็คือการมีส่วนร่วมของชาวมาเลย์-มุสลิมจากภาคใต้ ซึ่งการแสดงออกถึงความไม่พอใจของพวกเขาต่อความรุนแรงโดยรัฐโดยปกติมักจะถูกมองว่าเป็นการเอาใจช่วยผู้ก่อการร้าย อย่างไรก็ดีหลังการเคลื่อนไหวของคณะราษฎร 2563 ผู้ชุมนุมบางคนได้ออกมาปราศรัยและประณามความโหดร้ายในกรณีต่างๆ เช่น เหตุการณ์ตากใบ และการอุ้มหายที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในภาคใต้ นี่คือเรื่องที่พิเศษมากหากคำนึงถึงว่าการปราศรัยเหล่านี้เกิดขึ้นในใจกลางกรุงเทพฯและจังหวัดอื่นๆซึ่งไม่ได้อยู่ในชายแดนภาคใต้

ประเด็นละเอียดอ่อนที่น่าสนใจมากอีกเรื่องหนึ่งซึ่งถูกนำมาถกเถียงในพื้นที่สาธารณะก็คือเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ก่อนหน้านี้การวิพากษ์วิจารณ์สมาชิกราชวงศ์นับเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุด แต่ปัจจุบันผู้นิยมสาธารณรัฐหรือผู้สนับสนุนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มีความกล้าหาญเพียงพอแล้วที่จะพูดถึงการยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ บทบาทของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับกองทัพ บางคนถึงขั้นออกมาเสนอรูปแบบการปกครองที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญแบบใหม่ทีเดียว

กลุ่มที่ถูกเบียดขับกลุ่มอื่นๆก็ได้พบพื้นที่ของตัวเองในขบวนการคณะราษฎร 2563 เช่นกัน อาทิ นักเรียนมัธยมที่ต้องการกำจัดอำนาจนิยมในระบบการศึกษา คนเสื้อแดงซึ่งไม่สามารถทนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้อีกต่อไป นักสตรีนิยมและผู้ค้าบริการทางเพศที่ต้องการทำให้อาชีพของตนถูกกฎหมาย กลุ่ม LGBTQ ผู้เรียกร้องกฎหมายการแต่งงานของเพศเดียวกัน และประชาชนในท้องถิ่นซึ่งต้องการการกระจายอำนาจที่มากขึ้น พวกเขาเหล่านี้มีความหวังร่วมกันว่าปัญหาของพวกเขามีโอกาสถูกแก้ไขได้มากกว่าภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ดังที่แฮชแทก ‘ถ้าการเมืองดี’ ได้สะท้อนออกมาให้เห็น

ในระยะยาวพื้นที่ทางการเมืองซึ่งคณะราษฎร 2563 ได้สร้างไว้ อาจเป็นรากฐานสำหรับประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วมได้มากขึ้น ปรึกษาหารือมากขึ้น และนับรวมมากขึ้น บทสนทนาแลกเปลี่ยนในพื้นที่สาธารณะซึ่งขบวนการได้ปลุกขึ้นมาอาจจะทำให้ลำดับขั้นแห่งการกีดกัน (hierarchy of exclusion) อ่อนกำลังลง และช่วยให้เสียงของคนซึ่งไม่เคยถูกได้ยินถูกเปร่งออกมาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้คณะราษฎร 2563 จะได้รับแรงสนับสนุนจำนวนมาก แต่ความเป็นมนุษย์นั้นก็ยังมีขอบเขต ตราบเท่าที่ความเป็นไทยยังคงมีสถานะนำอยู่ในสังคมและไม่ถูกรื้อสร้างใหม่ ‘ความเป็นมนุษย์’ และ ‘ความเป็นไทย’ จะยังคงขัดแย้งกันเช่นเดิม เรายังคงต้องรอดูกันต่อไปว่าขบวนการคณะราษฎร 2563 จะต้องการหรือสามารถที่จะหลอมรวมและพูดคุยกับผู้ที่สนับสนุนการปฏิรูปแต่ยังยึดถือจารีตของความเป็นไทยไว้ได้หรือไม่ เมื่อคำนึงถึงความคิดแบบก้าวหน้าซึ่งมาพร้อมกับคนรุ่นใหม่ ไม่แน่ว่าเมื่อเวลาผ่านไป วาทกรรม ‘ความเป็นไทย’ อาจเหี่ยวเฉาลงไปเองก็เป็นได้

อีกทางที่เป็นไปได้คือ ‘ความเป็นไทย’ อาจถูกนิยามใหม่เพื่อให้มีความหมายนับรวมมากขึ้นและกลืนให้กลายเป็นแนวคิดประชาธิปไตยไป ทางเลือกนี้อาจจะดูท้าทายเพราะวาทกรรม ‘ความเป็นไทย’ นั้นฝังรากลึกในสังคมไทยมายาวนาน แต่ความพยายามในการรื้อและประกอบสร้างมันขึ้นมาใหม่ เหมือนอย่างเช่นที่คณะราษฎร 2563 ได้สร้างจินตนาการใหม่ให้กับคำว่าชาตินั้น น่าจะคุ้มค่า เพราะการสลายความขัดแย้งระหว่าง ‘ความเป็นไทย’ กับประชาธิปไตยและสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองเท่านั้น คือทางออกที่จะทำให้ผู้คนไม่จำเป็นต้องเลือกอีกต่อไปว่าพวกเขาต้องการ ‘เป็นไทย’ หรือต้องการ ‘เป็นมนุษย์’
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท