Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หากพิจารณาเปรียบเทียบกับระหว่างกรณีบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ กับคดีของนายสมัคร สุนทรเวช จะพบความแตกต่างอย่างสำคัญประการหนึ่งในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็คือ ในคดีของนายสมัคร คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะให้ความสำคัญกับบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์เป็นอย่างมาก   

โดยในคดีที่นายสมัคร (นายกฯ ในขณะนั้น) ถูกร้องว่ากระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 267ซึ่งบัญญัติห้ามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นลูกจ้างของบุคคลใดเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นไปโดยชอบ แต่ปรากฏว่านายสมัคร ได้เป็นพิธีกรให้กับบริษัท เฟซ มีเดีย หลายรายการ ซึ่งคำว่า “พิธีกร” ถูกกล่าวหาว่าเป็นการดำรงตำแหน่งใดหรือเป็นลูกจ้างซึ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีนี้ประเด็นสำคัญก็คือ หากพิจารณาความหมายของลูกจ้างตามกฎหมายอื่น ๆ โดยเฉพาะตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การกระทำของนายสมัคร ก็จะไม่เข้าข่ายนี้แต่อย่างใด แต่การวินิจฉัยในคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ใช้ความหมายโดยทั่วไปตามพจนานุกรม 

คำวินิจฉัยที่ 12 – 13/ 2551 ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า

“การทำให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวบรรลุผลจึงมิใช่แปลความคำว่า ‘ลูกจ้าง’ ในรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เพียงหมายถึงลูกจ้างตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือตามกฎหมายภาษีอากรเท่านั้น เพราะกฎหมายแต่ละฉบับย่อมมีเจตนารมณ์แตกต่างกันไปตามเหตุผลแห่งการบัญญัติกฎหมายนั้น ๆ ทั้งกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ และยังมีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งประโยชน์แตกต่างจากกฎหมายดังกล่าวอีกด้วย” 

“อนึ่ง รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์การปกครองประเทศ มุ่งจัดตั้งรับรองสถานะของสถาบันและสิทธิและเสรีภาพของประชาชน กำหนดพื้นฐานในการดำเนินการของรัฐ เพื่อให้รัฐได้ใช้เป็นหลักในการปรับใช้กับสภาวการณ์หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องตามเจตนารมณ์”

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงมุ่งให้ความสำคัญกับบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นอย่างมาก อันนำมาสู่คำวินิจฉัยให้นายสมัคร พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ไป

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นในกรณีของ พล.อ. ประยุทธ์ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ) กลับมุ่งไปที่ระเบียบของกองทัพบกและคุณลักษณะส่วนตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยความเห็นว่าการดำเนินการเป็นไปตามระเบียบฯ รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ มากกว่าการพิจารณาถึงบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กรณีเช่นนี้จึงทำให้ความหมายของการขัดกันของผลประโยชน์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเบาบางลง

ความไว้วางใจต่อสาธารณะที่จะบังเกิดขึ้นต่ออำนาจตุลาการไม่อาจมาด้วยการใช้กฎหมายและอำนาจบังคับ ความมีเหตุมีผลที่รับฟังได้ ความสม่ำเสมอต่อการวินิจฉัยคดีต่าง ๆ ไม่ว่าผู้เป็นคู่ความจะเป็นบุคคลใด และการยึดมั่นในหลักวิชาต่างหากที่จะทำให้อำนาจตุลาการเป็นที่เคารพและไว้วางใจของสังคม

 

ที่มา: แฟนเพจ เฟสบุ๊ค ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net