Skip to main content
sharethis
  • กลุ่ม 24 มิถุนายื่นหนังสือขอยุติคดีผู้ชุมนุมและยกเลิกมาตรา 112
  • ตัวแทนยื่นหนังสือชี้ ยกเลิก ม.112 เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ร่วมกับสังคมไทยอย่างสง่างาม
  • นอกเครื่องแบบขยัน ตามเก็บข้อมูลพระสงฆ์หลังปราศรัยเรื่อง ม.112
  • ตร. วางคอนเทนเนอร์-รั้วลวดหนามปิดถนน

10 ธ.ค. 2563 กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยนัดยื่นหนังสือที่องค์การสหประชาชาติเพื่อรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขณะที่ตำรวจวางตู้คอนเทนเนอร์และรั้วลวดหนามหีบเพลงปิดถนนใกล้องค์การสหประชาชาติ

กลุ่ม 24 มิถุนายื่นหนังสือขอยุติคดีผู้ชุมนุมและยกเลิกมาตรา 112

ประมาณ 09.30 น. บริเวณสำนักงานองค์การสหประชาชาติ เจ้าหน้าที่ตำรวจวางตู้คอนเทนเนอร์บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ด้านหลังแนวคอนเทนเนอร์ มีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ผูกผ้าพันคอสีเขียวและสีม่วงราว 200-300 นายประจำการ

ด้านสะพานเทเวศรนฤมิตร กลุ่ม We Volunteer หรือวีโว่ ช่วยประชาชนรื้อลวดหนามบนสะพานเนื่องจากประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ค้า ได้รับความเดือดร้อนจากการสัญจรข้ามสะพาน ก่อนปะทะคารมกันเล็กน้อยกับตำรวจที่มาไล่ โดยตำรวจแจ้งว่าจะดำเนินคดี ทำให้ประชาชนและกลุ่มวีโว่ ตะโกนด้วยความไม่พอใจ

ประมาณ 10.40 น. ตัวแทนกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยเข้ายื่นหนังสือถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ขอให้กดดันรัฐบาลไทยให้ยุติการดำเนินต่อผู้ชุมนุมและยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ก่อนเคลื่อนขบวนไปที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ประมาณ 12.30 น.

เรื่อง ขอเรียกร้องให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กดดันรัฐบาลไทยให้ยุติการดำเนินคดีต่อนิสิต นักศึกษา และประชาชน ที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ตามสิทธิเสรีภาพแห่งรัฐธรรมนูญ และหลักสิทธิมนุษยชนสากล และการยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112

ในประเทศไทยได้มีประชาชนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่ในอดีต ซึ่งแต่ละครั้งนำมาซึ่งการถูกกลั่นแกล้ง และปราบปรามประชาชน โดยใช้กฎหมายโดยรัฐมาโดยตลอดจนกระทั่งมาถึง ปัจจุบัน ในขณะที่การชุมนุมเรียกร้องโดยสงบสันติและปราศจากอาวุธนั้น เป็นสิทธิเสรีภาพที่พึงกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ และหลักสิทธิมนุษยชนสากล

หลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการรัฐประหารทำลายระบอบประชาธิปไตย ได้มีการร่าง รัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการ และทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญอย่างไม่เป็นธรรม นักกิจกรรมทางการเมืองที่ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ และแสดงความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ตามสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก กลับถูกจับและดำเนินคดี

ในขณะเดียวกัน การบริหารประเทศในยุคพลเอกประยุทธ์ จันโอชา ก็มีแต่ความล้มเหลว เอื้อประโยชน์ต่อ นายทุนและพวกพ้อง สร้างความเหลื่อมล้ำ และมีคนยากจนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงสถาบันทางกฎหมายและระบบยุติธรรมก็ห่างไกลจากหลักนิติรัฐและนิติธรรม

หลังจากมีการออกมาชุมนุมของนิสิต นักศึกษา และประชาชน เพื่อเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพลาออก ให้รัฐสภาเปิดประชุมวิสามัญรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เจ้าหน้าที่รัฐได้มีการใช้กฎหมายมาตราต่างๆ แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมาก และในเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา เริ่มมีการกลับมาใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 ในการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมทางการเมือง หลังจากไม่ได้มีการใช้มานานกว่าสองปี

อนึ่ง กฎหมายอาญา มาตรา 112 ระบุว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี" ซึ่งไม่มีขอบเขตระบุถึงการบังคับใช้ที่แน่นอน ในอดีต ผู้ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหามักไม่ได้รับการประกันตัวในขณะที่ศาลยังไม่พิพากษา ถึงแม้จะมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และไม่มีท่าทีว่าจะหลบหนีก็ตาม ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญ และตามหลักสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงบทบัญญัตินี้ ยังเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ประมุขของรัฐและสถาบันกษัตริย์ อันเป็นสถาบันทางการเมืองหนึ่งของรัฐอีกด้วย

เราจึงขอเรียกร้องให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกดดันรัฐบาลไทยให้ยุติการดำเนินคดีต่อ นิสิต นักศึกษา และประชาชน ที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยตามสิทธิเสรีภาพแห่งรัฐธรรมนูญ รวมถึงการยกเลิก กฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันเป็นกฎหมายที่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการ แสดงความคิดเห็น และมีบทลงโทษที่รุนแรง ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนโดยเร็ว

ตัวแทนยื่นหนังสือชี้ ยกเลิก ม.112 เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ร่วมกับสังคมไทยอย่างสง่างาม

สินภัทร คัยนันท์ หนึ่งในผู้แทนเข้ายื่นหนังสือกล่าวว่า การมาวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ UN หรือ UNHRC กดดันรัฐบาลไทยเรื่องการดำเนินคดีกับนิสิต นักศึกษา ประชาชนและแกนนำต่างๆ และให้ยกเลิก ม.112 ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน โดยหลักการสิทธิและเสรีภาพ การวิจารณ์สถาบันการเมืองต่างๆ ควรกระทำได้

สมยศ พฤกษาเกษมสุข จากกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยกล่าวว่า มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่ล้าหลัง ปิดกั้นสิทธิ เสรีภาพการแสดงออกซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และยังมีการใช้เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม ทั้งนี้ ประมุขรัฐก็มีรายรับจากภาษี มีตำแหน่งประมุขตามรัฐธรรมนูญ จึงควรที่จะตรวจสอบและวิจารณ์ได้ เพื่อให้ประชาชนคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับสถาบันฯ ถ้ายกเลิก มาตรา 112 องค์กรประมุขรัฐจะได้มีโอกาสทำความเข้าใจกับประชาชน เป็นผลดีให้สถาบันมีศีลธรรม ทศพิธราชธรรม อยู่กับสังคมไทยได้อย่างสง่างาม การเมืองก็จะก้าวหน้าขึ้น

สมยศกล่าวว่า หลังจากวันนี้ก็จะติดตามกระบวนการหลังยื่นหนังสือไปเรื่อยๆ และจะมีการเคลื่อนไหวที่เป็นการชุมนุมทั้งในประเทศและนานาชาติ กลุ่ม 24 มิถุนาฯ จะส่งจดหมายให้ภาคประชาชนทั่วโลกทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชน แรงงาน และภาคประชาชนต่างๆ ให้ร่วมกันแสดงการสมานฉันท์สากล และในเดือน พ.ค. ที่จะมีการประชุมผู้นำสหประชาชาติอย่างเป็นทางการที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็กำลังรวบรวมปัจจัย ประสานทางสวิตเซอร์แลนด์เพื่อส่งตัวแทนร่วมประท้วงด้วย

ต่อข้อกังวลเรื่องการโจมตีสถาบันกษัตริย์หากยกเลิก มาตรา 112 สมยศกล่าวว่า ส่วนนั้นไม่ต้องกังวลใจ เพราะมีกฎหมายหมิ่นประมาทอยู่แล้ว สำหรับผู้ที่ทำการดูหมิ่นจริงๆ ก็สามารถใช้สิทธิในการปกป้องตนเองในรูปของคดีหมิ่นประมาทได้ การยกเลิก มาตรา 112 ต่างหากที่จะคลายกังวลได้ เพราะสำนักพระราชวังก็จะได้มีโอกาสชี้แจงแก้ไขข้อมูลที่เป็นเท็จ

สมยศมองว่า การนำ มาตรา 112 มาดำเนินคดีอีกครั้งจะนำมาซึ่งการเผชิญหน้าระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชน กระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นตัวแทนของกษัตริย์ เพราะทำการตัดสินในพระปรมาภิไธยจะให้ความยุติธรรมกับจำเลยหรือไม่ ซึ่งหากไม่ให้สิทธิประกันตัว หรือออกหมายจับทันที ก็จะสะท้อนถึงความไม่ยุติธรรม ไม่ถือว่าเป็นการดีกับรัฐบาลและพระมหากษัตริย์

นอกเครื่องแบบขยัน ตามเก็บข้อมูลพระสงฆ์หลังปราศรัยเรื่อง ม.112

พระจิระสุโภขึ้นปราศรัยหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติว่า บทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เหมือนมาตรา 116 ตรงที่ หากการพูดนั้นขัดคุณค่าของสถาบันที่เกี่ยวข้อง ต่อให้จริงหรือไม่จริงก็ถือว่ามีความผิด แต่มาตรา 112 ถือว่าน่ากลัวกว่าด้วยเหตุผลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตีความกฎหมายกว้างขวาง หรือตีความคำว่า 'อาฆาตมาดร้าย' หรือ 'ดูหมิ่น' สมมติว่าถ้าจะพูดถึง หรือรื้อคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ แต่ไม่มีเจตนาอาฆาตมาดร้าย แบบนี้ถือว่าผิดหรือไม่ เช่นการตั้งคำถามกรณีสวรรคตของนัชกาลที่ 8 ของอานนท์ นำภา (ที่การชุมนุม 19 ก.ย.) หรือกรณี 14 ตุลาฯ หรือ 6 ตุลาฯ โดยไม่มีเจตนาอาฆาตมาดร้านนั้นผิดอย่างไร การที่รุ้ง (ปนัสยา) อ่านคำปราศรัยถึงวชิราลงกรณ์ (ที่การชุมนุม 19 ก.ย.) แปลว่าอาฆาตมาดร้ายหรือไม่

พระจิระสุโภกล่าวว่า กรณีต่างประเทศอย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของฮิตเลอร์นั้นมีการชำระจนโลกเข้าใจว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้นไม่ดี รู้จักสัญลักษณ์สวัสดิกะ แต่กรณีไทยนั้น คนที่สั่งฆ่าประชาชนเป็นใครเรายังไม่รู้เลย เพราะมีกฎหมายเหล่านี้ปิดปากอยู่

พระจิระสุโภกล่าวต่อไปว่า ชนวนที่ทำให้ออกมาพูดเพราะมีรุ่นน้องชื่อเดียร์ รวิศรา นิสิตจุฬาฯ ที่อ่านแถลงการณ์หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมันแล้วก็โดนหมายเรียก หลายคนบอกว่าไม่ควรออกมาให้กำลังใจรุ่นน้อง เพราะเป็นพระ แต่คิดว่าถ้าศาสนาเป็นตัวแทนความดี ศาสนาอยากบ่มเพาะให้คนมีมนุษยธรรม การไปให้กำลังใจกัลยาณมิตรก็ถือว่าทำได้ ศาสนาควรต่อต้านกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เราทำเพื่อน้องที่รู้จัด เพื่อสังคม ถ้าไม่ทำวันนี้จะทำวันไหน หมดเวลาแล้วสำหรับกฎหมายที่รักษาอภิสิทธิ์ให้คนกลุ่มเดียว อยากชวนเซฟเดียร์ กระจายข่าวเรื่องเดียร์ด้วยนอดจากแกนนำที่ถูกดำเนินคดี

นอกจากนี้ พระจิระสุโภให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว หลังเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าถามข้อมูลชื่อและวัดขณะให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ขณะที่ให้สัมภาษณ์ช่องเฟรนด์ทอล์ก มีชายใส่ชุดดำ 2 คนเดินมาข้างหลัง ถามว่าหลวงพี่มาจากไหน วัดไหน จากนั้น พี่ๆ รอบตัวก็บอกเราว่าแบบนี้คือการคุกคาม หลายคนก็เข้ามาช่วย ส่วนตัวไม่ได้พูดอะไรผิด ก็พูดไปตามข่าว ตามข้อมูลที่ได้รับมา เป็นการวิจารณ์กฎหมายทั่วไป

ชายชุดดำไม่แจ้งสังกัด เดินเข้ามาถามข้อมูลพระจิระสุโภขณะให้สัมภาษณ์กับประชาไท

พระจิระสุโภยอมรับว่ากังวล แต่ก็จะยังออกมาแสดงออกทางการเมืองเรื่อยๆ เหมือนเดิม เว้นแต่ช่วงนี้ที่บวชอยู่ ก็คงจะออกมาเพียงสองสามวันนี้ เพราะเรื่องมาตรา 112 เป็นเรื่องเร่งด่วน เป็นเรื่องที่ลิดรอนเสรีภาพ รุ่นน้องของตัวเองก็โดนหมายเรียกมาตรา 112 ไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะที่กิจกรรมหน้าองค์การสหประชาชาติดำเนินไป มีเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและทหารนอกเครื่องแบบมาสอบถามข้อมูลของพระจากผู้สื่อข่าวเช่นกัน

ตร. วางคอนเทนเนอร์-รั้วลวดหนามปิดถนน

สำนักข่าวไทยรายงานว่า กลางดึกวันที่ 9 ธ.ค. 2563 เจ้าหน้าที่นำตู้คอนเทนเนอร์ ลวดหนามหีบเพลง มาวางปิดถนนเป็นแนวกั้น บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ด้านข้างสำนักงานองค์การสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก พร้อมกับนำรั้วลวดหนามหีบเพลงมาวางเป็นแนวอีกชั้น

ส่วนอีกจุดใกล้กัน บริเวณแยกประชาเกษม มุ่งหน้าถนนนครราชสีมา เจ้าหน้าที่นำตู้คอนเทนเนอร์มาวางปิดถนนด้วยเช่นเดียวกันหลังจากที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการนัดชุมนุมกันที่หน้าสำนักงานยูเอ็นในวันที่ 10 ธ.ค. 2563 ตั้งแต่ 10.30 น. เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อสหประชาชาติและนานาชาติ กดดันรัฐบาลไทยให้ยกเลิกมาตรา 112 และยุติการดำเนินคดีกับกลุ่มราษฎรทุกคน

ด้าน พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) แจ้งเตือนประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน เกี่ยวกับเส้นทางการจราจรที่อาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุมในวันที่ 10 ธ.ค. 2563 โดยขอให้หลีกเลี่ยงเส้นทาง 6 เส้นทาง ตั้งแต่ช่วง 04.00 น. ไปจนเสร็จสิ้นการชุมนุม ได้แก่ ถ.ลูกหลวง ตั้งแต่แยกเทเวศร์–แยกเทวกรรม ถ.สามเสน ตั้งแต่แยกเทเวศร์–แยกสี่เสาเทเวศร์ ถ.นครราชสีมา ตั้งแต่แยกประชาเกษม–แยกวังแดง ถ.ราชดำเนินนอก ตั้งแต่แยกมัฆวานรังสรรค์–แยกสวนมิสกวัน ถ.พิษณุโลก ตั้งแต่แยกสวนมิสกวัน–แยกพาณิชยการ และถ.นครปฐม ตลอดทั้งสาย

ขณะเดียวกัน รอง ผบช.น. กล่าวว่า ประชาชนสามารถใช้เส้นทางดังต่อไปนี้เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านจราจร คือ ถ.กรุงเกษม ถ.นครสวรรค์ ถ.หลานหลวง ถ.จักรพรรดิพงษ์ ถ.วิสุทธิกษัตริย์ ถ.ราชดำเนินนอก ถ.ศรีอยุธยา ถ.ราชวิถี ถ.สุโขทัย ถ.พระรามที่ 5 สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สะพานพระราม 8 และสะพานกรุงธน หรือสะพานซังฮี้ โดยเตรียมกำลังตำรวจจราจรคอยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน สอบถามข้อมูลเส้นทางเพิ่มเติม โทร 1197 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net