Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กรณีความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ เป็นเรื่องน่าศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบการเมืองในภายประเทศอย่างเรื่องเผด็จการกับประชาธิปไตยและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อันจะตอบคำถามว่าเหตุใดเกาหลีเหนือจึงเฝ้าทดลองอาวุธนิวเคลียร์และถูกมองว่าเป็นภัยต่อโลกทั้งที่มีอีกเกือบสิบประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์จำนวนมากอย่างเช่นอินเดียและปากีสถานซึ่งมีความขัดแย้งกันและกัน หรืออิสราเอลซึ่งอาจใช้กับศัตรูอย่างเช่นอิหร่าน ถึงแม้เป้าหมายจะจำกัดอยู่ที่ 2 ประเทศ แต่อนุภาพของอาวุธนิวเคลียร์จะส่งผลกระทบต่อประเทศรอบข้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผมคิดว่าสาเหตุสำคัญก็เพราะเกาหลีเหนือเป็นรัฐเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism) ที่ผู้นำและพรรคมีอำนาจเหนือประชาชนอย่างเด็ดขาด รวมไปถึงการใช้อุดมการณ์ครอบงำประชาชนในทุกด้าน และไม่มีท่าทีว่าจะมีการพัฒนาประชาธิปไตยหรือ democratization ในห้วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ยกเว้นว่ารัฐบาลของคิม จองอุนจะล่มจมเสียก่อน รัฐเผด็จการของเกาหลีเหนือยังมีการสร้างศัตรูของรัฐขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกคุกคามอยู่ตลอดเวลา อันจะช่วยให้ประชาชนยอมอยู่ใต้อำนาจของรัฐและผู้นำซึ่งเน้นลัทธิเชิดชูบุคคล หรือ cult of personality เพราะมั่นใจว่าจะช่วยปัดเป่าภัยจากประเทศเหล่านั้น ส่วนศัตรูก็ได้แก่สหรัฐฯ เกาหลีใต้และญี่ปุ่นซึ่งเคยมีประวัติในด้านไม่ดีกับเกาหลีเหนือในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ญี่ปุ่น) และสงครามเกาหลี (สหรัฐฯ และเกาหลีใต้) ซึ่งเป็นวัตถุดิบอย่างดีสำหรับรัฐบาลเกาหลีเหนือในการปลุกปั่นให้ประชาชนยังรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในช่วงสงครามกับประเทศเหล่านั้น (เพราะสงครามเกาหลียังไม่สิ้นสุด เพียงแต่สงบศึกชั่วคราวมาเกือบ 70 ปี) และประเทศดังกล่าวนี้ก็เป็นประเทศประชาธิปไตยและมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมและข่าวสารทั่วโลกอย่างมากโดยเฉพาะสหรัฐฯ ด้วยวาทกรรมดังกล่าวก็ยิ่งทำให้โลกมองเกาหลีเหนือเป็นรัฐที่เป็นภัยคุกคามต่อโลก เสียยิ่งกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีอาวุธนิวเคลียร์ครอบครองดังที่กล่าวมาเช่นอินเดียและปากีสถานก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐอเมริกาในระดับหนึ่ง (แม้ประเทศหลังจะเป็นอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ก็ตาม) ไม่นับอิสราเอลซึ่งมีอิทธิพลในการเมืองสหรัฐฯ อย่างสูง

ตามความจริงแล้วเกาหลีเหนือก็จะมีท่าทีเป็นมิตรกับประเทศอื่นๆ มากมาย นอกเหนือจากจีนและรัสเซีย ยังได้แก่ประเทศคอมมิวนิสต์อย่างเวียดนาม ลาว หรือแม้แต่ไทยซึ่งยังมีปัญหาบางอย่างกับเกาหลีเหนือเช่นเรื่องการที่เกาหลีเหนือลักพาตัวสาวเชียงใหม่เมื่อหลายสิบปีก่อน หรือคนเกาหลีเหนือมักลักลอบเข้าไทยเพื่อถูกส่งไปยังประเทศที่ 3 ส่วนตัวอย่างที่น่าจะกล่าวถึงได้แก่พม่า ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนมีข่าวว่าเกาหลีเหนือส่งมอบวัสดุอุปกรณ์สำหรับการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ให้ ถึงแม้ในอดีตทั้ง 2 ประเทศจะเคยบาดหมางกันเมื่อเกาหลีเหนือส่งสายลับไปสังหารประธานาธิบดีเกาหลีใต้คือชุน ดูวานในปี 1983 ขณะมาเยือนนครย่างกุ้ง เป็นเรื่องน่าสนใจว่าประเทศเหล่านั้นจะไม่คุกคามอุดมการณ์และรัฐบาลของเกาหลีเหนืออย่างเช่นเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชนเหมือนตะวันตก และประเทศเหล่านี้ยังมักค่อนไปทางประชาธิปไตยอเสรีนิยมจนไปถึงเผด็จการคือสามารถควบคุมพลเมืองตัวเองได้ในระดับหนึ่งนั้นไม่ให้วุ่นวายกับเกาหลีเหนือ เหมือนพลเมืองและภาคประชาสังคมของตะวันตก รวมไปถึงเกาหลีใต้ที่มีประชาชนแสดงการประท้วงและประณามเกาหลีเหนือตลอดมา อันจะส่งผลให้ประเทศเกาหลีเหนือซึ่งอ่อนไหวเรื่องคำวิจารณ์ต้องไม่พอใจ 

สำหรับประเทศประชาธิปไตยหลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ ภาพด้านลบของเกาหลีเหนือก็ยิ่งชัดเจนเมื่อมีผู้หลบหนีจากเกาหลีเหนือและเปิดเผยถึงสภาวะอันเลวร้ายของค่ายกักกันและแม้แต่ในสังคมเกาหลีเหนือเองที่ฉ้อฉล เต็มไปด้วยการคอรัปชั่น อันกลายเป็นเงื่อนไขของสหรัฐฯ ในการกดดันเกาหลีเหนือ กระนั้นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และภาวะไร้ธรรมาภิบาลอย่างการทำธุรกิจผิดกฎหมายอย่างทำธนบัตรปลอมหรือแรงงานแบบทาสส่งออกเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเกาหลีเหนือเพื่อทำให้รัฐเผด็จการของตนดำรงอยู่ได้ สมมติว่าคิม จอง อุนเกิดสงสารคนเกาหลีเหนือที่อยู่ในค่ายกักกันขึ้นมาและสั่งให้มีการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่หรือปล่อยคนเหล่านั้น คิมอาจจะมีความขัดแย้งกับกลุ่มผู้นำอื่นๆ ซึ่งเหมือนเป็นหอกข้างแคร่ของเขาที่เห็นว่าคิมอ่อนแอ และเป็นภัยต่อระบอบ อันอาจทำให้คิมถูกทำรัฐประหาร

นอกจากนี้การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งถูกบรรจุลงในรัฐธรรมนูญของเกาหลีเหนือโดยการประกาศตนเป็นรัฐครอบครองนิวเคลียร์ ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีผู้นำเกาหลีเหนือคนไหนสามารถหยุดยั้งได้อีกเพราะถือว่าเป็นเครื่องมือที่ทำให้ประเทศมีความยิ่งใหญ่ และอีกอย่างที่ไม่มีใครพูดถึงว่ามีส่วนในการสร้างกำไรให้กับอุตสาหกรรมอาวุธของชนชั้นนำเกาหลีเหนือสักเท่าไร ท่ามกลางความถดถอยทางเศรษฐกิจ ถึงแม้อาวุธนิวเคลียร์จะเป็นตัวเร่งความเป็นปรปักษ์กับหลายประเทศนอกเหนือจากสหรัฐฯ อย่างเช่นสหภาพยุโรปซึ่งให้การช่วยเหลือเกาหลีเหนือด้านมนุษยชนแต่ต่อมาด้วยวาระอาวุธนิวเคลียร์และสิทธิมนุษยชนอันมีปัญหาของเกาหลีเหนือ ทำให้สหภาพยุโรปลดการช่วยเหลือและแบนการค้าขายกับเกาหลีเหนือ อันส่งผลให้ศรษฐกิจของเกาหลีย่ำแย่อย่างไม่ได้งอกเงย นอกจากนี้เกาหลีเหนือก็อ้างเรื่องอาวุธนิวเคลียร์เพื่อป้องกันตัวจากการบุกรุกของต่างชาติ ซึ่งบางส่วนก็อาจมาจากความเชื่อจริงๆ เพราะชนชั้นนำเกาหลีเหนือมักอ้างถึง ลิเบียในยุคของมูอามาร์ กัดดาฟีซึ่งมีโครงการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งตะวันตกมองว่าเป็นภัยต่อโลกจึงได้เจรจาให้กัดดาฟียกเลิกโครงการดังกล่าวสำเร็จ แต่แล้วในอีกเกือบทศวรรษต่อมา เกิดเหตุการณ์การลุกฮือที่อาหรับในลิเบียเมื่อปี 2011 กัดดาฟีต้องถูกโค่นจากตำแหน่งและถูกสังหารอย่างน่าสมเพช เกาหลีเหนือซึ่งปักใจเชื่อว่าสหรัฐฯ กับตะวันตกอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ จึงไม่ยุติการผลิตอาวุธนิวเคลียร์เสียที และจะพยายามทดสอบอยู่เรื่อยๆ เพื่อเป็นการกดดันให้สหรัฐฯ รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านยอมให้การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและด้านมนุษยชน ซึ่งเคยประสบความสำเร็จมาแล้ว แต่อีกปัจจัยหนึ่งก็คือเพื่อทำให้การปกครองของตนมีความเข้มแข็งแม้จะบริหารประเทศล้มเหลว เพราะประชาชนจะมีความศรัทธาต่อตนอย่างไม่เสื่อมคลาย เช่นเดียวกับกรณีล่าสุดคือการสังหารผู้ที่ละเมิดกฎในการกักตัวเพื่อป้องกันไวรัสโควิด -19 ก็เพื่อทำให้ประชาชนมั่นใจในความเข้มแข็งของรัฐ ทั้งที่ความเป็นจริงคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง 

ตามความจริง แล้วกรุงวอชิงตันเปิดช่องสำหรับเจรจากับเกาหลีเหนือนับตั้งแต่ยุคคลินตันซึ่งส่งอดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ และนางเมดดาลิน อัลไบร์ทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไปยังกรุงเปียงยางเพื่อกล่อมให้คิม จองอิลยุติการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตามรัฐบาลเกาหลีเหนือก็คงจะไม่เชื่อใจรัฐบาลของประเทศประชาธิปไตยมากเท่าไรนัก เพราะคงตระหนักได้ว่ามีการเปลี่ยนผู้บริหารและนโยบายบ่อย แถมอำนาจยังจำกัด กระนั้นในช่วงของประธานาธิบดีโดนัล์ ทรัมป์ เขาก็ลองหาวิธีการแปลกแหวกแนวนั้นคือการพบปะกับคิม จองอุนถึง 3 ครั้ง อันสะท้อนถึงวิธีคิดแบบนักธุรกิจสายบันเทิง เพราะทรัมป์เคยจัดประกวดนางงามและการแข่งขันมวยปล้ำ ซึ่งเน้นการใช้ภาพอันตื่นตาตื่นใจและบารมีส่วนตัวของผู้นำสำหรับความนิยมทางการเมือง ซึ่งอย่างได้กล่าวมาแล้วว่าเรื่องอาวุธนิวเคลียร์นั้นก้าวไปไกลเกินว่าคิม จอง อุนจะบงการได้ทั้งหมด และการล็อคกันระหว่างเงื่อนไขของทั้ง 2 ประเทศนั้นคือเลิกคว่ำบาตรเกาหลีเหนือและเกาหลีเหนือเลิกผลิตอาวุธนิวเคลียร์ คิดว่าสื่อของเกาหลีเหนือคงโฆษณาเสียครึกโครมว่าคิมผู้ยิ่งใหญ่ทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เกิดความหวาดกลัว ถึงกลับร้องขอเพื่อเข้าพบ แต่ผลกลับไม่เป็นตามคาด เพราะทรัมป์ยื่นเงื่อนไขเรื่องอาวุธนิวเคลียร์อย่างมั่นคง จึงทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ และคนที่คิมน่าจะวิตกกังวลที่สุดน่าจะเป็นชนชั้นนำด้วยกันเองที่อาจเสื่อมความศรัทธาและพร้อมจะยึดอำนาจจากเขาได้เสมอ

บัดนี้เกาหลีเหนือเองซึ่งบัดนี้กำลังสับสนอย่างมากต่อนโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนว่าจะแตกต่างจากทรัมป์มากน้อยเพียงไหน อย่างไรก็ตามมีการวิเคราะห์ว่าเป็นไปได้ว่าทีมบริหารของไบเดนจะกลับมาสู่แบบยุคโอบามาอันเป็นการพลิกกลับนโยบายอันแสนแหกกรอบของโดนัลด์ ทรัมป์โดยการกลับมาเป็นเหยี่ยว กดดันเกาหลีเหนือมากขึ้น หรือว่าอาจเน้นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเกาหลีเหนือมากว่ายุคของทรัมป์ และรัฐบาลของไบเดนยังสานความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่เป็นประชาธิปไตยในการเจรจากับเกาหลีเหนือมากขึ้น ที่สำคัญสหรัฐฯ ยังต้องพึ่งพิงประเทศอย่างเช่นจีนว่าจะมีส่วนในการร่วมเจรจากับเกาหลีเหนืออย่างไร (แต่ก็ดูท่าทีว่าไบเดนจะแสดงท่าทีอย่างไรกับสงครามการค้ากับจีนซึ่งส่วนหนึ่งอิงอยู่บนอคติที่ว่าจีนเป็นเผด็จการ) รวมไปถึงรัสเซียที่สหรัฐฯ ยังคงคว่ำบาตรจีน (สหรัฐฯ จะวางท่าทีอย่างไรต่อกรณีที่ปูตินเป็นเผด็จการ ละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นเล่นงานผู้นำฝ่ายค้าน รวมไปถึงการคว่ำบาตรรัสเซียกรณีการยึดครองแหลมไครเมียซึ่งสร้างความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับตะวันตกมาหลายปี) กระนั้นด้วยการเมืองภายในของเกาหลีเหนือคือการเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จดังกล่าว จึงทำให้ปัญหาระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือคาราคาซังต่อไป

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net