รัฐบาลนิวซีแลนด์ประกาศวิกฤตภูมิอากาศเป็น "ภาวะฉุกเฉิน"

ประเทศนิวซีแลนด์ประกาศให้เรื่องวิกฤตภูมิอากาศหรือโลกร้อนเป็นปัญหาในระดับ "ภาวะฉุกเฉินทางภูมิอากาศ" รวมถึงให้สัญญาว่าจะทำให้ภาคส่วนของรัฐบาลเป็นภาคส่วนปราศจาคการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศภายในปี 2568 นี้ โดยมีการใช้งบประมาณหนุน 200 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ (ราว 4,200 ล้านบาท)
 

2 ธ.ค. 2563 นายกรัฐมนตรี จาซินดา อาร์เดิร์น เปิดเผยในที่ประชุมสภาเมื่อกลางสัปดาห์ก่อนหน้านี้ว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ เป็นการเล็งเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อคนรุ่นถัดไป เป็นการเล็งเห็นว่าปัญหาเหล่านี้จะกลายเป็นสิ่งที่คนรุ่นถัดไปต้องแบกรับถ้าหากยังไม่มีการทำอะไรตั้งแต่ตอนนี้

ภาพจากบันทึกวิดีโอการประชุมสภานิวซีแลนด์เมื่อ 2 ธ.ค.2563

มีการโหวตเกี่ยวกับญัตติเรื่องวิกฤตภูมิอากาศในรัฐสภานิวซีแลนด์โดยผลโหวตออกมาว่าฝ่ายสนับสนุนมีคะแนน 76 โหวต ฝ่ายคัดค้านมีคะแนน 43 โหวต ญัตติดังกล่าวนี้ต้องการให้เล็งเห็นว่าปัญหาเรื่องวิกฤตภูมิอากาศนั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในยุคสมัยของพวกเราและนิวซีแลนด์เองก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมถึงมีชนิดของสัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ลดจำนวนลงจากผลกระทบโลกร้อน

อาร์เดิร์นแถลงในรัฐสภาว่า ด้วยเหตุนี้เองพวกเขาถึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเรื่องสิ่งแวดล้อมเพราะเรื่องนี้มีผลกระทบเป็นภัยต่อชีวิต เป็นภัยต่อทรัพย์สิน และเป็นเรื่องที่ฉุกเฉินในแบบที่ต้องมีการคุ้มครองประชาชน และถ้าไม่มีการแก้ไขปัญหาวิกฤตภภูมิอากาศพวกเขาก็ต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตต่างๆ ไปเรื่อยๆ

นอกจากนิวซีแลนด์แล้วก่อนหน้านี้ยังเคยมีประเทศอื่นๆ 32 ประเทศที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านวิกฤตภูมิอากาศ เช่นประเทศญี่ปุ่น, แคนาดา, ฝรั่งเศส และอังกฤษ

อย่างไรก็ตามในการโหวตครั้งนี้ พรรคฝ่ายค้านคือพรรคแห่งชาติของนิวซีแลนด์โหวตคัดค้านญัตติของอาร์เดิร์น และวิจารณ์ว่าญัตติของอาร์เดิร์นในครั้งนี้จัดเป็นแค่ "การสร้างภาพให้ตัวเองดูดี" ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน จูดิธ คอลลินส์ กล่าวว่าการประกาศภาวะฉุกเฉินในเรื่องนี้อาจจะกลายเป็นความเสียหายจากการที่ "ทำให้คนคิดว่ามีอะไรเกิดขึ้น แต่จริงๆ แล้วไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้น"

อาร์เดิร์น จากพรรคแรงงานพรรคฝ่ายซ้ายกลางของนิวซีแลนด์เพิ่งชนะเลือกตั้งเป็นสมัยที่สองเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ในสมัยแรกเธอเคยผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์มาก่อน โดยกำหนดขอบข่ายงานการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ในภาคส่วนต่างๆ ภายในปี 2593 เว้นแต่ภาคส่วนการเกษตร รวมถึงจะสั่งห้ามการสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทางทะเลด้วย

โดยที่ในนิวซีแลนด์นั้นเกือบครึ่งหนึ่งของภาคส่วนที่ก่อก๊าซเรือนกระจกคือภาคส่วนการเกษตรซึ่งโดยหลักๆ แล้วคือการก่อให้เกิดมีเทน

รัฐบาลมีมติในสัปดาห์ที่แล้วว่าจะทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศเป็นศูนย์ภายในปี 2568 โดยที่ภาครัฐจะคอยตรวจวัดและรายงานเรื่องการปล่อยก๊าซเหล่านี้และหาวิธีชดเชยการปล่อยก๊าซที่ไม่อาจตัดทิ้งได้ภายในปี 2568 โครงการนี้จะใช้งบประมาณประมาณ 200 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ (ราว 4,200 ล้านบาท) เพื่อเป็นงบประมาณในการหาแหล่งพลังงานทดแทนถ่านหินและช่วยซื้อยานยนต์ไฟฟ้ากับยานยนต์ไฮบริดจ์

องค์กรสิ่งแวดล้อมกรีนพีชแสดงความยินดีต่อการประกาศของรัฐบาลนิวซีแลนด์ในครั้งนี้ แต่ก็ท้าทายให้รัฐบาลต้องกระทำตามนโยบายที่ตัวเองวางไว้จริงด้วย โดยที่เคท ซิมคอร์ก นักรณรงค์ด้านโลกร้อนและเกษตรกรรมของกรีนพีซชี้ว่านิวซีแลนด์ต้องแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคส่วนเกษตรกรรมของพวกเขาเองด้วย เธอพูดเปรียบเปรยว่า "เมื่อบ้านกำลังไฟไหม้ ไม่มีประโยชน์ที่จะแค่กดปุ่มสัญญาณเตือนโดยไม่ได้ช่วยดับไฟ"

ทั้งนี้ยังมีนักวิจารณ์ที่มองว่ารัฐบาลอาร์เดิร์นยังทำไม่มากพอที่จะสมกับภาพลักษณ์ด้านการดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีและสะอาด กลุ่มไคลเมทแอกชันแทร็กเกอร์ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์อิสระที่ทำการตรวจวัดผลประเมินผลนโยบายภูมิอากาศจัดให้นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่ดำเนินนโยบายเกี่ยวกับภูมิอากาศได้ "ไม่เพียงพอ" ที่จะเข้าถึงเป้าหมายของความตกลงปารีสด้านวิกฤตภูมิอากาศที่ออกมาในปี 2558

 

เรียบเรียงจาก

New Zealand declares climate emergency, Aljazeera, 02-12-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท