สาธิต มศว เตรียมสำรวจให้นร.แต่งสุภาพทุกวันศุกร์ ปธ.กพฐ. ชี้แต่งไปรเวทก็ควรให้เข้าเรียน

โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร เตรียมสำรวจความเห็นนักเรียนและบุคลากรต่อการให้นักเรียนแต่งชุดสุภาพตามความสมัครใจทุกวันศุกร์ ด้านประธาน กพฐ. กล่าวถึงกรณีการรณรงค์ไม่แต่งเครื่องแบบนักเรียนว่าเป็นสิทธิเด็ก ควรให้เข้าเรียนตามปกติแต่มีป้ายกำกับเพื่อให้แยกแยะได้ว่าเป็นนักเรียน

4 ธ.ค. 2563 เพจโรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) เผยแพร่ ประกาศจากทางโรงเรียน เรื่อง สำรวจความคิดเห็นนักเรียนและบุคลากรต่อการให้นักเรียนแต่งกายด้วยชุดสุภาพ ตามความสมัครใจในทุกวันศุกร์ โดยงานยุทธศาสตร์การวิจัย โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ฝ่ายมัธยมฯ ในวันจันทร์ ที่ 7 ธ.ค. 2563 เวลา 08.30–11 .00 น. โดยอาจารย์ประจำชั้นแต่ละห้องจะนำนักเรียนมาตอบแบบสำรวจ ณ คูหาตอบแบบสำรวจ ชั้นล่าง อาคารวิทยวิโรฒ

 

ประกาศจากทางโรงเรียนสำรวจความคิดเห็นนักเรียนและบุคลากรต่อการให้นักเรียนแต่งกายด้วยชุดสุภาพตามความสมัครใจในทุกวันศุกร์

Posted by โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) on Thursday, 3 December 2020

 

ประกาศดังกล่าวมีขึ้นหลังกลุ่มนักเรียนเลวจัดกิจกรรม 1 ธันวา บอกลาเครื่องแบบ จะแต่งอะไรมันก็เรื่องของกู เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2563 โดยมีนักเรียนอย่างน้อย 23 โรงเรียนร่วมแต่งชุดไปรเวทไปเรียน รวมถึงโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จุดกระแสถกเถียงเรื่องการแต่งเครื่องแบบนักเรียนขึ้นมา

ด้านไทยโพสต์รายงานว่า เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงกรณีการรณรงค์ไม่แต่งเครื่องแบบนักเรียน ในวันเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 ว่า เรื่องนี้ตนมองว่าเป็นสิทธิของเด็กที่สามารถแสดงออกทางความคิดเห็นได้ โรงเรียนควรที่จะให้เด็กเข้าเรียนได้ตามปกติ แต่เนื่องจากโรงเรียนจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน ที่เป็นกฎหมายกำกับให้โรงเรียนดำเนินการตามอยู่ ดังนั้นตนจึงมีความเห็นว่าในกรณีที่โรงเรียนใดมีนักเรียนแต่งกายด้วยชุดไปรเวทมา โรงเรียนควรที่จะดำเนินการให้มีการแลกบัตร เปรียบเสมอบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาติดต่อภายในบริเวณโรงเรียน

ประธาน กพฐ. กล่าวว่า ตนมองการที่มีบุคคลใดใส่ชุดไปรเวทเข้ามาในโรงเรียน ทางเจ้าหน้าที่หรือครูในโรงเรียนไม่สามารถจะแยกหรือมั่นใจได้ว่าบุคคลนั้นเป็นนักเรียนหรือไม่ เพราะไม่ได้ใส่ชุดนักเรียน รวมถึงจะต้องมีการทำป้ายที่แสดงชื่อ ชั้นเรียน และเลขประจำตัวนักเรียนด้วย หากบุคคลดังกล่าวเป็นนักเรียนที่แต่งกายชุดไปรเวทมาโรงเรียน เพื่อที่จะสามารถแยกนักเรียนที่แต่งกายด้วยชุดไปรเวทกับบุคคลภายนอกที่เข้ามาติดต่อโรงเรียนได้

“อย่างไรก็ตาม ผมไม่ต้องการให้มีการพูดถึงเรื่องความสิ้นแปลือง หรือการแบ่งแยกชนชั้น เพราะส่วนตัวผมมองว่าการแต่งเครื่องแบบนักเรียนเวลาที่เราจะเดินทางหรือไปยังสถานที่ใด ผู้ที่ได้พบเห็นก็จะสามารถสร้างการรับรู้ได้ในทันที ว่าคือ นักเรียน และจะทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับนักเรียน ผู้ที่พบเห็นก็จะพยายามเข้ามาช่วยเหลือ ทั้งนี้ผมคิดว่าเรามีกฎหมายเรื่องการแต่งกายของนักเรียนที่ชัดเจน หากใครไม่สามารถปฏิบัติตามได้ก็จะต้องแลกบัตร เหมือนกับบุคคลภายนอก”ประธาน กพฐ.กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท