Skip to main content
sharethis

กระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ เครือข่ายโรงเรียนแพทย์ และ สปสช. ร่วมลงนาม MOU พัฒนาระบบ จัดบริการรองรับ ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างมีคุณภาพและมาตรฐานเพิ่มขึ้น รักษาต่อเนื่องโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ด้านบอร์​ด สปสช. เพิ่ม 6 สิทธิประโยชน์ให้ผู้ใช้บัตรทอง ‘ปลูกถ่ายตับ-ตรวจยีนเกาต์-อุปกรณ์ปอด-หัวใจเทียม-ตรวจแลบวัณโรค-คัดกรองการได้ยินเด็กแรกเกิด-ประสาทหูเทียม 

ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการฯ – เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการร่วมพัฒนาระบบบริการเพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็ง โดยมีสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นสักขีพยาน 

อนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง เพื่อให้คนไทยเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นและลดภาวะล้มละลายของครัวเรือนจากค่ารักษาพยาบาลที่เห็นผลเป็นรูปธรรม พร้อมสนับสนุนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  โดยบริการ “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหน ก็ได้ที่พร้อม” เริ่มในวันที่ 1 มกราคม 2564 นี้ เป็น 1 ใน 4 บริการใหม่ตามนโยบาย “ยกระดับบัตรทอง สู่ระบบหลักประกันสุขภาพยุคใหม่” ที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563  เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน  เป็นอีกหนึ่งความท้าทายในก้าวย่างที่สำคัญของระบบบัตรทอง จากความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และ สปสช. ได้นำมาสู่การลงนามบันทึกความร่วมมือในวันนี้ 

จุดเริ่มต้นของนโยบายนี้ เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นภาวะเจ็บป่วยที่ซับซ้อนและต้องรับการรักษาโดยเร็ว เพื่อไม่ให้ลุกลาม โดยโรคมะเร็งบางชนิดรักษาให้หายขาดได้ถ้าได้รับบริการทันท่วงที แต่ที่ผ่านมาด้วยขั้นตอนการส่งตัวบางครั้งอาจทำให้การเข้าถึงการรักษาล่าช้าและเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้ปัญหาจนนำมาสู่นโยบายนี้  ไม่เพียงแต่เพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการให้กับผู้ป่วยมะเร็ง ลดระยะเวลาการรอคอย แต่ยังทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีคุณภาพและมาตรฐานเพิ่มขึ้น ได้รับการรักษาต่อเนื่องโดยไม่ต้องมีใบส่งตัว 

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ปีละ 122,757 ราย และเสียชีวิตปีละ 80,665 ราย จากนโยบายโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม กระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมระบบบริการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งในเขตสุขภาพทั้ง 13 เขต โดยปรับระบบบริการให้สอดคล้องกับบริบท ศักยภาพ และทรัพยากรที่มีในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อรองรับนโยบายดังกล่าวได้ และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งสามารถเลือกไปรับการรักษาในหน่วยบริการใกล้บ้านที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการให้บริการโรคมะเร็ง แพทย์ผู้วินิจฉัยจะส่งข้อมูลผู้ป่วยมายังศูนย์ประสานการส่งต่อโรคมะเร็ง เพื่อจัดหาโรงพยาบาลที่มีศักยภาพรักษามะเร็ง และไม่แออัดให้แก่ผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีคุณภาพมาตรฐาน ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลาการรอคอยในการรับบริการรักษา และได้รับการรักษาที่ต่อเนื่อง โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวเหมือนในอดีต 

นอกจากนี้กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติได้พัฒนาโปรแกรม Thai Cancer-based เป็นเครื่องมือช่วยส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้แพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยแบบไร้รอยต่อ รวมทั้งพัฒนาแพลทฟอร์มThe ONE ช่วยสืบค้นข้อมูลและประเมินศักยภาพการให้บริการของโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ โดยโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศสามารถจองคิวการตรวจทางรังสีวินิจฉัย จองคิวการรักษาด้วยรังสีรักษาและเคมีบำบัดผ่านแพลทฟอร์มนี้ได้โดยตรง นอกจากนี้ยังได้พัฒนาโปรแกรม DMS Bed Monitoring เพื่อใช้บริหารจัดการเตียง รวมทั้งพัฒนาแอปพลิเคชันDMS Telemedicine ที่ใช้นัดคิวเพื่อขอรับคำปรึกษาทางไกลจากแพทย์ (Tele-Consult) ในการนัดรับยา โดยผู้ป่วยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวอีกต่อไป 

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า  ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีหน่วยบริการรักษาโรคมะเร็งในระบบกระจายทั่วทุกเขต เป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านรังสีรักษา 36 แห่ง และหน่วยบริการรับส่งต่อทั่วไปด้านเคมีบำบัด 164 แห่ง เพื่อให้บริการผู้ป่วยโรคมะเร็ง และในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา หลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้สนับสนุนการจัดบริการยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home chemotherapy) สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ ปัจจุบันมีหน่วยบริการที่ให้บริการยาเคมีบำบัดที่บ้าน 7 แห่ง  คือ โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี และโรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี  นอกจากนี้ สปสช. ได้เตรียมระบบการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมเพื่อรองรับนโยบายดังกล่าว  

นโยบายโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อมเกิดจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และ สปสช. โดยมีเครือข่ายภาคประชาชนจะเป็นกลไกสำคัญในสื่อสารข้อมูล ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข และช่วยขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ก้าวหน้าต่อไป 

ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็งไทย (Thai Cancer Society) เปิดเผยว่า การจัดระบบบริการโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อมสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 ในฐานะเครือข่ายผู้ป่วยต้องขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้มีนโยบายออกมาช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง สอดคล้องกับนโยบายเดิมที่ว่าใกล้บ้านใกล้ใจ ซึ่งผลักดันให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาในเขตพื้นที่บริการใกล้บ้าน โดยมีญาติคอยดูแลอยู่ใกล้ๆ 

‘บัตรทอง’ เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ 6 รายการ 

ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ซึ่งมี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. เป็นประธาน มีมติเห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) อีก 6 รายการ ตามการเสนอโดยคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข โดยมี รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธาน  

ทั้งนี้ประกอบด้วย 1. การผ่าตัดปลูกถ่ายตับในผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะกลางและระยะท้าย โดยระบบบริการในประเทศไทยมีศักยภาพในการปลูกถ่ายได้ปีละ 100 ราย ขณะที่การคาดการณ์ความต้องการของผู้ป่วยอยู่ที่ปีละ 50 ราย แต่เบื้องต้นบอร์ด สปสช. ตั้งเป้านำร่องให้บริการปีละ 25 รายก่อน คิดเป็นงบประมาณ 17.5 ล้านบาท 2. การตรวจยีน HLA-B* 5801 ก่อนให้ยา Allopurinol ในผู้ป่วยโรคเกาต์รายใหม่ โดยประเทศไทยมีผู้ป่วยเกาต์รายใหม่ปีละ 8,200ราย คาดว่าจะใช้งบประมาณสำหรับตรวจทางห้องปฏิบัติการปีละ 8.2 ล้านบาท  

3. รายการอุปกรณ์ Extracorporeal Membrane Oxygenator (ECMO) ในการรักษาภาวะหัวใจ และ/หรือ ปอดล้มเหลวเฉียบพลัน โดยประมาณการณ์จำนวนผู้รับบริการตั้งต้นปีที่ 1 จำนวน 300 ราย ขณะที่คาดว่าค่าใช้จ่ายในปีแรกอยู่ที่จำนวน 26 ล้านบาท 4. การคัดกรองและวินิจฉัยวัณโรคด้วยการตรวจเอกซเรย์ปอดในทุกกลุ่มเสี่ยง และการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธี Molecular assay  ได้แก่ Real-time PCR (Xpert MTB/RIF), Real-time PCR MTB/MDR, TB-LAMP, LPA โดยกลุ่มเสี่ยงวัณโรค ได้แก่ ผู้สัมผัสวัณโรค ผู้ต้องขัง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้สูงอายุ จำนวน 1.098 ล้านราย คาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 725 ล้านบาท  

5. การตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิดกลุ่มเสี่ยง โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ที่ 30,434 คน ประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายไว้ 12.33 ล้านบาท และ 6. รายการอุปกรณ์ประสาทหูเทียมชนิด Rechargeable สำหรับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ที่มีระดับการได้ยิน 90 dB ขึ้นไป และไม่เคยฝึกภาษามือ โดยคาดว่ามีกลุ่มเป้าหมายราว33 คน ขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างต่อรองราคาค่าประสาทหูเทียมให้ต่ำกว่าชุดละ 6 แสนบาท  

นอกจากสิทธิประโยชน์ 6 รายการแล้ว บอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบหลักการกรณีใช้น้ำมันกัญชาในผู้ป่วยโรคมะเร็ง พาร์กินสัน และไมเกรน และสารสกัดกัญชาในผู้ป่วยโรคลมชัก และมะเร็งระยะท้าย วงเงิน 58.3 ล้านบาท ซึ่งจะนำเข้าสู่คณะกรรมการพัฒนายาหลักแห่งชาติต่อไป ทั้งหมดนี้เป็นเหมือนของขวัญเพิ่มเติมสำหรับประชาชน นอกจากนโยบายยกระดับบัตรทองใน 4 บริการ อันประกอบด้วย ประชาชนที่เจ็บป่วยไปรับบริการกับหมอประจำครอบครัวในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ (รักษาทุกที่ ณ เครือข่ายหน่วยบริการชุมชนอบอุ่น) นำร่องในเขต 13 กทม. ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว ที่นำร่องที่เขต 9 นครชัยบุรินทร์ โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม และย้ายหน่วยบริการ เกิดสิทธิทันที ไม้ต้องรอ 15 วัน ที่จะเริ่มใช้พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2564 ที่เป็นของขวัญปีใหม่จากรัฐบาลตั้งใจมอบให้ประชาชน วงเงิน 1,453 ล้านบาท   

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ในครั้งนี้ ผ่านการศึกษาทางวิชาการและประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ทั้งมิติของประสิทธิผลและต้นทุน ตลอดจนพิจารณาความพร้อมของระบบบริการ แนวทางการปฏิบัติ (Guideline) รวมถึงข้อพิจารณาเชิงจริยธรรมอย่างละเอียดถี่ถ้วน ยืนยันว่า สปสช.จะใช้งบประมาณประเทศชาติและภาษีประชาชนอย่างคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ เพื่อให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองได้รับประโยชน์มากที่สุด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net