#ม็อบ2ธันวา ไม่ได้มีแค่เวทีปราศรัย ชวนฟังวงย่อย ชวนคุยหน่วยสำรวจข้อมูล 

(เก็บตก) รายงานสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ2ธันวา ไล่จันทร์โอชาออกไป

  • คุยกับนักเรียนมัธยมต้น-ปลาย
  • ชวนฟัง 'วงย่อย' ชี้โรงเรียนไม่มีสิทธิ์ฝ่าฝืนกฎกระทรวง, กฎระเบียบเครื่องแต่งกายขัด รธน. และวงถกทำแท้งถูกกฎหมาย 
  • คุยกับหน่วยสำรวจข้อมูล 'เนิร์ดข้างบ้าน' ที่นำเรื่อง 'น่าจะ' มาทำให้กระจ่าง เช่น ม็อบแผ่ว คนเข้าม็อบน้อยลงจริงหรือเปล่า? หรือ ม็อบนี้มีสิทธิพิเศษอย่างที่ใครเขาว่าจริงหรือไม่? 

คุยกับนักเรียนมัธยมต้น-ปลาย

2 ธ.ค.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ม็อบวันที่ 2 ธันวา “ไล่จันทร์โอชาออกไป” จัดโดยกลุ่มคณะราษฎร ท่ามกลางกระแสข้อกังขาถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอดพ้นจาก “ปมบ้านพักทหาร”

ช่วง 16.00 น. มีผู้ชุมนุมหลากหลายวัยเริ่มทยอยเข้าพื้นที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว โดยเฉพาะที่เห็นได้ชัดเจนคือมวลชนกลุ่มเสื้อแดงที่มาจับจองพื้นที่กันอย่างคึกคัก คนทำงาน และกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษา

ผู้สื่อข่าวประชาไท พูดคุยกับนักเรียนมัธยมศึกษา บริเวณถนนหน้าทางออก 3 สถานีรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน พหลโยธิน ถึงประเด็นคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ  ซึ่งนักเรียนบางคนแสดงความไม่แปลกใจ พร้อมวิจารณ์ถึงการทำหน้าที่ของศาลฯ 

“ไม่เซอร์ไพรส์เท่าไหร่ วันนี้เลยต้องออกมาเรียกร้องแสดงเสียงสักนิดหนึ่ง ถ้าศาลมันเอียง ก็ไม่ควรเรียกว่าศาล” กลุ่มน้องมัธยมศึกษาปีที่ 6 กล่าว 

ขณะที่อีกหนึ่งประเด็นร้อน คือ การรณรงค์เรื่องเสรีภาพการแต่งกายในสถานศึกษา โดยเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ก่อนวันชุมนุมหนึ่งวัน มีการนัดรวมกันใส่ชุดไปรเวทเข้าเรียน ซึ่งหลายโรงเรียนก็มีการลงโทษเด็กกลุ่มดังกล่าวด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งขังอยู่ในห้องประชุมไม่ให้ขึ้นเรียน และอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อขัดขวางการรณรงค์และความไม่พอใจกฎระเบียบดังกล่าว

เมื่อถามเรื่องนี้ถึงกลุ่มน้องนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาที่ผู้สื่อข่าวคุย พวกเขาให้ความเห็นว่า ข้อบังคับเรื่องการแต่งกายคือการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพที่ทุกคนพึงมี อีกทั้ง ยังเป็นกฎระเบียบที่ไร้เหตุผล ไม่ได้ทำให้รู้สึกปลอดภัย พร้อมเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ที่กระทรวงศึกษาธิการเปิดกว้าง และรับฟังเสียงของทุกคน โดยเฉพาะนักเรียนผู้ที่ต้องใส่ชุดนักเรียนเอง เพราะทุกคนมีเสรีภาพเท่าเทียมกันไม่ว่าจะอายุเท่าใดก็ตาม

วงเสวนาย่อย : ชี้โรงเรียนไม่มีสิทธิ์ฝ่าฝืนกฎกระทรวง และกฎระเบียบเครื่องแต่งกายขัด รธน. 

หลัง 18.00 น. เป็นต้นมา หลังเคารพเพลงชาติ ถือเป็นช่วงเวลาที่คึกคักในบริเวณที่ชุมนุม เพราะคอนเซ็ปต์ของการชุมนุมที่ทุกคนคือแกนนำ และสามารถเป็นผู้ปราศรัยได้ ทำให้มีการผุดขึ้นของเวทีปราศรัยย่อยมากมาย หนึ่งในวงเสวนาที่ได้รับความสนใจ คือ บริเวณถนนหน้าสถานีรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ทางออก 3 ที่พูดถึงปัญหาด้านการศึกษา โดยมีไฮไลท์สำคัญคือประเด็นการแต่งชุดไปรเวทในสถานศึกษา และเสรีภาพการแต่งกาย โดยน้องนักเรียนหลายคนที่ร่วมแต่งชุดไปรเวทในวันที่ 1 ธ.ค. ได้ออกมาชวนคุยในประเด็นประวัติศาสตร์เครื่องแบบ แชร์ประสบการณ์ที่ได้รับการลงโทษอย่างไม่เป็นธรรมจากสถานศึกษา และทำไมต้องเปลี่ยนกฎระเบียบดังกล่าว

ผู้ปราศรัยเป็นนักเรียนหญิง ม.6 แชร์ประสบการณ์เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ว่า คนที่ใส่ชุดไปรเวทมาเรียนจะโดนห้ามไม่ให้ขึ้นตึกเรียน และเธอโดนกักตัวร่วม 4 ชม. เพื่อรอคุยกับ ผอ.โรงเรียน ขณะที่เด็กบางคนก็โดนเรียกผู้ปกครองมาคุย เพื่อให้นักเรียนยอมเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้เป็นไปตามระเบียบและเข้าเรียนต่อไป แต่ถ้าปฏิเสธ ก็จะให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน แม้ว่าสุดท้ายแล้ว เรื่องจะจบลงด้วยการที่เธอได้ขึ้นห้องเรียน แต่เธอชี้ว่าวิธีการลงโทษของโรงเรียนขัดต่อหลักระเบียบกระทรวงที่กำหนดบทลงโทษไว้ 4 สถาน คือ ตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ และทำกิจกรรมเพื่อให้เปลี่ยนพฤติกรรม

ขณะที่ผู้ปราศรัยอีกคนหนึ่งชี้กฎระเบียบเครื่องแต่งกายควรถูกเปลี่ยนแปลง เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพทางร่างกายของเรา  ลดทอนความเป็นมนุษย์ ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน ต้องสละความเป็นตัวเอง ความมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะเราต้องทำเหมือนคนอื่น และเราไม่สามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่  

นอกจากผู้ปราศรัยหลัก ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมที่ได้ฟัง และเดินผ่านมา ได้เข้ามาร่วมถกเถียงและพูด จนทำให้ปัญหาเรื่องการศึกษาถูกขยายไปถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาระหว่างเมืองและต่างจังหวัด ตลอดจนกฎระเบียบที่ล้าหลังและไม่เป็นธรรมอื่นๆ และหลังจบการปราศรัย มีการยืนขึ้นเพื่อไว้อาลัยให้ศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับเปล่งเสียงว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ”

คุยกับเนิร์ดข้างบ้านที่นำเรื่อง “น่าจะ” มาทำให้กระจ่าง

“ผิง เจ้าของเพจเนิร์ดข้างบ้าน ก็มาทำโพลสำรวจคนในม็อบ ครั้งนี้ทำเป็นครั้งที่ 7 แล้ว” 

เพจเนิร์ดข้างบ้านคือเพจที่นำข้อสงสัยต่างๆ ที่คุณผิงเคยได้ยินใครเขาพูดกัน ความเชื่อต่างๆ ความ “น่าจะ” มาทำแบบสำรวจลงพื้นที่ชุมนุม และมาพิสูจน์หาคำตอบกันออกมา เช่น จริงหรือเปล่าที่คนบอกว่า “ม็อบแผ่ว” ม็อบคณะราษฎรคือม็อบเยาวชน และอื่นๆ ที่เคยเข้าใจ มาหาคำตอบกันในม็อบ โดยวิธีการคือคำถามแบบสำรวจจะอยู่บนกระดาษแข็งขนาดใหญ่ ผู้เข้าร่วมชุมนุมจะนำสติกเกอร์ (สติกเกอร์จะมีหลากสี เพื่อบอกถึงช่วงอายุต่างๆ ซึ่งผู้สื่อข่าวเป็น Gen Y ได้สีฟ้า พร้อมกับบนสติกเกอร์จะมีการระบุอายุของเราอีกที) ที่ทางเพจฯ เตรียมไว้ให้มาติดลงในกระดาษ เพื่อตอบแบบสำรวจนั้นๆ ซึ่งในแต่ละม็อบจะมีประเด็นคำถามไม่เหมือนกัน โดยผิงเล่าให้ฟังว่า เรื่องวิธีการตรงนี้ เธออยากให้มีทั้งเรื่องการเก็บข้อมูล และการมีส่วนร่วมการแสดงออกมาพร้อมๆ กัน 

“เราเข้าใจว่าม็อบมันไม่ได้มีอะไรทำมากขนาดนั้น ถ้าไม่ได้ฟังปราศรัยหน้าเวที มันก็เข้าไม่ถึง ถ้าเขามีอะไรที่สามารถทำได้ เราก็รู้สึกว่ามันช่วยกันทั้งสองฝ่าย”

“คือตอนแรกมันเริ่มมาจากการที่วันที่เราไปม็อบหน้าสถานทูตเยอรมนี แล้ววันนั้นเราเห็นคนทำงานเยอะ ช่วงนั้นมันก็ยังมีสมมติฐานว่า ม็อบเด็ก ม็อบคนทำงานเยอะ ม็อบเยาวชน ม็อบอะไรอย่างนี้ เรามองไปรอบๆ เราก็นึกสงสัยว่า เอ๊ะ เหรอ เราก็คุยกับเพื่อนเรา มันจริงรึเปล่า ตอนแรกคิดว่าจะทำอะไรดี จะทำ QR Code ด้วยซ้ำ เพื่อนบอกว่าน่าจะเป็นอะไรที่ทำได้ง่ายๆ เร็วๆ เราก็เลยไปคิดมา แปะสติกเกอร์ละ ก็เลยกลายเป็นแปะสติกเกอร์ ก็ไปลองรอบแรกที่สีลม สรุปว่าก็มีคนมาช่วยแปะเยอะมาก แล้วก็สำรวจได้จริงๆ ว่าเราแบ่งตาม Gen ว่า Gen ที่มาม็อบเยอะที่สุด ปรากฏว่าเป็น Gen Y 75% ถล่มทลายเลย เราก็บอกว่า อ๋อ นี่ไม่ใช่ม็อบเยาวชนแล้วนะ นี่เป็นม็อบคนทำงาน” ผิงเล่าถึงจุดเริ่มต้นแบบสำรวจม็อบ 

เมื่อถามว่าทำไมคน Gen Y ออกมากันเยอะในแทบทุกม็อบของคณะราษฎร และทำไมหลายคนถึงเพิ่งออกมากันทั้งที่การรัฐประหารมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2557 

ผิงอธิบายเพิ่มว่าคน Gen Y จะนิยามว่าตัวเองเป็นแกนตามมากกว่าแกนนำ พอเห็นน้องรุ่นใหม่กล้าออกมาพูด มาแสดงออก ก็ทำให้พวกเขากล้าจะลุกขึ้นพูดมากขึ้น นอกจากนี้ คน Gen นี้โตมากับค่านิยมที่ว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องที่ควรพูด เป็นเรื่องไกลตัว การเมืองไม่ใช่เรื่องของเรา ถ้าพูดการเมืองจะเป็นพวกหัวรุนแรง ทุกคนจะพูดแบบนี้หมดเลย

“ให้เขาไปนำเองหรือว่าเขาไปสู้เลยตอนแรกไปเลยเหมือนเขาคิดไม่ออกค่ะ คือเขาโตมากับสิ่งที่ผิงเรียกใน “มติชน” คือ ความไม่ประเจิดประเจ้อทางการเมือง พอเขาอยู่ในกล่องนี้เยอะๆ เขาไม่กล้า ถ้าเขากล้ามากไป คนรอบข้างจะไม่ยอมรับ แต่ว่าเด็กอายุ 20 นิดๆ Gen 4 มันโตมาบริบทที่ต่างกัน คือเขาไม่ได้โตมาดูทีวี Mainstream อะไรแบบนี้ ของเขามันก็ไม่มีแล้ว เขาไม่ได้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่พูดได้หรือพูดไม่ได้ แต่เราโตมาชัดเจน อะไรพูดได้ อะไรพูดไม่ได้”

จุดเปลี่ยนที่ทำให้กลุ่ม Gen Y ออกมาม็อบมากขึ้น คือ อินเทอร์เน็ต หรือ Social Media แต่ทั้งนี้แต่ละคนจะมี “Journey ความตาสว่าง” ไม่เหมือนกัน

“น้องคนหนึ่งใช้คำว่าจุด เอ๊ะ เอ๊ะบ่อยๆ เข้าหรือว่าไอ้สิ่งที่เราคิดมาจะไม่ถูก แต่หลักๆ เลยตัวที่เปิดความอันนี้ให้เขาคือ Social Media อย่างคนหนึ่งล่าสุดของเขามันขึ้นแค่ twitter เมื่อปีที่แล้วเท่านั้นเองที่เขาเพิ่งตาสว่างขนาดนี้ น้องอีกคนนานแล้ว แต่ว่าเป็น “pantip” พอเขาเข้า Social Media มันมีสิ่งที่เขาไม่เคยเห็นใน Mainstream ในสมัยที่เขาโตมาอย่างนี้ เพราะเขารู้สึกว่าคนอื่นพูดได้ ทำไมเขาพูดไม่ได้”

ม็อบแผ่ว คนเข้าม็อบน้อยลงจริงหรือเปล่า

ประเด็นคำถามของแบบสำรวจม็อบ 2 ธันวา คือ “คุณมาม็อบแล้วทั้งหมดกี่ครั้ง” ซึ่งมาจากที่เพจฯ ได้ยินมาว่า “ม็อบแผ่ว” คนมาน้อยลง ทางเพจฯ เลยอยากลองหาคำตอบว่า เรื่องนี้จริงหรือเปล่า หรือจริงแค่ไหน ขณะที่อีกประเด็นในแบบสำรวจที่น่าสนใจคือคนมาม็อบครั้งแรกเยอะไหม ซึ่งคำถามนี้น่าสนใจ เพราะว่าถ้ามีคนมาม็อบครั้งแรกเยอะ ก็สามารถสันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่า การชุมนุมอาจจะสามารถนำคนที่ไม่เคยเข้าร่วมชุมนุม มาร่วมชุมนุมได้มากขึ้น

หลังจากเก็บข้อมูลตรงนี้ คุณผิงแชร์ให้ฟังว่ามีข้อมูลอะไรน่าสนใจบ้าง อย่างแรกที่กล่าวไปคือจำนวนคนมาม็อบครั้งแรก จากข้อมูลคือคนมาม็อบครั้งแรกคิดเป็น 10% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด และช่วงอายุของคนที่ตอบแบบสอบถามว่ามาม็อบครั้งแรกมากที่สุด คือ 20-30 ปี หรือช่วง 18-35 ปี คิดเป็น 75 คนจาก 105 คน หรือ 71% ซึ่งถ้าเก็บอีกสักรอบน่าจะเห็นอะไรชัดเจนขึ้น

“ถ้าเก็บอีกสักรอบ แล้วยังมีคนมาใหม่ครั้งนี้เป็นครั้งแรก (อีก 10%) อาจจะพูดได้แล้วว่าม็อบทุกครั้งมีคนใหม่ทุกครั้ง เพราะมันกระจาย มันอารมณ์ตามใครสะดวกก็ไป ถือว่าอันนี้ช่วยได้เยอะเลย เพราะว่าม็อบมันไม่ได้อยู่ที่เดียว”

อย่างไรก็ตาม วันที่ลงทำแบบสำรวจก็มีผลเหมือนกัน เพราะว่าวันที่เก็บ คือ “วันที่มีเรื่องตลอด” คือในการเก็บครั้งแรกคือวันชุมนุมแยกเกียกกาย (วันชุมนุมหน้ารัฐสภา) และครั้งที่ 2 คือวันที่ 2 ธันวา คือ หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้นายกรัฐมนตรีรอดปมบ้านพักทหาร จำนวนผู้ชุมนุมหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น อาจสัมพันธ์กับการทำงานหรือการตัดสินในประเด็นทางการเมืองที่มีความเข้มข้นของรัฐบาล ทั้งนี้ ถ้าเราอยากให้ข้อมูลชัดเจนกว่านี้ อาจจะต้องลองเก็บแบบสำรวจในการชุมนุมในบริบทที่หลากหลายเพื่อนำมาเทียบเคียง เช่น วันที่มีแนวโน้มว่าจะปะทะหรือเกิดความรุนแรง สถานที่จัดการชุมนุม ม็อบปักหลักหรือม็อบเคลื่อนขบวน และอื่นๆ 

อีกประเด็นที่ผิงยกขึ้นมา คือ ขาประจำม็อบสายฮาร์ดคอร์คือมา 9+ ครั้ง ขาประจำ 6-8 ครั้ง แต่จำนวนกลางๆ อย่างคนที่ไปม็อบ 3-5 ครั้ง หรือเราอาจจะบอกว่าเป็นขาเวียน แต่อาจไม่ได้เป็นขาประจำอันนี้น่าสนใจ เพราะคนพวกนี้จะเวียนกันไปม็อบตลอด อาจจะวันหนึ่งไป วันหนึ่งไม่ไปแล้วแต่ความสะดวก ซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นปัจจัยตัวเลขผู้ชุมนุมขึ้นๆ ลงๆ ในแต่ละม็อบ ฉะนั้น ความรู้สึกที่ว่ามันแผ่ว อาจเป็นเพราะกลุ่มขาเวียน ที่ไปบ้าง ไม่ไปบ้าง

“แต่ว่าไอ้พวกตรงกลาง 3-5 ครั้ง อันนี้มันกินประมาณ 50% แสดงว่าคนพวกนี้ไม่ได้ไปม็อบบ่อย และก็เวียนกันไป แสดงว่ามันอาจจะแผ่วในแง่ว่าแกนนำไม่ได้จัด แล้วจะได้คนจำนวนมากแล้ว แต่ว่าเขาจะได้คนเวียนไปเรื่อย ๆ ตามสะดวกแทน อันนี้ผิงก็สมมติฐานจากตัวเลข หมายถึงว่าคนเราถ้ามันไปครั้งแรก แล้วมันไม่อยากไปแล้ว มันก็จะไม่ไปซ้ำ แต่นี่เรามีคนไปสองครั้ง สามครั้ง สี่ครั้งอยู่ เป็นแบบ 20-30% เลย ก็แสดงว่าเขาก็มีการเวียน แสดงว่าเป็นคนที่อยากมา แต่ไม่ได้มา มาเวลาที่สะดวกเท่านั้น คือถ้าสัมภาษณ์เชิงลึกน่าจะได้ข้อมูลอีกเยอะ” ผิงทิ้งท้ายประเด็น

หาคำตอบ : ม็อบนี้ Privileged อย่างที่ใครเขาว่าจริงหรือไม่ 

อีกประเด็นที่ถูกนำมาเป็นคำถามสำรวจครั้งนี้ คือ รายได้ต่อเดือนของผู้เข้าร่วมชุมนุม คำถามนี้มาจากคำครหาว่า ม็อบนี้เป็นม็อบ privileged? อยากรู้ว่านี่เป็นม็อบชนชั้นกลางจริงไหม แต่กลับเป็นว่าพอได้มาทำแล้ว มันกลับไม่จริง ผิงให้ความเห็นว่านี่เป็น “ม็อบของคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง” 

แบบสำรวจจะแบ่งช่วงชั้นรายได้ออกเป็น 7 ช่วง ซึ่งก็จะมีตั้งแต่ 0-15,000 บาท, 15,001-25,000 บาท, 25,001-30,000 บาท, 30,001-45,000 บาท, 45,001-60,000 บาท, 60,001-80,000 บาท, 80,001-100,000 บาท และ 100,001 บาทขึ้นไป ซึ่งจำนวนของคนที่ทำแบบสำรวจ ส่วนใหญ่จะมีเงินเดือนอยู่ที่ 0-45,000 บาท กระจุกตรงช่วงประมาณนี้ ถ้าคิดคร่าวๆ โดยไม่นับกลุ่มนักเรียน คือ 598 คน จากทั้งหมด 819 คน โดย 0-15,000 บาท มีอยู่ 156 คน, 15,001-25,000 บาท มีอยู่ 212 คน, 25,001-30,000 บาท มีอยู่ 110 คน และ 30,001-45,000 บาท มีอยู่ 120 คน 

จากการสันนิษฐานเบื้องต้น ทำให้เห็นว่าม็อบนี้มีผู้คนที่หลากหลายชนชั้นมาชุมนุมอยู่ด้วยกันในที่ๆ เดียว ในทางกลับกัน สมมติ รายได้ของม็อบมันไปกระจุกตัวมากๆ ที่ช่องใดช่องหนึ่ง เช่น 0-15,000 บาท ช่องเดียว อันนั้นเราก็อาจมองได้ว่าม็อบนี้มาด้วยเรื่องประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ หรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความยากจน แต่การที่ฐานเงินเดือนมันกระจายเท่าๆ กัน มีหลายช่องมึคนแปะสติ๊กเกอร์ใกล้เคียงกัน มันทำให้เห็นว่า มันมีทั้งคนที่มาเรียกร้องประเด็นเรื่องปากท้อง และคนที่อาจจะมาในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องปากท้อง มาด้วยประเด็นอื่นๆ ก็ได้ นั่นทำให้ผิงมองว่า นี่คือม็อบของคนทุกกลุ่ม มากกว่า ม็อบ privileged

รูปจากเพจ “เนิร์ดข้างบ้าน” 

“ผิงแบ่งเป็นช่วง 6-7 ช่วงของเงินเดือน คือตัวเลขมันใกล้กันหมดเลย ยกเว้น ตรงกลางๆ ที่แบบ 6-8 หมื่น แต่เงินเดือนตลาดๆ ที่แบบบริษัทไม่จ่าย คือมันจะเด้งไปเลยเป็นแสน คือเลขถ้าไม่นับ 0-15,000 บาท คือช่องแรกออกมาได้ 300 กว่าคน และ 150 คนยังเรียนอยู่เลย ก็คือครึ่งหนึ่ง คือถ้าไม่นับคนกลุ่มนักเรียนนี้ คือช่องนี้จะได้ประมาณ 150 กว่าคน คนที่ไปเพราะรายได้น้อย เขาอาจจะไปเพราะรายได้น้อยก็จริง คนรายได้เยอะมันอาจจะไปเพราะประเด็นของม็อบ คือให้สรุปมันไม่น่าจะใช่ม็อบ privilege มันน่าจะเป็นม็อบของทุกคน”

“คนที่เป็นคนจน หรือคนที่มีปัญหาการไม่มีอันจะกิน การมาม็อบครั้งนี้อาจจะเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องเช่นกัน คนที่มีรายได้เยอะอยู่แล้ว เขามาเพราะประเด็นอื่นมากกว่า เพราะตัวเลขเงินเดือนได้จากการเก็บสำรวจมันกว้างขนาดนี้ แสดงว่าเรามารวมกันด้วยประเด็น ความยากจนเป็นแค่หนึ่งใน Subset ของประเด็นหลายๆ อย่าง ที่ม็อบกำลังต่อสู้อยู่ เงินเดือนที่ต่างกันขนาดนี้มาอยู่ที่นี่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันได้ เพราะถ้ามันหนักด้านในด้านหนึ่ง เราก็จะเห็นว่าคนที่มาม็อบเป็นใครมากที่สุด” ผิงเพจเนิร์ดข้างบ้าน สันนิษฐานเบื้องต้น 

สุดท้ายแล้ว เมื่อเราถามเพจฯ ว่ามีเรื่องอื่นที่อยากทำไหม ผิงเล่าว่าคือเคยมีบางแบบสำรวจที่ทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เพราะออกแบบโพลไม่ได้ ตอนนี้ก็ยังคิดไม่ออก คืออยากรู้ว่าคนหนึ่งคน ไปม็อบใหญ่อันไหนของใครมาบ้าง ปี 2516 ไล่มาจนถึงปี 2563

วงปราศรัยย่อย : ทำแท้งถูกกฎหมาย  

อีกหนึ่งวงปราศรัยย่อยที่เราต้องบอกว่าดุเดือด คือ การปราศรัยของนิศารัตน์ จงวิศาล จากกลุ่มทำทาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนประเด็นการทำแท้งมาแล้วถึง 10 ปี และวันนี้เธอก็ได้ปราศรัย การทำแท้งต้องไม่มีความผิด และผู้หญิงต้องสามารถทำแท้งได้จนถึงอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ซึ่งปัจจุบัน กฎหมายขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ครม. ซึ่งก็ต้องดูว่าจะได้บังคับใช้หรือไม่ อย่างไร 

อีกจุดยืนของเธอคือการยกเลิกกฎหมายมาตรา 301 ที่ตีตราว่าการทำแท้งคือการกระทำที่ผิดกฎหมาย อนึ่ง มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หลังจบการปราศรัย ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้สัมภาษณ์ ตุ๊กตา นิศารัตน์ จงวิศาล เพิ่มถึงประเด็นดังกล่าว 

สาเหตุที่เธอสนับสนุนการทำแท้งถูกกฎหมายนั้น เธอเล่าว่า ผลจากกฎหมายตัวนี้จะทำให้ผู้หญิงกล้าถามหาและเข้าถึงบริการการทำแท้งในโรงพยาบาลที่ปลอดภัยมากขึ้น ในทางเดียวกัน ก็ทำให้โรงพยาบาลรับทำแท้งได้อย่างสบายใจ ซึ่งสุดท้ายก็จะสามารถช่วยชีวิตผู้หญิงได้ เธออยากให้ “กฎหมายช่วยชีวิตผู้หญิง ไม่ใช่ขู่ผู้หญิง”  

เมื่อถามถึงว่าอะไรคือสาเหตุหลักที่ทำให้กฎหมายการทำแท้งไม่ไปไหน นิศารัตน์ เล่าว่า มันเป็นเรื่องของ “อคติ” ของแพทย์ที่มีอำนาจหรือมีส่วนในการออกกฎหมาย ซึ่งแพทย์ที่มีอำนาจเหล่านั้นไม่ได้เป็นคนที่ทำแท้งให้ผู้หญิงเลย แต่กลับตัดสินใจแทนสิทธิเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงคนอื่นได้ 

“อคติที่มีต่อการทำแท้ง เราได้คุยกับหมอท่านหนึ่ง ซึ่งมีอิทธิพลมากกับหมอสูตินารี และให้ความเห็นว่าการทำแท้งควรทำภายในไตรมาสแรก (12 สัปดาห์) เพราะเรื่องความปลอดภัย รกยังไม่ฝัง แต่ในขณะเดียวกันในองค์กรนี้ก็มีงานวิจัยที่บอกว่า ยาทำแท้งสามารถใช้เองได้ที่บ้านถึงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ วิจัยโดยหมอไทย ยานั้นคือ ยาเมตาบอล 

เมื่อมีงานวิจัยข้างต้น เพราะอะไรคุณหมอถึงไม่ใช้ตามงานวิจัย คุณหมอบอกว่า งานวิจัยไม่อ้างอิงจากความจริง มันไม่เหมือนกับสถานการณ์ความเป็นจริง เราก็รู้ว่างานวิจัยมันทำงานกับคนที่เขาเก็บข้อมูลจริงๆ มันจะไม่ใช่ความจริงได้อย่างไร ถ้าอย่างนั้นเหลือข้อเดียวละ “อคติ” และหมอที่เป็นคนให้ความเห็นว่าให้อยู่ที่ 12 สัปดาห์ ก็คือราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์แห่งประเทศไทย คุณหมอสูติฯ ในราชวิทยาลัยสูติฯ จำนวนเป็นพันคน ไม่ใช่หมอที่ทำแท้งให้ผู้หญิงจริงๆ หมอที่ทำแท้งให้ผู้หญิงจริงๆ จำนวนมาก ไม่ใช่หมอสูติฯ และไม่ได้อยู่ในราชวิทยาลัยสูติฯ แต่ว่าความเห็นที่กฤษฎีกาไปถาม เขาไม่ได้ถามหมอที่ทำแท้ง เขาไปถามราชวิทยาลัยสูติฯ ตอนนี้เราก็พยายามที่จะคุยกับราชวิทยาลัยสูติฯ ให้ทบทวน แต่ไม่เป็นผล” นิศารัตน์ อธิบาย 

สุดท้าย ถ้ากฎหมายผ่านออกมาที่ 12 สัปดาห์เท่านั้น เธอจะประท้วง  

คำถามสุดท้ายที่เราถามคือ ทำไมถึงมาปราศรัยที่ม็อบคณะราษฎรวันนี้ (2 ธ.ค.) เธอเล่าว่าเธอเดินผ่านและรู้จักกับแรปเตอร์ (สิรภพ อัตโตหิ จากกลุ่มเสรีเทยฺย์พลัส Free Gender TH) และอีกส่วนคือเธอคิดว่า “การทำแท้งกับประชาธิปไตยมันไปด้วยกัน” 

“การทำแท้งกับประชาธิปไตย มันเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะว่ามันเป็นสิทธิบนเนื้อร่างกาย ประชาธิปไตย การให้เกียรติในการตัดสินใจ ภายในสิทธิ์ของตัวเอง ที่ไม่ละเมิดใคร แล้วก็ให้เกียรติการตัดสินใจของปัจเจกบุคคล ถ้าหากว่าเราอยู่ในสังคมเผด็จการ ก็คือสังคมที่คิดแทนเรา ถ้าเราท้อง เขาก็คิดแทนเราทันที ว่าเราต้องเป็นแม่ และเขาไม่อนุญาตให้เราทำอย่างอื่นที่เขาไม่เห็นด้วย มันจึงไม่ใช่ไง เพราะฉะนั้น ทำแท้งมันจึงต้องมาพร้อมกันกับประชาธิปไตยเช่นกัน เพราะว่าถ้าเรามีประชาธิปไตยนะคะ เขาจะฟังเสียงเรา เขาจะให้เกียรติการตัดสินใจของเรา และเขาจะเคารพความเชื่อของเรา” นิศารัตน์ ทิ้งท้าย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท