คุยกับ 'ชลน่าน ศรีแก้ว' ยุทธศาสตร์เสื้อโหลกับการพัฒนา จ.น่าน และการไหล่บ่าของทุนจีน

รายงานบทสัมภาษณ์ 'ชลน่าน ศรีแก้ว' ส.ส.จังหวัดน่าน ชี้ยุทธศาสตร์ตัดเสื้อผ้าชุดเดียวแล้วใช้ใส่ทั่วประเทศนั้นไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง พร้อมประเมินการไหล่บ่าเข้ามาของทุนจีน และ 5 ประเด็นการพัฒนา จ.น่าน

ฤดูกาลท่องเที่ยวที่พีคสุดคือหน้าหนาวนี้ น่าน คือจังหวัดหนึ่ง ที่มีตัวเลขนักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยว อย่างน่าสนใจยิ่ง จากข้อมูลของ ททท.น่าน เดือนมกราคมถึงกันยายน 2562 มีผู้เยือนจังหวัดน่าน ประมาณ 696,000 คน/ครั้ง ลดลงจากปี 2561 ในช่วงเดียวกัน ร้อยละ -0.14 ยังคงรักษาตำแหน่งเดิมเป็นลำดับที่ 58 ของประเทศ มีรายได้จากการท่องเที่ยว ประมาณ 2,081.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ในช่วงเดียวกัน ประมาณ +1.76 ยังคงรั้งตำแหน่งเดิมเป็นลำดับที่ 54 ของประเทศ

ตัดเสื้อผ้าชุดเดียวแล้วใช้ใส่ทั่วประเทศไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

ผู้เขียนมีโอกาสคุยกับ นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.จังหวัดน่าน (เพื่อไทย) และกรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร หมอชลน่าน มองว่า การตัดเสื้อผ้าชุดเดียวแล้วใช้ใส่ทั่วประเทศ ทั้งภาคหรือหลายๆ จังหวัดนั้น ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง แต่ละจังหวัดในภูมิภาคควรมีอัตลักษณ์ วางยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เป็นของตัวเองอย่างมีเอกลักษณ์

ในมุมมองของชลน่าน “น่านเนิบๆ” เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดที่ควรนำมาพิจารณาเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีนัยสำคัญ โซนนิ่งนิเวศและวัฒนธรรมเป็นระบบบูรณาการ “ล้านนาตะวันวันออก” อันได้แก่ เชียงราย พะเยา แพร่และน่าน (เหนือตอนบน 2) เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยการพัฒนาแบบเดิมๆ อย่างเช่นเชียงใหม่โมเดลที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมอย่างที่เห็นๆ

โดยเฉพาะการเชื่อมต่อการพัฒนากับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและจีนซึ่งกำลังจะมีการเชื่อมระบบคมนาคมทางรถไฟจากจีนลงมาไทย น่านจึงจำเป็นต้องรักษาความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นแบบเดิมๆ เอาไว้ ซึ่งก็คือวัฒนธรรมท้องถิ่นที่งดงาม ตั้งรับการลงทุนจากประเทศเพื่อนบ้านคืออย่างเป็นระบบไม่ปล่อยให้ธุรกิจการค้าของเมืองถูกนายทุนหรือทุนใหญ่จากจีนยึดครองแบบเชียงใหม่

ทั้งนี้ ในระบบการจัดทำงบประมาณ (ซึ่งมาจากยุทธศาสตร์ส่วนกลาง คือ รัฐสภาไทย) น่าที่จะกำหนดให้เขต 4 จังหวัด (กลุ่มจังหวัด) ได้แก่ แพร่ น่าน พะเยาและเชียงรายอยู่ในโซนเดียวกัน เนื่องจากมีสภาพนิเวศน์ และสภาพวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน กำหนดยุทธศาสตร์ร่วมการพัฒนาให้เชื่อมเข้าหากัน รับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวหรือนักลงทุนจากจีนหรือนอกจังหวัด โดยอาศัยระเบียบหรือข้อกำหนดที่ไม่เหมือนโซนอื่นๆ นั่นคือ การกำหนดยุทธศาสตร์จากสภาพเฉพาะของแต่ละพื้นที่

การไหล่บ่าเข้ามาของทุนจีน

เป็นที่วิตกกันว่าการไหล่บ่าเข้ามาของทุนจากต่างประเทศ เช่น ทุนจีน อาจเข้ามาครอบงำกิจการของคนไทยท้องถิ่นจังหวัดน่าน จนทำให้คนในพื้นที่ไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงมากนัก ดังนั้นยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ในเขต 4 จังหวัดดังกล่าว ควรได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความเป็นจริง น่านเป็นจังหวัดทสี่ได้รับการกล่าวขานเรื่องอัตลักษณ์ของเมืองตามแบบล้านนาตะวันออกว่า ยังไม่ถูกทำลายจากนักท่องเที่ยวและนักลงทุนที่ไหลบ่ามาจากที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงได้รับการกล่าวขานในแง่ความเป็นธรรมชาติเชิงนิเวศน์วิทยาที่ยังสมบูรณ์อยู่มาก หากนักการเมืองและคนท้องถิ่นไม่ใส่ใจ น่านอาจไม่ต่างไปจากจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ ที่ปรากฎสภาพเสื่อมโทรมปรากฏให้เห็นอยู่ในขณะนี้

“งบพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่ภาครัฐกำหนดไว้แล้วในด้านต่างๆ ที่จริงมีอยู่แล้ว เราต้องมาดูว่าเรามีจุดอ่อนจุดแข็งอะไรบ้าง น่านมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนจังหวัดอื่น จะตัดเสื้อโหลใส่ไม่ได้ วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมที่เป็นอยู่ วัฒนธรรม เชื้อชาติศาสนาอะไรต่างๆ ไม่เหมือนกับที่อื่น ดังนั้นเราจะไปกำหนดแบบแผนการพัฒนาเหมือนกับจังหวัดอื่นไม่ได้ ต้องเป็นแบบฉบับของตัวเองเท่านั้น” ส.ส.จังหวัดน่าน กล่าว

จังหวัดน่านได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมซึ่งมีมนต์เสน่ห์แตกต่างจากจังหวัดอื่นทำให้มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวทางโบราณสถานประวัติศาสตร์เช่นวัดพระธาตุแช่แห้งวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดภูมินทร์พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน วัดมิ่งเมือง วัดหนองบัววัดหนองแดงหมู่บ้านไทยลื้อนอกจากนั้นยังมีแหล่งท่องเที่ยวประเภทวัฒนธรรมประเพณีเช่นงานประเพณีหกเป็งไหว้พระบรมธาตุแช่แห้งงานประเพณีสงกรานต์และสรงน้ำพระเจ้าทองทิพย์วัดสวนตาล งานประเพณีแข่งเรือยาวงานนมัสการพระธาตุเขาน้อยประเพณีขึ้นบ่อน้ำทิพย์วนอุทยานถ้ำผาตูบประกอบกับภูมิประเทศมีภูเขาสูงทำให้น่านมีความโดดเด่นในด้านการท่องเที่ยวทางธรรมชาติด้วยโดยมีวนอุทยาน 1 แห่งคือวนอุทยานแห่งชาติถ้ำผาตูบ มีอุทยาน 6 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อุทยานแห่งชาติแม่จริมอุทยานแห่งชาติศรีน่าน อุทยานแห่งชาตินันทบุรีอุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน และอุทยานแห่งชาติขุนน่าน นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอื่นๆ อาทิเช่นน้ำตกศิลาเพชร น้ำตกต้นทองบ่อเกลือสินเธาว์จึงทำให้น่านเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบธรรมชาติชอบศิลปะวัฒนธรรมและความสงบสุข

5 ประเด็นการพัฒนาน่าน

จังหวัดน่านกำหนดตำแหน่งการพัฒนา (Positioning ) ใน 5 ประเด็น คือ 1. บริหารทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสมบูรณ์ การอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติ ให้เป็นเมืองแห่งชุมชนคนต้นน้ำที่คงความสมบูรณ์โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน 2.พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงอนุรักษ์ การพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องเด็กและเยาวชนให้มีความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ 3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการค้าชายแดนให้มีมาตรฐานมากขึ้น เพื่อรองรับการเข้าสู่เศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นเส้นทางการคมนาคมขนส่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เปิดประตูสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เวียดนาม และจีน (จีนตอนใต้) 4. ผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยเพื่อการบริโภคในพื้นที่  5. พัฒนาการค้าการลงทุน ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนที่โดดเด่นตามแนวทางเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากน่านเป็นเมืองต้นน้ำและเป็นเมืองที่มีอัตลักษณ์ของตัวเอง มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม สมัยก่อนเป็นเมืองที่เป็นฐานการแย่งชิงมวลชน (คอมมิวนิสต์) ในมิติเศรษฐกิจ น่านเป็นจังหวัดภาคเหนือที่มีรายได้น้อยลำดับบ๊วยตีคู่กับจังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงเป็นปัญหาว่าทำอย่างไรจึงจะยกระดับรายได้ที่หมายถึงคุณภาพชีวิตของคนเมืองน่านให้ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันต้องคงเอกลักษณ์วิถีชีวิตของชาวน่านเอาไว้ด้วยเพื่อให้เป็นที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวที่ต้องการเห็นประเพณี วัฒนธรรมแบบเดิม ขายการท่องเที่ยวได้ รัฐบาลและท้องถิ่นจึงต้องใส่ใจทั้งการอนุรักษ์และการพัฒนาอย่างสอดคล้องกับทัศนวิสัยและความเปลี่ยนแปลงของโลก

“แค่โครงสร้างพื้นฐานก็ยังมีปัญหา เพราะมีหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานมาเกี่ยวข้องด้วย เช่น การตัดถนนต้องเกี่ยวกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้เรามีปัญหาในการดำเนินโครงการ ต้องขออนุญาตอะไรต่างๆ  ส่งผลให้โครงการมีความล่าช้า แม้ได้รับการจัดสรรงบฯ มาแล้วก็ตาม” ชลน่าน ระบุ

ทั้งนี้ ทองธัช เทพารักษ์ ศิลปินล้านนา (ป่าซาง ลำพูน) มองว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดทางภาคเหนือควรเน้นความเป็นอัตลักษณ์ เรียบง่าย ธรรมชาติ ไม่ปรุงแต่งแบบวิถีเมืองซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถพบเห็นได้ทั่วไปอยู่แล้ว ทำให้ไม่เป็นที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติผู้มีรสนิยมต้องการเห็นความแปลกต่างของวัฒนธรรมท้องถิ่นแบบฉบับโลกตะวันออก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท