Skip to main content
sharethis
  • 'ไรเดอร์' จี้เลิกถ่วงเวลาแก้ปัญหา นัดสื่อ 8 ธ.ค.นี้
  • ก่อนหน้านี้ ร้อง ก.แรงงาน ดูแลชีวิตและสวัสดิภาพ 'แรงงานแพลตฟอร์ม'
  • ผอ.สถาบันแรงงานฯ ชี้แก้ปัญหาไรเดอร์รัฐต้องไม่ปล่อยเกียร์ว่างให้เป็นแค่เรื่องแพลตฟอร์มกับแรงงาน แนะกฎหมายใหม่มารองรับทั้งสวัสดิการ ประกันอุบัติเหตุ เงินชดเชยค่ารักษาพยาบาล ให้มันมีประสิทธิภาพรองรับกับความต้องการทั้งบริษัทแพลตฟอร์ม และแรงงาน 

 

จี้เลิกถ่วงเวลา นัดสื่อ 8 ธ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Grab เคลื่อนที่เร็วเราช่วยกัน' โพสต์สเตตัสเฟซบุ๊กแสดงความไม่พอใจต่อบริษัท แกร็บ ไทยแลนด์ ขาดความจริงใจในการแก้ปัญหา เอาแต่ถ่วงเวลา

ภายในสเตตัสระบุข้อความว่า “เอาอีกแล้ว มุขเดิม ๆ แบบเดิม ความจริงใจไม่มี” โดยแกร็บ ไทยแลนด์ มีการพยายามติดต่อให้กลุ่มไรเดอร์ส่งตัวแทน 5 คน ขึ้นไปเจรจากับทางบริษัทในวันพรุ่งนี้ (7 ธ.ค.) และขอให้กลุ่มไรเดอร์ยกเลิกการประท้วง เพื่อรักษาภาพลักษณ์องค์กร

กลุ่ม Grab เคลื่อนที่เร็วเราช่วยกัน กล่าวต่อว่า “มุขนี้มันใช้ไม่ได้แล้วครับ กี่รอบแล้วที่ทำแบบนี้ คุณไม่เคยมีความจริงใจที่จะแก้ไขปรับปรุงเลย คุณแค่ดึงเวลา ถ่วงเวลาเราไปเรื่อย ๆ พาร์ตเนอร์ไม่ได้มีแค่พวกผม 5 คนที่คุณเรียกไปคุยแล้วคุยอีก คนเดือดร้อนมีเป็นพัน ๆ หมื่น ๆ ทุกจังหวัด เลิกถ่วงเวลาเถอะครับ และลงมาแก้ไข มาดูแลพวกเราบ้าง #เหมือนที่เคยโกหกต่อสังคมว่าดูแลพาร์ตเนอร์เป็นอย่างดี” 

พร้อมเชิญชวนสื่อทุกสำนักมาทำข่าวผู้บริหารที่ตึกธนภูมิ ถนนเพชรบุรี ในวันที่ 8 ธ.ค.นี้

ร้อง ก.แรงงาน ดูแลชีวิตและสวัสดิภาพ 'แรงงานแพลตฟอร์ม'

โดยเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา Decode รายงานว่า พรเทพ ชัชวาลอมรกุล จากกลุ่ม “ไรเดอร์” เดินทางไปพบที่ปรึกษารัฐมนตรี กระทรวงแรงงาน และตัวแทนจากกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องสิทธิ์สวัสดิการการทำงานผ่านระบบแพลตฟอร์ม ที่ตอนนี้ยังไม่มีการดูแลและการคุ้มครองที่เป็นธรรม โดยเฉพาะทางด้านกฎหมาย 

ปัญหาใหญ่ที่ไรเดอร์หรือพนักงานส่งของโดยจักรยานยนต์ร้องเรียนนั้น มีทั้งเรื่องการเอารัดเอาเปรียบในการทำงานผ่านการเป็น “พาร์ตเนอร์” (Partner) กับบริษัทแพลตฟอร์ม Grab เพราะส่วนใหญ่คนที่ไปเป็นพาร์ตเนอร์ Grab ตลอดจนการใช้อำนาจเกินขอบเขตของบริษัท ประกอบด้วย การลดค่ารอบ โดย Decode ได้สัมภาษณ์ พรเทพ เรื่องค่าวิ่งต่อรอบของไรเดอร์ ซึ่งแต่เดิมค่าแรงต่อรอบอยู่ที่ 120 บาท แต่ปัจจุบันถูกปรับลดลงมาเหลือเพียงแค่ 40 บาทเท่านั้น  

ขณะที่ Grab Food พัทยา เคยออกมาประท้วงในประเด็นค่าแรงเช่นกันเมื่อเดือน ส.ค. 2563 เนื่องจากเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2562 มีการปรับค่าแรงจาก 50 บาท เหลือแค่ 30 บาทเท่านั้น ทั้งนี้ ยังไม่รวมกับเรื่องที่ไรเดอร์ยังต้องแบกภาระต้นทุนอีกหลายด้าน อาทิ ค่าสึกหรอของรถ ค่าน้ำมัน ค่าใช้จ่ายประจำวัน และอื่น ๆ โดยที่บริษัทไม่ช่วยเหลือทางด้านการเงินใด ๆ ซึ่งการกดค่าแรงเหล่านี้ ทำให้ไรเดอร์จำเป็นต้องทำงานหนักเป็นเวลายาวนานเพื่อให้ได้รายได้เพียงพอ ยิ่งในช่วงหลัง COVID-19 ยิ่งต้องทำงานหนักขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายเรื่องการซื้ออุปกรณ์ป้องกัน COVID-19 อย่างหน้ากากผ้า เจลล้างมือ และไรเดอร์ยังต้องรับความเสี่ยงจากการติดต่อโรคระบาดด้วยตัวเอง นอกจากนี้ หลายครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบเหล่านี้ก็ไม่มีการแจ้งให้พาร์ตเนอร์ล่วงหน้า 

ระบบการลงโทษแต่ละครั้ง โดยเฉพาะการปิดระบบไรเดอร์ ไม่เปิดโอกาสให้ไรเดอร์ได้อุทธรณ์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุสุดวิสัยจนทำให้ไม่สามารถไปส่งอาหารได้ทันเวลาตามออเดอร์ ยกตัวอย่างจากไรเดอร์คนหนึ่งเคยขับขี่จักรยานยนต์ตกหลุม เหตุการณ์รถยางแตกหรือรั่ว หรือมีเหตุอื่น ๆ ทำให้ไม่สามารถไปส่งออเดอร์ได้ทันเวลาจนถูกลูกค้า complaint จนเป็นเหตุให้ไรเดอร์ถูกปิดระบบ สูญเสียรายได้ โดยที่ไม่มีระบบสืบสวนสอบสวนหรือฟังเหตุผลจากทางฝั่งไรเดอร์แต่อย่างใด

การเลือกปฏิบัติ การกระจายงานให้ทั่วถึง อย่างเช่น กรณีของบริษัท Grab จะมีการจัดเกรดของไรเดอร์ ซึ่งไรเดอร์ที่อยู่ตำแหน่งสูงสุดจะเรียกว่า Hero (ฮีโร) คนกลุ่มนี้จะได้รับสวัสดิการทั้งในเรื่องประกันอุบัติเหตุ กลุ่มอื่น ๆ ก็จะไม่ได้ มีปัญหาเรื่องการกระจายงานไม่เท่ากัน เช่น งานอาจจะเข้าไปในกลุ่มฮีโร ขณะที่กลุ่มอื่น ๆ อาจจะไม่ได้งาน ซึ่งเรื่องนี้คือปัญหาการเลือกปฏิบัติ 

จุดสำคัญที่ทำให้การประท้วงถูกจุดขึ้นมาในเดือน ส.ค. ปี 2563 คือการไม่มีสวัสดิการ โดยเฉพาะประกันอุบัติเหตุสำหรับไรเดอร์ เนื่องจากไรเดอร์เองต้องทำงานหนักมากขึ้น อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เพื่อหารายได้จุนเจือตัวเอง ทำงานในหนักขึ้น ก็มีโอกาสประสบอุบัติเหตุมากขึ้น แต่บริษัทกลับไม่มีประกันตรงนี้ อีกชนวนปัญหาคือบริษัทพยายามที่จะปัดความรับผิดชอบ และการที่จะได้เงินชดเชยจากอุบัติเหตุ หรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ต้องใช้เวลานานมาก ๆ และยากลำบาก เพราะบริษัทแพลตฟอร์มจะอ้างว่า ประกันอุบัติเหตุเชื่อมโยงกับประเทศสิงคโปร์ตัวประเทศแม่ ต้องโทร.ติดตามข้ามประเทศ ทำให้ขั้นตอนมีความยุ่งยากจนหลายคนอาจจะท้อไปก่อน และเลิกล้มความตั้งใจ

นอกจากนี้ ยังมีกฎอีกมากมายที่บริษัทจะใช้เป็นข้ออ้างหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ คือ ไรเดอร์ต้องประสบอุบัติเหตุระหว่างรับออเดอร์ลูกค้า ถ้าสมมติ ไรเดอร์คนนั้นส่งออเดอร์เสร็จเรียบร้อย กดส่งงาน แต่ระหว่างขับรถออกมากลับประสบอุบัติเหตุ ทางบริษัทแพลตฟอร์มก็จะไม่รับผิดชอบ เพราะไรเดอร์คนนั้นไม่ได้อยู่ในระหว่างรับงาน เพราะส่งงานไปแล้ว 

ปัจจุบัน ทางบริษัทใช้ประกันที่ผูกกับ พ.ร.บ.รถยนต์ รถมอร์ไซค์ ของไรเดอร์เอง ซึ่งไรเดอร์เป็นคนจ่ายเอง ค่ารักษาพยาบาลไรเดอร์ก็ต้องเป็นคนรับผิดชอบ แม้ว่าจะมีการประท้วงประเด็นนี้ไปครั้งหนึ่งแล้วก็ตาม และบริษัทเองก็สัญญาว่าจะทำประกันให้ทุกคน แต่ตอนนี้ประเด็นดังกล่าวก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด และบริษัทก็สร้างเงื่อนไขอย่างอื่น ๆ เพื่อหาทางปัดความรับผิดชอบ 

ประเด็นใหญ่ ๆ อีกเรื่องคือระบบซัปพอร์ตไรเดอร์ ตอนนี้มีบริษัท Grab มีแค่ระบบ Call Center รองรับในการประสานงานและช่วยเหลือไรเดอร์ ซึ่งระบบตรงนี้ก็ไม่ได้ทำงานตลอด 24 ชม. หรือพอโทรไปถามก็ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ไรเดอร์ได้   

จากเหตุผลดังกล่าวทำให้ไรเดอร์มีการเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานมีการตรวจสอบบริษัทแพลตฟอร์ม หรือมีการนิยามตีความคำว่าลูกจ้างอิสระว่าอิสระจริงหรือไม่ อย่างไร และควรมีการคุ้มครองแรงงานอิสระแบบไรเดอร์ที่เกิดขึ้นมาในยุคใหม่นี้อย่างไร 

ณัฐวัฒน์ จีรทัศน์ธำรงค์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน กล่าวตอนที่ไรเดอร์เข้าพบว่า  ตอนนี้กระทรวงแรงงานได้รับทราบปัญหาของแรงงานกลุ่มใหม่ และมองว่าปัญหานี้เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย ตอนนี้แรงงานของไรเดอร์เป็นแรงงานอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ ซึ่งการทำงานกับแพลตฟอร์มขณะนี้ “ไม่มีสัญญาจ้าง” ระหว่างบริษัทและไรเดอร์เป็นลายลักษณ์อักษร จึงเป็นข้อจำกัดที่รัฐจะเข้าไปดูแลเช่นกัน และด้วยบางบริษัทเป็นของต่างชาติ จึงต้องใช้เวลาดูว่าจะสามารถใช้กฎหมายใดเข้าไปดูแลได้บ้าง 

ขณะนี้ทางกระทรวงแรงงานมอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานนัดหมายบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์ม เช่น แกร็บ ประเทศไทย เข้าพบในวันที่ 8 ธ.ค. เพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบกับการจ้างงานแบบนี้ พร้อมผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาแรงงานนอกระบบ ซึ่งคาดว่าจะช่วยดูแลการจ้างงานแบบนี้ได้

หลังจากเดินทางเข้าพบกับตัวแทนกระทรวงแรงงานเพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนแล้ว ไรเดอร์ก็ได้เดินทางไปสมทบกับไรเดอร์อีกกลุ่มที่บริเวณหน้าตึกยูบีซี 2 สุขุมวิท 33 เพื่อเข้าพบผู้บริหาร แกร็บ ไทยแลนด์ โดยกลุ่มไรเดอร์มีการสลับกันขึ้นปราศรัยถึงประเด็นการเอารัดเอาเปรียบของ Grab เป็นเวลา 2 ชม. ก่อนตัดสินใจเดินทางกลับ แล้วนัดรวมตัวใหม่อีกครั้งวันที่ 8 ธ.ค. 2563 ที่ตึกธนภูมิ ถนนเพชรบุรี ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่กระทรวงแรงงานนัดกับบริษัทแพลตฟอร์ม แกร็บ ประเทศไทย เข้าพบ เพื่อให้แก้ไขปัญหาที่กลุ่มไรเดอร์ร้องเรียน 

ผอ.สถาบันแรงงานฯ ชี้แก้ปัญหาไรเดอร์รัฐต้องไม่ปล่อยเกียร์ว่าง ให้เป็นเรื่อแพลตฟอร์มกับแรงงาน  

ขณะที่ เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร ผู้อำนวยการสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) และเป็นผู้ร่วมสังเกตการณ์การยื่นหนังสือของรเดอร์ต่อกระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า ข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้คือการที่กระทรวงแรงงานที่ยังตีความอาชีพไรเดอร์ว่าเป็น “แรงงานอิสระ” หรือ “แรงงานนอกระบบ” ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออาชีพไรเดอร์หลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการของไรเดอร์ที่นายจ้างควรต้องรับผิดชอบ แต่ปัจจุบัน ไรเดอร์ต้องจ่ายเงินค่าประกันสังคมในมาตรา 40 เอง เพราะถือว่าไรเดอร์ตอนนี้เป็นนายจ้างตัวเอง ในขณะที่ในความเป็นจริง ไรเดอร์เหล่านี้มีนายจ้างชัดเจน 

อีกปัญหาคือภาครัฐเองยังมีปัญหาขาดเข้าความเข้าใจงานในยุคใหม่ ซึ่งงานยุคนี้มันทำให้กฎหมายเก่ามีปัญหา ไม่สามารถนำมาใช้ในความสัมพันธ์ระหว่างไรเดอร์กับแพลตฟอร์มได้ เกรียงศักดิ์ จึงเสนอว่าควรจะมีกฎหมายใหม่มารองรับความสัมพันธ์นี้   

แต่ทั้งนี้ ก็ต้องเข้าใจการออกแบบกฎหมายใหม่ที่มารองรับเรื่องนี้ยังมีปัญหาอยู่หลายประเด็น เพราะนี่คือเรื่องใหม่ที่เราไม่เคยเจอ รัฐไทยยังขาดความเข้าใจและประเด็นยังมีความซับซ้อนอยู่มาก ทำให้เรื่องแก้กฎหมายอาจต้องใช้เวลานาน คำถามสำคัญคือการออกแบบระบบเชิงกฎหมายและเชิงนโยบายจะเป็นอย่างไรต่อไป เรื่องนี้อาจต้องดูเป็นระยะยาว แต่ในระยะสั้นภาครัฐสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยเหลือไรเดอร์เหล่านี้ 

เกรียงศักดิ์ให้ความเห็นว่า ภาครัฐในฐานะของผู้กำกับดูแลยังมีขีดจำกัดที่จะสามารถช่วยเหลือไรเดอร์ได้ รัฐอาจต้องพยายามใช้กฎหมายเท่าที่มี เทียบเคียง ดูปัญหาในแต่ละเรื่อง เข้ามาตรวจสอบ Grab ในประเด็นต่าง ๆ ที่อาจจะละเมิดกฎหมายที่มีอยู่ และใช้อำนาจทางกฎหมายควบคุมไม่ให้บริษัทเปลี่ยนกฎระเบียบข้อบังคับตามใจชอบ เพราะมันไม่มีกรอบที่รัฐจะเข้ามาควบคุมเลย มันก็จะเปิดช่องให้บริษัทแพลตฟอร์มเหล่านี้ทำอะไรก็ได้ คนทำงานก็ถูกขูดรีด และเองต้องแบกรับภาระต่าง ๆ ด้วยตัวเองอย่างที่กล่าวไปในข้างต้น

อีกเรื่องที่ เกรียงศักดิ์เห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน และน่าจะต้องรีบดำเนินการคือเรื่องสวัสดิการ ประกันอุบัติเหตุ เงินชดเชยค่ารักษาพยาบาล เพราะเรื่องความปลอดภัย เราอาจจะไม่สามารถรอกฎหมายใหม่ได้ เพราะอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัน ภาครัฐอาจจะมองว่าไม่ใช่หน้าที่ของเขาเอง แต่ถ้ามีการกำกับตรวจสอบจากภาครัฐ ก็จะทำให้บริษัทแพลตฟอร์มเหล่านี้อย่างน้อยระวังตัวและปฏิบัติตามกรอบกฎหมายที่มีอยู่มากขึ้น รัฐต้องเข้ามาช่วยออกแบบกฎหมายตัวนี้ให้มันมีประสิทธิภาพที่สุด รองรับกับความต้องการทั้งบริษัทแพลตฟอร์ม และแรงงาน แต่ยังไงก็อันนี้เป็นเรื่องระยะยาว 

ผู้อำนวยการสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม กล่าวด้วยว่า การเรียกร้องสิทธิและสวัสดิการครั้งนี้ถือเป็นหมุดหมายและจะเป็นบรรทัดฐานให้กับบริษัทอื่น ๆ ที่กำลังทำธุรกิจแพลตฟอร์ม ซึ่งปัจจุบัน ธุรกิจตัวนี้กำลังขยายตัวมากขึ้น รัฐควรเข้ามีบทบาทในเรื่องของการจัดการกฎหมายและสวัสดิภาพของแรงงานยุคใหม่ และภาพที่เลวร้ายที่สุดคือการที่รัฐไม่ได้เข้ามาช่วยกำกับ หรือปล่อยเกียร์ว่าง ให้เรื่องนี้เป็นทวิภาคีระหว่างบริษัทแพลตฟอร์มกับแรงงาน  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net