Skip to main content
sharethis

องค์กรในสังกัดของสหประชาชาติระบุถึงปัญหาการบังคับใช้มาตรการเกี่ยวกับ COVID-19 ที่สร้างปัญหาให้ผู้หญิงมากขึ้น แนะนโยบายการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ควรคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้หญิงสูญเสียโอกาสมากกว่าเดิมและตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์มากขึ้น

กาดา วาลี  สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) แถลงว่าประชาคมโลกควรจะมีการผนึกกำลังกันมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดกับผู้หญิงในช่วงเวลาที่มีการระบาดของ COVID-19 จากที่ผู้หญิงมีความเสี่ยงเผชิญความรุนแรงการข่มเหงรังแกและเสี่ยงเผชิญกับการค้ามนุษย์มากขึ้นในในโรคระบาดที่ผ่านมา

ตัวแทนจากสหประชาชาติแถลงในเรื่องนี้เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยระบุว่าจากที่ผู้หญิงต้องเผชิญกับความรุนแรงเหล่านี้มาก่อนหน้านี้แล้ว ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์เพราะ COVID-19 ทำให้ผู้หญิงเสี่ยงกับความรุนแรงและอาชญากรรมเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น

สถิติของ UNODC ระบุว่าผู้หญิงมักจะตกเป็นเหยื่อของการฆาตกรรม และผู้หญิงก็มักจะตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์มากกว่าร้อยละ 60 ทางสหประชาชาติเคยเรียกปรากฏการณ์ที่มีความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพเกิดมากขึ้นในช่วง COVID-19 ว่าเป็น "การระบาดอำพราง" นอกจากนี้ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงยังเพิ่มความเสี่ยงให้พวกเธอเผชิญกับการค้ามนุษย์และความรุนแรงทางเพศด้วย

พุมซีล มลาโบ-งุคา ผู้อำนวยการบริหารของยูเอ็นวูแมนกล่าวว่าผลพวงจากเรื่องทางเศรษฐกิจสังคมส่งผลทำให้ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์มากขึ้นด้วย จากกรณีโรคระบาด COVID-19 ที่่ผ่านมาทำให้ผู้หญิง 47 ล้านคนประสบความยากจนอย่างหนักแต่กลับทำให้คนค้ามนุษย์ฉวยโอกาสได้มากขึ้น

นาเดีย มูราด ทูตสัมพันธไมตรีของ UNODC ผู้ที่เคยรอดชีวิตจากการก่อการร้ายของกลุ่มไอซิสในอิรักมาก่อนกล่าวว่าอีกปัญหาหนึ่งที่ผู้หญิงต้องเผชิญในช่วง COVID-19 คือการขาดทรัพยากรด้านการป้องกัน ช่วยเหลือ และฟื้นฟู ในขณะเดียวกันพวกเธอก็ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้ยากขึ้น ไม่ว่าจะในด้านจิตวิทยา สาธารณสุข และแหล่งพักพิงที่ปลอดภัย

ก่อนหน้านี้เลขาธิการสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูแตร์เรส เคยเรียกร้องให้รัฐบาลเน้นเรื่องความปลอดภัยของผู้หญิงด้วยในการโต้ตอบกับวิกฤตการณ์โรคระบาด ซึ่งทั้ง UNODC และยูเอ็นวูแมนก็สนับสนุนข้อเรียกร้องนี้ด้วย โดยที่หน่วยงานเหล่านี้ยังทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมพัฒนาหลักๆ 4 ด้าน ได้แก่การให้งบประมาณงานบริการที่จำเป็น, การป้องกัน, การพัฒนาปฏิบัติการให้ความเป็นธรรม และงานด้านการเก็บข้อมูล

วาลีพูดเน้นถึงเป้าหมายในเรื่องการฟื้นฟูหลังเหตุการณ์ระบาดหนักว่าควรจะทำให้ผู้หญิงสามารถกลับเข้าสู่โรงเรียนหรือสถานที่ทำงานได้ด้วยโอกาสที่เท่าเทียม มีงานที่ดี และได้รับการคุ้มครองทางสังคม ขณะที่มลาโบ-งุคายังบอกให้เน้นถึงปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ โดยบอกว่าควรให้มีโครงการสำหรับผู้รอดพ้นจากการค้ามนุษย์ในฐานะบริการที่จำเป็น นอกจากนี้ในรายงานเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ยังระบุเสนอให้มีโครงการลงทุนในระยะยาวเพื่อพูดถึงปัญหา "ความเป็นชายในแบบที่เป็นพิษ" เพื่อทำให้ผู้ชายคำนึงถึงปัญหาและมีการเปลี่ยนแปลงค่านิยมกับทัศนคติเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิงด้วย

เรียบเรียงจาก

  • COVID-19 worsening gender-based violence, trafficking risk, for women and girls, UN News, 30-11-2020 https://news.un.org/en/story/2020/11/1078812

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net