Skip to main content
sharethis

แรงงานนอกระบบยื่นหนังสือถึง รมว.แรงงาน ขอเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ย 3% มีการประกันรายได้ แก้ประกันสังคมที่ยังมีความเหลื่อมล้ำ ด้าน 'สุชาติ' อ้างภาครัฐทำไปเกือบทั้งหมดแล้ว แต่ขาดการประชาสัมพันธ์ให้ระบบเข้าถึงข้อมูล พร้อมยันปัญหาอื่นๆ พยายามหาทางแก้ไขให้อยู่ ไม่ได้นิ่งนอนใจ

7 ธ.ค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กระทรวงแรงงาน ดินแดง กรุงเทพ กลุ่มสมาพันธ์เครือข่ายแรงงานนอกระบบ ประกอบด้วย สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) สหพันธ์หาบเร่แผงลอย กรุงเทพมหานคร กลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน สมาคมผู้ขับขี่จักรยานยนต์ กลุ่มหมอนวดแผนไทย และอื่น ๆ เดินทางมายื่นข้อเรียกร้องถึงรัฐมนตรี กระทรวงแรงงาน เพื่อให้ภาครัฐช่วยเหลือแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้สอดคล้องกับความต้องการจริง ๆ ของแรงงาน

เวลา 8.30 น. กลุ่มดังกล่าวทยอยรวมตัวกันบริเวณใต้ถุนสำนักงานกระทรวงแรงงาน และมีการปราศรัยถึงปัญหาจากช่วงโควิด-19 และข้อเสนอของทางกลุ่มเครือข่าย

จากนั้นเวลาประมาณ 10.00 น. สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน และคณะ เดินทางมาพบเพื่อรับหนังสือจากตัวแทน พร้อมพูดคุยกับแรงงานนอกระบบ โดย สุชาติ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องในหนังสือนั้นทางภาครัฐได้ทำไปเกือบทั้งหมดแล้ว แต่ที่ผ่านมารัฐอาจจะยังขาดในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงข้อมูล ส่วนปัญหาอื่น ๆ ทางกระทรวงพยายามหาทางแก้ไขให้อยู่ ยืนยัน ไม่ได้นิ่งนอนใจ และยินดีที่จะได้ช่วยเหลือ

หลังจากนั้น กระทรวงแรงงานให้ตัวแทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบที่เดินทางมายื่นหนังสือ 20 คน ซึ่งใน 20 คน ประกอบด้วยแรงงานหลากหลายอาชีพ ขึ้นไปพูดคุยเรื่องข้อเสนอกับรัฐมนตรีภายในสำนักงานต่อไป

ขณะที่ช่วงระหว่างรอคำชี้แจงจากการพูดคุย กลุ่มครือข่ายแรงงานนอกระบบจากทั่วประเทศได้ผลัดกันขึ้นมาแลกเปลี่ยนปราศรัยกันอย่างคึกคัก สะท้อนปัญหาและผลกระทบของผู้ใช้แรงงานนอกระบบในช่วงโควิด-19

การพูดคุยดำเนินไป 3 ชม. จนกระทั่งตัวแทนเจรจาลงมาและกล่าวสรุปสาระสำคัญที่ได้คุยกับรัฐมนตรี ในวันนี้ให้กับผู้ที่มาชุมนุมได้ฟัง ก่อนที่จะแยกย้ายเดินทางกลับไปในเวลาประมาณ 13.30 น.

นายกสมาคมฯ ขอเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ย 3% มีการประกันรายได้ แก้ประกันสังคมที่ยังมีความเหลื่อมล้ำ

ก่อนเจรจา มานพ แก้วผกา นายกสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) ชี้แจงถึงประเด็นข้อเรียกร้องว่า ช่วงที่โควิด-19 ที่ผ่านมา แรงงานนอกระบบต้องประสบปัญหามากมาย โดยเฉพาะเรื่องของรายได้ และการจ้างงานที่ลดลงอย่างมาก จึงทำให้ทางกลุ่มร่างข้อเสนอตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย. 2563 จนตกผลึก เป็นข้อเรียกร้องที่มายื่นภาครัฐในวันนี้ ปัญหาหลัก ๆ ของแรงงานนอกระบบมีตั้งแต่การเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเสนอว่าควรมีการตั้งกองทุนแรงงานนอกระบบ เพื่อให้แรงงานสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่มีเรตดอกเบี้ยสมเหตุสมผล คือ 3% ซึ่งเป็นเรตที่พวกเขามองว่าเหมาะสม และสามารถส่งเงินได้ทุกเดือน  

เนื่องด้วยแรงงานนอกระบบมักจะมีปัญหาเวลาจะไปกู้เงินกับธนาคารต่าง ๆ ซึ่งผู้กู้จำเป็นต้องมีหลักฐานอย่างพวกสลิปเงินเดือน หรือการแจกแจงแหล่งที่มาของรายได้ ซึ่งพวกเขาก็จะไม่มีหลักฐานเหล่านี้ ก็ทำให้พวกเขาไม่สามารถกู้เงินได้ สุดท้ายก็ต้องไปพึ่งพิงเงินกู้นอกระบบ และโดนโขกดอกเบี้ยเรตอัตราสูง

ประเด็นต่อมาคือเรื่องการประกันรายได้ ซึ่งแรงงานในระบบถ้าโดนบอกเลิกจ้าง ก็จะมีการประกันรายได้ประมาณ 6 เดือน แต่การประกันรายได้ของแรงงานนอกระบบตรงส่วนนี้ไม่มีเลย ทางกลุ่มจึงเสนอให้รัฐบาลมีการประกันงานให้ หรือหางานให้ทำ 10 วันต่อเดือน หรือตีเป็นเงิน 3,310 บาท เพื่อช่วยเหลือแรงงานให้มีรายได้ขั้นต่ำ และช่วยให้พวกเขาสามารถผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ได้ นอกเหนือจากนี้ แรงงานนอกระบบจะหางานด้วยตัวเอง

นอกจากสองเรื่องข้างต้นแล้ว นายกสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบฯ กล่าวอีกว่า ยังมีเรื่องสวัสดิการประกันสังคมที่ยังมีความเหลื่อมล้ำ การแก้ไขข้อกำหนดการเข้าฝึกอบรมพัฒนาอาชีพกับภาครัฐ เช่น การจำกัดอายุของผู้เข้าฝึกอบรมต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปีเท่านั้น ซึ่งแรงงานนอกระบบมีหลากหลายช่วงวัย และบางคนก็อายุเกิน 60 ปี ซึ่งคนเหล่านี้ก็ขาดโอกาสพัฒนาทักษะ หรือฐานเงินเดือน นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดอื่น ๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจความต้องการของผู้ใช้แรงงานนอกระบบอย่างแท้จริง

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้แรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคน มีส่วนช่วยสร้างเสริมเศรษฐกิจไทยคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP แต่ในช่วงที่แรงงานนอกระบบกำลังลำบาก การช่วยเหลือของภาครัฐกลับไม่สอดคล้องกับความต้องการของพวกเขาเท่าใดนัก เหมือนภาครัฐไม่เคยเห็นแรงงานนอกระบบในสายตา

“จริง ๆ เราอยากให้แรงงานนอกระบบได้รับการช่วยเหลือ ได้รับการเยียวยาที่ถูกต้อง และก็ได้การสนับสนุนสิ่งที่แรงงานนอกระบบขาดหายไป คือรัฐบาลต้องมีความจริงใจกว่านี้ ไม่ใช่ว่าแต่ละกอง แต่ละกระทรวงไม่ได้พูดถึง (แรงงานนอกระบบ) เลย แรงงานนอกระบบ 20 กว่าล้านคน คือคนขับเคลื่อนเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล แต่รัฐบาลสนใจแต่แรงงานในระบบ” มานพ กล่าว

ช่วง 10.00 น. จะมีการรับหนังสือและเชิญตัวแทนขึ้นไปพูดคุยกับรัฐมนตรี กระทรวงแรงงาน ซึ่งมานพ กล่าวว่า การพูดคุยกับรัฐมนตรีก็เพื่อให้ภาครัฐทราบว่าตอนนี้แรงงานนอกระบบกำลังประสบปัญหาอะไรบ้าง เข้าใจแรงงานมากขึ้น แม้ว่าภาครัฐเองซึ่งจริง ๆ ก็พยายามแก้ปัญหาแล้ว แต่ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของแรงงานนอกระบบมากพอ

ภาพบรรยากาศใต้ถุนกระทรวงแรงงาน

7 ประเด็นเจรจากับ รมต. เพื่อพัฒนาชีวิตแรงงานนอกระบบในอนาคต

หลังเสร็จสิ้นการเดินทางมายื่นหนังสือ ผู้สื่อข่าวประชาไทได้คุยกับพูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงาน และที่ปรึกษาสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ หนึ่งในตัวแทนของแรงงานนอกระบบที่ขึ้นไปการเจรจากับกระทรวงแรงงานในครั้งนี้ ว่าภาครัฐจะมีวีธีการช่วยพวกเขาอย่างไรได้บ้าง

1. อย่างที่กล่าวไปข้างต้น สิ่งที่แรงงานนอกระบบเรียกร้องคือให้รัฐช่วยจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดตั้งกองทุนแรงงานนอกระบบ ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงแรงงานตอบว่าได้ปรึกษากับสำนักงบประมาณไปแล้ว แต่ติดข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ แรงงานนอกระบบจึงเสนอให้กระทรวงฯ นัดทุกฝ่าย พร้อมกับตัวแทนจากฝั่งแรงงานนอกระบบ มานั่งโต๊ะเจรจาคุยกัน จะได้ทราบว่ามันมีปัญหาหรือข้อจำกัดตรงไหนบ้าง และจะได้หาทางออกร่วมกันทุกฝ่าย

2. กรณีต่อมาคือการคืนพื้นที่ที่เคยถูกห้ามขายหาบเร่แผงลอยไปแล้ว ให้กลับมาขายได้อีกครั้ง แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายให้คืนพื้นที่แล้ว แต่ทาง กทม. ก็ยังไม่ปฏิบัติตามด้วยข้อจำกัดบางอย่าง ซึ่งทางกระทรวงฯ รับปากจะไปคุยกับทาง กทม. ให้ว่าจะมีแนวทางในการดำเนินการช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง

3. ให้รัฐบาลลงทุนทำแพลตฟอร์มช่วยแรงงานนอกระบบ เช่น แพลตฟอร์มลูกจ้างงานบ้าน แพลตฟอร์มวินมอเตอร์ไซค์ แพลตฟอร์มหมอนวด และอื่น ๆ แม้ว่าทางกระทรวงแรงงานแสดงความสนใจเรื่องดังกล่าว แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้คือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ซึ่งทางกระทรวงแรงงานรับปากว่าจะไปคุยกับทางดีอีให้

4. ในเรื่องปัญหาของแรงงานนอกระบบในสวัสดิการประกันสังคมมาตรา 40 และการประกันการว่างงานที่แรงงานอยากให้กระทรวงฯ ช่วยหางานให้จำนวน 10 วันต่อเดือน สำนักงานประกันสังคมเสนอให้ตั้งอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ประกันสังคม มาตรา 40 โดยให้ฝ่ายแรงงานนอกระบบมีส่วนร่วม แล้วมานั่งคุย นั่งออกแบบสวัสดิการร่วมกัน

5. ลูกจ้างงานบ้านมีข้อเรียกร้อง ต้องการเข้าประกันสังคม มาตรา 33 เหมือนกับแรงงานในระบบ เนื่องจากมีนายจ้างชัดเจน ในกรณีนี้ทางกระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม รับปากว่าจะช่วยแก้ไขถ้าอยู่ในขอบเขตอำนาจของกระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม แต่ต้องไม่ขัดกับกรอบกฎหมายที่มีอยู่

6. เรื่องการปรับแก้เงื่อนไขการฝึกฝีมือแรงงานนั้นต้องให้สอดคล้องกับความต้องการของแรงงานนอกระบบ ขณะที่กระทรวงฯ รับปากจะทำข้อเสนอให้กับสภาพัฒน์อีกครั้ง เพื่อนำงบประมาณมาจัดอบรมทักษะฝีมือให้แรงงานนอกระบบ

7. เรื่องสุดท้ายที่แรงงานนอกระบบรู้สึกยินดีที่สุด คือการที่แรงงานนอกระบบต้องการมีส่วนร่วมกำหนดชีวิตของตัวเอง โดยเสนอให้กระทรวงฯ เป็นเจ้าภาพจัดประชุมกับแรงงานนอกระบบเป็นประจำ ซึ่งในประเด็นนี้กระทรวงฯ รับปากว่าจะจัดให้มีการประชุมทุกเดือน โดยต้องมีแรงงานนอกระบบอย่างต่ำ 10 คน เข้าร่วมประชุมกับกระทรวงแรงงาน

พูลทรัพย์ เน้นย้ำ รัฐอย่ามองข้ามแรงงานนอกระบบ เพราะพวกเขาล้วนแต่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศไม่แพ้แรงงานในระบบ และเธอเชื่อว่าหากแรงงานนอกระบบได้รับการช่วยเหลือและพัฒนา ประเทศชาติก็ได้รับการพัฒนาอีกด้วย การเดินทางมายื่นข้อเรียกร้องในวันนี้ถือเป็นก้าวแรกของการผลักดันคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบ และทำให้รัฐได้มองเห็นการมีตัวตนของพวกเขา แต่สิ่งที่แรงงานนอกระบบต้องการ คือ การแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

“มันเป็นจังหวะก้าวที่ดี แต่เราก็ไม่ไว้วางใจ เพราะในความเป็นจริง เราก็ยื่นข้อเรียกร้องมาเป็น 10-20 ปี ซึ่งเราจะเชื่อได้ก็ต่อเมื่อมีการกระทำ อยากเห็นของขวัญจากกระทรวงแรงงานที่เป็นรูปธรรม” พูลทรัพย์ ทิ้งท้าย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net