Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน โวยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติจัดฉากปล่อยปลาหน้าหนาว เพื่อหามวลชนหนุนเขื่อนปากชม

 

11 ธ.ค.2563 เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.) รายงานว่า สืบเนื่องจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ร่วมกับ บริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัทไฮโดรเทค แอสโซซิเอชั่น คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ผู้ดำเนินโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยโมง-ลำพะเนียง และต้นน้ำพอง ได้จัดกิจกรรมการสร้างการรับรู้ผ่านสื่อ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคม ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้ทำพิธีปล่อยปลาในพื้นที่วังปลาบ้านปากมั่ง ต.หาดคำภีร์  อ.ปากชม จ.เลย (วันที่ 8 ธันวาคม) ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ใกล้กับจุดสร้างเขื่อนปากชม อ.ปากชม จ.เลย อีกด้วย

ทางด้านเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ได้มีความเห็นว่าต่อกิจกรรมการลงพื้นที่ดังกล่าว

สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน กล่าวว่า การที่ สทนช. จัดกิจกรรมปล่อยปลาลงแม่น้ำโขงในช่วงนี้ ซึ่งเป็นฤดูหนาว ปลาจะไม่โต เปรียบเหมือนกับเป็นการปลูกต้นไม้ในฤดูแล้ง ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า สทนช. และบริษัทที่ปรึกษาฯ ไม่เข้าใจระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง เนื่องจากระบบนิเวศน์แม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไปจากการสร้างเขื่อนในจีน และเขื่อนไซยะบุรี ในลาว นอกจากนี้ ธาตุอาหารในแม่น้ำโขงก็ลดลงจากการสร้างเขื่อนซึ่งเป็นการดักตะกอนธรรมชาติเอาไว้ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ แม่น้ำโขงมีสีฟ้าครามน้ำใส ดังนั้นกิจกรรมนี้ จึงเป็นการผลาญงบประมาณ และเป็นงานอีเว้นท์ที่ไม่มีความสมเหตุสมผล

นอกจากนี้นายสุวิทย์ ยังกล่าวต่อว่า เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน มีคำถามและข้อสงสัย ต่อสนทช. และบริษัทที่ปรึกษา 3 ประเด็น คือ

ประเด็นที่หนึ่ง สทนช. มาลงพื้นที่ดูเรื่องโครงการเขื่อนสานะคาม และโครงการโขง-เลย-ชี-มูล ในสองวันที่ผ่านมานี้ และมีชาวบ้านไปยื่นหนังสือในวันที่ 8  ธ.ค. 2563 แต่เลขาธิการ สทนช. กลับบอกว่าไม่มีข่าวการคัดค้านเขื่อน ซึ่งเป็นเรื่องตลก เพราะอย่าลืมว่า ชาวบ้านหลายๆ กลุ่ม ยื่นหนังสือคัดค้านโครงการโขง-เลย-ชี-มูล และเขื่อนสานะคาม เป็นเรื่องที่สังคมรู้โดยกว้าง แล้ว สนทช. ไปอยู่ไหนมา?

ประเด็นที่สอง การที่ สนทช. บอกว่าทำไมชาวบ้านไม่ไปยื่นหนังสือในประเทศลาว คำตอบคือ หน้าที่ของการติดตามเรื่องแบบนี้ คือ หน่วยงาน สทนช. ไม่ใช่ชาวบ้าน เพราะ สทนช. ก็ไปอยู่ที่ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ด้วยซ้ำไป และภาคประชาสังคมก็พยายามมาอย่างตลอดในการรณรงค์กับประเทศลาว แต่เราก็คาดหวังกับประเทศลาวไม่ได้

ประเด็นที่สาม เรื่องการจัดการน้ำโดยรวมของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 24/2561 ลงวันที่ 29 มกราคม 2561 และมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 224/2561 ลงวันที่ 13 กันยายน 2561 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพิ่มเติม เป็นคณะกรรมาธิการฯ ที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อจะนำไปสู่การชงเรื่องเพื่อนำไปสู่การพัฒนาโครงการผันน้ำทั้งระบบทุกภาคในประเทศไทย กล่าวคือ โครงการบริหารจัดการน้ำ แม้ว่าคณะกรรมาธิการอ้างว่ามีการลงพื้นที่ไปรับฟังความคิดเห็นต่างๆ เช่นในภาคอีสาน เรามองอย่างฟันธงว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่รอบด้าน แล้วผู้มีส่วนได้เสียน้อยไปที่มารับฟัง เพราะสทนช. และบริษัทที่ปรึกษา รับฟังผู้มีส่วนได้เสียที่อยากเห็นอย่างที่กำหนด คือ ต้องมีเขื่อน แต่ไม่เคยไปหากลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านเขื่อน หรือไม่เห็นด้วยกับการบริหารจัดการน้ำของรัฐ เป็นเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วม ไม่เพียงเท่านั้น ทางเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ได้ทำหนังสือถึงอนุกรรมาธิการฯ ด้วย แต่ไม่ถูกเชิญให้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นแต่อย่างใด

“ในส่วนข้อเสนอ คือ รัฐต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม โดยให้ภาคประชาชนศึกษาเรื่องการจัดการน้ำทั้งระบบกรณีภาคอีสานคู่ขนาน หรือร่วมกันศึกษากับคณะกรรมาธิการก็ได้ ว่าการจัดการน้ำมีความเหมาะสมหรือไม่ หรือทำไมจะต้องมีการสร้างโครงการโขง-เลย-ชี-มูล ขึ้นมา แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นศึกษาเพื่อจะนำไปสู่การดำเนินโครงการ” ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน กล่าว

ชาญณรงค์ วงศ์ลา กลุ่มฮักเชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย กล่าวว่า ตนตั้งข้อสังเกตว่า ทำไม สทนช. มาปล่อยปลาในช่วงที่มีการประชาสัมพันธ์สร้างเขื่อนปากชม และไปปล่อยที่บ้านปากมั่ง ต.หากคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย เป็นการหามวลชนเพื่อสนับสนุนการสร้างเขื่อนหรือไม่

 “ผมคิดว่าเขาไม่ได้หวังผลอยู่แล้วว่า การเอาปลามาปล่อยมันจะขยายพันธุ์ หรือทำให้มีจำนวนปลามากขึ้น แต่สิ่งที่เขาหวังคือ เรื่องมวลชน เพื่อสร้างความชอบธรรม และเป็นการเอางบประมาณมาละลายแม่น้ำ เพราะถ้าจะหวังผลจริงๆ มันต้องกระจายปล่อยหลายที่และทำเขตอนุรักษ์ด้วย แต่นี่เหมือนเป็นการปล่อยทิ้งปล่อยขว้าง ไม่มีการติดตามผล” ชาญณรงค์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net