#ถ้าการเมืองดี เพศจะหลากหลายและเท่าเทียมกันอย่างไร

วงเสวนา “#ถ้าการเมืองดี เพศจะหลากหลายและเท่าเทียมกันอย่างไร” แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อหัวข้ออิทธิพลการเมืองต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ หวังสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศ และสร้างความตระหนักรู้ต่อความหลากหลายในหมู่ประชาชน ผ่านแง่มุมอันหลากหลายของแขกรับเชิญแต่ละคน

  • แรปเตอร์ เสรีเทยพลัส ย้ำความหลากหลายทางเพศ ประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม
  • วาดดาว ขอพื้นที่ชุมนุมต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย
  • นักวิชาการชี้กฎหมายรับรองเพศสภาพของกลุ่มคนข้ามเพศ ความหลากหลายตัดขวางที่สำคัญ
  • โฟลค คณะราษแดนซ์ ระบุการเต้นโคฟเวอร์เกาหลี วิธีแสดงออกของคนยุคใหม่

8 ธ.ค. 2563 ช่วงเย็น ที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา “#ถ้าการเมืองดี เพศจะหลากหลายและเท่าเทียมกันอย่างไร” ณ ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

แรปเตอร์ : ความหลากหลายทางเพศ ประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม

แรปเตอร์ สิรภพ อัตโตหิ ตัวแทนจากกลุ่มเสรีเทยพลัส (Free Gender TH) ได้เล่าถึงความเป็นมาของขบวนการเสรีเทยพลัสที่ได้เริ่มต้นหลังจากที่กลุ่มเยาวชนปลดแอกได้ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย เสรีเทยพลัสเป็นหนึ่งในกลุ่มอื่นๆ ที่ออกมาสนับสนุนข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนปลดแอก โดยได้ขยายไปถึงการขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายทางเพศ เนื่องจากในช่วงแรกของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยจะเน้นเพียงการเมืองระดับรัฐและยังมีอีกหลายประเด็นที่ตกหล่นไป ซึ่งเรื่องความหลากหลายทางเพศนั้นเป็นหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ควรถูกขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กับเรื่องประชาธิปไตย ทั้งนี้ การขับเคลื่อนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถเชื่อมโยงกับมิติทางการเมืองต่างๆ ได้ เช่น การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร การทำให้พนักงานทางเพศถูกกฎหมาย เป็นต้น

แรปเตอร์ มองว่า เนื่องจากกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศถูกกดขี่ทั้งมิติทางวัฒนธรรมและมิติทางกฎหมาย สิ่งสำคัญที่จะทำให้จุดมุ่งหมายในการทลายโครงสร้างปิตาธิปไตยและสะท้อนเสียงของคนที่มีความหลากหลายทางเพศคือสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถ้าการเมืองดี ผู้แทนจากกลุ่มคนที่มีหลากหลายทางเพศจะสามารถเข้าไปทำงานในสภา ทำให้เสียงของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศได้รับการตอบรับ ปัญหาจะได้รับการรับฟังและได้รับการแก้ไขมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้กฎหมายมีความเท่าเทียม และวัฒนธรรมจะเปลี่ยนตาม เช่น การเรียกร้องผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม แม้ตอนนี้ประเด็นข้อเรียกร้องอาจจะมีมากจนจับต้นชนปลายไม่ถูก แต่หลังจากประเด็นของคนชายขอบเริ่มถูกพูดถึงมากขึ้นในเวทีของกลุ่มเสรีเทยพลัส เช่น กลุ่มคนเควียร์มุสลิม หรือกลุ่มของคนชาติพันธ์ุ เขาเชื่อว่าเสียงของคนชายขอบจะถูกได้ยินมากขึ้นเช่นกัน

แรปเตอร์ เสรีเทยพลัส (แฟ้มภาพ ประชาไท)

แรปเตอร์กล่าวถึงประเด็น “ทำไมต้องผลักดันเรื่องของคนชายขอบในขบวนประชาธิปไตยด้วยกันเอง” สำหรับเขานั้น หลายครั้งที่ประเด็นของคนชายขอบและมิติของการถูกกดขี่ทางเพศถูกมองข้ามในขบวนการประชาธิปไตย แม้แต่โดยแกนนำเอง

“เราก็ยังเล็งเห็นว่า ในตัวขบวนการประชาธิปไตยเองก็ตามก็ต้องการให้เสียงของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือผู้หญิง หรือคนชายขอบ หรือมิติของการกดขี่ทางเพศ มันต้องหมดไปก่อนจากขบวนการประชาธิปไตย เพราะว่าตอนนี้เรากำลังต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม ความเป็นธรรมในสังคม กำลังต่อสู้กับอำนาจนิยมที่กำลังกดขี่เราอยู่ เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่เราจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เราจะต้องเริ่มต้นจากในขบวนการที่ขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหวเพื่อสังคมก่อน ถ้าเรายังไม่สามารถที่จะทำให้ขบวนการของเราที่ตั้งใจที่จะต่อสู้กับอำนาจ หรือว่าเปลี่ยนแปลงสังคม เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนทุกกลุ่มได้ สำหรับคนทุกเพศได้ เราก็ไม่แน่ใจว่าสุดท้ายเมื่อได้ประชาธิปไตยมาแล้ว ประเด็นของความเท่าเทียมมันจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง” แรปเตอร์ กล่าว

แรปเตอร์ยังเน้นย้ำให้คนในขบวนการช่วยกันตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน เพื่อผลักดันเรื่องความเท่าเทียมและสามารถขับเคลื่อนในทุกมิติได้อย่างแท้จริง นอกเหนือจากการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในระดับรัฐ เขายังกล่าวทิ้งท้ายว่า การได้มาซึ่งประชาธิปไตยไม่ใช่จุดหมาย แต่เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้ไปถึงจุดหมายคือความเท่าเทียมกันในสังคมของคนทุกกลุ่ม รวมถึงความเท่าเทียมทางเพศ

วาดดาว : พื้นที่ชุมนุมต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย

วาดดาว ชุมาพร แต่งเกลี้ยง นักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ และตัวแทนจากกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก กล่าวถึงการคุกคามทางเพศในม็อบ และเรียกร้องให้องค์กรที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับสิทธิเด็กและเยาวชนออกมาปกป้องเด็กนักเรียนและทำตามหน้าที่ มิใช่เพียงแค่การเขียนรายงาน เนื่องจากที่ผ่านมามิได้มีองค์กรใดออกมาแสดงจุดยืนอย่างแท้จริง

วาดดาวกล่าวขอบคุณทุกคนที่นำประเด็นที่ตนและทีมงานได้ขับเคลื่อนมาอย่างยาวนานมานำเสนอในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งอาสาสมัครกลุ่มแรกของกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกจำนวน 300 คน เป็นกลุ่มเฟมินิสต์บนทวิตเตอร์ที่มักถูกต่อต้านจากกลุ่มคนบางกลุ่มแม้ว่ากำลังทำงานเพื่อความเป็นธรรมทางเพศ

วาดดาว กล่าวว่า เฟมินิสต์ปลดแอกต้องการนำแนวทางของเฟมินิสต์มาใช้ในการเรียกร้องประชาธิปไตยที่อยู่ใต้ร่มของปิตาธิปไตย โดยมีจุดมุ่งหมายในการทำให้พื้นที่ของการชุมนุมเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งเฟมินิสต์ปลดแอกได้มีการจัดกิจกรรมนิรนาม Meeting Point (จุดนัดพบ) ซึ่งเกิดจากการที่กลุ่มผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศรู้สึกไม่ปลอดภัยหรืออาจรู้สึกเหงาในการเข้าร่วมชุมนุม กิจกรรมนิรนาม Meeting Point จะเป็นจุดที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมสามารถหาเพื่อนในระหว่างการเข้าร่วมชุมนุมได้ โดยยึดหลัก ถ้าคุณมีอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกัน คุณจะไม่โดดเดี่ยว และเมื่อการชุมนุมถูกคุกคามโดยรัฐมากขึ้น ทางกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกจึงได้เพิ่มการเช็คอินออนไลน์ เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถตรวจสอบความปลอดภัยของผู้ชุมนุมได้ รวมทั้งกิจกรรม Secure Ranger (หน่วยพิทักษ์ความปลอดภัย) อันเกิดขึ้นจากการที่มีการคุกคามทางเพศในพื้นที่ชุมนุม กระทั่งเด็กที่อยู่ในชุดนักเรียน กลุ่ม Secure Ranger จะสวมปลอกแขนสีรุ้ง และทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัย

Voices from Friends เป็นการสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวข้องกับการคุกคามทางเพศ ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลใน 1 การชุมนุม พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ จากผู้เข้าร่วม 1,172 คน มี 65 กรณีการแอบถ่ายรูปหรือคลิปโดยไม่ยินยอม โดยวาดดาวได้กล่าวถึงบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่ชุมนุม เช่น การถ่ายรูปโดยเน้นบริเวณหน้าอกของผู้หญิงและถูกขายภาพในกลุ่ม LINE ในราคา 299 บาท การสำรวจยังพบว่า ผู้คุกคามส่วนใหญ่เป็นบุคคลใกล้ชิด เช่น ครอบครัว เพื่อน ครู อาจารย์ และสถานที่ที่ถูกคุกคาม เช่น สถานศึกษา บ้าน พื้นที่สาธารณะ มากกว่านั้น Voices from Friends ยังรับแบบฟอร์มข้อมูล ซึ่งกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา มีทั้งหมด 84 กรณี โดย 7 กรณีกำลังดำเนินคดีให้เป็นตัวอย่าง ถึงแม้ว่าอาจจะแพ้ แต่จุดมุ่งหมายสำคัญคือการนำตัวผู้คุกคามมาอยู่ในกระบวนการยุติธรรม และยังมีอีกหลายสิบกรณีที่ทางกลุ่มได้ส่งตัวเข้ารับการเยียวยาต่อไป

วาดดาว ชุมาพร (แฟ้มภาพ ประชาไท)

“นี่คือรูปแบบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ม็อบ พื้นที่ประชาธิปไตย และทุกครั้งเราก็ต้องมานั่งพูดทั้งที่จริงอยากพูดและปราศรัยเรื่องอื่นบ้าง แต่ว่ามันอดไม่ได้ที่ต้องมาเช็คกัน อดไม่ได้ที่จะต้องมาพูดกัน อดไม่ได้ที่จะต้องเอาตัวเลขเหล่านี้มาให้เห็นว่า การคุกคามทางเพศมันเกิดขึ้นได้กับทุกคน และการคุกคามทางเพศมันเกิดขึ้นทุกมิติ” วาดดาว กล่าวเน้นย้ำ

“และการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นในพื้นที่ทุกพื้นที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติ แม้กระทั่งอุดมการณ์ทางการเมืองไหน และถ้าหากว่าเราเองต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยโดยไม่เอามิติของเรื่องเพศ เรื่อง gender (เพศสภาพ) เข้าไป สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไรรู้ไหม คุณรู้ไหม หลายคนอาจจะทำงานกับ iLaw อยู่ใช่ไหมคะ จริงๆ เราอยากจะขอข้อมูล iLaw ซึ่งเราขอข้อมูลคร่าวๆ ไป คนที่ลงทะเบียนหนึ่งแสนกว่าคน เกินครึ่งเป็นผู้หญิง แสดงว่าเกินครึ่งที่มาม็อบเป็นผู้หญิง เป็นผู้หญิงจากเพศกำหนดที่รัฐกำหนดกับสังคมกำหนด แล้วมีคำนำหน้านามเป็นผู้หญิง เพราะว่ารัฐเรายังไม่อนุญาตเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้านาม ไม่อนุญาตให้คนใช้ identity (อัตลักษณ์) อื่นได้ แต่ทำไมพื้นที่ของ majority (ส่วนใหญ่) ที่เป็นผู้หญิง กลับไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้หญิงเหล่านี้ ให้กับคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางด้านการเมือง”

“แล้วถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวเหล่านี้ สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ประชาธิปไตย ถ้าหากใครทำงานด้านประชาธิปไตยจากทั่วโลก พื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย จำนวนคนก็จะน้อยลง คนมาร่วมก็จะน้อยลง เพราะฉะนั้นหัวใจใหญ่ที่เราพยายาม voice (ส่งเสียง) เสียงตอนนี้คือ พื้นที่ปลอดภัย เราต้องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในทุกมิติ เพื่อให้คนได้ออกมา voice เสียงมากที่สุด และสิ่งที่เฟมินิสต์ปลดแอดทำงานก็คือเรากำลังสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้การคุกคามทางเพศมีลดน้อยลง” วาดดาว กล่าว

วาดดาวตั้งข้อสังเกตว่า มิใช่เรื่องง่ายที่ผู้ถูกกระทำจะออกมาเล่าเรื่องราว แต่หลังจากที่มีการเรียกร้องเรื่องการคุกคามทางเพศมากขึ้น กลับมีผู้ถูกกระทำออกมาส่งเสียงมากขึ้นในพื้นที่ชุมนุม แล้วทำไมจึงไม่ใช่รัฐที่ต้องดูแลให้พื้นที่ชุมนุมเป็นพื้นที่ปลอดภัย

เคท : กฎหมายรับรองเพศสภาพของกลุ่มคนข้ามเพศ ความหลากหลายตัดขวางที่สำคัญ

เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์จากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เราสามารถสร้างการตระหนักรู้ร่วมกันในสังคมได้ พื้นที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับประเด็นความหลากหลายทางเพศ สามารถทำให้ทุกคนได้มั่นใจและแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายได้ และเนื่องจากผู้คนไม่มีพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงอัตลักษณ์ทางเพศ พื้นที่ในการชุมนุมจึงกลายมาเป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้คนมั่นใจ และภาคภูมิใจกับการได้แสดงออกถึงความเป็นตัวเอง

เคทกล่าวต่อว่า งาน Gay Pride ในยุโรปมิได้จัดขึ้นเพื่อการออกมานำเสนอประเด็นต่างๆ เพียงเท่านั้น แต่รวมไปถึงความสุขของผู้คน อีกทั้งพื้นที่ออนไลน์ยังเป็นพื้นที่แรกที่คนออกมาพูดถึงเรื่องราวในประเด็นทางเพศของตัวเอง เนื่องจากพื้นที่สังคมและสถาบันปกติมิได้เปิดโอกาสให้แสดงออกในเรื่องความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาที่ต้องทำให้เกิดการยอมรับ

เคท ครั้งพิบูลย์ (แฟ้มภาพ ประชาไท)

เคท ระบุว่ามีความสนใจในประเด็นการรับรองเพศสภาพของกลุ่มคนข้ามเพศ เช่น การเปลี่ยนคำนำหน้านาม พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าเราต้องเปิดพื้นที่ที่นับรวมผู้คนทุกความหลากหลายตัดขวางให้ได้มากยิ่งขึ้น เช่น ผู้หญิงก็มิได้มีเพียงผู้หญิงที่มีเพศสภาพเป็นหญิง มีทั้งผู้หญิงชนบท ผู้หญิงชาติพันธุ์ ผู้หญิงเมือง การมีพื้นที่ที่นับรวมความหลากหลายตัดขวางทำให้ผู้คนรู้สึกมั่นใจได้มากยิ่งขึ้น เพราะประชาชนมิได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานรัฐบาลที่ไม่รับเยียวยากรณีที่มาจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้ประชาชนต้องสร้างระบบขึ้นมาดูแลกันเอง และสร้างความพยายามในการเข้าอกเข้าใจคนที่มาเข้าร่วมในการเคลื่อนไหวด้วยกัน เช่น ม็อบมีที่นอน

เคทยังได้กล่าวถึงประเด็นการออกมาพูดของเหยื่อประเด็นทางเพศ เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมากในการออกมาพูดในที่สาธารณะ พวกเขาต้องได้รับการสนับสนุนให้กำลังใจอย่างเต็มที่ และตั้งคำถามว่ารัฐบาลจะออกแบบนโยบายทางด้านสังคมใดขึ้นมาเพื่อที่จะรองรับและดูแลพลเมืองเหล่านี้

เคทอธิบายถึงความละเอียดอ่อนในการเลือกใช้คำต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจในการพิทักษ์สิทธิ์ในตนเองเพื่อต่อสู้กับการผลิตซ้ำอคติและมายาคติต่างๆ ในสังคม การตักเตือนกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ และการที่เพศใดเพศหนึ่งออกมามีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวเป็นจำนวนมาก หรือมีพื้นที่แสดงความสามารถมากขึ้น มิได้เป็นข้อยืนยันว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมในสังคมแต่อย่างใด หากผู้มีอำนาจมิได้เห็นพ้องต้องกัน

ท้ายที่สุดเคทได้ตอบคำถาม “คำนำหน้าของกลุ่มคน Non-binary รวมถึงคำลงท้ายและคำแทนตัว เช่น Mx ในต่างประเทศ ได้มาอย่างไร มีการเปิดโหวตอย่างเป็นสาธารณะหรือไม่ และในประเทศไทยมีการดำเนินการที่จะแก้กฎหมายเพื่อกลุ่มคน Non-binary มากน้อยแค่ไหนแล้ว” ว่า ในวันนี้ (8 ธ.ค.2563) ที่สภาได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศจากหลากหลายแห่ง เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรระหว่างประเทศ แต่ยังคงมีกับดักการมองแบบเพศสองขั้วอยู่ในสังคมไทย ต่างจากต่างประเทศบางแห่ง เช่น สหรัฐอเมริกา ที่เปิดให้แก้คำนำหน้านามได้กระทั่งในสูติบัตร รัฐบาลควรคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและประโยชน์ในการรองรับความเป็นเพศของประชาชน เช่น การถูกคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิอื่นๆ ตามเพศ การไปถึงขั้นนั้นในต่างประเทศเกิดการทำความเข้าใจ เคลื่อนไหว และแทรกซึมเข้าไปในสังคม แต่สิ่งสำคัญคือการมีผู้แทนที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าไปทำงานในสภา ซึ่งการเปลี่ยนคำนำหน้านามให้สอดคล้องกับเพศของตนอาจสามารถช่วยลดการเลือกปฏิบัติและการตีตราในสังคมได้

โฟลค คณะราษแดนซ์ : การเต้นโคฟเวอร์เกาหลี วิธีแสดงออกของคนยุคใหม่

โฟลค ตัวแทนคณะราษแดนซ์ กล่าวถึงความเป็นมาของคณะราษแดนซ์ว่าเริ่มต้นจากการมีผู้ก่อตั้ง 4-5 คน ได้เข้าร่วมการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ สถานการณ์มีความรุนแรง มีคำหยาบคาย เสียงดัง กลุ่มผู้ก่อตั้งจึงได้เปิดเพลง ในเวลาต่อมาเหตุการณ์นั้นได้กลายเป็นไวรัล จึงก่อกำเนิดเป็นคณะราษแดนซ์ มีเพลงหลักคือ Into The New World ของวง Girls’ Generation ที่จะทำการแสดงทุกครั้งไม่ว่าแสดงที่ใด นัยยะสำคัญของเพลงนี้คือการเคยถูกเปิดใช้ที่การความเคลื่อนในประเกาหลีใต้ มีความหมายถึงการจับมือสู้ไปด้วยกันสู่โลกใหม่ไม่ว่าเจอสิ่งใด นอกจากนี้ยังมีเพลงอื่นๆ ที่มีความหมายที่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว เช่น เพลง Miniskirt ของวง AOA  ที่มีเนื้อหาว่า “Don’t tell me how to dress.” เป็นต้น

การแสดงของคณะราษแดนซ์ในการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ วันที่ 25 ต.ค.​2563

โฟลค กล่าวต่อว่า พื้นที่ในคณะราษแดนซ์เป็นพื้นที่เปิดสำหรับทุกคน โดยมิได้สนเพศ อายุ รวมทั้งเปิดสำหรับผู้ที่อยากเข้ามารับชมและให้กำลังใจโดยไม่จำเป็นต้องเต้น ทั้งนี้ คณะราษแดนซ์ได้ให้พื้นที่ปราศรัยแก่ทุกคน แม้ส่วนใหญ่ผู้คนจะเลือกแสดงออกผ่านร่างกายเสียมากกว่า เนื่องจากต้องการเรียกร้องสิทธิเหนือร่างกายตัวเองในเรื่องที่ไม่สามารถเรียกร้องได้ แต่สามารถแสดงมันออกมาได้

นอกจากนี้ โฟลคยังระบุว่าได้จัดสำรวจออนไลน์ในหัวข้อ “#ถ้าการเมืองดี เพศและความหลากหลายทางเพศจะเป็นอย่างไรได้บ้าง” ซึ่งได้รับคำตอบไปในทิศทางเดียวกันคือ ผู้คนจะได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมมากขึ้น เช่น ผู้มีความหลากหลายทางเพศในสภาจะถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับเพศอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นน่าสนใจที่ได้รับมาจากการจัดสำรวจ ได้แก่ คำถาม “การเมืองดีคืออะไร” ซึ่งตนได้กลับมาคิดว่า มาตรฐานคำว่าดีในประเทศไทยนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำ ทำให้เมื่อจินตนาการถึงการเมืองที่ปกตินั้น เราจึงเข้าใจว่านั่นคือการเมืองที่ดีแล้ว โฟลคกล่าวต่อว่า คณะราษแดนซ์ยังได้มีสถานีข่าวจากประเทศเกาหลีมาถ่ายแล้วจำนวน 2-3 ช่อง และยังคงมีมาเพิ่มเรื่อยๆ โดยการที่คณะราษแดนซ์ได้พื้นที่สื่อนั้น มิได้ต้องการชื่อเสียงแต่อย่างใด แต่ต้องการให้เสียงไปสู่ประชาชนได้ง่ายขึ้น และย่อยง่ายขึ้น

โฟลคได้สรุปทิ้งท้ายว่า พื้นที่ศิลปะในต่างจังหวัดทั้งประเทศรวมกันนั้นมีน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่ศิลปะในเมืองหลวงเพียงจังหวัดเดียว โดยเฉพาะศิลปะร่วมสมัย โฟลคเน้นย้ำถึงความรุนแรงทางเพศในที่ทำงานที่มีการล่วงเกินผู้มีความหลากหลายทางเพศ และฝากถึงผู้มีอำนาจในที่ทำงาน ต้องปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยหยุดคิดว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศจะยินดีกับการโดนกระทำ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท