Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ได้อ่านบทความของ DW เกี่ยวกับบทบาทของว่าที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กับเผด็จการแล้ว รู้สึกได้เลยว่ามีอคติอย่างมาก เป็นเรื่องจริงที่ว่าทรัมป์ตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ทรัมป์แสดงจุดยืนและมุมมองของเขาว่าเป็นมิตรที่ดีกับประเทศที่เป็นเผด็จการ เช่นเชิญผู้นำอียิปต์และไทยไปพูดคุยกันอย่างสนิทสนมที่ทำเนียบขาว ทรัมป์ยังจับมืออย่างแนบแน่นถึง 3 ครั้งกับคิม จองอุนของเกาหลีเหนือและเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อยู่ในตำแหน่งคนแรกที่ย่างเท้าเข้าไปในเกาหลีเหนือ ทรัมป์ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินซึ่งเคยถูกกล่าวหาว่าเข้าไปก้าวก่ายการเลือกตั้งของสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 (ซึ่งจริงๆ สหรัฐฯกับรัสเซียก็มีความขัดแย้งกันหลายเรื่องเช่นหัวรบนิวเคลียร์ อาจเพราะสื่อเป็นฝ่ายซ้ายที่เน้นเสนอภาพในด้านเดียวทำให้ภาพของทรัมป์เหมือนเป็นพวกเดียวกับปูติน) หรืออย่างกรณีที่คามัล คาช็อคกีนักหนังสือพิมพ์ชาวซาอุดิอาระเบียถูกฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยมที่สถานทูตซาอุดิอาระเบียในตุรกีและผู้บงการก็เป็นไปได้ว่าคือมงกุฏราชกุมารซึ่งเป็นศัตรูกับนักหนังสือพิมพ์คนดังกล่าว แต่ทรัมป์ก็ไม่ได้แสดงท่าทีกดดันผู้ปกครองตัวจริงของซาอุดิอาระเบียจริงๆจังๆ นัก เพราะซาอุดิอาระเบียเป็นลูกค้าที่ดีของอุตสาหกรรมอาวุธของสหรัฐฯ อันขัดแย้งกับอุดมคติของสหรัฐฯ ซึ่งถูกป่าวประกาศและนำมากดดันประเทศอื่นมาอย่างยาวนานอย่างน้อยก็หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นคือเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

การตั้งข้อสังเกตข้อนี้ก็ไม่ผิด แต่ว่าก็ไม่ถูกต้องที่จะไปมุ่งเน้นที่ทรัมป์คนเดียว เพราะความจริงแล้วประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ผ่านมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุกคนไม่ว่าจากพรรครีพับลิกันหรือพรรคเดโมแครต ล้วนแต่มีท่าทีอันหลากหลายต่อประเทศซึ่งมีการปกครองเผด็จการทั้งนั้น นั่นคือประธานาธิบดีซึ่งเป็นประมุขฝ่ายบริหารจะต้องวางหรือชั่งน้ำหนักของการปกครองประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเข้ากับเรื่องผลประโยชน์และอิทธิพลของสหรัฐฯ เหนือประเทศหรือภูมิภาคนั้นๆ จึงตรงกันข้ามกับความคิดของคนจำนวนมากที่ว่าสหรัฐฯ นั้นจะเป็นคาวบอยที่โรมรันกับศัตรูเพื่อคุณธรรมอย่างเดียวเหมือนกับที่ภาพยนตร์ฮอลลีวูดพยายามเสนอภาพ อย่างในช่วงสงครามเย็น สหรัฐฯ เลือกที่เป็นมิตรกับประเทศเผด็จการหลายประเทศที่มีอุดมการณ์และลักษณะบางอย่างที่ตนรับได้เช่นที่สำคัญที่สุดคือไม่เป็นคอมมิวนิสต์ ประมุขอาจมาจากการเลือกตั้งก็ได้ (แม้จะเต็มไปด้วยปัญหาการโกง แต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจประณามบ้าง แต่ไม่จริงจังจนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร) เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นก็เป็นประเด็นที่สหรัฐฯ มักเลือกแสดงท่าทีอันระมัดระวังในการแสดงท่าที อาจจะมาจากน้ำใสใจจริงก็ได้ หากประเทศนั้นมีขนาดเล็กและไม่กระทบต่อผลประโยชน์และความมั่นคงของสหรัฐฯ เท่าไรนัก แต่ถ้าประเทศนั้นมีขนาดใหญ่และมีส่วนต่อประโยชน์และความมั่นคงของสหรัฐฯ ประธานาธิบดีก็มักแสดงท่าทีแบบ lip service คือดีแต่พูด และเล่นสำบัดสำนวนเช่นตำหนิหรือประณาม กดดันให้ประเทศนั้นเคารพสิทธิมนุษยชน และประเทศเหล่านั้นซึ่งก็มีผลประโยชน์ร่วมกับสหรัฐฯ ก็จะรับลูกโดยเสแสร้งทำเป็นไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้นสื่อมวลชนจึงสำคัญมาก หากเผด็จการคุมสื่อได้ ก็จะปกปิดความชั่วร้ายต่อประชาชนของประเทศตัวเองได้ อันจะทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อ้างว่าประเทศดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงในด้านที่ดี และออกนโยบายในด้านเป็นคุณกับประเทศดังกล่าว แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนและฝ่ายค้านกลับมีข้อมูลอีกแบบในการมายันกับประธานาธิบดี

แต่ไม่ว่าอย่างไรแล้ว ดังที่เคยกล่าวมาคือประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้นมีความไม่ใจมวลชนของประเทศโลกที่ 3 (หรือเอาตามจริงรวมถึงประเทศของตัวเองด้วย)เพราะน่ามีแนวโน้มฝักใฝ่ในลัทธิสังคมนิยมโดยเฉพาะพวกรากหญ้า ดังนั้นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จึงมักต้องให้มีเผด็จการหรือ Strong Man ในการควบคุมมวลชน คือทำให้ประเทศมีเสถียรภาพ ไม่ตกเป็นคอมมิวนิสต์อย่างง่ายดาย หรือแม้แต่สงครามเย็นได้สิ้นสุดไปแล้ว สหรัฐฯ ก็ยังยินดีที่จะได้ติดต่อกับรัฐบาลแม้จะเป็นประชาธิปไตยแต่รวมศูนย์อำนาจและได้รับความนิยมจากประชาชนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สหรัฐฯ และตะวันตกไม่ชอบที่สุด ดังนั้นทฤษฎีสมคบคิดที่ว่าซีไอเออยู่เบื้องหลังการลุกฮือในตะวันออกกลางหรือ Arab Spring เมื่อปี 2010 หรือม็อบ 3 นิ้วของไทยในปัจจุบันจึงเป็นเรื่องเพ้อเจ้อมาก 

ตัวอย่างเช่นช่วงสงครามเย็น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนผู้นำประเทศที่เป็นเผด็จการที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์มากมายเช่นโง ดินห์ เดียมของเวียดนามใต้ซึ่งเดินทางไปเยือนสหรัฐฯในปี 1957 และได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ ประธานาธิบดี ดไวน์ ดี ไอเซนฮาวร์แห่งพรรครีพับลิกันลงทุนมาต้องรับเดียมถึงสนามบิน หลังจากได้รับการแห่ไปทั่วเมือง เขายังได้รับเชิญให้ไปกล่าวสุนทรพจน์ที่รัฐสภา สำหรับสฤษดิ์ ธนะรัชต์แห่งสยามประเทศนั้น การที่เขาหายไปรักษาตัวอยู่เป็นปีในสหรัฐฯ หลังจากยึดอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามในปี 1957 ก็เป็นเรื่องน่าสงสัยว่าเขาได้เคยไปพบกับไอเซนเฮาวร์หรือไม่ แต่ที่แน่ชัดคือโรเบิร์ต เคนนาดีน้องชายของจอห์น เอฟเคนนาดี ประธานาธิบดีคนถัดมาได้เดินทางไปเยือนสฤษดิ์ถึงประเทศไทยในปี 1962 นอกจากนี้ ปาร์ค จุง ฮีผู้นำเผด็จการทหารของเกาหลีใต้ได้รับเชิญโดยเคนนาดีให้ไปเยือนทำเนียบข่าวถึงแม้เคนนาดีจะได้ชื่อว่าเป็นผู้สนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมกันของคนสีผิว แต่ดูเหมือนเคนนาดีจะคำนึงถึงความมั่นคงของคาบสมุทรเกาหลีมากกว่าชะตากรรมของคนเกาหลีใต้จำนวนมากภายใต้การกดขี่ของปาร์ค

หรือประธานาธิบดียุคต่อมาอย่างลินดอน บี จอห์นสันแห่งเดโมแครตก็ให้การสนับสนุนและส่งทหารไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไทยและเวียดนามเหนือ ซึ่งล้วนแต่มีผู้นำเผด็จการอย่างจอมพลถนอม กิติขจรหรือดอง ฟาน มินห์ นายทหารที่ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทนโง ดินห์ เดียมซึ่งถูกสังหารพร้อมน้องชายอย่างน่าอนาถในปี 1963 โดยกลุ่มลูกน้องของเขาเอง จนเมื่อสหรัฐฯ ตกหล่มในสงครามเวียดนามมากเข้า การล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหารอเมริกันในเวียดนามถูกเปิดเผยมากขึ้น สาธารณชนอเมริกันก็เริ่มหันมาประท้วงรัฐบาล อย่างการข่มขืนและการสังหารหมู่พลเรือนเวียดนามในหมู่บ้านมีไล ดังที่เรียกว่า My Lai massacre โดยทหารสหรัฐฯ ในปี 1968 และภาพบางส่วนได้หลุดรอดออกมาส่งผลต่อการประท้วงและการประนามจากคนทั่วโลก และน่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สุดท้ายแล้วสหรัฐฯ ซึ่งรู้ตัวดีว่ารบอย่างไรก็ไม่ชนะก็ต้องถอนกำลังออกไปจากเวียดนามใต้และไทยในที่สุด ในยุคของเจอรัลด์ ฟอร์ดแห่งริพับลิกันนั้นมีความสัมพันธ์อันดีมากกับเผด็จการอย่างซูฮาร์โตในฐานะพันธมิตรที่สำคัญที่สุด หลังจากสหรัฐฯ ได้ถอนกำลังออกไปจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไม่ใช่ไทยอีกแล้วเพราะรัฐบาลพลเรือนของไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 1973 มีท่าทีต่อต้านสหรัฐฯมากขึ้นจนไปถึงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 1976) และเป็นฟอร์ดร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนดังคือเฮนรี คิสซิงเจอร์ที่ให้ไฟเขียวให้กองทัพอินโดนีเซียบุกติมอร์ ตะวันออกในเดือนธันวาคม ปี 1975 ทำให้ประชากรของติมอร์เสียชีวิตไป 1 ใน 3

ตัวอย่างอื่นที่น่าสนใจได้แก่ยุคของโรนัลด์ เรแกนแห่งพรรครีพับลิกันที่ให้การสนับสนุนเฟอร์ดินัลด์ มาร์คอส เผด็จการของฟิลิปปินส์ จนถึงแม้มาร์คอสจะพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีเพราะพลังของประชาชนในปี 1986 สหรัฐฯ ยังให้การเป็นที่ลี้ภัยแก่เขาคือเกาะฮาวาย นอกจากนี้เรแกนยังเปลี่ยนแปลงนโยบายของจิมมี คาร์เตอร์ในการคว่ำบาตรรัฐบาลของประเทศแอฟริกาใต้จากข้อหาการแบ่งแยกสีผิวหรือ apartheid ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เขาจึงไม่เห็นด้วยกับและยับยั้งกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาในการคว้ำบาตรรัฐบาลแอฟริกาใต้ เพราะเขาเห็นว่าแอฟริกาใต้เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเย็น นอกจากนี้จอร์จ เอชดับเบิลยู บุชที่เคยเป็นรองประธานาธิบดีของเรแกนและได้เป็นประธานาธิบดีสืบต่อก็เป็นมิตรที่ดีกับจีนคอมมิวนิสต์ แม้แต่ตอนที่รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องคว่ำบาตรจีนภายหลังจาการปราบปรามนักศึกษาจนนองเลือดในปี 1989 บุชยังพยายามติดต่อทางการทูตแบบใต้ดินกับเติ้ง เสี่ยวผิงอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีไว้ อันทำให้จีนไม่ใช้สิทธิยับยั้งในคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติตอนสหรัฐฯ ในยุคของบุชบุกอิรักเมื่อปี 1991 หรือยุคของบิล คลินตันแห่งเดโมแครตที่ในปี 1995 สหรัฐฯ สถาปนาความสัมพันธ์อีกครั้งกับเวียดนามซึ่งถูกปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์และละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นผู้วิจารณ์รัฐบาลอย่างเสมอมา และคลินตันเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่ได้มาเยือนเวียดนาม นับตั้งแต่จอห์นสันเดินทางไปเยือนเวียดนามใต้ในปี 1967

นอกจากนี้ในยุคของจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งถึงแม้จะมีนโยบายต่างประเทศที่อิงกับแนวคิดอนุรักษ์นิยมใหม่หรือ Neo-Conservativism ที่ถือว่าสหรัฐฯ เป็นฝ่ายธรรมะที่ต้องต่อสู้กับประเทศเผด็จการ อันนำไปสู่การรุกรานแอฟกานิสถานในปี 2001 และอิรักในปี 2003 สหรัฐฯ ยังเป็นมิตรอันดีกับผู้นำเผด็จการที่ยอมรับสงครามต่อต้านการก่อการร้าย เช่นรัสเซียและจีน รวมไปถึงเอเชียกลางอันส่งผลให้ผู้นำและรัฐบาลเผด็จการในประเทศเหล่านั้นมีความเข้มแข็งเพราะสามารถประณามและจัดการผู้ต่อต้านในฐานะผู้ก่อการร้ายได้อย่างถูกต้องชอบธรรม นอกจากนี้ บุชยังยอมรับการทำรัฐประหารในไทยเมื่อปี 2006 อันเป็นการล้มรัฐบาลประชาธิปไตยและนำไปสู่รัฐบาลเผด็จการอย่างของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ การตัดความช่วยเหลือก็มีแค่ในระยะเวลาหนึ่งเหมือนกับที่บิดาของเขาเคยทำกับจีน

ที่น่าสนใจคือประธานาธิบดีบารัก โอบามาซึ่งมีว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดนเป็นรองประธานาธิบดีในขณะนั้นก็มีนโยบายผ่อนปรนกับเผด็จการอีกเช่นกัน แต่อาจมีวาทศิลป์หรือการต่อรองที่เข้มข้นกว่าประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน เช่นขายอาวุธให้ซาอุดิอาระเบีย ถึงแม้จะโดนกลุ่มสิทธิมนุษยชนโจมตีเพราะรัฐบาลซาอุฯ ก่อสงครามตัวแทนในเยเมน ดังนั้นทรัมป์จึงไม่ใช่คนแรกที่ต้องถูกตำหนิว่าเอาใจซาอุดิอาระเบีย ตรงนี้อาจบอกได้ว่าปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของประธานาธิบดียังหมายถึงกลุ่มนักวิ่งเต้นของอุตสาหกรรมอาวุธ (military industrial complex) และเขายังเป็นมิตรที่ดีกับเผด็จการในตะวันออกกลางหลายคนอย่างฮอสนี มูบารักแห่งอียิปต์ เพราะอียิปต์เป็นมิตรกับอิสราเอล พันธมิตรของสหรัฐฯ และเป็นตัวคอยรักษาเสถียรภาพของตะวันออกกลาง ดังนั้นเมื่อเกิดรัฐประหารครั้งที่สองโดยกองทัพต่อประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งคือนายมูฮัมหมัด โมซี ซึ่งมาจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิม สหรัฐฯ ก็กดดัน คว่ำบาตรในระดับหนึ่งและ เรียกร้องให้อียิปต์เป็นประชาธิปไตย แต่ต่อมาโอบามาได้เชิญจอมพลอับดุล ฟัตตาห์ อัลซิซีมาร่วมประชุมแต่ได้รับการปฏิเสธอันสะท้อนว่ากรุงวอชิงตันยอมผ่อนปรนต่อเผด็จการ ตรงนี้คล้ายกับไทยที่รัฐบาลสหรัฐฯ แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการประท้วงของ กลุ่ม กปปส.และการยึดอำนาจโดยพลเอกประยุทธ์ แต่สหรัฐฯ ดูเหมือนไม่ประนีประนอมต่อรัฐบาลประยุทธ์เหมือนอัลซิซี ดังในข่าว DW ได้กล่าวราวกับว่าโอบามานั้นไม่ยอมผ่อนปรนกับเผด็จการเป็นอันขาดดังต่อไปนี้

Under Trump's predecessor, Barack Obama, the US suspended direct military aid in the wake of the Egyptian coup in 2013,...............Trump has instead moved to boost direct aid to Egypt, including seeking $1.4 billion for "bilateral assistance" in 2021 (1)

ภายใต้ยุคของประธานาธิบดีก่อนทรัมป์ บารัก โอบามา สหรัฐฯ ได้ระงับการช่วยเหลือทางการทหารโดยตรงอันเป็นผลมาจากการทำรัฐประหารอียิปต์ในปี 2013 ........... ทรัมป์ได้เปลี่ยนมาให้การช่วยเหลือโดยตรงต่ออียิปต์ รวมไปถึงหางบหนึ่งหมื่นสี่พันล้านเหรียญฯ สำหรับ "การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน" ในปี 2021
แต่จากวีกีพีเดียบอกว่าในยุคโอบามานั้นก็หันกลับมาเอาใจเผด็จการ

However, in a 2014 news story, the BBC reported that "the US has revealed it has released $575 million (£338m) in military aid to Egypt that had been frozen since the ousting of President Mohammed Morsi last year.(2)

อย่างไรก็ตาม ในข่าวปี 2014 บีบีซีได้รายงานว่า "สหรัฐฯ ได้เปิดเผยว่าได้มอบเงินช่วยเหลือ 575 ล้านเหรียญฯ ในฐานะการช่วยเหลือทางทหารให้กับอียิปต์ซึ่งถูกระงับไปตั้งแต่ประธานาธิบดีโมฮัมเม็ด มอร์ซีถูกขับออกไปปลายปีที่แล้ว 

จึงสามารถสรุปได้ว่าสื่อมีอคติกับทรัมป์เพราะทรัมป์มีภาพพจน์ของเผด็จการและไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนหรือรูปแบบการปกครองของประเทศอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าประธานาธิบดีคนอื่นโดยเฉพาะโอบามาจะเป็นพ่อพระเสมอไป อาจอาศัยภาพพจน์และวาทศิลป์ในการประนีประนอมกับอุดมการณ์หลักของสหรัฐฯ นั่นคือเชิดชูประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่โดยเนื้อแท้ไม่ต่างจากทรัมป์ เช่นโอบามายังสานต่อสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของบุชและภารกิจบางอย่างของบุชอย่างเช่นการใช้เครื่องบินไร้คนขับหรือ drone ในการสังหารพลเมืองของประเทศโลกที่ 3 อยู่ แต่ทรัมป์ซึ่งต้องการ cut the crap (เลิกคุยเรื่องไร้สาระ) นั่นคือมีนโยบายที่ตรงไปตรงมากับเผด็จการที่จะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ ตามคำหาเสียงของเขาคือ American First นั่นคืออเมริกาต้องมาก่อน และฐานคะแนนเสียงของเขาก็คงไม่ได้สนใจการเมืองต่างประเทศเท่าไรนัก

อย่างไรก็ตามว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนซึ่งมีทีมงานส่วนใหญ่มาจากยุคของโอบามาก็มีแนวโน้มที่จะมี นโยบายเหมือนกับโอบามา นั่นคือท่าทีเผชิญหน้ากับเผด็จการมากขึ้นดังบทความของ DW กล่าวในช่วงท้าย ว่าไบเดนจะปฏิบัติอย่างไรกับประเทศเผด็จการทั้งหลายคือซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ รัสเซีย และจีน ฯลฯ เพื่อเป็นการวางนโบายให้แตกต่างจากทรัมป์รวมไปถึงแม้แต่โอบามาด้วยเพื่อไม่ให้ตัวเองต้องถูกภาพของโอบามากลืน และไบเดนจะทำอย่างไรเพื่อให้นโยบายตนกับประเทศเผด็จการสอดคล้องกับผลประโยชน์และอำนาจของสหรัฐฯ เป็นไปได้ว่าไบเดนอาจประนีประนอมกับเผด็จการหลายประเทศภายใต้วาทกรรมแตกต่างกัน

สำหรับไทยนั้นดังบทความที่แล้วของผมว่า รัฐบาลไบเดนจะใช้ประเด็นสิทธิมนุษยชนในการต่อรองกับรัฐบาลประยุทธ์มากกว่าเดิม แม้ว่าประยุทธ์จะมีไม้เด็ดนั้นคือมาจากการเลือกตั้ง และท่าทีของรัฐบาลไบเดนจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของการเมืองไทยเช่นการประท้วงขยายตัวและรัฐบาลยกระดับการใช้กฎหมายต่างๆ ในการจัดการควบคุมการประท้วงไม่ให้ลุกลามซึ่งตะวันตกถือว่าเป็นละเมิดสิทธิมนุษยชน อันเป็นการวัดท่าทีของสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะปัดฝุ่นนโยบาย Pivot to Asia เพื่อโอบล้อมจีนว่าจะจริงใจในการกดดันรัฐบาลไทยขนาดไหน ด้วยการประเมินของทีมบริหารของไบเดนอีกว่าไทยจะมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์หรือไม่ อย่างไร เช่นเดียวกับจีนว่าจะยุ่งเกี่ยวกับรัฐบาลไทยในขนาดไหนเพื่อเปิดช่องให้ไทยเข้าหาจีนมากขึ้นเพื่อลดความกดดันของสหรัฐฯ แต่ไทยก็ต้องคำนึงว่าการไปหาจีนมากเกินไปก็คือการพาตัวเองไปอยู่ใต้กับดักของจีน อันแน่นอนว่าทีมงานของประยุทธ์ก็ต้องมีแผนในการรับมือกับสหรัฐฯ ซึ่งใช้ประเด็นสิทธิมนุษยชนและจีนซึ่งมีท่าทีไม่แทรกแซงการเมืองของประเทศไทย (แต่แทรกแซงทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับฮ่องกงหรือไต้หวัน) 

อนึ่งสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับเผด็จการยังมีตัวละครอื่นๆ เช่น รัฐสภาของสหรัฐฯ ซึ่งมีบทบาทอย่างสูงต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งถึงแม้จะมี 2 พรรคแย่งชิงอำนาจกันอยู่แต่ก็อาจมีแนวคิดสอดคล้องกัน (bipartisan) ก็ได้ หากว่าพฤติกรรมของประเทศเผด็จการนั้นขัดแย้งกับอุดมการณ์ของสหรัฐฯคือสิทธิมนุษย์อย่างแจ้งชัดอย่างเช่นรัฐสภาสหรัฐฯได้พยายามออกมติในการยุติการขายอาวุธให้ซาอุดิอาระเบียจากกรณีการถึงเสียชีวิตของจามัล คาช็อคกี แต่ถูกใช้สิทธิยับยั้งโดยทรัมป์ รวมไปถึงนักวิ่งเต้นหรือ lobbyist ที่สนับสนุนประเทศต่างๆ ซึ่งอาจรวมถึงประเทศเผด็จการรวมไปถึงอุตสาหกรรมอาวุธดังที่ได้กล่าวไว้แล้วด้วยว่าจะมีอิทธิพลต่อทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ของพรรคการเมืองใหญ่ทั้ง 2 พรรคอย่างไร รวมไปถึงหน่วยราชการอย่างเช่นกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมเช่นเดียวกับที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ รวมไปถึงองค์กรเกี่ยวกับหน่วยข่าวกรองทั้งหลายซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ตัวละครสำคัญคือประชาชน ชาวอเมริกันมีความคิดเห็นอย่างไรต่อประเทศเผด็จการนั้นๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับความเชื่อโดยทั่วไป คนอเมริกันจำนวนมากขาดความรู้เกี่ยวกับต่างประเทศคือถือว่าประเทศตนเป็นจุดศูนย์กลางของโลก จึงขึ้นอยู่กับสื่อมวลชนในการนำเสนอประเทศเหล่านั้นในแง่มุมไหน อันจะส่งผลต่อคะแนนความนิยมของประชาชนต่อตัวประธานาธิบดีและพรรคการเมืองที่ประธานาธิบดีสังกัดอยู่ อย่างในสงครามเย็น มีความเป็นไปได้ว่าคนอเมริกันจำนวนมากอาจยอมรับนโยบายของประธานาธิบดีที่เป็นมิตรหรือมีผลประโยชน์กับประเทศซึ่งละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นวิธีการในการต่อสู้กับศัตรูอย่างคอมมิวนิสต์หรือผู้ก่อการร้ายแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน และเช่นเดียวกับประธานาธิบดี คนอเมริกันจำนวนมากก็ยังมีลัทธิเหยียดสีผิว ที่ไม่ให้ความสำคัญต่อชีวิตประชาชนในประเทศโลกที่ 3 ซึ่งถือว่าด้อยกว่าตนนัก 

 

อ้างอิง

(1) Arab autocrats stand to gain from Trump reelection 
(2) Wikipedia Egypt–United States relations



Cr: ภาพจากข่าวสด อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามาและภรรยา ถ่ายรูปคู่กับเผด็จการของประเทศแกมเบียคือ Yahya Jammeh

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net