Skip to main content
sharethis

ผบ.มทบ.22แจ้งความมือโพสต์กล่าวหารับส่วยขนแรงงานเถื่อน ตัวแพร่เชื้อโควิด-19

4 ธ.ค. 2563 จากกรณีมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความโจมตี พล.ต.สรชัช สุทธิสนธิ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบก (มทบ.) ที่ 22 ผ่านไลน์กลุ่มในจังหวัดอุบลราชธานีกลุ่มหนึ่งกล่าวหาว่า พล.ต.สรชัช รับส่วยจากแก๊งขนแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ หวั่นว่าจะทำให้เกิดการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ผ่านชายแดนด้านจังหวัดอุบลราชธานี ภายหลังมีการแชร์โพสต์ออกไป ผบ.มทบ.22 ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางเสียหายเป็นอย่างมาก

พล.ต.สรชัช สุทธิสนธิ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 ได้เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ผู้โพสต์ข้อความกล่าวรายนี้ คงไม่เข้าใจหน้าที่ในตำแหน่งของตนซึ่งไม่ใช่หน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องความมั่นคงตามแนวชายแดน แต่เป็นหน้าที่โดยตรงของกองกำลังอีกส่วนหนึ่งที่ดูแลผู้ที่โจมตีตนไม่รู้ข้อเท็จจริง กล่าวอ้างโจมตีให้เสียหาย

พล.ต.สรชัช กล่าวต่อหากผู้โพสต์มีหลักฐานตามที่กล่าวอ้างให้รีบนำออกมาแสดง แต่ตนขอยืนยันว่าข้อความกล่าวหาทั้งหมดไม่ใช่เรื่องจริงตนได้มอบหมายให้นายทหารรัฐธรรมนูญไปแจ้งความดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณากับผู้โพสต์รายนี้กับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุบลราชธานีแล้ว

มีรายงานเพิ่มเติมแจ้งว่า นอกจาก พล.ต.สรชัช สุทธิสนธิ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 ถูกโพสต์ข้อความโจมตีโดยปราศจากข้อเท็จจริงแล้ว ก็ยังมีข้าราชการระดับสูงทั้งนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัดบางท่าน นายอำเภอ ผู้กำกับการสถานีตำรวจตามอำเภอชายแดนก็ถูกผู้โพสต์รายนี้ ซึ่งเป็นอดีตครูโรงเรียนแห่งหนึ่งโจมตีด้วยข้อความที่เสียหายในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 4/12/2563

รมว.แรงงาน สั่งจับตาข้อพิพาทแรงงานช่วงสิ้นปี ห่วงมีปริมาณเพิ่มขึ้น

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและการบริการโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ทำให้ปริมาณยอดสั่งซื้อและการใช้บริการลดลง สถานประกอบกิจการส่วนใหญ่ร้อยละ 90 หรือมากกว่านั้นสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งในช่วงปลายปีของทุกปีจะมีการเรียกร้องขอขึ้นเงินเดือน เงินโบนัสและสวัสดิการต่าง ๆ

หากไม่เป็นที่พอใจต่อทั้งสองฝ่ายก็อาจก่อให้เกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานได้ จึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจับตาเฝ้าระวังปัญหาข้อพิพาทแรงงานดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานประกอบกิจการประเภทผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบยานยนต์และเครื่องยนต์ สถานประกอบกิจการประเภทโรงแรมและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังต้อง เฝ้าระวังในเขตพื้นที่ ระยอง ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา กรุงเทพมหานคร ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยาและปทุมธานี เนื่องจากพบว่ามีข้อเรียกร้องมากตามลำดับในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา หากพบว่ามีสัญญาณที่อาจก่อให้เกิดข้อพิพาทแรงงานให้เร่งส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปทำความเข้าใจและช่วยไกล่เกลี่ยให้ได้ข้อยุติในพื้นที่โดยเร็วที่สุด

ด้าน นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาข้อพิพาทแรงงาน ขอฝากเตือนนายจ้าง ลูกจ้างให้เจรจากันด้วยเหตุผล ยึดหลักแรงงานสัมพันธ์แบบหุ้นส่วน นายจ้างควรชี้แจงข้อเท็จจริงถึงผลประกอบกิจการที่ผ่านมา เพื่อทำความเข้าใจกับลูกจ้างอย่างตรงไปตรงมาโดยยึดหลักสุจริตใจ และขอให้ทั้งสองฝ่ายคำนึงถึงสิทธิ หน้าที่ภายใต้กรอบของกฎหมายและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลสถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 1 ธันวาคม 2563 พบว่า มีการยื่นข้อเรียกร้อง ข้อพิพาทแรงงาน และข้อขัดแย้ง ในเรื่องของเงินโบนัส การขึ้นเงินเดือนและสวัสดิการด้านต่างๆ ตามลำดับ โดยมีการยื่นข้อเรียกร้อง 192 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 134,964 คน ยุติแล้ว 35 แห่ง จังหวัดระยองยื่นข้อเรียกร้องมากที่สุดถึง 58 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 40,842 คน รองลงมาคือจังหวัดชลบุรี 53 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 27,303 คน มีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น 20 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 9,722 คน ยุติแล้ว 10 แห่ง

และเมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จังหวัดที่เกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานมากที่สุดคือจังหวัดระยอง รองลงมาคือ กรุงเทพฯ และชลบุรี มีลูกจ้างเกี่ยวข้อง 2,825 คน 1,592 คน และ 1,715 คน ตามลำดับ สำหรับข้อขัดแย้งมีจำนวน 13 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 10,374 คน ยุติแล้ว 12 แห่ง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในจังหวัดฉะเชิงเทรา ปทุมธานี และสระบุรี ทั้งนี้ มีการจดทะเบียนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ทั้งหมด 45 แห่ง ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์เป็นเงินจำนวน 2,481.35 ล้านบาท

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 4/12/2563

ไรเดอร์รวมตัว (อีกครั้ง) เรียกร้องกฎหมายดูแลชีวิตและสวัสดิภาพ “แรงงานแพลตฟอร์ม”

3 ธ.ค.2563 กลุ่ม “ไรเดอร์” นำโดย พรเทพ ชัชวาลอมรกุล เข้าพบคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน และตัวแทนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นหนังสือ และเรียกร้องสิทธิ์การคุ้มครองสวัสดิการการทำงานผ่านระบบแพลตฟอร์มที่ตอนนี้ยังไม่มีการดูและและคุ้มครองที่เป็นธรรม โดยเฉพาะในทางกฎหมาย

พรเทพบอกว่า ที่ผ่านมาไรเดอร์จำนวนมากต้องประสบปัญหาการถูกเอาเปรียบจากการทำงานผ่านรูปแบบการทำงานที่บริษัทให้พวกเขาเป็นพาร์ทเนอร์ (Partner) เช่น ค่ารอบในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่ไม่เท่ากัน ไรเดอร์ไม่มีสถานะเป็นคนงานของบริษัท ไม่มีสวัสดิการ ไรเดอร์ถูกปิดระบบอย่างไม่เป็นธรรมหากมีลูกค้าคอมเพลน โดยไม่มีสิทธิ์ชี้แจง การแบ่งเกรดของไรเดอร์เป็นระดับเช่น “ฮีโร่” ที่ทำให้ไรเดอร์กลุ่มนี้ได้ประกันอุบัติเหตุ และได้คืนภาษี นอกจากนี้ หากมีไรเดอร์ออกมาเรียกร้องสิทธิ์ก็จะโดนปิดระบบเช่นกัน

ณัฐวัฒน์ จีรทัศน์ธำรงค์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน พูดระหว่างการเข้าพบว่า ตอนนี้กระทรวงฯ รับทราบปัญหาของแรงงานกลุ่มใหม่อยู่บ้าง และมองว่าปัญหานี้เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย ตอนนี้ประเภทของแรงงานไรเดอร์ที่เป็น “แรงงานอิสระ” และ “นอกระบบ” ซึ่งการทำงานกับบริษัทแพลตฟอร์มขณะนี้ “ไม่มีสัญญาจ้างงาน” ระหว่างบริษัท และไรเดอเป็นลายลักษณ์อักษร จึงเป็นข้อจำกัดที่รัฐจะเข้าไปดูแลเช่นกัน และด้วยบางบริษัทเป็นของต่างชาติจึงต้องใช้เวลาดูว่าจะสามารถใช้กฎหมายใดเข้าไปดูแลได้บ้าง

ตอนนี้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงานนัดหมายบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์ม เช่น แกร๊ป ประเทศไทย เข้าพบในวันที่ 8 ธันวาคม 2563 นี้ โดยยืนยันว่าจะดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจาการจ้างงานแบบนี้ พร้อมบอกด้วยว่ากำลังผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาแรงงานนอกระบบ ซึ่งคาดว่าน่าจะช่วยคุ้มครองและดูแลแรงงานกลุ่มนี้ได้

ในระหว่างการพูดคุยมีการพูดถึงปัญหาที่เหล่าไรเดอร์คนอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะการตีความ “อาชีพอิสระ” ที่รัฐและบริษัทมอง ความอิสระนี้เป็นความอิสระที่ไม่ต้องมีการรองรับและคุ้มครองสิทธิ์เลยหรือไม่ และทางออกในการออกกฎหมายใหม่เพื่อดูแลควรเป็นออย่างไร

ด้าน ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร ผู้อำนวยการสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) ซึ่งเดินทางไปร่วมสังเกตการณ์ระบุว่า การแก้ปัญหานี้จำเป็นต้องมาจากนโยบาย และการปฏิรูปกฎหมาย เพราะงานนี้เป็น “งานใหม่” ซึ่งการนิยามแรงงานแพลตฟอร์มเป็นแรงงานนอกระบบไม่ใช่ทางออก เพราะเป็นแบ่งแยกทั้ง ๆ ที่แรงงานทุกคนควรได้รับสิทธิ์การคุ้มครองจากรัฐเท่ากัน ขณะที่รูปแบบการทำงานของไรเดอร์คือการสร้างรายได้ให้กับนายจ้าง และบริษัท พวกเขาควรมีประกันสังคม ม.33 ที่รัฐ เอกชน และตัวเองมีส่วนร่วม แต่เมื่อแรงงานถูกตีความว่าเป็น “อาชีพอิสระ” ทำให้สิทธิ์ที่รัฐ และนายจ้างต้องดูแลหายไปด้วย

ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวเพิ่มว่าแรงงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหม่ และกำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ไรเดอร์เป็นเพียง 1 ในกลุ่มแรงงานแพลตฟอร์มที่สามารถรวมกลุ่มและออกมาเรียกร้องได้ แต่ยังมีแรงงานแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น แม่บ้าน หรือหมอนวด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงก็ประสบปัญหาการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมเช่นกัน แต่ยังมีเสียงที่ดังไม่มากพอ ซึ่งการคาดหวังว่าแรงงานรวมตัวเพื่อต่อรองอำนาจกับนายจ้างนั้นอาจยังเป็นข้อจำกัด เพราะแพลตฟอร์มมีสิทธิ์ปิดระบบได้หากมีการเรียกร้อง

เมื่อเสร็จสิ้นการเข้าพบตัวแทนจากกระทรวง ไรเดอร์เดินทางไปสมทบกับกลุ่มไรเดอร์ที่หน้าตึกยูบีซี 2 สุขุมวิท 33 เพื่อพบผู้บริหาร แกร๊บ ไทยแลนด์ แกนนำระบุว่าวันนี้จำนวนไรเดอร์น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงตั้งข้อสังเกตว่าไรเดอร์อาจกังวล เพราะเพราะก่อนหน้านี้มีการแจ้งว่าหากใครมาร่วมชุมนุมจะถูกปิดระบบ

กลุ่มไรเดอร์สลับกันพูดถึงประเด็นที่ถูกเอาเปรียบหน้าตึกประมาณ 2 ชั่วโมง จึงตัดสินใจกลับ และนัดหมายกันใหม่อีกครั้งในวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ที่ตึกธนภูมิ ถนนเพชรบุรี ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่กระทรวงแรงงานเชิญบริษัทแพลตฟอร์มไปพบ

ที่มา: Decode, 3/12/2563

สสส. ผนึกกำลัง ยกระดับ “สิทธิ” และ “สุขภาวะ” แรงงานข้ามชาติ

กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่หลายคนมักมองข้าม แม้ว่าพวกเขาเหล่านี้จะเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่มีส่วนเข้ามาขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาและก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า แรงงานข้ามชาติก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของกำลังสำคัญนั้นเช่นเดียวกัน โดยปัจจุบันแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย มี3 สัญชาติหลัก ได้แก่ เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา ซึ่งมีมากกว่า 4 ล้านคน แต่ยังมีอีกจำนวน 2 ล้านกว่าคนที่อยู่นอกระบบ โดยไม่มีกฎหมายคุ้มครอง รองรับ ส่งผลให้มีปัญหาทั้งเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ชั่วโมงการทำงานสิทธิสวัสดิการ รวมทั้งปัญหาการเข้าไม่ถึงการรักษาตามมา

นายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานข้ามชาติยังดูแลและคุ้มครองไม่ทั่วถึงทุกอาชีพ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านและแรงงานในภาคเกษตร โดยการร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ยังมีการเก็บรวบรวมข้อมูลสำคัญ ก่อนเสนอไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อผลักดันให้เกิดการร่างกฎหมายแบบจริงจังต่อไป

“จากการลงพื้นที่พบว่า แรงงานข้ามชาติในหลาย ๆ พื้นที่ได้มีการรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิของแรงงาน และเรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายที่ชัดเจนมากขึ้น เราก็เห็นสมควรว่า เขาควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะที่เป็นแรงงานเช่นเดียวกับอีก 22 ล้านคนในระบบ ดังนั้นในปี 2564 เราวางแผนไว้ว่า จะต้องมีกฎหมายเพื่อรองรับและดูแลแรงงานนอกระบบให้มากกว่านี้ ซึ่งเป็นแนวทางที่กำลังรีบดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องกลุ่มแรงงานข้ามชาติทโดยเร็วที่สุด” นายสุเทพ กล่าว

ด้านนางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวถึงบทบาทในครั้งนี้ไว้ว่า สสส. เข้ามาสนับสนุนนักวิชาการและเครือข่ายภาคประชาชนในการสำรวจข้อมูลปัญหาด้านสุขภาพและสิทธิของแรงงานข้ามชาติจำนวนหลายโครงการ ค้นพบว่า ปัญหาด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติสูงกว่าคนไทยโดยทั่วไป โดย 61% ไม่เข้าใจการติดเชื้อของโรคระบาดโควิด-19 และอีกจำนวนมากที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุภาพ ความเข้าใจเรื่องโภชนาการทั่วไป ส่วนนี้ สสส. จึงจำเป็นต้องมาหนุนเสริม สร้างความรู้ ส่งต่อความเข้าใจด้านสุขภาพ ผ่านกลไกสำคัญที่เรียกว่า “หลักสูตรอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว” หรือ “อสต” ทั้งในช่องทางออนไลน์และออฟไลน์

“ตอนนี้ อสต. ได้เริ่มเข้าไปส่งเสริมอย่างเข้มข้นใน 4 จังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก เราเชื่อว่าคนกลุ่มนี้จะกลายเป็นข้อต่อสำคัญ ระหว่างการส่งข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพจากภาครัฐ ไปสู่แรงงานข้ามชาติด้วยกันเองได้เป็นอย่างดี ซึ่ง สสส. คิดว่า การให้ความรู้ ความเข้าใจสำหรับแรงงานข้ามชาติในเรื่องสุขภาวะนั้น ยังถือเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่น”

ทั้งนี้ นางภรณี ยังได้กล่าวถึงทิศทางการทำงานในอนาคตว่า สสส. จะเข้าไปสนับสนุนกระบวนการขับเคลื่อนเกี่ยวกับการปกป้องและคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ก่อนทำเป็นข้อเสนอนโยบายผ่านกรรมาธิการ และร่วมมือกับกระทรวงแรงงานอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

ด้านนายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานปัจจุบันยังมีช่องโหว่เรื่องการดูแลลูกจ้างชาวไทยและแรงงานข้ามชาติบางอาชีพ ที่เห็นชัดที่สุดคือแรงงานกลุ่มเกษตรกรรมและทำงานบ้าน จึงเสนอให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 14 ปี 2555 เพิ่มสิทธิ สวัสดิการดูแลแรงงานกลุ่มนี้ให้เท่าเทียมกับคนที่ทำอาชีพอื่น เพราะหากรอกฎหมายฉบับใหม่อาจจะใช้ระยะเวลานานเกินไป อาจกระทบต่อสุขภาวะของคนที่หาเช้ากินค่ำ และการปรับปรุงกฎกระทรวงช่วยเหลือแรงงานจะต้องมองลึกไปถึงอาชีพอื่น ๆ และแรงงานทุกชาติ ไม่ใช่แค่ เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา โดยที่ไม่เลือกปฏิบัติ

“ประเด็นที่เรากังวลที่สุดคือประเด็นด้านสุขภาพ เพราะแรงงานข้ามชาติบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษา เนื่องจากปัญหาด้านภาษา อีกทั้ง บางกลุ่มก็ไม่เข้าระบบประกันสังคม เนื่องจากยังถือบัตรสุขภาพอยู่ ดังนั้น การร่วมมือกันในครั้งนี้ก็เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติ-นอกระบบกลุ่มนี้ ได้รับสิทธิสวัสดิอย่างถูกต้องและเท่าเทียมกับกลุ่มอาชีพอื่น” นายมนัส กล่าว

ด้านนางจำปา ตัวแทนกลุ่มแรงงานข้ามชาติ สัญชาติเมียนมา กล่าวว่า ตนทำอาชีพลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทยมากว่า 28 ปี และปัจจุบันก็ยังอยู่นอกระบบ แม้ว่าอาชีพตนนั้นจะมีกฎกระทรวงแรงงานฉบับที่ 14คุ้มครองเรื่องวันหยุด แต่กลับไม่ครอบคลุมถึงชั่วโมงการทำงาน ค่าแรงขั้นต่ำ และสวัสดิการขั้นพื้นฐานอื่น ๆ เพราะฉะนั้น ตนจึงมองว่า ยังไม่เพียงพอ แต่ก็ไม่สามารถเรียกร้องได้ เพราะนายจ้างก็ไม่ผิด เนื่องจากไม่มีกฎหมายมารองรับ

“ในฐานะที่เป็นแรงงานข้ามชาติ เรื่องที่เราอยากได้รับการผลักดันมากที่สุดนอกจากเรื่องค่าจ้าง ก็คือเรื่องสุขภาพที่สำคัญเช่นกัน ซึ่งภาษาก็ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงการรักษา อย่างตนเองพูดได้ แต่อ่านและเขียนไม่ได้ เวลาป่วยก็เลือกวิธีการซื้อยากินเอง ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ดังนั้นในอนาคตจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมแก้ไข และดูแลปัญหาตรงนี้ เพราะเราทำงานเหมือนกับคนไทย เราก็อยากจะได้ความเท่าเทียมเช่นเดียวกัน” นางจำปา กล่าว

แน่นอนว่า เป้าหมายในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการขับเคลื่อนเพื่อให้แรงงานข้ามชาติ-นอกระบบได้เข้าถึงสิทธิสวัสดิการเท่านั้น แต่รวมไปถึงเพื่อยกคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมให้กับกลุ่มแรงงาน ผู้ที่เป็นกำลังสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 3/12/2563

"ก.แรงงาน" เตรียมจับมือ "ก.การคลัง" กำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2563 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้หารือแนวทางการขับเคลื่อนมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐร่วมกับ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมถึงหารือแนวทางการจัดทำโครงการสร้างความรู้ สร้างสัมมาชีพ ยกระดับทักษะ และหางานให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งที่อยู่ในภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงโครงการให้ความรู้ด้านการเงินและดิจิทัล เพื่อยกระดับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้เป็นแรงงานคุณภาพที่มีอาชีพที่มั่นคงและพ้นเส้นความยากจน ณ ห้องประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชั้น 3 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวต่อว่า สืบเนื่องจากที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐและมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเมื่อปี 2560-2561 และมีแนวโน้มจะเปิดรับลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐอีกครั้งในช่วงต้นปี 2564 โดยในครั้งนี้ กระทรวงแรงงานมีแนวทางที่จะขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและจังคม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการคลัง เป็นต้น เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน ตั้งแต่การฝึกอาชีพ เพื่อสร้างองค์ความรู้ทั้งด้านการเงินและดิจิทัล ให้มีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ เป็นการ "สอนหาปลา" แทนการให้ปลา รวมถึงหางานและตลาดที่เหมาะสม ให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่อยู่ในวัยแรงงาน เป็นการ "ให้เบ็ดตกปลา" นอกจากนี้ยังประสานกับเครือข่ายจัดหาแหล่งเงินทุน อาทิ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารพาณิชย์ เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวมีอาชีพที่มั่นคงและหลุดพ้นจากความยากจน ภายใต้แนวคิด "สร้าง ยก ให้ รวมไทยสร้างชาติ"

"แรงงานทุกกลุ่มเป้าหมายควรได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้สูงอายุ คนพิการ แลผู้ต้องขัง ซึ่งกระทรวงแรงงานจะเดินหน้าให้การช่วยเหลือดูแลอย่างเต็มที่ คนที่มีงานทำอยู่แล้วมีรายได้เพิ่มขึ้น และคนที่ว่างงานต้องมีงานทำ ซึ่งการจะก้าวไปถึงความมุ่งหมายนั้นได้จึงต้องเริ่มต้นจากเพิ่มทักษะ ความรู้ ความสามารถ" ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 2/12/2563

ก.แรงงาน ออกประกาศคุ้มครองสิทธิ ผู้ป่วยเอดส์ในสถานประกอบกิจการ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ลงนามในประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องการป้องกันและการบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานประกอบกิจการ พร้อมเปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงาน โดยให้เน้นการทำงานเชิงรุก พัฒนาปรับปรุงข้อกำหนด หรือระเบียบแนวปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อดูแลแรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพอย่างทั่วถึง เสมอภาคเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ มีความปลอดภัย มีสุขภาพอนามัยที่ดีในการทำงาน โดยให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน และเพื่อเป็นการรณรงค์ให้นายจ้าง ลูกจ้างมีความเห็นใจต่อผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยเอดส์ เนื่องในวันเอดส์โลก กระทรวงแรงงาน จึงได้ออกประกาศ เรื่อง การป้องกันและการบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานประกอบกิจการตามข้อเสนอของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน เพื่อหวังขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ได้รับผลกระทบจากเอดส์ให้สามารถเข้าถึงการจ้างงาน และมีงานทำ โดยให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกำกับ ดูแล ส่งเสริม สนับสนุนสถานประกอบกิจการให้ปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเสริมว่า ประกาศ กระทรวงแรงงานฉบับดังกล่าว ได้กำหนดสาระสำคัญไว้ 3 ประการคือ 1) กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีการคุ้มครองและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสถานประกอบกิจการอย่างเท่าเทียมกัน ตั้งแต่การรับสมัครงาน สนับสนุนให้มีความก้าวหน้าในการทำงาน รวมถึงการรักษาความลับส่วนบุคคล 2) ให้นายจ้างดำเนินการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ HIV และเอดส์ ได้แก่ การสร้างความรู้ที่ถูกต้อง การส่งเสริมการตรวจเลือด และจัดหาอุปกรณ์ป้องกันให้ลูกจ้างเข้าถึงได้ง่ายและเพียงพอ 3) กำหนดให้นายจ้างช่วยเหลือดูแลผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยให้ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานกองทุนประกันสังคม เป็นต้น

อย่างไรก็ตามวิทยาการทางการแพทย์ในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยเอดส์ ปัจจุบันมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก หากได้รับการปฏิบัติ และการดูแลที่เหมาะสมโดยนำแนวคิดการรณรงค์วันเอดส์โลก 1 ธันวาคม 2563 “WALK TOGETHER : เอดส์อยู่ร่วมกันได้ ไม่ตีตรา” ก็จะสามารถดำเนินชีวิตและทำงานร่วมกันได้อย่างปกติสุข ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมของประกาศฯได้ที่กองสวัสดิการแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หมายเลขโทรศัพท์ 0-2246-0383,0-2246-0080

ที่มา: สยามรัฐ, 1/12/2563

สหภาพการบินไทยฯ ร้องนากยรัฐมนตรี ระบุเสียสิทธิเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กระทบพนักงานเดือดร้อนกว่าพันคน

นายนเรศ ผึ้งแย้ม ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ (สร.กบท.สพ.) เปิดเผยว่าตัวแทนสหภาพและสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทการบินไทย ราว 30 คน ได้เดินทางไปยังสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

โดยขอให้นายกรัฐมนตรี สั่งการถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ในฐานะนายทะเบียนกองทุน ใช้อำนาจในการแก้ไขข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทการบินไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2545 ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.กองทุนฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2550 ในมาตรา9(8) และให้สอดคล้องกับ ประกาศ กลต. เพื่อเกิดความเป็นธรรมกับสมาชิกกองทุนที่ได้มีการขอลาออกจากสมาชิกกองทุน โดยที่ไม่ได้ลาออกจากการเป็นพนักงานบริษัท

เนื่องจากภายหลังที่บริษัทฯ ได้เข้าสู่ขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการ พนักงานส่วนใหญ่ถูกปรับลดเงินเดือนและต้องหยุดงาน ส่งให้ผลมีรายได้ปรับลดลง ในขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายยังเท่าเดิม ทำให้พนักงานหลายคนเริ่มทยอยขอลาออกจากสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัท เพราะต้องนำเงินก้อนที่สะสมไว้ออกมาใช้ในยามจำเป็น ซึ่งล่าสุดมีพนักงานขอลาออกจากการเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกว่า 1,000 ราย และยังเหลือพนักงานที่ยังไม่ได้ลาออก ราว 1.5 หมื่นราย

นายนเรศ ยังกล่าวอีกว่าขณะนี้พนักงานที่ลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กว่า 1,000 คนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะทุกคนเสียสิทธิในการรับเงินสมทบในส่วนของนายจ้างที่บริษัทการบินไทยต้องสมทบให้รวมกว่าหลายร้อยล้านบาท เนื่องจากการบินไทยไม่ยอมจ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้างให้คนที่ลาออก โดยอ้างข้อบังคับกองทุนของบริษัทที่กำหนดว่าจะจ่ายสมทบเงินให้ เฉพาะกรณีที่ลาออกจากกองทุนและลาออกจากการเป็นพนักงานด้วยเท่านั้น ซึ่งจะเห็นว่าเป็นข้อบังคับที่ขัดกับ กฎหมายกองทุนและประกาศ กลต. จึงขอให้มีการแก้ไขโดยด่วน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 30/11/2563

โรงแรมดาราเทวี ประกาศปิดกิจการ พร้อมทั้งเลิกจ้างพนักงาน แจงเหตุผลเพราะพิษการแพร่ระบาดโควิด-19 กระทบการดำเนินงาน

29 พ.ย. 2563 โรงแรมดาราเทวี จังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกประกาศปิดกิจการอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งได้มีหนังสือบอกเลิกจ้างถึงพนักงานโรงแรมทุกคน ด้วยเหตุผลการแพร่ระบาดจากไวรัสโควิด-19

โดยก่อนหน้านี้ เกิดกรณีพนักงานโรงแรมดาราเทวีนับร้อยคนได้เข้าไปยื่นหนังสือกับทางผู้ว่าราชการ และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่หลายครั้ง กรณีผู้บริหารโรงแรมเลื่อนการเปิดกิจการทำให้ค้างเงินเดือนพนักงานมาหลายเดือน เกิดข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างจนหลายๆหน่วยงานต้องรีบเข้ามาดูแลและแก้ไขปัญหาดังกล่าว จนกระทั่งต้องปิดกิจการถาวร ทำให้ต้องประกาศเลิกจ้างพนักงานและปิดโรงแรมดาราเทวีไปอย่างถาวรเพื่อรอให้กรมบังคับคดีขายทอดตลาดโรงแรมดาราเทวีในต้นปีหน้า

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโรงแรมดาราเทวีที่ทำให้โรงแรมต้องเดินเข้าสู่กระบวนการล้มละลายต่อไป

ที่มา: TNN, 29/11/2563

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net