Skip to main content
sharethis

คุยกับ คาเงะ-ธีระวัฒน์ มุลวิไล ผู้กำกับละคร FLU-FOOL ละครที่เล่าประวัติศาสตร์บาดแผลการเมืองไทยช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ด้วยการเดินทางของตัวละครที่เป็น 'ignorance' สู่การตาสว่างทางการเมือง

FLU-FOOL คือการแสดงล่าสุดของกลุ่มละคร B-floor เป็นการแสดงผ่านการเคลื่อนไหวร่างกายด้วยทักษะแบบกายกรรม ประกอบกับสื่อต่างๆ ทั้งวิดีโอ ภาพ และเสียง ของข่าวและเหตุการณ์จริง เพื่อเล่าถึงประวัติศาสตร์บาดแผลการเมืองไทยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา

เวอร์ชั่นแรกของการแสดงนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2553 หลังเหตุสลายชุมนุม โดยใช้ชื่อการแสดงว่า 'Flu O Less Sense’

“เราเล่นหลังจากเหตุการณ์พฤษภา 53 เพิ่งจบใหม่ๆ เดือนกรกฎาเลย เล่นที่โรงละคร Democracy Theater แถวบ่อนไก่ วันแรกที่เราเข้าไปรอยกระสุนปืนยังติดอยู่ที่ผนังอยู่เลย แล้วมีสเปรย์พ่นเขียนว่า 'เขตใช้กระสุนจริง' ซึ่งยังไม่ถูกลบ เซเว่นที่อยู่ข้างหน้าถูกเผา เราก็แสดงกับขี้เถ้า และสิ่งต่างๆ ใดๆ ที่มันเกิดขึ้นจริงในตอนนั้น”

คาเงะ-ธีระวัฒน์ มุลวิไล ผู้กำกับละครเล่าให้ฟัง

การกลับมาใหม่ของการแสดงชุดนี้หลังผ่านไปนาน 10 ปี จึงเป็นเหมือนทั้งภาคต่อที่เกิดขึ้นหลังจากปี 53 และการเสนอมุมใหม่ๆ ที่ต่างไปจากเวอร์ชั่นเดิม

จุดเด่นของการแสดง นอกจากนักแสดงซึ่งเคลื่อนไหวร่างกายกันอย่างไม่หยุดหย่อน ด้วยท่วงท่าที่ปรับเปลี่ยนไปตามแต่ละฉากแต่ละตอน บางครั้งสนุก บางครั้งเศร้า บางครั้งดิ้นรน และบางครั้งก็สลายและตายลง ยังรวมถึงการใช้สัญลักษณ์สื่อความหมายที่ไหลลื่นไปตามฉากที่เปลี่ยน เช่นการใช้ 'จาน’ เพื่อเล่าถึงความเป็นครอบครัว การทำงาน ไปจนถึงการมีชีวิต และไร้ชีวิต รวมทั้งการจำลองภาพเหตุการณ์ทางการเมืองในความทรงจำ เช่น กิจกรรม 'Big Cleaning Day’ ไปจนถึงม็อบของราษฎรในปัจจุบัน

ประชาไทคุยกับ ธีระวัฒน์ เพื่อให้เขาเล่าถึงที่มาที่ไปของการแสดงซึ่งเชื่อมโยงไปถึงเหตุการณ์การเมืองในปัจจุบัน

 


คาเงะ-ธีระวัฒน์ มุลวิไล

ที่มาของ FLU-FOOL

เราอยากทำละครที่เป็นมูฟเมนต์กับแดนซ์ ก่อนหน้านั้นปี 49 มีม็อบพันธมิตร แล้วก็มีรัฐประหาร แล้วม็อบเสื้อแดงก็ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมา แล้วก็มีการปราบปรามในช่วงปี 52-53 ช่วงที่เดือดที่สุดน่าจะเป็นช่วง 53

ตอนนั้นเรากำลังซ้อมละครอยู่ แล้วเรารู้สึกว่าทั้งกรุงเทพฯ มีความตึงเครียด เราเป็นคนทำละครที่อยู่ในกรุงเทพฯ มานาน แล้วเราก็ติดตามสื่อออนไลน์ สื่อทีวี ตอนนั้นโซเชียลมีเดียยังไม่ได้มีเยอะขนาดนี้ ที่ทุกคนสามารถไลฟ์สถานการณ์ตรงหน้าได้ เราก็ติดตาม เริ่มฟังประเด็นคนเสื้อแดงมากขึ้น ขณะเดียวกันเรารู้สึกว่าชนชั้นกลางไม่ได้ต้อนรับคนเสื้อแดง แต่จะคิดว่าเป็นพวกทักษิณ เป็นพวกรากหญ้า เข้ามาก่อม็อบในกรุงเทพฯ

หลังจากนั้นมีการใช้ความรุนแรงกับคนเสื้อแดงมากขึ้นๆ และสำหรับเรามันมี ‘license to kill’ (ใบอนุญาตฆ่า) ผ่านคนชนชั้นกลาง มีเสียงเรียกร้องว่ารัฐบาลทำอะไรสักหน่อยสิ จราจรติดขัดชิบหาย เศรษฐกิจกำลังจะพังพินาศ รัฐบาลซึ่งตอนนั้นคืออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และถูกครหาว่าเป็นรัฐบาลในค่ายทหารก็สั่งให้มี ศอฉ. เกิดขึ้นมา โดยมีสุเทพ เทือกสุบรรณ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้อำนวยการ พอมีการปราบปรามขึ้นมา เราช็อก 

เราเคยผ่านปี 34-35 ตอน รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) เกิดขึ้น ตอนนั้นยังไม่รู้ว่ารัฐประหารคืออะไร รู้แค่ว่าทำให้รถไฟเดินทางมาเชียงใหม่ไม่ได้ แล้วกูเดือดร้อนเพราะกูจะรับน้อง (หัวเราะ) นั่นคือครั้งแรกที่รู้จักว่ารัฐประหารคืออะไร

กลับมาตอนที่เราทำละครเรื่องนี้ เรารู้สึกไม่เห็นด้วย ในละครจะมีหลายช็อต เช่น license to kill, Big Cleaning Day เรารู้สึกว่ามันโคตรเจ็บปวดเลย คุณกำลังทำลายหลักฐาน คุณไม่สนใจเลยว่าจะสืบสวนสอบสวนหาคนผิดยังไง ให้เหตุการณ์นี้มันคลี่คลายยังไง แล้วคนก็ตายฟรีจริงๆ 

โอเค หลังจากนั้นอาจจะมีการเยียวยา แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการขึ้นสู่ชั้นศาลหาว่าใครสั่งฆ่า เมืองไทยเป็นแบบนี้ ขณะที่ประเทศเกาหลีไม่ว่าคดีจะผ่านไปกี่ปีเขาก็ยังนำกลับมาขึ้นศาล แล้วตอนนี้เกาหลีเดินหน้าทางสังคม ประชาธิปไตย เพราะเขาไม่เห็นด้วยกับเผด็จการ แต่สำหรับบ้านเราคนส่วนหนึ่งยังเห็นว่าเผด็จการเป็นอัศวินขี่ม้าขาวอยู่เลย ประเทศฉิบหายไปขนาดนี้ 6 ปี เป็นหนี้ 7 ล้านล้านบาท แต่สลิ่มเงียบกริบ

มันคือประเทศที่อภิสิทธิ์ชนกำลังปกครองอยู่ เขาสามารถ ignorance (เพิกเฉย) ไม่สนใจเสียงของเด็กๆ ที่ออกมาได้ และเราคิดว่าชนชั้นกลางก็ยังเป็นแบบนี้ เราคิดว่าคนเหล่านี้ต้องชิบหายกับตัวเองก่อนถึงจะตาสว่าง

นี่คือที่มาของละครเรื่องนี้คือ Flu O Less Sense ซึ่งเป็นพาร์ทแรก เราพยายามทำให้เป็นแบบ document (เอกสาร, พยานหลักฐาน) ด้วย ทำให้ตัวละคร  ignorance ด้วย แล้วสื่อต่างๆ ค่อยเข้ามา effect (กระทบ) เขา ค่อยเปลี่ยนความคิดเขา จนกระทั่งมาเห็นความรุนแรงมากขึ้น แล้วเขาก็เปลี่ยนตัวเอง เหมือนการเดินทางของคนที่ค่อยๆ ตาสว่าง ค่อยๆ เรียนรู้ รู้แล้วก็รู้เลย ไม่กลับไป

พาร์ทแรกเราเล่นหลังจากเหตุการณ์พฤษภา 53 เพิ่งจบใหม่ๆ เราเล่นเดือนกรกฎาเลย เล่นที่โรงละคร Democracy Theater แถวบ่อนไก่ วันแรกที่เราเข้าไปคือรอยกระสุนปืนยังติดอยู่ที่ผนังอยู่เลย แล้วมีสเปรย์พ่นเขียนว่า เขตใช้กระสุนจริง ยังไม่ถูกลบเลย เซเว่นที่อยู่ข้างหน้าถูกเผา เราก็แสดงกับขี้เถ้า และสิ่งต่างๆ ใดๆ ที่มันเกิดขึ้นจริงในตอนนั้น หลังจากนั้นก็เอาเรื่องนี้ไปเล่นที่ญี่ปุ่นต่อ

พอมาเล่นครั้งนี้ก็มีพาร์ทที่สองเพิ่มเข้ามา ก็เปลี่ยนเยอะ เนื้อหายังคล้ายเดิม แต่เราอยากเอา Document หลังปี 53 แทรกเข้ามาด้วย เพราะ 10 ปีผ่านมาเราก็มีม็อบ มีรัฐประหารอีก หรือแม้กระทั่งคนหาย ทั้งที่ตามเจอและไม่เจอ เล่าผ่านภาพและสัญลักษณ์ แล้วเราก็พยายามหาการเชื่อมร้อยระหว่าง Body movement (การเคลื่อนไหวร่างกาย) กับเชิงสัญลักษณ์ เช่น การเคลื่อนไหวแบบทหาร แบบชนชั้นสูง แบบชนชั้นล่าง หรือความเหลื่อมล้ำ หรือการเปลี่ยนแปลง

 

มีการเอาตำนาน 'อิน จัน มั่น คง' มาใส่ด้วย

พาร์ทสองเราเปิดมาด้วยเรื่องของการนำคนชื่อ อิน จัน มั่น คง ไปฝังก้นหลุม เพื่อเป็นเสาหลักเมือง และบอกว่าต่อไปนี้ให้คุณปกปักษ์รักษาบ้านเมือง ซึ่งมันทำให้เห็นว่า จริงๆ แล้วในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่บอกว่าเราต้องกอบกู้เพื่อชาติ คนที่ตายคือราษฎร มีเจ้าที่ตายบ้างไหม น้อยมาก ราษฎรทั้งนั้นที่ทำให้ประเทศเป็นประเทศ เจ้าเป็นแค่คนนำที่อยู่บนหลังม้าหลังช้าง แต่คนที่ตายจริงๆ คือไพร่ บ้านนี้เมืองนี้เกิดขึ้นจากเลือดเนื้อของราษฎรที่สังเวยชีวิต

แล้วถามว่าทุกวันนี้ทหารต่อสู้กับใคร ต่อสู้อริราชศัตรูเหรอ ไม่ใช่ ต่อสู้กับคนไทยนี่แหละ เพราะฉะนั้นมันคือกระสุนที่หันเข้าใส่ประชาชน เป็นกระสุนฟรีจากภาษีประชาชน นี่คือโครงสร้างของสังคม เป็นโครงสร้างที่กดทับเรามานานแล้ว

ในละครมีซีนการเขียนรัฐธรรมนูญ เราเอาประกาศของคณะราษฎร เอาหลัก 6 ประการมา แต่สุดท้ายมันก็ถูกฉีกจากคนที่นั่งบนรถเข็น หรือซีนที่คนเล่นกีตาร์บนพรมแดงที่ด้านหลังฉายหนังต่อต้านคอมมิวนิสต์ ต่อสู้กับคนจากอีกฝั่งที่ด้านหลังฉายภาพในยุคคอมมิวนิสต์ อันนั้นอยากฉายให้เห็น เหมือนในงานของ อ. ณัฐพล ใจจริง (ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี) แล้วเรารู้สึกว่า CIA ก็คือ Kingmaker นี่แหละ

 

ทำงานกับนักแสดงยังไง

เราค่อนข้างจะทดลองหาสไตล์ไปกับนักแสดง ม้วนหลัง ตีลังกา ลอด คนเราสามารถลอดได้กี่แบบ ก็ให้นักแสดงลองค้นหา แล้วเราก็เลือกให้เข้ากับซีนนั้นๆ ซึ่งตอนทำเรื่องนี้เราบอกนักแสดงว่าต้องการหาความ Nonsense ไม่มีเหตุผล ซีนไม่ต้องต่อกันแบบมีเหตุผล เศร้าเสร็จปุ๊บสนุกได้เลย

 

ทำไมต้องเป็นความ Nonsense

ความป่วยไข้ของสังคม ตรรกะป่วย เราเห็นสิ่งนี้ตลอดเวลา เราอยู่ในสังคมอำนาจนิยม ที่คนทำผิดคือชาวบ้าน แต่คนมีอำนาจ คนรวยไม่เคยทำอะไรผิด เอาชัดๆ คือ คุณบ่นชิบหายเวลารถติด แต่คุณไม่เคยบ่นเวลามีขบวนเสด็จ

 

ทำไมถึงเลือกใช้ 'จาน' ในการแสดง

มันคือ every day life พอเป็นจานเราจะนึกถึงบ้าน ครอบครัว พื้นที่ปิด แล้วเราก็สนใจเรื่องเสียงของมันเวลากระแทกโต๊ะแล้วมันเหมือนเสียงปืน แล้วมันก็ transform (แปรเปลี่ยน) ไปได้เรื่อยๆ กลายเป็นชีวิต กลายเป็นไม่มีชีวิต กลายเป็นขยะสำหรับอีกคน

 

เห็นมีหลายฉากพูดเป็นนัยถึงชนชั้นนำ

เรารู้สึกว่ามันเป็นภาวะพังทลาย เหมือนคำกล่าวที่ว่า สภาวะ chaos (ความโกลาหล, ความยุ่งเหยิง) มันเกิดขึ้นจากสิ่งเก่าที่ยังไม่ตาย สิ่งใหม่ที่ยังไม่เกิด ระบบเก่าดิ้นรน แต่ก็ไม่ปรับตัว ประเด็นคือมันกำลังจะตาย ตายด้วยสิ่งที่เขาทำนั่นแหละ เราไม่ได้พูดอะไรใหม่เลย แค่เก็บสิ่งที่เขาทำมาแบให้ดู เพราะมันมีหลายอย่างที่ไม่เมคเซนส์ ขณะที่เศรษฐกิจย่ำแย่แบบนี้ คนจนลงๆ แต่หลายครอบครัวรวยขึ้นๆ จากเงินภาษีเรา 

 

 

คิดว่าเวลาอยู่ข้างเราไหม

มันอยู่ข้างเราตลอดเวลา แต่ก็อยู่ข้างเขาด้วยเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่เรารู้สึกว่ามันอีกยาว การที่ม็อบตอนนี้ transform ให้มันมีความสนุกสนาน เป็น everyday life มันคือความเป็นจริงที่สุด เพราะเขา ignore เรา เขาจะเล่นไม้แข็งกับเราตลอด แต่สิ่งที่ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ ความแข็งของเขา ก็คือความล้อเล่น เหลวไหล ตลกขบขัน ทำให้อำนาจไม่น่ากลัว นี่คือสิ่งที่ม็อบทำ 

อย่าลืมว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาคนตกอยู่สภาวะความกลัวเยอะมาก หลังปี 57 คนที่ออกมาต่อต้านก็โดนคดี แค่ยืนเฉยๆ ก็โดน ทำแคมเปญชวนคนมา คนแทบไม่มาเลย จนกระทั่งปีนี้เองที่เด็กๆ เริ่มมา แล้วมันจุดติด ตอนแรกคิดว่าเขาอาจจะไม่กล้าทำอะไร แต่ตอนนี้หมายศาลก็มาถึงเด็กแล้ว

เอาเข้าจริงเราสู้กับระบบ เราพูดถึงโครงสร้าง การเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง กฎหมาย อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญปี 60 ทำให้กลไกของสถาบันมีอำนาจมากขึ้น เช่น การถ่ายโอนทรัพย์สิน การถ่ายโอนกำลังพล นี่ไม่ใช่ตัวบุคคล แต่คือโครงสร้าง คุณรักได้แต่ต้องไม่ปิดตาตัวเอง

บางคนเขาบอกว่าแผ่นดินเป็นของท่านอยู่แล้ว ซึ่งอันนี้มันเหมือนมองกันคนละ mindset (ความคิด) สิ่งที่เรามองเรามองที่หลักฐานเชิงประจักษ์มากกว่า เรารู้จัก 2475 มากขึ้น รู้จัก 14 ตุลา 6 ตุลา มากขึ้น แล้วเราก็พบว่าเราไม่เคยรู้ประวัติศาสตร์ 80 ปีที่ผ่านมาเลย เราเริ่มเรียนประวัติศาสตร์จากพระนเรศวรแล้วก็รู้แค่นั้นตอนเรียน แต่ทุกวันนี้หนังสือที่เด็กอ่านคือฟ้าเดียวกัน ซึ่งมันเป็นอาหารสมองชั้นดี มันเป็นความรู้ทางเลือก มันมีหลักฐาน พิสูจน์ได้ 

 

FLU-FOOL (2020 edition)

การแสดงอันเป็นบทบันทึกและภาพปะต่อจากม็อบเสื้อแดง 53 ถึงคณะราษฎร 63 ว่าด้วยความจริง ความลวง เรื่องลี้ลับ และคนเฉย FLU - 'Flu O Less Sense ไข้ประหลาดระบาดไทย' บทบันทึกเหตุการณ์กลางปี 53 ที่เกิดเหตุไข้ประหลาดระบาดไปทั่วสังคมแต่ระงับไว้? โดยศอฉ. ความป่วยนี้มันเจ็บจนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าสังคมนี้ยังเหลืออะไรที่ make sense อยู่บ้าง กลัวจะไม่จ้าพอ มาต่อด้วยงานเต้นแบบปะต่อว่าด้วยอาณาจักรแห่งความโง่ - FOOL กับเรื่องที่สอง Fool Alright โง่ โอเค!... ก็โอเคไง ก็มันโอเค

วัน : 10, 11, 12, 13 ธันวาคม

เวลา : 19.00 น.

ความยาว : 1 ชั่วโมง 45 นาที (พักระหว่างเรื่อง 15 นาที)

สถานที่ : สตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ราคา : บุคคลทั่วไป 700 บาท

นักเรียนนักศึกษา 550 บาท

หมู่คณะ 10 คนขึ้นไป 500 บาท

ทางไปจอง inbox มาหาเรา หรือโทร 094-494-5104

มาสกัดเชื้อให้หายป่วยกับการแสดงผสมมัลติมีเดีย มันส์สุดติ่งส่งท้ายปีของบีฟลอร์ เพียง 5 รอบการแสดง!

FLU-FOOL

"To Fool or not to Fool that is the FLU"

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net