อ่าน 'อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์' ถกประเด็นไทยไม่เคยเป็นอาณานิคม?

4 ธ.ค. 2563 เพจคณะก้าวหน้า - Progressive Movement รายงานว่า เมื่อ 29 พ.ย. 2563 Common School คณะก้าวหน้า จัดกิจกรรม Reading Group ครั้งที่ 3 หยิบหนังสือ "อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : การก่อรูปรัฐไทยสมัยใหม่จากศักดินานิยมสู่ทุนนิยมรอบนอก" มาให้นักอ่านได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนประเด็นในหนังสือ สรุปเนื้อหาดังนี้

 

[ อ่านอาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปกับ #อ่านเปลี่ยนโลก - ศึกษาการก่อตัวของรัฐไทยผ่านมุมมองทางเศรษฐกิจ -...

Posted by คณะก้าวหน้า - Progressive Movement on Thursday, 3 December 2020

 

ไทยไม่เคยเป็นอาณานิคมจริงหรือ?

รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล ผู้เขียนหนังสือเริ่มต้นนำสนทนาโดยกล่าวถึงประวัติศาสตร์แบบทางการซึ่งมักบอกว่า สยามเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่เพราะชนชั้นนำสยามปรับตัว และด้วยพระปรีชาสามารถของกษัตริย์ทำให้เรารอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นได้ แต่หนังสือเล่มนี้ตั้งต้นจากการศึกษารัฐไทยผ่านเงื่อนไขและปัจจัยทางเศรษฐกิจ-สังคมที่มีผลต่อการกำหนดทิศทาง นโยบาย และท่าทีของชนชั้นนำสยาม

ไชยันต์ ชวนให้มองมายาคติทางประวัติศาสตร์ที่ว่า "ประเทศไทยไม่เคยต้องเป็นเมืองขึ้นของใคร" ว่าแท้จริงแล้วเจ้าอาณานิคมอังกฤษสามารถบรรลุผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและมีอิทธิพลเหนือสยามได้โดยไม่ต้องใช้กำลังทางการทหารเพื่อยึดครองและควบคุมสยามในฐานะอาณานิคมแห่งหนึ่งของอังกฤษ ทั้งเจ้าอาณานิคมและชนชั้นนำสยามต่างได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ กษัตริย์และขุนนางสยามต่างร่วมมือกับเจ้าอาณานิคมจัดการหัวเมืองเหนือและใต้ ขูดรีดแรงงานทาส สูบกินทรัพยากรจากหัวเมืองต่างๆ อังกฤษจึงไม่จำเป็นต้องยึดครองสยาม เพราะการยึดครองดินแดนนั้นมีต้นทุนสูงกว่า เมื่อได้ประโยชน์อยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ายึดครองดินแดนสยามแต่อย่างใด

มิหนำซ้ำระบบราชการไทยสมัยใหม่ล้วนมีจุดกำเนิดจากที่ปรึกษาชาวอังกฤษจากสำนักงานอาณานิคม (Colonial Office) เจ้าหน้าที่เหล่านั้นเข้ามาให้คำปรึกษาด้วยมุมมองต่อสยามเฉกเช่นเดียวกับประเทศใต้อาณานิคมอื่นๆ อาจกล่าวได้ว่า “แม้สยามจะมิได้เป็นอาณานิคมอังกฤษโดยนิตินัย แต่โดยพฤตินัยแล้วก็ไม่อาจแตกต่างกันมากนัก” เจ้าอาณานิคมอังกฤษนำเจ้าหน้าที่ชาวอังกฤษเข้ามากำหนดนโยบายในการปกครองของไทย และยิ่งไปกว่านั้นยังมีอิทธิพลเหนือราชสำนักไทยในการแต่งตั้งกษัตริย์องค์ต่อไปผ่านความร่วมมือกับขุนนางสยาม

นักอ่านผู้เข้าร่วมกิจกรรมท่านหนึ่งกล่าวเสริมว่า ประเทศไทยสอนให้เราเชื่อว่า ประเทศไทยไม่เคยเป็นอาณานิคมของใคร แต่ข้อเท็จจริงในทางประวัติศาสตร์จากการศึกษาเพิ่มเติมในหนังสือหลายเล่ม พบว่า ประเทศไทยเป็นกึ่งเมืองขึ้นทั้งของอังกฤษและสหรัฐอเมริกามาตั้งนานแล้ว ในแง่นี้การตกเป็นเมืองขึ้นของไทย ไม่ว่าจะของอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกาก็ไม่ต่างกันมากนัก

ตั้งแต่ก่อตั้งกองทัพไทย เคยรบจริงแค่ 40 ชั่วโมงก่อนยอมแพ้

ไชยันต์ กล่าวถึงกองทัพไทยว่าตั้งมา 130 กว่าปี ยังไม่เคยออกรบกับอริราชศัตรูที่บุกไทย หากจะพูดให้ใกล้เคียงที่ความเป็นจริงที่สุด คือ สู้รบกับญี่ปุ่นตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สู้รบกันอยู่ 40 กว่าชั่วโมง ท้ายที่สุดก็ยอมแพ้

ไชยันต์ ชี้ว่าตั้งแต่กองทัพตั้งมารบจริงๆ 40 กว่าชั่วโมงเท่านั้น ใช้งบประมาณไปเท่าไหร่ หน้าที่ของทหาร คือ การดูแลสนามมวย สนามม้า สนามกอล์ฟ สลากกินแบ่ง โทรทัศน์ วิทยุ พร้อมตั้งคำถามว่า นี่คือหน้าที่ของทหาร นี่คือความมั่นคงของชาติหรือไม่?

รัฐไทยก่อตัวจากการกดขี่ประชาชน

ชัยพงษ์ สำเนียง ผู้นำสนทนาอีกท่าน กล่าวว่า งานชิ้นนี้ของไชยันต์เป็นส่วนหนึ่งของการถกเถียงทางทฤษฎีว่าด้วยการก่อตัวของรัฐไทยผ่านมุมมองทางเศรษฐกิจ

การก่อตัวของรัฐไทยในปัจจุบันเป็นผลมาจากการกดขี่ประชาชน รีดเร้นทรัพยากรจากรัฐต่างๆ ที่อยู่รอบกรุงเทพฯ เข้าสู่ส่วนกลาง ดังปรากฎในหนังสือว่า “ใต้เบื้องราศรีของรัฐสยามคือความมั่งคั่งที่รีดเร้นไปจากผู้ปกครองในภูมิภาค เลือดของกบฏชาวนาภาคเหนือ หยาดเหงื่อของชาวนาในภาคกลาง เถ้าฝิ่น กลิ่นเหล้า และบ่อนการพนัน”

ชัยพงษ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า รัฐสยามมีลักษณะเป็นอาณานิคมภายใน (Internal Colonialism) ควบคุมและขูดรีดเอาทรัพยากรจากหัวเมืองต่างๆ เข้าสู่ส่วนกลาง ในแง่นี้รัฐสยามจึงไม่ได้ต่างไปจากเจ้าอาณานิคมอื่นๆ เพียงแต่เปลี่ยนจากประเทศอื่นๆ เป็นหัวเมืองรอบๆ กรุงเทพฯ เท่านั้น รัฐสยามสมัยใหม่เข้าไปยึดหัวเมืองต่างๆ ค่อยๆ ทำลายอำนาจท้องถิ่น สูบทรัพยากรจากท้องถิ่นส่งเข้าส่วนกลาง รวมศูนย์อำนาจผ่านระบบการคลัง ภาษีแบบใหม่ และระบบราชการสมัยใหม่ จนกระทั่งถึงปัจจุบันประเทศไทยยังคงเป็นเจ้าอาณานิคมภายในอยู่เหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยนไป

ความเข้าใจผิดเรื่องเขตแดนไทยและการกระจายอำนาจ

ชัยพงษ์กล่าวว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแต่ต้น แต่ละเมืองปกครองกันเอง รัฐในอดีตไม่มีวิธีคิดเรื่องเขตแดนที่ชัดเจน เพราะรัฐไทยเพิ่งรู้จักเขตแดน และรู้จักหมู่บ้านในต่างจังหวัดเมื่อไม่นานมานี้เอง

ชัยพงษ์ ยกตัวอย่างว่า ตอนที่มีปัญหาเรื่องเขตแดนระหว่างเชียงใหม่กับเมืองยางแดง ฝั่งแม่น้ำสาละวินซึ่งอยู่ใต้อาณานิคมของอังกฤษไม่มีเขตแดนที่ชัดเจน ทูตอังกฤษถามเจ้าพระยาที่กรุงเทพฯ ว่าหัวเมืองยางแดงนั้นเป็นเขตอิทธิพลของใคร? เจ้าพระยาไม่สามารถตอบได้ เพราะไม่รู้ว่าเขตแดนอยู่ตรงไหน เพราะรัฐไทยไม่มีแนวคิดเรื่องเขตแดนมาก่อน ภายหลังในปี 2436 สยามยกหัวเมืองยางแดงให้อังกฤษซึ่งถือเป็นการยกดินแดนให้อังกฤษเป็นครั้งแรกๆ นี่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการศึกษาประวัติศาสตร์รัฐไทย และการศึกษาการก่อตัวของรัฐไทยสมัยใหม่ของสังคมไทย

ชัยพงษ์ กล่าวว่า ปัญหาของสังคมไทย คือ เข้าใจการกระจายอำนาจไปอีกแบบ ทั้งๆ ที่การกระจายอำนาจ คือ การกระจายทรัพยากรและอำนาจในการปกครองตนเองของท้องถิ่น ไม่ใช่การแบ่งอำนาจ ถ้าทรัพยากรอยู่ที่ท้องถิ่น ท้องถิ่นก็ดูแลตนเองได้ เพราะอำนาจไปอยู่ที่ท้องถิ่นแล้ว

ปัญหาของการรวมศูนย์อำนาจ คือ อำนาจกระจุกตัวที่ส่วนกลาง เมื่อเกิดรัฐประหารทหารเข้ายึดอำนาจที่กรุงเทพฯ จังหวัดหัวเมืองต่างๆ แทบไม่มีบทบาท ยึดกรมประชาสัมพันธ์ ยึด อสมท. ได้ก็ถือว่ายึดอำนาจสำเร็จแล้ว

รัฐสมัยใหม่ต้องแยกระหว่างรัฐกับบุคคล

ด้าน ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวถึง การเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ในมิติกฎหมายว่า รัฐสมัยใหม่ต้องแยกระหว่างเรื่องรัฐและบุคคล คือ การสร้างรัฐให้เป็นบุคคลที่สมมติขึ้นมา จากนั้นก็หาคนเข้าไปใช้อำนาจในตำแหน่งต่างๆ เมื่อคนออกจากตำแหน่งแล้ว แต่ตำแหน่งยังคงอยู่ นี่คือกฎหมายมหาชนแบบรัฐสมัยใหม่ที่แยกเรื่องสาธารณะกับเรื่องบุคคลออกจากกัน

ดังนั้นปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบันเกิดจากความไม่เข้าใจการแยกเรื่องสาธารณะกับเรื่องบุคคลออกจากกัน หากเราไม่สามารถแยกเรื่องดังกล่าวได้ ก็จะกลับไปอยู่ในรัฐแบบโบราณ คือ รัฐราชสมบัติที่ทรัพย์สินเป็นของพระมหากษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งการเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ต้องแยกเรื่องนี้ออกจากกันอย่างเด็ดขาด

ปิยบุตร ยกตัวอย่างว่า นายกฯ อบจ. ในท้องถิ่นได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน แต่เมื่อต้องเผชิญกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากส่วนกลาง นายกฯ อบจ. กลับไม่มีอำนาจเต็มที่ เพราะอำนาจไม่ได้อยู่ที่ท้องถิ่น แต่อยู่ที่ส่วนกลาง ประชาชนเดือดร้อนก็มักจะโทษ อบจ. แต่ปัญหาคือท้องถิ่นเองไม่มีอำนาจ หรือมี ก็มีอำนาจจำกัด หากต้องการแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นก็ต้องพึ่งพารัฐส่วนกลางเหมือนเคย

ปิยบุตร เสนอให้มีการแบ่งการจัดทำบริการสาธารณะออกเป็นสองระดับ คือ ระดับชาติ กับ ระดับท้องถิ่น ราชการส่วนกลางรับผิดชอบการจัดทำบริการสาธารณะระดับชาติ ส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบการจัดทำบริการสาธารณะระดับท้องถิ่น (Local Public Service) และไม่จำเป็นต้องมีราชการส่วนภูมิภาคอีกต่อไป

ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมขัดขวางการกระจายอำนาจ

ปิยบุตร ชี้ชวนให้เห็นถึงอำนาจของเรื่องเล่าและอำนาจของประวัติศาสตร์ว่า ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม แบบกรมพระยาดำรงฯ นั้น ทำให้สังคมไทยไม่กล้าคิดฝันเรื่องการกระจายอำนาจแบบสุดทาง ประวัติศาสตร์ทางการของรัฐไทยได้กล่อมเกลาให้เราเชื่อว่าอำนาจเป็นของส่วนกลาง ของกรุงเทพฯ และให้ทยอยแบ่งสรรให้จังหวัดอื่นๆ ไปตามเวลาและพัฒนาการโดยต้องให้ส่วนกลางตามไปคุมด้วย แต่ถ้าเราพลิกประวัติศาสตร์ใหม่ เดินเรื่องแบบหนังสือของอาจารย์ไชยันต์เล่มนี้ เราจะเห็นว่าอำนาจนั้นอยู่ที่ท้องถิ่นต่างๆ อยู่แล้ว แต่ส่วนกลางต่างหากที่ไปรวบเอาเข้ามาโดยวิธีการทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร

ดังนั้น การกระจายอำนาจโดยแท้จริงแล้ว ไม่ได้เอาอำนาจของส่วนกลางแบ่งให้ท้องถิ่น แต่คือการทวงคืนอำนาจของท้องถิ่น ต่อไปเราต้องพยายามพูดเรื่องการกระจายอำนาจในมิติประวัติศาสตร์อีกแนวหนึ่งให้มากขึ้น เพื่อมิให้เรื่องกระจายอำนาจไปตกอยู่ในมือของพวก “ช่างเทคนิค” ที่เรียนนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์กันมา คนเหล่านี้ สนใจการกระจายอำนาจในมุมของแผนการว่าในแต่ละปีต้องโอนงาน เงิน คน ไปเท่าไร มีความพร้อมหรือไม่ ติดขัดกฎหมายหรือระเบียบใดบ้าง และก็ทำงานวิจัยกันออกมา แต่จริงๆแล้ว การกระจายอำนาจจะสำเร็จหรือไม่ต้องสู้กันทางความคิดด้วย และหนึ่งในเครื่องมือสำคัญ คือ การเขียนประวัติศาสตร์ การสร้างเรื่องเล่าแบบใหม่ขึ้นต่อสู้

ปิยบุตรทิ้งท้ายว่า ถ้าการกระจายอำนาจ ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ แล้วให้อำนาจท้องถิ่นปกครองตนเองจะเป็นหมุดหมายในการเปลี่ยนประเทศไทยอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน การกระจายอำนาจจะเป็นการปลดปล่อยศักยภาพของท้องถิ่น เพื่อพัฒนาประเทศจากฐานราก ประเทศพัฒนาได้ด้วยท้องถิ่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท