เปิดตัวภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ตรวจสอบ-ฟ้อง จนท. ปราบม็อบมิชอบ

เปิดตัว 'ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน' การรวมตัวขององค์กรนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ต่อสู้ปัญหารัฐบาลใช้อำนาจและกระบวนการยุติธรรมกดปราบการชุมนุมแบบเลือกปฏิบัติ กลั่นแกล้ง ลุแก่อำนาจ ชี้ การดำเนินคดีถี่ยิบ ลงลึกถึงเยาวชน ตีความความผิดกว้าง อยากให้ศาลให้ประกันตัวทั้งหมดเพื่อสู้คดี ชวนคนในระบบยุติธรรมคำนึงถึงนิติธรรม สิทธิมนุษยชน 

ซ้ายไปขวา: รัฐศักดิ์ อนันตริยกุล เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ อมรินทร์ สายจันทร์ ณัฐธิดา ชูมาลัยวงค์ คอรีเยาะ มานุแช

จากกระแสการชุมนุมใหญ่ของประชาชนในปี 2563 ที่เริ่มเมื่อ 18 ก.ค. 63 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตามมาด้วยข้อเรียกร้องจากการลาออกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การแก้รัฐธรรมนูญ หยุดคุกคามประชาชนไปจนถึงปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และแตกยอดประเด็นออกไปทั้งเรื่องเพศ การศึกษา แรงงาน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ นับเป็นปรากฏการณ์ที่ตกอยู่ในความสนใจของสังคมไทย อีกนัยหนึ่งก็เป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพของรัฐบาลประยุทธ์และองคาพยพที่สืบทอดอำนาจจากการรัฐประหาร

การขยับของประชาชนอย่างต่อเนื่องดำเนินไปแบบคู่ขนานกับการจับกุม กดปราบ ดำเนินคดี คุกคาม และสลายการชุมนุมจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างต่อเนื่องจนล่าสุดก็มีการนำกฎหมายอาญามาตรา 112 กลับมาใช้กับแกนนำและประชาชนอีกแล้ว

ท่ามกลางความชุลมุนนี้ ทนายความและนักกฎหมายคือตัวละครหนึ่งที่เกี่ยวพันกับการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชนที่ออกมาแสดงออกซึ่งความเห็นตามสิทธิที่พึงมี ในช่วง 4 เดือนที่ไวเหมือนกระพริบตา พวกเขามองเห็นความผิดปกติและความไม่เป็นธรรม และตัดสินใจทำอะไรสักอย่างกับมัน

ตั้งภาคี ผลักดันกระบวนการยุติธรรม จนท. รัฐคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน

ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการเปิดตัวภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เป็นการรวมตัวกันขององค์กรด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน 9 องค์กร ได้แก่สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (เอ็นลอว์) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ศูนย์ทนายความมุสลิม และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน โดยมีพันธกิจ 4 ประการ ดังนี้

  1. พิทักษ์และปกป้องสิทธิมนุษยชน
  2. ตรวจสอบ ควบคุมและปรามการใช้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ
  3. สร้างความเข้าใจและเปิดโปงต่อสาธารณชนให้ทราบเรื่องการิฏฺบัติหน้าที่โดยมิชอบของรัฐ
  4. เรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของประชาชน

ณัฐธิดา ชูมาลัยวงค์ จากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า การรวมกลุ่มภาคีนั้นสืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลตอบสนองกับการชุมนุมที่ประชาชนออกมาแสดงความเห็นอย่างไม่เป็นไปเพื่อการอำนวยความสะดวกให้ชุมนุมอย่างเสมอภาค แต่ยังใช้มาตรการต่างๆ มาระงับการชุมนุม ทั้งติดตาม ข่มขู่ คุกคาม สลายการชุมนุม และยังใช้กระบวนการยุติธรรมและกฎหมายมาลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ เช่นการจับกุมแกนนำและผู้ชุมนุม มีการตั้งข้อหาที่ร้ายแรง กลั่นแกล้งฟ้องต่อประชาชนที่สนับสนุนผู้ออกมาชุมนุมด้วย ในขณะที่ผู้ชุมนุมที่สนับสนุนรัฐบาลไม่ได้เจอมาตรการแบบนี้ 

การแถลงของนายกฯ เมื่อ 19 พ.ย. ที่บอกว่าจะใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตรา และย้ำว่าผู้ชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นศัตรู เป็นคู่ขัดแย้ง จึงกระตุ้นให้รัฐใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมสร้างความหวาดกลัวในการออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล การทำเช่นนี้แทนที่จะเป็นการคลี่คลายสถานการณ์ กลับทำให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนั้นยังเห็นการฟ้องคดีเพื่อปิดปากทางยุทธศาสตร์เพื่อพยายามเปลี่ยนการต่อสู้ในพื้นที่สาธารณะเป็นการต่อสู้ขัดแย้งในทางกฎหมาย ซึ่งส่งผลเสียต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย จึงรวมตัวกันเป็นภาคี จากนักกฎหมาย ทนายความทั่วประเทศที่สังกัดในองค์กรสิทธิมนุษยชน

คดีพุ่ง 220 คนโดนดำเนิน 119 คดีภายใน 4 เดือน 20 วัน

เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยสถิติคดีสืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองที่ทางศูนย์ฯ บันทึกเอาไว้นับตั้งแต่การชุมนุมแรกเมื่อ 18 ก.ค. 2563 ถึงการจับกุมกลุ่มมวลชนอาสาวีโวลุนเทียร์เมื่อคืนวันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่า ตลอด 4 เดือน 20 วันมีคดีทั้งหมด 119 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดี 220 คน มีเด็กเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ถูกดำเนินคดี 5 รายจาก 7 คดี โดยมีอายุต่ำสุด 16 ปีจากกลุ่มนักเรียนเลวในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง และมีเยาวชน อายุ 17 ปีถูกดำเนินคดีด้วย กฎหมายอาญามาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) ซึ่งถือว่าผิดปกติมากที่รัฐดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองกับเยาวชน

หากแบ่งตามภาคจะพบว่า กรุงเทพฯ และภาคกลางมี 87 คดี ภาคเหนือ 15 คดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 คดี นับเป็นคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ 56 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดี 149 คน ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง 18 คดี และยังมีการจับกุมซึ่งหน้าจากการฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ร้ายแรงรวม 56 คน นับตั้งแต่ 13 ต.ค. ถึงการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวันเมื่อ 16 ต.ค. และข้อหาที่ถูกดำเนินคดีมากที่สุดคือไม่จดแจ้งการชุมนุม มีผู้ถูกดำเนินคดี 30 คนใน 21 คดี

สำหรับการดำเนินคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นมีผู้ถูกดำเนินคดี 24 คนใน 11 คดี มี 6 คดีเป็นการแจ้งข้อหา ม.112 เพิ่มเติม ส่วนมาตรา 116 มีผู้ถูกดำเนินคดี 53 คนใน 17 คดี และมาตรา 110 (ประทุษร้ายเสรีภาพราชินี) มีผู้ถูกดำเนินคดีแล้ว 5 คน

คนโดนม.112 แล้ว 23 คน ทนายชี้รูปแบบเปลี่ยนแต่ยังต้องจับตา

เยาวลักษ์ตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินคดีเยาวชนทั้งหมดเป็นการดำเนินคดีย้อนหลัง หลังการแถลงใช้กฎหมายทุกมาตราเมื่อ 19 พ.ย. และการฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินร้ายแรงนั้นมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี รัฐจึงไม่ควรที่จะออกหมายจับ แต่ก็ยังมีการออกหมายจับ 

เยาวลักษ์ยังตั้งข้อสังเกตกรณีการดำเนินคดีด้วย ม.112 ว่า ตั้งแต่ปี 2561 มักถูกแทนที่ด้วยการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) หรือ ม.116 เดิมทีภาพของ ม.112 ที่ผ่านมานั้นน่ากลัวเพราะมักไม่ได้รับการประกันตัว แต่ในปัจจุบันศาลอาญาไม่ออกหมายจับให้ตำรวจที่ยื่นขอหมายจับไปซึ่งก็โล่งใจ และขอให้ศาลและสถาบันตุลาการให้ทำเรื่องประกันตัว ปล่อยตัวชั่วคราวแก่ผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดเพราะเรื่องนี้คือเรื่องการเมือง การแก้ปัญหาก็ต้องแก้ทางการเมือง การใช้กฎหมายเข้ามาควบคุม จำกัดสิทธิและเสรีภาพไม่ใช่ทางออกและยิ่งนำไปสู่ความรุนแรง 

สำหรับผู้ที่ถูกดำเนินคดีสูงที่สุดขณะนี้ (8 ธ.ค. 63) ได้แก่

  • พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) ถูกดำเนินคดี 21 คดี เป็น ม.112 อยู่ 7 คดี (หากนับรวมคดีอื่นๆ ก่อนหน้านี้ที่ศูนย์ฯ รับทำจะเป็น 29 คดี)
  • อานนท์ นำภา 14 คดี เป็น ม.112 อยู่ 3 คดี
  • ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) 12 คดี เป็น ม.112 อยู่ 2 คดี
  • ภาณุพงษ์ จาดนอก (ไมค์) 12 คดี เป็น ม.112 อยู่ 2 คดี
  • ชินวัตร จันทร์กระจ่าง (ไบรท์) 16 คดี ครึ่งหนึ่งเป็นการไม่จดแจ้งการชุมนุม

"มันสะท้อนให้เห็นว่ารัฐใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ เราทำงานหลังรัฐประหาร รัฐก็ใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเข้ามาควบคุม ปิดปากประชาชนที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้าม สถานการณ์มันไม่เปลี่ยนเลย"

"รัฐใช้กฎหมายเข้ามาปราบปรามประชาชนที่แสดงความคิดเห็นตรงข้ามกับรัฐ ฉะนั้น ตัวเลขสะท้อนให้เห็นที่สุด อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ด้วยความที่ว่ามันเกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินคดีกับประชาชน พอมันไม่มีความรับผิดของเจ้าหน้าที่ที่ข่มขู่คุกคามประชาชน หรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ มันเลยทำให้เห็นว่ารัฐยิ่งใช้กฎหมายเข้ามาจัดการ ปราบปรามประชาชนเป็นจำนวนมาก" เยาวลักษ์กล่าว

เดินหน้าฟ้องละเว้น ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เรียกค่าเสียหายกรณีสลายชุมนุม

ณัฐาศิริ เบิร์กแมน จากสำนักงานกฎหมาย NSP กล่าวว่า หากดูการดำเนินคดีที่ตำรวจมักอ้างว่าปฏิบัติตามกฎหมาย จะพบว่ามีตำรวจกระทำผิดกฎหมายหลายประการ ยกตัวอย่างเรื่องคดีที่ NSP กำลังทำอยู่คดีหนึ่ง คือคดีที่สืบเนื่องจากการชุมนุม 19-20 ก.ย. ที่ มธ. และสนามหลวง โดยมีแกนนำโดนตั้งข้อหา 17 คน มีผู้ถูกออกหมายเรียกเพื่อตั้งข้อหาอีก 11 คน แต่จากการสอบถามผู้เสียหาย 2 คน พบว่าทั้งสองไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมแต่ก็โดนตั้งข้อหา คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมก็โดนดำเนินคดี ซึ่งถ้าหากมีการตรวจสอบพยานและหลักฐานเพียงพอก็จะสามารถคัดกรองคนที่ไม่มีส่วนร่วมออกไปจากกระบวนการสอบสวนคดีได้ ไม่ต้องตกเป็นผู้ต้องหา แต่ในกรณีนี้ พนักงานสอบสวนมีเพียงคำแจ้งความจากพนักงานผู้กำกับ สน. ชนะสงครามแจ้งมาว่ามีคนทำผิดกฎหมายหลายบทและมีการถ่ายภาพจากที่ชุมนุมมาเปรียบเทียบก่อนออกหมายเรียก 

ณัฐาศิริเล่าต่อไปว่า ในชั้นพนักงานสอบสวนก็บอกผู้เสียหายไปว่าให้รับทราบข้อกล่าวหาไปก่อน แต่การดำเนินการตามกฎหมายแบบนี้เป็นภาระกับผู้บริสุทธิ์ เพราะทันทีที่รับทราบข้อกล่าวหาก็จะต้องตกเป็นผู้ต้องหาตามคดีอาญา ถูกพิมพ์ลายนิ้วมือ มีประวัติอาชญากร เป็นธุระหาทนายความมาสู้คดี และคดีนี้เป็นเพียงคดีแรก แต่มีอีกหลายคดีที่มีการดำเนินการแบบนี้ ทำให้คนบริสุทธิ์ตกเป็นภาระในกระบวนการยุติธรรม จึงเริ่มทำเรื่องนี้เพื่อบอกตำรวจว่าถ้ายังไม่ระมัดระวังก็อาจต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาได้ เพราะเป็นการละเว้น ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นการกระทำที่กลั่นแกล้ง โดยในวันที่ 9 ธ.ค. จะไปยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ สน. ชนะสงคราม ผู้เป็นเจ้าของสำนวนตาม ป.อาญา มาตรา 157 และ 200 ว่าด้วยการละเว้น ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

อมรินทร์ สายจันทร์ จากเอ็นลอว์ระบุว่าก่อนหน้านี้มีการฟ้องขอให้เพิกถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง และเรียกค่าเสียหายจากการสลายการชุมนุมเมื่อ 16 ต.ค. ไปแล้ว โดยฟ้องต่อศาลแพ่งและศาลก็รับฟ้อง แม้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงยกเลิกไปแล้ว แต่ผลในทางกฎหมายต่างกันระหว่างการยกเลิกกับเพิกถอน เพราะยังมีผู้ชุมนุมถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีอยู่ จึงต้องการให้ศาลตรวจสอบและเพิกถอนเพื่อให้สิ้นผลตั้งแต่แรก ไม่สามารถบังคับใช้ได้ เพราะโดยข้อเท็จจริงประเมินว่าสภาพการณ์ไม่เพียงพอต่อการประกาศ

นอกจากนั้น ภาคีฯ กำลังตรวจสอบการทำงานของตำรวจในที่ชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อ 17 พ.ย. ที่มีการใช้น้ำแรงดันสูงผสมแก๊สน้ำตาจนมีผู้ชุมนุมได้รับความเสียหายและบาดเจ็บ เป็นมาตรการที่ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ขั้นตอนเกี่ยวกับการจัดการดูแลการชุมนุมสาธารณะ โดยกำลังรวบรวมข้อเท็จจริงและฟ้องต่อศาลปกครอง ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบการใช้อำนาจการปกครองเพื่อตรวจสอบว่าสิ่งที่ตำรวจทำนั้นไม่ถูกต้อง ขัดหลักสิทธิ เสรีภาพ แผนการดูแลการชุมนุมที่ตำรวจวางไว้เองและมาตรฐานสากลในการจัดการดูแลการชุมนุม

ทั้งนี้ การตรวจสอบและฟ้องร้องเป็นไปไม่เพียงเพื่อการชดเชย เยียวยา แต่ยังเพื่อเป็นบรรทัดฐานกับการชุมนุมต่อๆ ไปว่ารัฐต้องระวังและเคาระเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน ซึ่งตลอดการชุมนุมที่ผ่านมานั้นโดยภาพรวมก็เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ เป็นไปตามสิทธิ เสรีภาพที่รับรองในรัฐธรรมนูญและหลักการสากล

การบังคับใช้กฎหมายวิปลาสหลังนับแต่รัฐประหาร 2557 

รัฐศักดิ์ อนันตริยกุล สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) กล่าวว่าในประเทศเป็นนิติรัฐ กฎหมายต้องต้องบังคับใช้กับราษฎรอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกันทุกมาตรา แต่ในประเทศนี้การบังคับใช้กฎหมายแก่ราษฎรไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติ เพราะผู้รู้ทางกฎหมายซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งการยกเว้น ได้ให้อรรถาธิบายไว้ว่าการบังคับใช้กฎหมายในประเทศนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจเท่านั้น หลังรัฐประหาร 2557 จนถึงวันนี้ 6 ปีเศษ ได้เห็นความวิปลาสในการบังคับใช้กฎหมายและการตรากฎหมายในสามลักษณะ 

หนึ่ง ตรากฎหมายเพื่อยกเว้นความผิดเพื่อเอาผิดกับการแสดงสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกและการพูด ออกระเบียบซึ่งให้ประโยชน์ เอื้อประโยชน์กับผู้มีอำนาจในประเทศนี้ และนำมาใช้บังคับเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด

สอง บังคับใช้กฎหมายที่เกินเลยกว่าบทบัญญัติหรือเกินเลยกว่าองค์ประกอบความผิดทางกฎหมาย เช่น การแจ้งข้อกล่าวหาต่อประชาชน เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษาเกินกว่าที่ควรจะเป็น การโต้แย้งผู้มีอำนาจรัฐถูกกล่าวหาว่ายุยงส่งเสริมให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง ทั้งที่ประชาชนมีสิทธิคัดค้านและแนะนำผู้นำรัฐที่มีหน้าที่บริหารประเทศ 

สาม ตีความขยายความกฎหมายให้เกินกว่าอำนาจที่ตนเองมี จะได้เห็นองค์กรบางองค์กรยกระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานขึ้นมาบังคับใช้ ทำเป็นคำพิพากษาให้เกินเลยไปกว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ สิ่งเหล่านี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นในรัฐที่เป็นนิติรัฐและราษฎรไม่ควรได้รับกรรมจากการกระทำเหล่านั้น

"สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมเราโดยเฉพาะในปี 2563 การบังคับใช้กฎหมายรุนแรงขึ้น ให้นโยบายใช้ทุกบทบัญญัติของกฎหมาย ใช้ทุกมาตรา การรวมตัวของพวกเราจึงต้องเกิดขึ้นเพื่อแสดงให้เขาเห็นว่า สิ่งที่รัฐกำลังทำนั้นไม่ใช่หนทางในประเทศที่เป็นนิติรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม ลำพังเพียงพวกเราที่มีอยู่เพียง 9 องค์กร และเป็นองกรเล็กๆ ของสังคมซึ่งทนไม่ได้กับการกระทำของรัฐที่ไม่ถูกไม่ต้อง ไม่สามารถที่จะทำให้สิ่งที่เราหวัง คือความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันนั้นเกิดขึ้นได้"

"พวกเราจึงส่งเสียงร้องให้กระวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นอัยการ ไม่ว่าจะเป็นศาล ขอได้โปรดหันหลังกลับมาทบทวนบทบาท ทบทวนบทบัญญัติของกฎหมาย เพราะสิ่งที่กำลังประพฤติปฏิบัติอยู่นั้น อะไรบ้างที่ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม" รัฐศักดิ์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท