อดีตคนวงในพรรคคอมมิวนิสต์จีนเขียนบทความ ทำไมรัฐบาลจีนถึงเป็น 'พรรคที่ล้มเหลว'

ไคเฉี่ย อดีตศาสตราจารย์จากวิทยาลัยศูนย์กลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้ที่ตอนนี้ไม่ได้ทำงานให้กับพรรคอีกต่อไปและหันมาแฉเรื่องปัญหาเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน เธอเขียนบทความในนิตยสารฟอเรนแอฟแฟร์เกี่ยวกับเรื่องที่ทำไมพรรคคอมมิวนิสต์จีนตอนนี้ถึงกลายเป็นแค่อำนาจนิยมคณาธิปไตย นอกจากนี้ยังได้เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบันของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจากมุมมองของเธอด้วย

ในตอนที่สีจิ้นผิง ผู้นำจีนคนปัจจุบันเข้ามาดำรงตำแหน่งในปี 2555 ไคเฉี่ยในฐานะที่เป็นศาสตราจารย์ของวิทยาลัยอันทรงเกียรติ์ที่ให้การศึกษาแก่เหล่าผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เธอรู้สึกว่าสีจิ้นผิงจะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่รัฐบาลจีนที่อยู่ในภาวะชะงักงันมาช่วงเวลาหนึ่งได้ แต่ทว่าสิ่งที่เธอได้พบเห็นจริงกลับไม่เป็นอย่างที่หวัง

ไคเฉี่ยบอกว่าถึงแม้เธอจะทำงานสอนในเชิงปลูกฝังความเชื่อให้กับข้าราชการจีน แต่เธอก็กำลังพยายามทำความเข้าใจว่าอุดมการณ์ของจีนที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ ไคเฉี่ยบอกว่าก่อนหน้านี้เธอเคยเป็นมาร์กซิสต์ที่จริงจังกับอุดมการณ์มาก่อน แต่เธอก็จำเป็นต้องตีจากมาร์กซิสต์แล้วหันไปมองหาแนวคิดแบบตะวันตกเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาในจีน และสิ่งที่เธอได้เห็นในรัฐบาลจีนปัจจุบันไม่ใช่การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งนั้น แต่กลับเป็นการถดถอยล้าหลังไปสู่ระบอบอำนาจนิยมคณาธิปไตยภายใต้สีจิ้นผิงที่ยึดกุมอำนาจตัวเองไว้ด้วยความโหดร้ายและทารุณ

ไคเฉี่ยบอกว่ารัฐบาลจีนมีการกดขี่และความเผด็จการมากขึ้นเรื่อยๆ มีลัทธิบูชาตัวบุคคลรายล้อมตัวของสีจิ้นผิงผู้ที่ยึดกุมอำนาจอุดมการณ์และบีบเค้นพื้นที่การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและบีบเค้นภาคประชาสังคม โดยที่หลังจากไคเฉี่ยออกปากวิพากษวิจารณ์ระบบปัจจุบันของจีนเธอก็รู้ตัวว่าเธอไม่ปลอดภัยอีกต่อไปที่จะใช้ชีวิตอยู่ในจีน

'ไคเฉี่ย' ภาพจาก Radio Free Asia 

การปฏิวัติประชาชนจีน

ในบทความของไคเฉี่ยที่ลงนิตยสารเธอเล่าเรื่องที่มาตั้งแต่วัยเด็กของตัวเองและมุมมองต่อการปฏิวัติสังคมนิยมจีนที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อเธอ ไคเฉี่ยเล่าถึงการที่เธอเกิดมาในครอบครัวที่เป็นทหารพรรคคอมมิวนิสต์ คุณตาของเธอเคยเป็นกบฏชาวนาที่ร่วมการลุกฮือที่นำโดยเหมาเจ๋อตุง จนกระทั่งเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนชนะการปฏิวัติได้ในปี 2492 เป็นต้นมา เธอและครอบครัวที่มีบทบาทในการปฏิวัติก็มีชีวิตที่ดีโดยไม่ต้องเผชิญปัญหาจากสิ่งที่รัฐบาลเหมากระทำกับผู้คนในยุคนั้น เธอถึงขั้นไม่รู้เลยว่ามีประชาชนหลาย 10 ล้านคนอดอาหารเสียชีวิตในช่วงนโยบาย "การก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่"

แต่ในยุคสมัยการปฏิวัติครั้งนั้นไคเฉี่ยก็มองเห็นแต่ความรุ่งโรจน์ของสังคมนิยม บนชั้นหนังสือที่บ้านของเธอมีแต่หนังสือเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้แม้กระทั่งงานเขียนของโจเซฟ สตาลิน เผด็จการโซเวียตผู้อื้อฉาว ถึงแม้ว่าเธอจะไม่เข้าใจหลายอย่างที่เขียนอยู่ในนั้นแต่มันก็ปลุกปั้นให้ตัวเธอรู้สึกฮึกเหิมในความเป็นชาตินิยมคอมมิวนิสต์ และต่อมาในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม เธอก็เชื่อตามคำของเหมาและต้องอ่านงานเขียนสังคมนิยมอื่นๆ อีก 6 เรื่องรวมถึงของคาร์ล มาร์กซ์ และฟริดริช เองเกลที่มีข้อความในเชิงโลกอุดมคติ ในตอนนั้นไคเฉี่ยบอกว่าเธอยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่าเสรีภาพทำให้คำสอนเหล่านั้นฝังอยู่ในหัวของเธอ

อะไรที่ทำให้แนวทางจีนขัดแย้งกับหลักแนวคิดมาร์กซิสม์

หลังจากนั้นเธอก็ได้ไปทำงานดูแลห้องสมุดของวิทยาลัยแพทย์ทหารของกองทัพจีน ในนั้นมีวรรณกรรมและปรัชญาการเมืองของตะวันตกอยู่ด้วยที่พวกเขาอนุญาตให้คนระดับสูงของพรรคได้อ่านเท่านั้นเพื่อให้พวกเขา "คุ้นเคยกับศัตรูของอุดมการณ์ของจีน" ซึ่งไคเฉี่ยก็แอบอ่านหนังสือเหล่านี้ด้วยในตอนนั้นเธอประทับใจงานเขียนของตะวันตกบางส่วนและทำให้ได้เห็นโลกนอกเหนือจากแนวคิดแบบมาร์กซิสม์ แต่โดยหลักๆ แล้วเธอก็ยังคงเชื่อในมาร์กซิสม์อยู่

"สิ่งที่ทำให้ฉันชื่นชอบแนวคิดของมาร์กซ์มากที่สุดคือเรื่องเกี่ยวกับแรงงานและมูลค่า กล่าวคือนายทุนพอกพูนความมั่งคั่งให้ตัวเองด้วยการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน" ไค่เฉี่ยกล่าว

เธอเล่าเกี่ยวกับมุมมองประวัติศาสตร์จีนต่อไปว่าหลังจากการปฏิวัติวัฒนธรรมจบสิ้นลงและหลังจากเหมาเจ๋อตุงเสียชีวิต เติ้งเสี่ยวผิงก็เข้ามาปรับเปลี่ยนและเปิดประเทศ มีการให้พวกเขาได้เรียนวรรณกรรมจีนคลาสสิกที่พวกเขาเคยถูกปิดกั้นไม่ให้เรียนมาก่อนในช่วงยุคปฏิวัติวัฒนธรรม

จนกระทั่งหลังจากนั้นเธอก็เริ่มเข้าทำงานในสายวิชาการของหน่วยงานปลูกฝังอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน หน่วยงานชั้นนำของเรื่องนี้คือวิทยาลัยกลางของพรรคที่เป็นที่ฝึกอบรมข้าราชการเสนาธิการระดับสูงของพรรคที่มักจะเป็นผู้นำระดับเทศบาลขั้นไป มีบางส่วนกลายมาเป็นคณะกรรมการกลางของพรรคที่มีอำนาจการตัดสินใจหลักๆ และการนำในระดับสูง หน่วยงานนี้มักจะมีผู้นำเป็นโปลิตบูโรของพรรคซึ่งในช่วงระหว่างปี 2550-2555 สีจิ้นผิงเป็นผู้นำของวิทยาลัยนี้

สภาพการสอนในวิทยาลัยแห่งนี้ถูกควบคุมอย่างหนัก ไม่ว่าจะจากการที่มีกล้องวิดีโอคอยเก็บภาพการสอน และมีการตรวจสอบจากที่ปรึกษานั่นทำให้นักศึกษาวิชาการเมืองเหล่านี้พยายามไม่ตีความหลักการของอุดมการณ์แบบยืดหยุ่นเกินไปหรือให้ความสนใจกับจุดอ่อนของอุดมการณ์ แต่ก็มีคำถามที่ระบุถึงความขัดแย้งกันในตัวเองของแนวทาง "สังคมนิยม" แบบของจีนเช่นกรณีการที่เติ้งเสี่ยวผิงระบุให้มีประชากรส่วนหนึ่งร่ำรวยกว่าเสียก่อนต่างจากแนวคิดของมาร์กซ์ที่ระบุให้จัดสรรสิ่งต่างๆ ให้กับผู้คนที่มีความจำเป็นต้องได้รับ

ทั้งนี้ยังมีสิ่งที่ขัดแย้งกับแนวคิดของมาร์กซ์อีกหลายส่วนที่ไคเฉี่ยเคยศึกษามาแต่แนวทางของจีนกลับขัดแย้งกับความคิดเหล่านั้นคือการที่มาร์กซ์ระบุว่าเป้าหมายของสังคมนิยมคือการปลดแอกปัจเจกบุคคลและนักปรัชญามาร์กซ์ทั้งหลายเช่น อันโตนิโอ กรัมชี ก็เน้นเรื่องเสรีภาพของบุคคล

ไคเฉี่ยบอกว่าแม้กระทั่งในงานวิทยานิพนธ์ของเธอเอง เธอก็วิจารณ์แนวคิดที่ว่าปัจเจกบุคคลต้องเสียสละตัวเองเพื่อรับใช้พรรค ต่อต้านคำขวัญพรรคเก่าแก่อย่าง "ประเทศร่ำรวย กองทัพเข้มแข็ง" โดยโต้แย้งว่าจีนจะเข้มแข็งได้ถ้าหากพรรคอนุญาตให้ประชาชนมีความเจริญรุ่งเรืองได้เท่านั้น ไคเฉี่ยวิจารณ์ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจของจีนคือการที่รัฐวิสาหกิจมีอำนาจนำสูงเกินไป ขาดการแข่งขัน จนทำให้เกิดการคอร์รัปชัน ซึ่งการคอร์รัปชันนี้ไม่ควรจะมองว่าเป็นเรื่องความเสื่อมทรามทางศีลธรรมแต่ควรมองว่าเป็นเพราะปัญหาจากระบบที่รัฐยึดกุมอำนาจเศรษฐกิจมากเกินไป

เจียงเจ๋อหมิน (ที่มาภาพ wikipedia.org)

ความย้อนแย้งของโฆษณาชวนเชื่อ

ในยุคสมัยต่อมาคือยุคสมัยของเจียงเจ๋อหมินนั้น ไคเฉี่ยบอกว่าเธอเห็นด้วยบางส่วนกับแนวทางการกระตุ้นภาคเอกชนและนำจีนเข้าสู่องค์การการค้าโลก (WTO) แต่นโยบายเหล่านี้ก็ขัดกับแนวทางดั้งเดิมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจแบบวางแผนไว้เบ็ดเสร็จและการพึ่งพาตัวเองในประเทศ เมื่อมาร์กซ์ เหมา หรือเติ้ง ไม่มีอุดมการณ์ที่จะอธิบายความขัดแย้งในตัวเองนี้ได้ ทำให้เจียงเจ๋อหมินก็ต้องคิดทฤษฎีใหม่ของตัวเองคือ "ทฤษฎี 3 ตัวแทน” ขึ้นมา

อย่างไรก็ตามไคเฉี่ยวิจารณ์เรื่องการที่หน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อของจีนแสดงให้เห็นถึงความตื้นเขินและผิวเผินในแง่ความคิดทางการเมือง เช่นในตอนที่ทฤษฎีของเจียงเจ๋อหมินถูกวิจารณ์จากกลุ่มซ้ายจัดก็สื่อและหน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อพยายามพูดในเชิงลดความหนักแน่นของทฤษฎีลงหรืออ้างอิงแนวคิดมาร์กซ์, เองเกล, เลนิน, สตาลิน, เหมา และเติ้ง เข้ามาให้ความชอบธรรมซึ่งทำให้ไคเฉี่ยไม่เชื่อถือในแง่ที่ว่าถ้าอ้างใช้ทฤษฎีเก่าๆ อยู่จะสร้างทฤษฎีใหม่ขึ้นมาทำไม ไคเฉี่ยในตอนนั้นพยายามทำตรงกันข้ามคือพยายามสื่อถึงความหมายที่แท้จริงของ "ทฤษฎี 3 ตัวแทน” ให้ได้มากที่สุด แต่มันกลับทำให้เธอไปขัดแย้งกับพวกอำมาตย์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนแทน

สำหรับไคเฉี่ยแล้วเธอใช้เวลา 6 เดือน วิจัยและเขียนบทสารคดีเกี่ยวกับทฤษฎีของเจียงเจ๋อหมินโดยเน้นในสิ่งที่เจียงทำเองคือการลดการแทรกแซงเศรษฐกิจโดยรัฐบาลแต่หันมาส่งเสริมการสร้างความมั่งคั่งและสร้างสมดุลผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคม แต่รองประธานอาวุโสของสื่อรัฐบาล CCTV ก็ปิดกั้นเธอไว้ก่อนหลังจากสารคดีออกมาตอนแรก รองประธาน CCTV เตือนเธอว่าสิ่งที่เธอเขียนนำเสนอผ่านทางโทรทัศน์อาจจะขัดแย้งกันเองกับมุมมองของหน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อได้ นอกจากนี้ยังอ้างว่ามันเป็นปีครบรอบ 80 ปี พรรคคอมมิวนิสต์ถึงไม่ได้อยากให้มีการถกเถียงอภิปรายใดๆ เกิดขึ้นในช่วงที่จะมีการเฉลิมฉลองความเป็นวีรบุรุษของพรรค

"ในตอนนั้นฉันเข้าใจเลยว่า พวกคนของ CCTV ไม่ได้สนใจการนำอุดมการณ์มาใช้จริงๆ พวกเขาแค่ต้องการทำให้พรรคดูดีและยกยอปอปั้นคนใหญ่คนโตของพวกเขา" ไคเฉี่ยกล่าว

มือถือสากปากถือศีล และความตื้นเขินของราชการ

เธอยังพูดถึงอีกว่าเรื่องนี้แสดงให้เห็นความมือถือสากปากถือศีลของอำมาตย์ในพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลังจากที่ในสารคดีตอนที่สองเธออ้างคำคมของเติ้งเสี่ยวผิงที่ว่า "ความยากจนไม่ใช่สังคมนิยม การพัฒนาคือความจริงอันเจ็บปวด" แต่ข้าราชการระดับสูงคนหนึ่งก็วิจารณ์คำคมนี้ทั้งๆ ที่มันเป็นคำของเติ้งเสี่ยวผิงเอง แต่ข้าราขการคนนี้ที่เป็นประธานด้านสื่อของรัฐกลับไม่รู้ เรื่องนี้ทำให้เธอนึกถึงคำวิจารณ์ของเหมาที่มีต่อกลุ่มข้าราชการอำมาตย์ขึ้นมาทันทีว่า "พวกเขาไม่อ่านหนังสือ พวกเขาไม่อ่านหนังสือพิมพ์"

อีกสิ่งหนึ่งที่ไคเฉี่ยชี้ให้เห็นถึงความน่ารังเกียจจากพรรคคือเรื่องที่พวกเขาถูกสั่งห้ามไม่ให้มีการปรึกษาหารือกันระหว่างกลุ่มคนที่ร่วมกันเขียนเอกสารทฤษฎีเพื่อส่งต่อให้คนในพรรคทั้งหมด นอกจากนี้ในกลุ่มที่ร่วมกันเขียนนั้นมีเธอเป็นผู้หญิงคนเดียวในกลุ่ม เมื่อพวกเขาไปทานอาหารร่วมกันและมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เริ่มมีการใช้คำหยาบโลนจนกระทั่งมีผู้ร่วมงานคนหนึ่งพาตัวเธออกมาแล้วบอกว่าถ้าหากคนเหล่านี้พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับทางการบนโต๊ะอาหารแล้วอาจจะเกิดปัญหาได้มันถึงปลอดภัยกว่าสำหรับพวกเขาที่จะพูดกันแค่เรื่องเซ็กซ์ ไคเฉี่ยบอกว่าเธอรู้สึกสะอิดสะเอียนความติ้นเขินของหน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน

นั่นทำให้ไคเฉี่ยมองว่างานของเธอเป็นเพียงแค่งานตัดแปะ เมื่อเธอตั้งข้อสงสัยในเรื่องนี้ก็มีคนบอกให้เธอชมวิวสวยๆ ทานอาหารดีๆ ไป หรือไม่ก็หาหนังสืออ่านเพียงแค่ต้องอยู่เวลามีคนเรียกประชุมเท่านั้น กระนั้นสิ่งที่เธอทำมาทั้งหมดกลับสูญเปล่าเมื่อเนื้อหาสำคัญที่เธอใส่ไว้ในเอกสารทฤษฎีของเจียงถูกตัดออกหมดสิ้นในวันที่สมาชิกโปลิตบูโรมานำเสนอ "เมื่อนึกถึงบทสนทนาคุยเล่นลามกบนโต๊ะอาหารทุกคืนแล้ว ฉันก็รู้เป็นครั้งแรกว่าระบบที่ฉันมองว่ามีความศักดิ์สิทธิมาตลอด จริงๆ แล้วมันช่างไร้สาระอย่างไม่อาจทนได้" ไคเฉี่ยกล่าว

"จากประสบการณ์ของฉันที่ได้ศึกษาโครงร่าง(ของเอกสาร) ทำให้ฉันทราบว่าแนวคิดที่พรรคส่งเสริมกันอย่างมือถือสากปากถือศีลนี้จริงๆ แล้วเป็นแค่เครื่องมือรับใช้ผลประโยชน์ตัวเองที่เอามาใช้หลอกลวงชาวจีน และไม่นานหลังจากนั้นฉันก็รู้ว่ามันเป็นช่องทางหาเงินเข้ากระเป๋าของพวกเขาด้วย" ไคเฉี่ยกล่าว

โฆษณาชวนเชื่อเพื่อเงิน

สิ่งที่ไคเฉี่ยพูดถึงต่อไปคือการงัดข้อกันระหว่างกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ในพรรคคอมมิวนิสต์ที่จะแย่งกันหาประโยชน์จากรายได้ของการตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือและนิตยสารเกี่ยวกับทฤษฎีเหล่านี้ ไคเฉี่ยเปิดโปงว่าในหลายหน่วยงานของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีเงินทุนจากสินบน (slush funds) อยู่ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงมักจะนำไปใช้หาความสำราญเข้าตัวเองและเอาไปแบ่งให้ข้าราชการอื่นๆ วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะได้ "เงินค่าน้ำร้อนน้ำชา" นี้คือการหากินกับการตีพิมพ์

ในจีนนั้นพรรคคอมมิวนิสต์มีเส้นสายเชื่อมโยงกับองค์กรที่พร้อมจะซื้อหนังสือของพวกเขา 3.6 ล้านองค์กร นั่นหมายความว่าแค่พวกเขาตีพิมพ์ให้กลุ่มเหล่านี้รับซื้อก็ฟันรายได้ไปได้ระดับหลายล้านแล้ว และจากที่เงินต้นทุนการผลิตมาจากเงินงบประมาณของรัฐเองทำให้วิธีการนี้เปรียบเสมือนการบีบให้โยกย้ายกองเงินจากภาคส่วนหนึ่งไปอีกภาคส่วนหนึ่ง จึงไม่น่าแปลกใจสำหรับไคเฉี่ยว่าทำไมทบวงการจัดตั้งแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Organization Department) ถึงพยายามสร้างหัวข้อการศึกษาทางการเมืองใหม่ๆ ออกมาทุกปีๆ

ไคเฉี่ยเล่าว่าในตอนนั้นถึงเธอจะเริ่มมองเห็นความจริงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนแล้ว แต่ตัวเธอและนักวิชาการทั้งหลายก็ยังหวังว่าพรรคจะเปลี่ยนทิศทางและหันมาปฏิรูปเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย ทำให้ตัวเธอยังไม่ปฏิเสธพรรคโดยสิ้นเชิง ส่วนหนึ่งเพราะว่าในยุคปลายการปกครองของเจียงเจ๋อหมินนั้น คนวงในรัฐบาลเริ่มสามารถถกเถียงอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นอ่อนไหวภายในพรรคได้มากขึ้นบ้างตราบใดที่ไม่นำไปพูดในที่สาธารณะ ทำให้มีการพูดถึงเรื่องการลดบทบาทอำนาจการตัดสินใจของภาครัฐลงบ้าง และแนวคิดเรื่องตุลาการอิสระที่เขียนเข้าไปในรัฐธรรมนูญแต่ไม่ได้เอามาใช้จริง

ขณะที่ไคเฉี่ยกำลังมีความหวังว่าจีนจะมีความก้าวหน้าเป็นประชาธิปไตยขึ้นบ้างหลังจากนี้ แต่ความหวังของเธอก็ไม่เป็นจริงและยิ่งทำให้เธอตาสว่างเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเวลาต่อมา

ฟรานซิสโก ฟรังโก (ที่มาภาพ wikipedia.org)

เปรียบเทียบกับประชาธิปไตยสเปน

ไคเฉี่ยเล่าถึงต่อที่เธอไปเยือนประเทศสเปนในฐานะการแลกเปลี่ยนทางวิชาการทำให้เธอได้เรียนรู้เรื่องที่สเปนเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการมาสู่ประชาธิปไตยหลังการเสียชีวิตของจอมเผด็จการฟรานซิสโก ฟรังโก ทำให้เธอเทียบเรื่องนี้กับจีนที่เหมาเจ๋อตุงเสียชีวิตไปเมื่อ 10 เดือนให้หลังจากฟรังโกเท่านั้น แต่สเปนกลับสามารถก้าวหน้าเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพทางสังคมและมีความมั่นคั่งทางเศรษฐกิจ ขณะที่จีนมีการเปลี่ยนผ่านแค่บางส่วนเท่านั้นคือการเปลี่ยนให้ระบบเศรษฐกิจเป็นแบบผสมแทนการควบคุมโดยรัฐบาลเบ็ดเสร็จแต่ไม่ได้ให้เสรีภาพทางการเมืองกับประชาชน

ไคเฉี่ยตังข้อสังเกตว่าหลังการเสียชีวิตของจอมเผด็จการสเปนก็มีบรรยากาศของการปฏิรูปทันทีโดยการจัดให้มีความเป็นอิสระของตุลาการและขยายเสรีภาพสื่อ แม้กระทั่งให้ฝ่านค้านเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนผ่านด้วย แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนต่างออกไปคือนับตั้งแต่ที่มีการปฏิวัติพวกเขาก็พยายามยึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ที่ตัวเองดูจากการปราบปรามผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532 เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ยอมปล่อยอำนาจไปง่ายๆ ทั้งยังมองว่าความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นภัยต่ออำนาจของพวกเขาด้วยทำให้รัฐบาลจีนลิดรอนสิทธิภาคประชาสังคมและลิดรอนเสรีภาพของประชาชนเสมอมา

จากการได้เห็นการเปลี่ยนผ่านของสเปนกับการที่ได้รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับอดีตสหภาพโซเวียตทำให้ไคเฉี่ยปฏิเสธอุดมการณ์แบบมาร์กซ์ซิสม์ในที่สุด ทำให้เธอเล็งเห็นว่าทฤษฎีของมาร์กซ์ที่ก้าวหน้าในยุคสมัยศตวรรษก่อนหน้านี้กลับมีข้อจำกัดมากในสภาพประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบัน และยิ่งกว่านั้นการได้เห็นลักษณะแบบรวมศูนย์และกดขี่ของรัฐบาลจีนก็ทำให้รู้สึกว่ามันคล้ายกับเผด็จการสตาลินมากกว่าแนวคิดของมาร์กซ์เอง เธอเล็งเห็นว่าอุดมการณ์เหล่านี้แค่นำมาอ้างเพื่อให้เผด็จการหาผลประโยชน์เข้าตัวเองเท่านั้น

หลังจากนั้นเป็นต้นมาเธอก็เริ่มส่งสัญญาณเล็กๆ น้อยๆ ตามการสอนละการตีพิมพ์ต่างๆ ว่าอย่าได้ยกย่องแนวคิดมาร์กซ์เป็นสัจจธรรมสมบูรณ์แบบ และจีนควรจะเริ่มต้นเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย ในปี 2553 เคยมีนักวิชาการเสรีนิยมในจีนเริ่มพยายามเผยแพร่แนวคิดที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคิดว่าจะเริ่มต้นทำให้เกิดประชาธิปไตยภายในพรรคก่อนแล้วในระยะยาวจีนจะหลายเป็นประชาธิปไตยที่เน้นรัฐธรรมนูญ มีเจ้าหน้าที่หลายคนที่เล็งเห็นว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีปัญหาจริง แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรมากและบอกให้เธอไปโน้มน้าวคนใหญ่คนโตเอง

สีจิ้นผิง ผู้นำจีนคนปัจจุบัน

ความไม่ไว้วางใจสีจิ้นผิง

มาจนถึงยุคหูจินเทาก็มีการออกแผนพัฒนาใหม่ของตัวเองอีก ระบบการพัฒนาแบบผสมของจีนในตอนนั้นพยายามเอามาร์กซ์มาอ้างแบบผิวเผินเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกตั้งคำถามแต่แผนพัฒนานี้ก็ทำให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมจากการที่ชาวนาถูกยึดที่ดินทำกินและโรงงานอุตสาหกรรมก็กดขี่แรงงานเพื่อผลกำไร มีการร้องเรียนเรียกค่าชดเชยและมีการประท้วงจำนวนมากซึ่งแสดงให้เห็นความไม่พอใจและสาเหตุที่ทำไมมันถึงยากที่จีนจะพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่ทำให้การเมืองเสรีไปด้วย

หูจิ่นเทาเองก็เผชิญกับความกดดันจากทั้งฝ่ายต่อต้านการปฏิรูปและฝ่ายสนับสนุนการปฏิรูปที่มองว่ายังปฏิรูปให้เห็นเสรีน้อยเกินไปในช่วงนั้นทำให้จีนมีลักษณะคล้ายสหภาพโซเวียตตอนขาลง ในตอนนั้นเองไคเฉี่ยยังมีความหวังกับสีจิ้นผิงว่าจะเป็นผู้นำที่ปฏิรูปได้ดีแต่ไม่ใช่ทุกคนที่คิดแบบเธอด้วยสองสาเหตุ และทั้งสองสาเหตุนี้ก็กลายเป็นจริงในเวลาต่อมา

กลุ่มแรกที่ไม่ไว้ใจสีจิ้นผิงคือกลุ่มทายาทของผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งสีจิ้นผิงและป๋อซีไหลก็เป็นทายาทผู้ก่อตั้งเช่นกันและถูกวางตัวไว้ว่ามีโอกาสเป็นผู้นำคนถัดไป แต่จากการที่ป๋อซีไหลเข้าไปมีส่วนพัวพันกับเรื่องอื้อฉาวทำให้เขาตกจากการเป็นผู้ชิงตำแหน่งผู้นำคนใหม่ทำให้สีจิ้นผิงได้รับการหนุนหลังแทน แต่กลุ่มทายานที่รู้จักสีดีบอกว่าสีจิ้นผิงเป็นคนที่โหดเหี้ยมและเดาว่าการที่เขาได้รับตำแหน่งไม่ทำให้สีจิ้นผิงหยุดเล่นงานป๋อซีไหลเท่านี้แน่ๆ ซึ่งเรื่องก็ออกมาเป็นความจริงเมื่อป๋อซีไหลถูกตัดสินให้มีความผิดข้อหาทุจริตคอร์รัปชัน ถูกสั่งยึดทรัพย์และลงโทษจำคุกตลอดชีวิตในเวลาต่อมา

อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ไว้ใจสีจิ้นผิงคือกลุ่มนักวิชาการของรัฐบาล ไคเฉี่ยเคยถามศาสตราจารย์ชั้นนำที่วิทยาลัยการเมืองที่เธอทำงานอยู่ศาสตราจารย์ผู้นั้นบอกอย่างตรงไปตรงมาว่าสีจิ้นผิงนั้น "ไม่มีความรู้มากพอ" หลังจากตอนที่สีจิ้นผิงเข้ารับตำแหน่งแล้วและมีการกล่าวสุนทรพจน์ช่วง ธ.ค. 2555 ไคเฉี่ยที่ออกจากมหาวิทยาลัยแล้วถามความคิดเห็นจากอดีตเพื่อนร่วมงานของเธอว่าสีจิ้นผิงเป็นฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวากันแน่ ซึ่งเขาก็บอกว่า "ปัญหาไม่ใช่ว่าสีจิ้นผิงเป็นซ้ายหรือขวา แต่ปัญหาคือเขาขาดวิจารณญาณพื้นฐานและพูดจาไร้ตรรกะ"

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือแนวทางการเมืองแบบที่สวนทางกันกับที่ไคเฉี่ยคาดหวังไว้ คือการที่สีจิ้นผิงอ้างว่าจะทำการปฏิรูปแต่กลับละเลยประเด็นสำคัญที่ควรปฏิรูปอย่าง ปัญหาการทุจริต หนี้สินล้นเกิน ปัญหารัฐวิสาหกิจที่มาจากการที่เจ้าหน้าที่มีอำนาจแทรกแซงการตัดสินใจทางเศรษฐกิจโดยที่ประชาชนไม่มีโอกาสตรวจสอบในขณะเดียวกันก็พยายามเอากฎสมัยเหมาเจ๋อตุงกลับมา เรียกร้องให้มีการเพิ่มการสอดแนมทางสังคมมากขึ้นและลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สั่งแบนการคุยกันเรื่องประชาธิปไตยและค่านิยมสากล

"การพยายามทำให้เศรษฐกิจเสรีขึ้นแต่ก็ใช้อำนาจควบคุมทางการเมืองมากขึ้นเป็นความขัดแย้งในตัวเอง" ไคเฉี่ยกล่าว

"ฉันควรจะไม่แปลกใจที่สุดท้ายแล้วก็ได้เห็นว่าสีจิ้นผิงไม่ใช่นักปฏิรูปอะไรเลย" ไคเฉี่ยกล่าว

ไคเฉี่ยยังได้เห็นความเผด็จการของสีจิ้นผิงชัดเจนขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายหลายฉบับในปี 2557 ที่แสดงให้เห็นว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีเจตนาจะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการคงไว้ซึ่งอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จของตัวเอง
หลังจากนั้นสีจิ้นผิงก็ทำให้จีนจากที่ชะงักงันอยู่แล้วสู่ภาวะถอยหลังลงคลอง จากการกวาดต้อนจับกุมทนายความจำนวนมากและหลังจากนั้นก็เกิดกรณีที่พวกเขาใช้อำนาจคล้ายยุคปฏิวัติวัฒนธรรมกับเหรินจื้อเฉียงนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ออกปากวิจารณ์รัฐบาล ซึ่งการที่เธอพยายามปกป้องเหรินจื้อเฉียงทำให้เธอตกที่นั่งลำบากไปด้วย และต่อมาก็นำมาสู่สิ่งที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เธอแตกหักกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน

เหรินจื้อเฉียง

ฟางเส้นสุดท้าย

ในตอนที่เหรินจื้อเฉียงถูกกล่าวหาว่า "ต่อต้านพรรค" นั้นเธอก็เขียนบทความปกป้องเหรินส่งให้กลุ่มเพื่อนทางวีแชทเพราะคิดว่าสื่อจีนคงเซนเซอร์เธอแน่ๆ แต่เมื่อบทความนี้มีคนเผยแพร่ต่อกันไปทั่วเธอก็ถูกคณะกรรมการทางวินัยของวิทยาลัยกล่าวหาว่ากระทำความผิดพลาดร้ายแรงทั้งๆ ที่บทความของเธอส่วนใหญ่ใช้การอ้างอิงรัฐธรรมนูญและหลักจรรยาบรรณของพรรคคอมมิวนิสต์เองทั้งนั้น

หลังจากนั้นไคเฉี่ยก็ต้องเผชิญกับการสอบสวนที่มีการใช้การกดดันทางจิตวิทยากับเธอ ใช้คำวางกับดักเพื่อพยายามให้เธอพูดคำพูดที่เหมือนสารภาพผิดแต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ แต่ไคเฉี่ยไม่แสดงความกลัวออกมาทำให้เธอชนะเกมทางจิตวิทยานี้ไปส่วนหนึ่ง แต่ต่อมาเมื่อเธอยังคงพยายามเผยแพร่สิ่งที่ทำให้ทางการไม่พอใจเธอก็ถูกเรียกสอบอีกเรื่อยๆ และเริ่มมีการสอดแนมเธอทั้งจากการดักฟังโทรศัพท์ อ่านเครื่องมือดิจิทัลของเธอ และคอยติดตามว่าเธอเดินทางไปไหนไปเจอใคร

ต่อมาในเดือน เม.ย. 2559 เว็บไซต์ของฮ่องกงได้ตีพิมพ์เผยแพร่คำปราศรัยของไคเฉี่ยที่มหาวิทยาลัยชิงหัวซึ่งเป็นข้อความที่เธอโต้แย้งรัฐบาลว่าถ้าหากอุดมการณ์มันขัดกับสามัญสำนึกมันก็จะกลายเป็นคำโกหก ในตอนนั้นนับเป็นจังหวะที่ไม่ดีเท่าไหร่เพราะสีจิ้นผิงเพิ่งจะประกาศให้คอยสอบเหล่าคณาจารย์ของวิทยาลัยกลางหนักขึ้น ทำให้คราวนี้เธอถูกเรียกตัวไปกล่าวหาว่าต่อต้านสีจิ้นผิงจากนั้นก็ปิดกั้นไม่ให้เธอเข้าถึงสื่อใดๆ ในจีนได้ แม้กระทั่งชื่อของเธอก็ห้ามตีพิมพ์ ในเวลาต่อมาก็มีการเรียกตัวเธอไปขู่ในทำนองว่าจะโดนลงโทษทางวินัยทำให้เธอไม่พอใจมากเพราะเธอไม่เคยฝ่าฝืนกฎของพรรคเลยแม้แต่ครั้งเดียว

สิ่งที่ทำให้เธอแตกหักกับพรรคและสีจิ้นผิงในที่สุดคือกรณีการใช้ความรุนแรงของตำรวจ กรณีนี้เกิดขึ้นกับนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเหล่ยหยางเมื่อเดือน พ.ค. 2559 ในตอนนั้นเขากำลังเดินทางไปรับแม่ยายที่สนามบินแต่ต่อมากลับพบว่าเขาเสียชีวิตในที่คุมขังของตำรวจซึ่งสถานการณ์ที่แท้จริงก่อนหน้านั้นเป็นอย่างไรนั้นยังคลุมเครือ แต่ตำรวจก็พยายามหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบด้วยการใส่ร้ายเหล่ยว่าเป็นผู้ซื้อบริการทางเพศ เพื่อนร่วมชั้นสมัยมหาวิทยาลัยของเหล่ยไม่พอใจอย่างมากกับข้อกล่าวหานี้จึงร่วมกันช่วยเหลือครอบครัวของเขาให้เรียกร้องความยุติธรรมมีการรณรงค์ในเรื่องนี้ทั่วจีน

รัฐบาลก็เหมือนจะตอบรับว่าจะให้มีการสืบสวนดำเนินคดีในเรื่องนี้แต่สิ่งที่ประหลาดก็เกิดขึ้นเมื่อมีการสั่งคุมขังภายในบ้านต่อพ่อแม่ภรรยาและลูกๆ ของเหล่ยรัฐบาลท้องถิ่นยังบอกจะให้เงินค่าชดเชยจากพวกเขาจำนวนราว 30-35 ล้านบาทเพื่อปิดปากไม่ให้ครอบครัวหาความจริง เมื่อครอบครัวปฏิเสธมีการเสนอเงินเพิ่มอีก 3 เท่า แต่ครอบครัวเหล่ยก็ยังไม่ยอมที่จะถูกปิดปาก ภรรยาของเขาประกาศจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้สามีตัวเอง แต่รัฐบาลก็หันไปกดดันพ่อแม่ของเหล่ยให้คุกเข่าก้มหัวขอร้องภรรยาของเหล่ยอีกต่อหนึ่ง จนกระทั่งในที่สุดทนายความก็เปิดเผยว่าพวกเขาถูกบีบให้ต้องยอมจำนนน และอัยการประกาศว่าจะไม่มีใครถูกดำเนินคดีจากการเสียชีวิตของเหล่ย

"เมื่อฉันได้รู้ผลของเรื่องนี้แล้ว ฉันก็นั่งอยู่ที่โต๊ะทั้งคืน เต็มไปด้วยความโกรธและความเจ็บปวด ความตายของเหล่ยเห็นได้ชัดว่ามาจากการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ แต่แทนที่จะลงโทษตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้บังคับบัญชาของพวกเขากลับพยายามเอาเงินภาษีของประชาชนมาทำให้ยอมความในศาลแทน"

"เจ้าหน้าที่รวมหัวกันหงอแทนที่จะรับใช้ประชาชน ฉันถามตัวเองว่า ถ้าหากเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์กระทำอะไรเลวร้ายแบบนี้ได้ แล้วเราจะเชื่อใจพรรคได้อย่างไร ที่สำคัญที่สุดคือ ฉันสงสัยว่าฉันจะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของระบบแบบนี้ไปอีกได้อย่างไร" ไคเฉี่ยกล่าว

จากนั้นไคเฉี่ยก็เดินทางไปที่สหรัฐฯ พร้อมกับการตัดสินใจว่าจะตัดขาดกับพรรค ถึงแม้ทางการจะพยายามกดดันให้เธอกลับประเทศแต่เพื่อนของเธอในจีนก็บอกว่าทางการกล่าวหาเธอว่า "ต่อต้านจีน" และจะจับตัวเธอถ้าเธอกลับไป เธอแสดงความรังเกียจทั้งกรณีที่สีจิ้นผิงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ตัวเองดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่ยาวได้อย่างไม่จำกัด และรังเกียจการจัดการวิกฤต COVID-19 ของสีจิ้นผิง รวมถึงกรณีของแพทย์หลี่เหวิ่นเหลี่ยงที่ถูกคุกคามจากตำรวจทั้งที่เขาเป็นคนแรกๆ ที่พยายามเตือนเรื่อง COVID-19 จนกระทั่งเขาเสียชีวิตจากโรคนี้

บรรยากาศของจีนก็มืดมนลงในช่วงปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเหรินที่หายตัวไปในเดือน มี.ค. และปรากฏตัวอีกครั้งพร้อมลทลงโทษจำคุก 18 ปี ขณะที่เธอเองก็มีปัญหากับทางการหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ จากการที่มีคนทำให้บทสนทนาของเธอกับกลุ่มเพื่อนไม่กี่คนรั่วไหลออกไป เช่นการที่เธอเรียกพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่าเป็น "ผีดิบทางการเมือง" และเรียกร้องให้สีลงจากตำแหน่ง เมื่อเธอเขียนบทความสั้นๆ ต่อต้านกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ที่จีนบังคับใช้กับฮ่องกงส่งให้เพื่อนก็มีใครบางคงทำให้มันรั่วไหลออกไปด้วย

ไคเฉี่ยรู้ว่าตัวเองจะถูกเล่นงานในหลายด้าน ทั้งการถูกยกเลิกบำนาญเกษียณอายุ ถูกระงับการเคลื่อนไหวของธนาคาร เมื่อเธอขอให้เจ้าหน้าที่วิทยาลัยกลางการันตีความปลอดภัยให้เธอถ้าหากเธอกลับประเทศจีน เจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็ปฏิเสธจะตอบคำถามแต่พูดในทำนองข่มขู่แบบกำกวมต่อลูกสาวและหลายชายของเธอในจีน "มาถึงจุดนี้ก็ทำให้ฉันยอมรับความจริงแล้วว่า ไม่มีทางที่จะหวนกลับไปอีกแล้ว"

เรียบเรียงจาก : 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท