นิธิ เอียวศรีวงศ์: พื้นที่ปลอดภัย (1)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมรู้สึกขอบคุณ คุณบรรยง พงษ์พานิช อย่างมาก ที่เขียนเฟสบุ๊คและให้สัมภาษณ์บีบีซีเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันฯ เพราะถ้าไม่มีใครเริ่มต้นพูดเรื่องนี้โดยสุขุมรอบคอบ ประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะกลายเป็นเพียงโอกาสของการใช้ผรุสวาทต่อกัน และที่น่าเศร้ากว่านั้นคือ โอกาสของการแสวงหา “กำไร” ของคนหลายฝ่าย นับตั้งแต่เชื้อพระวงศ์ไปจนถึงนายทุน, แก๊งในกองทัพ, กระทรวงทบวงกรม, ตุลาการ, ตำรวจ, นักแสดง, นักการเมือง และ… เหลือจะบรรยายได้ทั่วถึง

สถานการณ์เช่นนี้ย่อมบีบบังคับให้การปฏิรูปสถาบันไม่นำไปสู่อะไร นอกจากความรุนแรงและความสูญเสีย ซึ่งรวมถึงสูญเสียโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากพลังบางด้านของสถาบันกษัตริย์เพื่อปกป้องประชาธิปไตยไทยให้มั่นคงยืนนานด้วย

เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะพูดต่อไปนี้ แม้แสดงความเห็นที่แย้งกับของคุณบรรยง แต่ที่จริงแล้วตั้งใจจะเป็นการช่วยกันคิดมากกว่า และด้วยความเชื่อมั่นว่า สิ่งที่ผมเสนอไม่ได้ถูกต้องไปทุกส่วน คงมีช่องโหว่ด้วยความไม่รู้และอคติแทรกอยู่ด้วยอย่างแน่นอน

คุณบรรยงเสนอว่า การปฏิรูปต้อง “เริ่ม” (คิด) จาก ร.9 ด้วยเหตุผลสองประการ 1.เพราะทรงเป็นกษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยพระองค์แรก และ 2.ในรัชสมัย “ประเทศได้รับการพัฒนาหลายด้าน”

ผมเข้าใจว่า “เริ่ม” ที่คุณบรรยงพูดถึงคือ starting point ซึ่งแน่นอนเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการคิดทำ “โครงการ” ทุกชนิด รวมทั้งการปฏิรูปด้วย คำถามคือสมควรหรือไม่ที่ ร.9 ควรเป็นจุดเริ่มต้นในการคิดถึงปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของไทย แม้ไม่ใช่จุด “ที่อยู่เฉยๆ นะ” ก็ตาม

ร.9 ไม่ได้เป็นกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทยเป็นพระองค์แรก แม้ว่า ร.7 ทรงเป็นกษัตริย์ “ภายใต้ระบอบใหม่สั้นมาก” ก็ตาม แต่ 2 ปี 8 เดือนในปลายรัชสมัยนั้น ได้เกิดอุดมคติของสถาบันกษัตริย์อย่างใหม่ที่สืบเนื่องต่อมาอีกนาน นั่นคือสถาบันกษัตริย์ไทยจะต้องมีสถานะและบทบาทต่างจากสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอื่น จำเป็นต้องเข้ามากำกับควบคุมการเมืองการปกครองอยู่เบื้องหลังรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างน้อยก็ช่วงเวลาหนึ่ง จนกว่าสถาบันกษัตริย์จะพิจารณาเห็นว่า สังคมไทยพร้อมจะยืนด้วยลำแข้งตนเอง จึงจะยุติประชาธิปไตยแบบชี้นำ (guided) ได้

นอกจากนี้ ยังเกิดกลุ่มการเมืองของพวก “เจ้า” และ “นิยมเจ้า” ซึ่งมุ่งรักษาพระราชอำนาจไว้เกินขอบเขตของประชาธิปไตยสืบมา ทั้งสองประการนี้ ร.7 ทรงมีส่วนทำให้เกิดขึ้น ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม หรือโดยตั้งพระทัยและไม่ตั้งพระทัย

ผมควรอธิบายด้วยว่า บุคคลที่เรียกว่าเจ้าหรือนิยมเจ้านี้ แต่เดิมก็มีอยู่แล้ว ต่างมีความสัมพันธ์ระหว่างกันเหมือนคนทั่วไป คือชอบกันบ้างเกลียดกันบ้างเป็นธรรมดา แต่ 2 ปี 8 เดือนปลายรัชสมัย ร.7 นี่เอง ที่ทำให้บุคคลเหล่านี้เชื่อมต่อกันจนกลายเป็น political faction ซึ่งทำงานประสานสอดรับกัน จึงเป็นพลังทางการเมืองที่อาจไปต่อรองหรือร่วมมือกับกลุ่มการเมืองอื่นๆ ได้ กลุ่มการเมืองเจ้าและนิยมเจ้าเหล่านี้ไม่ได้สูญสลายไปเมื่อ ร.7 สละราชสมบัติ ยังมีบทบาททางการเมือง ทั้งในทางก่อความรุนแรงหรือบ่อนเซาะความมั่นคงของรัฐบาลประชาธิปไตยสืบมา และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อการรัฐประหารใน 2490 บอนไซระบอบประชาธิปไตยไทยจากนั้นมาอีก 73 ปี จนถึงทุกวันนี้

(สิ่งที่นักวิชาการเรียกว่า Network Monarchy หรือสถาบันกษัตริย์เชิงเครือข่าย ตัว network หรือบางส่วนของมัน อาจมาก่อน monarchy ก็ได้ และตรงนี้ก็ช่วยอธิบายความเห็นของคุณบรรยงต่อเรื่องเครือข่ายด้วย จริงอยู่เครือข่ายมีความสำคัญแก่ทุกคน แต่เราทุกคนมีเครือข่ายที่มีอำนาจปฏิบัติการ หรือ operational power น้อย และมักเป็นไปทางสังคม นายทุนมีเครือข่ายที่สามารถปฏิบัติการทางเศรษฐกิจสูง แต่ไม่ควรมีอำนาจปฏิบัติการทางการเมืองมากนัก นอกจากต่อรองอย่างเปิดเผยเหมือนคนกลุ่มอื่นๆ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า สถาบันกษัตริย์ควรมีเครือข่ายที่มีอำนาจปฏิบัติการทางการเมืองสูงหรือไม่? ถ้าควรมี ประชาชนจะตรวจสอบและควบคุมสถาบันกษัตริย์ได้อย่างไร และถ้าออกแบบให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและควบคุมสถาบันกษัตริย์ได้เท่ากับที่ตรวจสอบควบคุมพรรคการเมืองหรือนักการเมือง กษัตริย์จะทรงทำหน้าที่ “ประมุขแห่งรัฐ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพละหรือ?)

ร.9 มิได้ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติในสุญญากาศ แต่รัชสมัยของพระองค์ย่อมได้รับมรดกจากอดีต รวมทั้ง 2 ปี 8 เดือนภายใต้ ร.7 ด้วย มรดกนี้อยู่ทั้งในรูปอุดมคติ, แนวคิด, แนวปฏิบัติ, กลุ่มบุคคล และข้อได้เปรียบเสียเปรียบทุกอย่าง (liabilities and assets) ที่สถาบันกษัตริย์มีอยู่

นอกจากนี้ รัชสมัยของ ร.9 หมายถึงอะไร? คุณบรรยงคงไม่ได้หมายถึงเช้าวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ก่อนเสด็จสวรรคตแน่ แต่รัชสมัยที่ยาวนานถึง 70 ปีมิได้เป็นเวลาที่หยุดนิ่งกับที่ ร.9 เสด็จขึ้นครองราชย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2489 โดยการอนุมัติของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่โดยกฎมณเฑียรบาล (แม้ว่ารัฐบาลอาจใช้กฎมณเฑียรบาลในการคัดเลือกบุคคลเสนอต่อสภาก็ตาม) แม้แต่การรัฐประหาร 2490 พระองค์มิได้ประทับอยู่ในประเทศ แต่ผู้สำเร็จราชการเพียงพระองค์เดียวที่ลงนามรับรองการยึดอำนาจอย่างผิดกฎหมาย ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นกฎหมายกำหนดให้ผู้สำเร็จราชการเป็นตัวแทนของกษัตริย์ได้ก็ต่อเมื่อต้องเป็นองค์คณะเท่านั้น

ความไม่พร้อมเพรียงของคณะผู้สำเร็จราชการครั้งนั้น สะท้อนว่าภายใต้รัฐธรรมนูญ 2489 สถาบันกษัตริย์พึงมีพระราชอำนาจและ “พระราชบทบาท” อย่างไรและเพียงไร ทำไม starting point จึงไม่อยู่ที่ ร.9 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2489?

ผมคงไม่ต้องอธิบายมากก็จะเห็นได้ว่า ตลอด 70 ปีในรัชสมัยนั้น สถานะ, พระราชอำนาจ (ในทางเกียรติยศหรือวัฒนธรรม, เศรษฐกิจหรือทรัพย์สิน, การเมือง และสังคม) และบทบาทของสถาบันกษัตริย์เปลี่ยนแปลงตลอดมา ก่อน 2490 หลัง 2490 หลังรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์, หลัง 14 ตุลา, หลังเมษาฮาวาย 2524, หลังพฤษภามหาโหด 2535, หลังรัฐประหาร 2549, หลังการสังหารหมู่ใน 2553, หลังการรัฐประหาร 2557 สถานะและบทบาทของกษัตริย์ใน ร.9 ล้วนเปลี่ยนแปลงจากเหตุทางการเมืองใหญ่ๆ เหล่านั้น นี่ว่าเฉพาะสถานะและบทบาททางการเมือง ไม่พูดถึงทางเศรษฐกิจและอื่นๆ

ที่ว่าเปลี่ยนแปลงนั้นหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกลุ่มการเมืองต่างๆ เช่น กองทัพ, พรรคการเมือง, ชนชั้นนำ, ทุน, องค์กรศิลปิน, นักแสดง, ปัญญาชน, นักวิชาการ, มหาวิทยาลัย และภาคประชาชน ฯลฯ ไม่ได้อยู่คงที่ แต่เปลี่ยนไปตลอด 70 ปีของรัชสมัย หากกำหนดให้จุดเริ่มต้นของการปฏิรูปคือ ร.9 จะใช้จุดไหน และทำไม? เพราะการเลือกเช่นระหว่างก่อน 2490 กับหลังเมษาฮาวาย เราแทบจะพบกษัตริย์คนละพระองค์กันเลย ทำไมจึงเลือกจุดไหนจึงต้องมีเหตุผล

เหตุผลที่ว่าเพราะการพัฒนาในหลายด้านเกิดขึ้นในรัชกาลนี้ ดูเป็นเหตุผลที่ผิวเผินเกินไปและอาจสับสน เรากำลังพูดถึง “รัชกาล” ในความหมายถึงช่วงเวลา (2489-2559) หรือกำลังพูดถึงตัวบุคคลในฐานะผู้กระทำ (actor) ถ้าพูดถึงตัวบุคคล และยกให้การพัฒนาหรือความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่เกิดในประเทศไทยว่ามาจากพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลก่อน ก็เท่ากับเรามองข้ามอะไรอีกหลายอย่าง นับตั้งแต่สงครามเย็น, ผู้นำทางการเมือง, เทคโนแครตจำนวนไม่น้อย, นายทุนที่ไต่เต้ามาจากเถ้าแก่ย่อยๆ, นโยบายกดขี่แรงงานอย่างต่อเนื่อง, การกดราคาพืชผลการเกษตรอย่างต่อเนื่อง, ช่องโหว่ในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้โอกาสสะสมทุนแก่คนบางกลุ่ม ฯลฯ

แน่นอนว่าพระเจ้าอยู่หัวใน ร.9 ก็มีส่วนในการทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า “พัฒนา” และมีส่วนในการกำหนดทิศทางของการพัฒนานั้นด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย (ไม่ว่าการพัฒนานั้นจะ “ดี” หรือ “ไม่ดี” อย่างไร) แต่มากแค่ไหน มากพอที่จะใช้พระองค์เป็น starting point ของโครงการปฏิรูปสถาบันได้หรือ?

แทนที่จะใช้ตัวบุคคลหรือยุคสมัยของเขาเป็นจุดเริ่มต้นโครงการ เหตุใดเราจึงไม่ใช้หลักการบางอย่างซึ่งเห็นพ้องต้องกันเป็นจุดเริ่มต้นแทน อันเป็นสิ่งที่คุณบรรยงก็ได้เสนอไว้อย่างชาญฉลาดเช่นกัน คือเริ่มต้นด้วยคำถามว่ากษัตริย์ควรมีพระราชอำนาจ, บทบาท และ (เข้าถึง) ทรัพยากรได้มากน้อยเพียงไร และอย่างไร เพื่อให้กษัตริย์สามารถบรรลุภารกิจของตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ

คําตอบที่คุณบรรยงแนะไว้ก็คือหลักการที่ว่า The King Can Do No Wrong พูดอีกอย่างหนึ่งคือทรงดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ ไม่มีพระราชอำนาจทางด้านการปกครองแต่อย่างไร ดังนั้น จึงไม่ต้องทรงรับผิดชอบต่อการกระทำทางการเมืองหรือการปกครองของรัฐบาล เพราะพระบรมราชโองการทุกฉบับย่อมต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเสมอ และผู้นั้นแหละคือคนที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ด้วยเหตุดังนั้น คนที่สามารถลงนามรับสนองพระบรมราชโองการได้ ย่อมต้องไม่ใช่บุคคลที่ไม่ถูกระบบการเมืองบังคับให้ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน เช่น องคมนตรีซึ่งได้รับแต่งตั้งจากกษัตริย์โดยตรง – รับพระราชบัญชาได้ แต่รับสนองพระบรมราชโองการไม่ได้

ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของคุณบรรยงในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง แม้กระนั้นก็ยังไม่แน่ใจว่าความเข้าใจต่อหลักการดังกล่าวระหว่างผมกับคุณบรรยงตรงกันหรือไม่ (เพราะคำให้สัมภาษณ์ในสื่อ ย่อมขาดรายละเอียดหรือคำอธิบายที่ซับซ้อนเป็นธรรมดา) ผมจึงขออธิบายความเข้าใจของผมเกี่ยวกับหลักการนั้นไว้ด้วย

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวใน ร.7 ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรเสนอในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ก็หมายความว่านับจากนั้นเป็นต้นมา (คือผูกพันสถาบัน ไม่ใช่บุคคล ดังนั้น จึงเท่ากับผูกพันทุกรัชกาล) สถาบันกษัตริย์ของไทยเกิดใหม่ ถือภพภูมิที่แตกต่างจากสถาบันกษัตริย์ที่เคยมีมาก่อนทั้งหมด จริงอยู่ความสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมย่อมมีอยู่อย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ในทางนิติสัมพันธ์แล้ว สถาบันกษัตริย์เป็นผลผลิตของรัฐธรรมนูญเท่านั้น ดำรงอยู่ได้ตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มี และเมื่อใดก็ตามที่มีผู้บังอาจฉีกรัฐธรรมนูญ ก็หมายความว่าได้ทำลายสถาบันกษัตริย์ลงไปพร้อมกัน

ทั้งจะอ้างอะไรเพื่อกลับไปเป็นสถาบันกษัตริย์ก่อนวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ก็ฟังไม่ขึ้น นอกจากต้องยอมรับว่าสถาบันกษัตริย์ละเมิดสัญญา ซึ่งเท่ากับทำลายความไว้วางใจระหว่างกันอันเป็นรากฐานของสังคมทุกแห่ง

ผมเข้าใจเอาเองว่า คุณบรรยงเสนอให้กษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ ซึ่งตรงกับความเห็นของผม แต่ประมุขแห่งรัฐมีความหมายอย่างไรกันแน่ ผมกับคุณบรรยงจะมีความเห็นตรงกันหรือไม่ผมไม่ทราบ เพราะคำนี้มักถูกอ้างถึงโดยมีความหมายไม่สู้จะชัดเจนนักตลอดมา และเพื่อจะทำให้ชัดสำหรับกรณีของไทย จำเป็นต้องยอมรับหลักการที่ผมกล่าวข้างต้นว่าสถาบันกษัตริย์คืออะไรหลัง 27 มิถุนายน 2475 ด้วย

(ยังมีต่อ)

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_376097

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท