Skip to main content
sharethis

เวลาไปม็อบ เราไปทำอะไร?

ไปชูป้าย ไป(ฟัง)ปราศรัย ไปชูสามนิ้ว ไปตะโกน ไปหาของกิน ไปเล่นสเก็ตบอร์ด ไปร้องเพลง ไปดูละคร ไปเต้น?

คำตอบคือถูกทุกข้อ

เป็นที่สังเกตว่าในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา การชุมนุมหลายครั้ง (โดยเฉพาะครั้งที่ไม่ได้มีเหตุการณ์ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ) มีลักษณะคล้ายกับงานเทศกาลขนาดย่อม ๆ ซึ่งมักมีการแสดงดนตรี การแสดงละคร หรือการแสดงออกผ่านวิธีอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีแค่การสื่อสารผ่านป้ายประท้วงหรือผ่านเนื้อหาที่พูดกันบนเวทีปราศรัย ซึ่งวิธีการแสดงออกเหล่านี้ก็มีตั้งแต่การเขียนข้อความลงบนพื้นถนน ไปจนถึงการร้องเพลงเล่นดนตรี การเล่นสเก็ตบอร์ด การแต่งคอสเพลย์ และการเต้น 

ในการชุมนุมที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้พบกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันเปลี่ยนพื้นที่บนท้องถนนให้กลายเป็นฟลอร์เต้นรำเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “คณะราษแดนซ์” และหลังจากนั้น เราก็ได้พบกับพวกเขาในการชุมนุมอยู่เสมอ โดยจากจุดเริ่มต้นที่เป็นการเต้นโคฟเวอร์เพลงเคป็อบก็เริ่มมีดนตรีหลากหลายแนวขึ้น และมีคนเข้าร่วมมากขึ้น

การแสดงของคณะราษแดนซ์ในการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ วันที่ 25 ต.ค.​2563

ประชาไทคุยกับณัชพล เฉลยกุล หนึ่งในสมาชิกกลุ่มคณะราษแดนซ์ ถึงจุดเริ่มต้นของการทำกิจกรรม การแสดงออกทางการเมืองผ่านการเต้น ความสำคัญของพื้นที่สาธารณะเพื่อการสร้างสรรค์ และพลังของความสนุกสนานในการต่อสู้เพื่อโลกใหม่

Into the new world 

ณัชพลเล่าว่าจุดเริ่มต้นของคณะราษแดนซ์เกิดขึ้นในการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิหลังมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเขากล่าวว่าในช่วงการชุมนุมใกล้เลิกนั้น เขาเดินมารวมตัวกับกลุ่มเพื่อนที่บริเวณเกาะราชวิถี และเนื่องจากเขารู้สึกว่าการด่าทอ การใช้คำรุนแรง การตะโกนในที่ชุมนุมนั้น ถึงแม้จะไม่ใช่การกระทำที่แย่ แต่ก็ไม่ได้อะไร ณัชพลจึงชวนเพื่อน ๆ เปิดเพลงออกลำโพงเต้นกัน 

กิจกรรมวันนั้นกลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ ทำให้ณัชพลและเพื่อนรู้สึกว่าต้องต่อยอดกิจกรรมนี้ จนกลายเป็นกลุ่มคณะราษแดนซ์ขึ้นมา

ณัชพลระบุว่ากลุ่มผู้ก่อตั้งคณะราษแดนซ์ได้รับแรงบันดาลใจจากการชุมนุมในเกาหลีใต้ในพ.ศ. 2560 ที่เรียกร้องให้ประธานาธิบดีพัคกึนฮเยลาออก ซึ่งมีการนำเพลง Into the New World ของวงGirls’ Generationมาใช้ในการชุมนุมเช่นกัน โดยเขามองว่าวัฒนธรรมป๊อบเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นเพลงเค-ป๊อบหรือซีรี่ส์เกาหลีเป็นสื่อที่เป็นที่นิยมในยุคนี้ เป็นวัฒนธรรมที่เป็นที่สนใจสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งอาจจะสามารถใช้ดึงดูดคนให้เข้ามาร่วมชุมนุมได้

นอกจากกลุ่มผู้ก่อตั้งซึ่งเป็นคนที่รู้จักกันจากในสังคมออนไลน์แล้ว ณัชพลกล่าวว่าคนที่มาร่วมกิจกรรมมักจะเป็นเยาวชนที่สนใจในการเต้นอยู่แล้วและถูกดึงดูดให้เข้ามาร่วมชุมนุมเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องทั้งสามข้อ ซึ่งณัชพลกล่าวว่ากิจกรรมของกลุ่มก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นการเต้นเคป็อบเท่านั้น โดยในช่วงหลังมีการเปิดเพลงแนวอื่น ๆ มากขึ้น ทั้งเพลงไทยสากล หรือเพลงลูกทุ่ง 

“เรารู้สึกว่าเราไม่สามารถที่จะจำกัดในวงของเคป็อบได้อย่างเดียว เนื่องจากว่าเราใช้คำว่าคณะราษแดนซ์ เรารู้สึกว่าเราอยากผลักดันให้การเต้นมันหลากหลายมากขึ้น อาจจะเป็นแบบcontemporary แจ๊ซ หรือฮิปฮอป เราอยากให้คนกลุ่มนี้เข้ามาร่วมกับการชุมนุมของเรามากขึ้น” ณัชพลกล่าว

ในกิจกรรม “ไพร่พาเหรด” ในวันที่ 7 พฤศจิกายน กลุ่มคณะราษแดนซ์ได้มีการจัดกิจกรรมในการชุมนุมครั้งนี้ โดยร่วมใช้รถเครื่องเสียงของกลุ่มแดงก้าวหน้าที่เปิดวทีร้องเพลงอยู่ในพื้นที่การชุมนุม ซึ่งในกิจกรรมครั้งนั้น คนที่มาร่วมกิจกรรของกลุ่มคณะราษแดนซ์ก็มีการเต้นเพลง “ไม่รักระวังติดคุก” ของวงไฟเย็น และในการชุมนุมครั้งต่อ ๆ มา ก็มีการเปิดเพลงไทยสากล เช่นเพลง “ประวัติศาสตร์” ของคริสติน่า อากีลาร์ ซึ่งเป็นเพลงที่เริ่มสังเกตว่าใช้กันบ่อยครั้งในที่ชุมนุมอีกด้วย 

เมื่อถามว่าได้รับแรงต้านจากกลุ่มแฟนคลับเคป็อบในอินเตอร์เน็ตบ้างไหมที่เอาเพลงเคป็อบมาใช้ในการชุมนุมทางการเมือง ณัชพลกล่าวว่าเท่าที่สังเกต คนในแวดวงเคป็อบส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย เนื่องจากว่าช่วงนั้นเป็นช่วงเดียวกับที่กลุ่มแฟนคลับต่าง ๆ มีการระดมทุนเพื่อสนับสนุนขบวนการ เช่นการบริจาคเงินให้ทราย เจริญปุระใช้สนับสนุนการชุมนุมอีกต่อ 

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่าหลังการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวันในคืนวันที่ 16 ตุลาคม กลุ่มแฟนคลับต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ เช่นกลุ่มแฟนคลับวง BTS (ที่ไม่ใช่รถไฟฟ้า) หรือกลุ่มแฟนคลับวงGirls’ Generation ได้มีการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการชุมนุม โดยระดมทุนได้มากกว่าสี่ล้านบาทภายในหนึ่งสัปดาห์ 

เงินบริจาคก้อนใหญ่ที่สุดในจำนวนที่กลุ่มแฟนคลับเหล่านี้ระดมทุนได้ถูกนำไปบริจาคให้กับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และนอกจากนี้ก็มีการนำไปใช้ซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับใช้ในที่ชุมนุม เช่นหมวกนิรภัยและแว่นตา

อย่างไรก็ตาม มีคนรักก็ย่อมมีคนชัง ณัชพลเล่าว่าเสียงวิจารณ์ในแง่ลบต่อกิจกรรมของกลุ่มคณะราษแดนซ์ก็มีอยู่บ้าง หลายเสียงตั้งคำถามว่ากลุ่มต้องการอะไร จะเรียกร้องสามข้อหรือเรียกร้องความสนใจให้ตัวเอง ซึ่งณัชพลกล่าวว่าการติเตียนกันไม่ใช่เรื่องผิดและเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ 

“เขาอาจจะมองว่าสิ่งที่ทำมันดูเหมือนกับว่า แล้วมันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกร้องยังไง เขาอาจจะมองในด้านนี้ว่ามันแบบ มันเกี่ยวกับข้อเรียกร้องยังไงทั้งสามข้อ มันเกี่ยวกับสิ่งที่คณะราษฎรเขาเรียกร้องกัน กลุ่มนักเรียนเลวเขาเรียกร้องกัน ไม่ว่าจะกลุ่มต่าง ๆ เขาออกมาเรียกร้องกันยังไง” ณัชพลกล่าว

“เรารู้สึกว่าเราเป็นคนของชุมชนในการออกไปชุมนุมอยู่แล้ว เรารู้สึกว่าเราไปตามม็อบใหญ่ เราไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นเอกเทศหรือรู้สึกว่าเราฉีกออกมา และเราต้องเป็นคนที่เด่น เรารู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันข้อเรียกร้องใหญ่ เราแค่รู้สึกว่าเรามาตรงนี้เพื่อสนับสนุนกลุ่มใหญ่ ให้เขาสามารถเข้าถึงคนได้หลายกลุ่มมากยิ่งขึ้น เป็นสับเซต (subset) ของขบวนใหญ่ในการแสดงออก” 

เมื่อเราเต้น เราจะเป็นอิสระ

ณัชพลระบุว่าเขามองว่าการแสดงออกทางการเมืองมีได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นดนตรี การเล่นสเก็ตบอร์ดเหมือนกิจกรรมของกลุ่มคณะราษเก็ต หรือกิจกรรมของกลุ่มศิลปะปลดแอก เขาเล่าว่าที่เลือกสื่อสารผ่านการเต้นเพราะรู้สึกว่าการเต้นคือการแสดงออกถึงสิทธิเสรีภาพในร่างกายของแต่ละคน ถึงแม้ว่าเผด็จการจะสามารถบังคับให้คนเต้นได้ในฐานะเครื่องมือการโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนึ่ง แต่การเต้นของพวกเขาคือการใช้ร่างกายขยับไปตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เผด็จการบังคับให้ทำไม่ได้

“ถ้าเราฟังเพลงปุ๊บ เราก็เต้นไปตามจังหวะ ไม่จำเป็นต้องเป็นการเต้นเคป็อบ ไม่ว่าคุณจะเต้นยังไง ถูกผิดยังไง คุณสามารถเต้นได้หมด เพราะฉะนั้นเผด็จการไม่สามารถบังคับให้เราเต้นได้ สิทธิเสรีภาพเหนือร่างกายเหนือจิตใจเราไม่มีใครจะมาบังคับได้” ณัชพลกล่าว

หนึ่งในผู้ชุมนุมในวันที่ 25 ต.ค. ถือป้ายคณะราษแดนซ์ 

นอกจากนี้ เพลงที่เลือกมาใช้ในกิจกรรมก็มีความหมาย โดยณัชพลเล่าว่าเพลงหลักที่ใช้ในกิจกรรมของกลุ่มคือเพลง Into the New World ของวงGirls’ Generation ที่สื่อความหมายว่าต่อจากนี้เราจะเข้าสู่โลกใบใหม่ที่เต็มไปด้วยความฝันและความหวังที่จะทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไป หรือเพลง The Boys ของวงGirls’ Generation ที่ณัชพลกล่าวว่าเป็นการแสดงให้เห็นว่าคุณต้องเข้มแข็งและลุกขึ้นมาต่อสู้ ไม่อย่างนั้นก็จะดำเนินต่อไปได้ ถึงแม้ว่าจะฟังดูเหมือนเป็นเพลงที่สมาทานแนวคิดปิตาธิปไตย แต่ณัชพลก็บอกว่าไม่ได้มีความเป็นปิตาธิปไตยมากขนาดนั้น เป็นเพลงที่สร้างให้แรงผลักดันมากกว่า

ณัชพลระบุว่าในการเอาเพลงภาษาเกาหลีมาใช้ กำแพงภาษาก็มีอยู่บ้าง แต่เขารู้สึกว่าดนตรีและศิลปะเป็นสิ่งที่ไม่มีกำแพงกั้น แต่ทางกลุ่มก็เคยมีการนำเนื้อเพลงภาษาไทยมาใช้ด้วย 

“ถามว่ากำแพงภาษามันมีไหม เรารู้สึกว่าในด้านของความหมายของการแปลมันมีอยู่แล้ว แต่ในด้านของดนตรี หรือทำนอง เรารู้สึกว่าความเป็นดนตรี ความเป็นศิลปะ มันไม่มีกำแพงกั้นอยู่แล้ว คุณสามารถเสพศิลปะในรูปแบบไหนก็ได้ แค่คุณเปิดจะรับ 

“จริง ๆ ก็เคยยืม [เนื้อเพลงภาษาไทย] ของยูทูบเบอร์ที่เขาเอาเพลงเกาหลีมาแปลเป็นไทยแล้วร้องกัน ก็มีด้วย เพลง Into the New World เอาของเขามา เพิ่งได้รับฟีดแบกจากเจ้าของ คนแต่งเนื้อไทยว่าเพลงฉันได้ใช้ในมูฟเม้นต์ม็อบ เขาก็รู้สึกว่าครั้งหน้าต้องไปม็อบแล้วแหละ” ณัชพลเล่า

การแสดงของกลุ่มคณะราษแดนซ์ในงาน Mob Fest เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ณัชพลยังเล่าอีกว่าก่อนที่จะเริ่มเต้นแต่ละเพลง เขารู้สึกว่ากลุ่มสามารถเชื่อมโยงเพลงที่ใช้เข้ากับสิ่งที่กำลังเรียกร้องอยู่ได้ ไม่ว่าจะประเด็นของกลุ่มผู้หญิงปลดแอกเช่นประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายและการที่ไม่มีใครจะมาบอกเราได้ว่าเราควรแต่งตัวอย่างไร กลุ่มก็ใช้เพลง Miniskirt ของวง AOA หรือใช้เพลง Sex Love ของวง BTS เพื่อพูดถึงประเด็นที่ว่าภาษีประชาชนกลายเป็นอาวุธที่นำกลับมาทำร้ายประชาชน 

“เรารู้สึกว่าแต่ละความหมายของเพลงมันสามารถเชื่อมโยงกับสิ่งที่ม็อบหรือสิ่งที่สังคมเราประสบพบเจอได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นความหมายทั้งหมดของเพลง คุณแค่หยิบยกตัวอย่างของเพลงมาเป็นช่วง ๆ เรารู้สึกว่าdialogueมันเข้ากับสังคมเรา มันเข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยในตอนนี้ เรารู้สึกว่าเราสามารถพูดก่อนที่จะเริ่มเพลงเต้น เราพูดอารัมภบทได้” ณัชพลเล่า 

ณัชพลกล่าวว่าการออกมาทำกิจกรรมบนท้องถนนนอกจากจะเป็นการสนับสนุนข้อเรียกร้องสามข้อแล้ว ยังเป็นการเรียกร้องในประเด็นพื้นที่สาธารณะอีกด้วย โดยเขายกตัวอย่างว่าที่ย่านฮงแดในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ มีพื้นที่สำหรับให้คนทำการแสดงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงดนตรีหรือการแสดงละครในที่สาธารณะได้ แต่ในเมืองไทย พื้นที่เหล่านี้กลับถูกครอบคลุมโดยนายทุน ทำให้เยาวชนไม่มีพื้นที่สำหรับแสดงออก หรือแม้แต่กิจกรรมเต้นโคฟเวอร์ก็ถูกจำกัดด้วยความเป็นพื้นที่ที่ต้องซ้อมเพื่อมาแข่ง

“เด็กบางคนเขาไม่ได้ต้องการเต้นเพื่อแข่ง เขาแค่ต้องการเต้นเพื่อให้คนรู้ว่าเขาก็มีตัวตนอยู่ในสังคมนี้ เขาก็เป็นบุคคลหนึ่งในประชาคม เขาต้องแสดงออกถึงความกล้า ความสามารถของเขา พื้นที่สร้างสรรค์ในเมืองไทยมันน้อยมาก” ณัชพลเล่า “หรือถ้าเป็นพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่พื้นที่ตามท้องถนน หอศิลป์ หรือแม้แต่หอสมุด บางจังหวัดยังไม่มีเลย ความmodernizeเหล่านี้มันถูกกระจุกอยู่ในกรุงเทพ พื้นที่ต่างจังหวัด คุณไม่มีหอศิลป์ คุณไม่มีพื้นที่ในการแสดงออก จริงอยู่ที่ขอนแก่นหรือเชียงใหม่อาจจะมีTCDC หรืออะไรแบบนี้ แต่มันก็อาจจะไม่พอสำหรับเยาวชนทุกกลุ่มที่เขาจะเข้าถึงได้”

ขอเผด็จการจงพ่ายแพ้แก่ความสร้างสรรค์ของประชาชน  

สำหรับณัชพลและคณะราษแดนซ์ เสียงดนตรีและความสร้างสรรค์คือพลังของขบวนการ ณัชพลกล่าวว่าการใช้เสียงดนตรีในการแสดงออกก็คือการสร้างสรรค์รูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เผด็จการไม่สามารถให้ได้ 

“เผด็จการคือทุกอย่างที่เขาคิดมามันจะต้องถูกฝังหัวในคน คุณต้องรับสารอย่างนี้แบบนี้เท่านั้น คุณไม่สามารถฉีกข้อจำกัดใด ๆ ได้” ณัชพลเล่า ”ดนตรีมันเป็นสิ่งที่ไม่ควรมีภาษา กำแพงด้านจังหวะ ด้านคำร้องมาปิดกั้น ไม่ว่าคุณจะทำดนตรีแนวไหนก็ตาม ฮิปฮิป ป๊อบ ร๊อก อัลเทอร์เนทีฟ ดนตรีมันสามารถเชื่อมโยงคนเข้ามาหากันได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม ดนตรีสามารถเชื่อมโยงคนได้มากกว่าที่เราคิด แล้วถ้าเป็นดนตรีในรูปแบบประชาธิปไตย มันก็สามารถฉีกข้อจำกัดของความเป็นดนตรีแบบเผด็จการได้” 

“ความสนุกสนาน พลังงานของเยาวชนคนรุ่นใหม่ เรารู้สึกขนลุกทุกครั้งที่เราไปร่วมชุมนุม เราได้พบเจอคนกลุ่มใหม่ ๆ เราได้พบกับความสดใหม่ของกลุ่มเด็ก ๆ หรือผู้ใหญ่ก็ตาม ผู้ใหญ่ที่เขาเพิ่งเคยมาติดตามเรา อย่างล่าสุด ที่ราชดำเนิน ก็มีคนที่ปลดแอกจากความรู้สึกตัวเองที่ว่าฉันมาม็อบแล้วฉันต้องไปร่วมขบวนต่าง ๆ โดยที่ฉันต้องไปตะโกน แต่พอเขามาตรงนี้ เขารู้สึกว่าเขาสามารถปลดปล่อยสิ่งที่อยู่ในตัวเขา สิ่งที่อยู่ในใจเขา ถึงแม้ว่าเขาจะเต้นไม่ถูกต้องหรืออะไรก็ตาม แต่เขาก็ได้เต้น เขาได้ปลดปล่อยตัวตนของเขาออกมา เรารู้สึกว่าเราสามารถปลดล๊อคachievementของสิ่งที่เราเรียกร้องได้ในอีกแบบหนึ่ง”

และถึงแม้ว่าอาจจะถูกมองว่าเป็น “ม็อบมุ้งมิ้ง” หรือถูกมองว่าตลก แต่ณัชพลก็กล่าวว่าความสนุกสนานและพลังงานของเยาวชนคนรุ่นใหม่ก็ถือเป็นพลังของขบวนการเช่นกัน เขาเล่าว่าช่วงหลังนี้มีคนใหม่ ๆ มาร่วมกิจกรรมกับกลุ่มคณะราษแดนซ์เป็นจำนวนมาก โดยที่ไม่เคยมาร่วมกิจกรรมกับกลุ่มมาก่อน แต่มาร่วมชุมนุมและเข้ามาร่วมเต้นด้วย ซึ่งณัชพลคิดว่าอาจจะเป็นผู้ติดตามจากเพจในเฟสบุ๊ค และระบุว่าในช่วงแรกก็งงกับความสนใจอยู่บ้าง แต่ก็ปลาบปลื้มที่สามารถดึงคนออกมาได้

“เรารู้สึกขนลุกทุกครั้งที่เราไปร่วมชุมนุม เราได้พบเจอคนกลุ่มใหม่ ๆ เราได้พบกับความสดใหม่ของกลุ่มเด็ก ๆ หรือผู้ใหญ่ก็ตาม ผู้ใหญ่ที่เขาเพิ่งเคยมาติดตามเรา อย่างล่าสุด ที่ราชดำเนิน ก็มีคนที่ปลดแอกจากความรู้สึกตัวเองที่ว่าฉันมาม็อบแล้วฉันต้องไปร่วมขบวนต่าง ๆ โดยที่ฉันต้องไปตะโกน แต่พอเขามาตรงนี้ เขารู้สึกว่าเขาสามารถปลดปล่อยสิ่งที่อยู่ในตัวเขา สิ่งที่อยู่ในใจเขา ถึงแม้ว่าเขาจะเต้นไม่ถูกต้องหรืออะไรก็ตาม แต่เขาก็ได้เต้น เขาได้ปลดปล่อยตัวตนของเขาออกมา เรารู้สึกว่าเราสามารถปลดล๊อค achievement ของสิ่งที่เราเรียกร้องได้ในอีกแบบหนึ่ง” ณัชพลเล่า 

ประชาชนรวมตัวเต้นที่แยกรัชโยธิน หลังการยุติการชุมนุมที่หน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 25 พ.ย. 2563

ส่วนคนที่อาจจะมองว่าการชุมนุมครั้งนี้เป็น “ม็อบมุ้งมิ้ง” ณัชพลกล่าวว่าตนคงเปลี่ยนความคิดของคนกลุ่มนี้ไม่ได้ แต่ก็ยืนยันที่จะแสดงออกในรูปแบบของตัวเองต่อไป และถ้าวันหนึ่งคนเหล่านี้สามารถเปิดใจได้ เขาอาจจะเข้าใจได้ถึงสิ่งที่กลุ่มกำลังเรียกร้อง

“เรารู้สึกว่าความหวังนั้นมันอาจจะริบหรี่ แต่เราก็จะเต้นต่อไป เต้นจนกว่าจะได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง เต้นจนกว่าคนกลุ่ม ๆ หนึ่งเขาสามารถเข้าใจสิ่งที่พวกเราเรียกร้อง ไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ตาม หรือถ้าเขาไม่สามารถเข้าใจได้เลย เราก็จะเต้นสู้กับเขา” ณัชพลกล่าว

และถ้าการเมืองดี ณัชพลกล่าวว่าเราจะมีประชาธิปไตยที่แท้จริง มีความเท่าเทียม และมีเสรีภาพในการแสดงออก 

“ถ้าเรามีการเมืองที่ดีได้ ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มไหน ชนชาติใด ศาสนาใด หรือสีผิว รูปร่างหน้าตา อะไรยังไง ทุกคนจะเกิดความเท่าเทียมกัน ถ้าการเมืองดี ทุกคนจะเกิดความเท่าเทียม จะเกิดสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยที่แท้จริง จะเกิดปรากฎการณ์ที่คนเข้าใจกันมากขึ้น คนที่คิดเห็นต่างกันสามารถเข้าใจกันได้ในหลักการของแต่ละคน ไม่ต้องมาแบบว่าคุณเห็นต่างเหรอ คุณห้ามพูดนะ ถ้าการเมืองดี เราก็สามารถพูดในสิ่งที่เราอยากพูดได้โดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ทั้งสิ้น” ณัชพลกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net