Skip to main content
sharethis

ปาฐกถา 'อนุสรณ์ ธรรมใจ' ว่าด้วย 4 ข้อเสนอรัฐธรรมนูญของประชาชน ทางออกวิกฤติประเทศ ย้ำความจำเป็นในการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่  แถมด้วย เปิด 12 ข้อค้นพบว่าด้วยงานวิจัย 'พัฒนาการของระบบทุนนิยม กลุ่มทุนและผู้ใช้แรงงานในสมัย ร. 7'

11 ธ.ค.2563 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ว่า เนื่องในโอกาส วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. 2475 ครบรอบ 88 ปี ทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับ วิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ ได้จัดงานเสวนาทางวิชาการ PridiTalk ครั้งที่ 7 โดย ตนได้จัดรายงานที่กล่าวปาฐกถาเปิดงาน เรื่อง รัฐธรรมนูญของประชาชน: ทางออกวิกฤติประเทศ ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โดยมีรายละเอียดดังนี้

อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวปาฐกถาเปิดงาน เรื่อง รัฐธรรมนูญของประชาชน: ทางออกวิกฤติประเทศ ว่า รัฐธรรมนูญฉบับแรกหรือปฐมรัฐธรรมนูญซึ่งร่างโดยคณะราษฎรโดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญ คือ รัฐบุรุษอาวุโส รัฐธรรมนูญฉบับแรก หรือ ธรรมนูญการปกครองเกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงการปกครอง 3 วัน คือ วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ส่วน รัฐธรรมนูญที่มีการพระราชทานโดยรัชกาลที่ 7 ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 นั้น คือ รัฐธรรมนูญฉบับที่สอง ซึ่งหวังว่าจะเป็น รัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่ไม่อาจเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรได้เพราะตลอดระยะเวลาของพัฒนาการประชาธิปไตยไทยมีการฉีกรัฐธรรมนูญและการรัฐประหารมาอย่างต่อเนื่อง จึงไม่อาจทำให้ รัฐธรรมนูญที่พระราชทานโดยรัชกาลที่เจ็ดไม่อาจเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรได้ เราคาดหวังว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ควรจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ไม่ถูกฉีกอีก และ เกิดจากประชาชน เกิดจากการส่วนร่วมของประชาชนอย่างเต็มที่

อนุสรณ์ กล่าวว่า พื้นฐานเบื้องต้นที่สำคัญที่สุดก่อนที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและความเตริญก้าวหน้าได้ ผมเห็นว่า เราต้องมีรัฐธรรมนูญที่อยู่บนหลักการที่ถูกต้องและเป็นประชาธิปไตยเสียก่อน สังคมสมานฉันท์ เศรษฐกิจที่เป็นธรรม การเมืองที่เคารพในสิทธิเสรีภาพจึงเกิดขึ้นได้ การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนหรือการถอยหลังเข้าคลองย้อนยุคสวนกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลง ย่อมก่อให้เกิดวิกฤติทางการเมือง วิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

การปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชนจะเป็นทางเลือกที่น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด ดีที่สุดในการออกจากวิกฤติของประเทศชาติ  เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยทุกกลุ่มทุกฝ่าย การร่างรัฐธรรมนูญประชาชนต้องนำมาสู่การปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้าน ซึ่งหมายรวมถึงการปฏิรูปกองทัพ ให้ทหารเป็นทหารอาชีพ แก้ปัญหาวังวนของการทำรัฐประหารซ้ำซากในประเทศไทย การปรับเปลี่ยนให้อำนาจตุลาการยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น รวมทั้งการปฏิรูปความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เหมาะสมระหว่าง สถาบันการเมือง สถาบันศาสนา สถาบันกษัตริย์ และประชาชน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข  

แนวทางปฏิรูปประเทศด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนควรต้องเริ่มต้นจากการรับหลักการร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ฉบับ iLaw) เพื่อนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมาพิจารณาร่วมกับร่างของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลและร่างของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน

เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่การตัดสินใจที่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน ผลประโยชน์เฉพาะหน้าและการมุ่งรักษาอำนาจและผลประโยชน์จากอำนาจที่ไม่ได้ยึดถือหลักการประชาธิปไตย ทำให้กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนจำนวนมากต้องสะดุดหยุดลง การปิดกั้นช่องทางดังกล่าวย่อมไม่เปิดกว้างให้เกิดการปฏิรูปอย่างกว้างขวาง การปฏิรูปอย่างกว้างขวางและรอบด้านจะเป็นผลดีต่อความมั่นคงของทุกสถาบัน และ ประชาชนทุกกลุ่ม

เสียดายโอกาสของประเทศที่จะก้าวหน้า และพัฒนายิ่งขึ้น ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เสียดายโอกาสในการลดความเสี่ยงความรุนแรงทางการเมืองในอนาคต เสียดายโอกาสในการร่วมกันสร้างความการอยู่ร่วมกันอย่างสันติแม้นจะเห็นต่างขนาดไหนก็ตาม เสียดายโอกาสการทำให้ประเทศนี้ปกครองโดยกติกาสูงสุดที่ร่างโดยประชาชน เสียดายในการยกระดับประเทศนี้ให้เป็นประชาธิปไตย มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ

น่าผิดหวังต่อสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมาก แต่ ขบวนการประชาธิปไตย ต้องเดินหน้าต่อไป ร่วมกับ สมาชิกรัฐสภาฝ่ายประชาธิปไตย องค์กรภาคประชาชน ธุรกิจเอกชนและสื่อมวลชนฝ่ายประชาธิปไตย ได้ร่วมกันในวาระสองและวาระสามในการทำให้กระบวนการการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นทางออกจากวิกฤติทางการเมือง เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูประเทศภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง ‘สภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปประเทศ’ นี้จะมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใต้ความมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของราษฎร  แล้วให้ลงประชามติรับรอง ‘รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปประเทศไทย’ นี้ภายในกรอบเวลาที่กำหนด  จากนั้นให้ยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งตามกฎกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประเทศก็จะออกจาก “วิกฤตการณ์ทางการเมือง” ได้

รัฐบาลช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลกและวิกฤติการว่างงานครั้งใหญ่จะได้มีสมาธิที่จะทุ่มเทให้กับการแก้วิกฤติปัญหาในมิติด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเต็มที่มากขึ้น  โดยไม่ต้องพะวงกับการแก้ปัญหาในมิติด้านการเมืองมากนัก

ในท่ามกลางความขัดแย้งในบ้านเมืองที่เริ่มก่อตัวขึ้นช่วงปลายปี พ.ศ.2548 และขยายตัวสืบเนื่องมาเป็นลำดับ ในพระราชพิธีเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติ 60 ปี เมื่อ วันที่ 9 มิถุนายน 2549 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานหลักคุณธรรม 4 ประการ  ในการเสด็จออกพระสีหบัญชร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อเป็นหนทางแก้ไขวิกฤติความขัดแย้งของคนไทย  ซึ่งสามารถจะน้อมนำหลักคุณธรรม 4 ประการนี้มาใช้เป็นแนวทางแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งในประเทศที่ยืดเยื้อมานานกว่าหนึ่งทศวรรษนี้ได้ 

ขณะเดียวกัน เราสามารถยึด แนวคิดภราดรภาพนิยม ของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ มาเป็นแนวทางในการออกจากวิกฤติได้อีกด้วย  

4 ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาและการเรียกร้องประชาธิปไตย

อนุสรณ์ กล่าวถึงข้อเสนอสี่ประการในช่วงที่มีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาและการเรียกร้องประชาธิปไตย ว่า ประการแรก เสนอให้ ‘สภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปประเทศ’ ยกร่างรัฐธรรมนูญโดยความมีส่วนร่วมของคนไทยอย่างกว้างขวางที่สุด  เพื่อสร้าง ‘พื้นที่ทางสังคม’ ให้คนไทยทุกฝ่ายได้มีโอกาสหันหน้ามาพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล  บนความ รู้สึก-นึก-คิด ว่าเป็น ‘คนพวกเดียวกัน’ ที่เหมือนอยู่บนเรือลำเดียวกัน  ถ้าเรือเกิดล่มลง ทุกคนก็ต้องจมน้ำเหมือนกันหมด  แต่หากทุกคนหันหน้ามาปรึกษาหารือจนมีความเข้าใจที่ตรงกันในการแก้ปัญหาต่าง ๆ  แล้วร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาเพื่อให้เรือสามารถแล่นไปจนถึงฝั่งแห่งจุดหมาย  ทุกคนก็จะได้รับประโยชน์สุขร่วมกัน  ตามแนวพระราชดำรัสคุณธรรมข้อที่ 1 ได้แก่ “การที่ทุกคนคิด พูด ทำ ด้วยความเมตตามุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน”

ประการที่สอง ใช้โอกาสในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญแบบมีส่วนร่วมของคนไทยอย่างกว้างขวางที่สุดนี้เป็นเครื่องมือแสวงหา ‘จุดหมายร่วม’ ในเรื่องหลัก ๆ ที่คนไทยทุกฝ่ายเห็นพ้องตรงกัน  แล้วเขียนเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนลงประชามติ  รัฐธรรมนูญที่คนทุกฝ่ายมีส่วนร่วมยกร่างและให้ฉันทานุมัตินี้  จะกลายเป็น ‘จุดรวมความคิด’ ที่ ‘ประสานงานประสานประโยชน์’ คนไทยทั้งประเทศเข้าด้วยกันตามแนวพระราชดำรัสคุณธรรมข้อที่ 2 คือ “การที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  ประสานงานประสานประโยชน์กัน ให้งานที่ทำสำเร็จผล ทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น และแก่ประเทศชาติ”

ประการที่สาม ให้เขียนรัฐธรรมนูญแค่ ‘หลักการใหญ่ ๆ ที่คนไทยทุกฝ่ายเห็นตรงกัน’  เพราะถ้าหากยิ่งลงลึกในรายละเอียดมากเท่าไร ก็จะยิ่งหาข้อยุติร่วมกันยากขึ้นเท่านั้น  แล้วถ้ามีประเด็นเรื่องใดที่คนไทยเห็นแตกต่างกันในรายละเอียดของวิธีปฏิบัติเพื่อไปสู่ ‘จุดหมายร่วม’ ที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันแล้วนั้น  ก็ค่อยเลือกพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนแต่ละฝ่ายไปต่อสู้ทางความคิด ‘เพื่อหาข้อยุติในสภา’ (ไม่ใช่บนท้องถนน)  ในขั้นตอนการเขียน ‘กฎหมายลูก’ ระดับต่าง ๆ ภายใต้กฎกติกาตามที่ตกลงกันไว้ในรัฐธรรมนูญ  เช่น ให้ใช้เสียงข้างมากในสภาเป็นเครื่องตัดสิน  หากยังขัดแย้งกันจนหาข้อยุติไม่ได้ ก็ยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสิน เป็นต้น  เมื่อทุกฝ่ายต่างประพฤติปฏิบัติตนตามกฎกติกาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญโดยเท่าเทียมกัน ‘ไม่ใช่เป็นสองมาตรฐาน’ ก็จะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งได้  ตามแนวพระราชดำรัสคุณธรรมข้อที่ 3 คือ “การที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสุจริต ในกฎกติกา และในระเบียบแบบแผนโดยเท่าเทียมกัน” 

ประการที่สี่ ให้มี ‘องค์กรอิสระทำหน้าที่ประเมินผลการทำงาน’ ของทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน กองทัพ รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ  ว่าในแต่ละปีใครทำหน้าที่ได้ตรงตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญที่มาจากปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริงนี้มากน้อยแค่ไหน  ต้องปรับปรุงแก้ไขเรื่องใดบ้าง ฯลฯ  แล้วทำรายงานเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเพื่อประกอบการพิจารณาในการเลือกตั้งครั้งถัดไป  ประชาชนทั่วไปซึ่งมักคาดหวังคุณลักษณะด้านใดด้านหนึ่งในตัวผู้บริหารบ้านเมืองไม่เท่ากัน จนอาจกลายเป็นความขัดแย้ง   ในกรณีนี้รายงานการประเมินตามตัวชี้วัดที่ถ่วงน้ำหนักคะแนนทุกด้านอย่างเหมาะสม จะเป็นเครื่องมือปรับความคิดจิตใจของคนไทยให้ ‘ลงรอยเดียวกัน’ มากขึ้น  ตามแนวพระราชดำรัสคุณธรรมประการที่สี่นี้ คือ “การที่ต่างคนต่างพยายามทำความคิดความเห็นของตนให้ถูกต้องเที่ยงตรงและมั่นคงอยู่ในเหตุในผล  หากความคิดจิตใจ และการประพฤติปฏิบัติที่ลงรอยเดียวกันในทางที่ดีที่เจริญนี้ ยังมีพร้อมมูลอยู่ในกายในใจของคนไทย ก็มั่นใจได้ว่าประเทศชาติไทยจะดำรงมั่นคงอยู่ตลอดไปได้”

การยกร่าง ‘รัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปประเทศ’ โดยความมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งประเทศอย่างแท้จริง ตามแนวทางที่คนไทยฝ่ายซึ่งต้องการ ‘ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ’ อยากจะเห็น  ภายใต้แนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ซึ่งคนไทยฝ่ายที่ต้องการ ‘ประชาธิปไตยที่มีคุณธรรม’ ให้การยอมรับ  จะทำให้ปัญหาขัดแย้งในมิติทาง ‘สังคมวิทยาของความเป็นไทย’ ที่ส่งผลทำให้คนไทยแตกแยกเป็น ‘สีเสื้อที่ต่างกัน’ ในช่วงกว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมานี้คลี่คลายลงได้

ทุกสังคมล้วนเผชิญความไม่แน่นอน ความเสี่ยง ความผันผวน และ วิกฤตการณ์ในระยะเปลี่ยนผ่านได้เสมอ มากบ้างน้อยบ้าง ตามเหตุปัจจัยของแต่ละประเทศ บริบทของแต่ละสังคม แต่ละช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษยชาติและประเทศไทย

เราย่อมสามารถเก็บเกี่ยวบทเรียนและสามารถเรียนรู้ไม่เดินซ้ำรอยความผิดพลาดในอดีตได้เสมอ แต่มนุษย์มักเดินซ้ำรอยความผิดพลาดในอดีตบ่อยครั้ง เพราะสัญชาตญาณดิบของมนุษย์มักไม่เปลี่ยนแปลง

ความจำเป็นในการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่

อนุสรณ์ กล่าวถึงความจำเป็นในการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ในท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจการเมืองว่า บัดนี้และในอนาคตอีกไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี เรากำลังจมอยู่กับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจและการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน เศรษฐกิจทรุดหนักจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโรค Covid-19 การเมืองระบอบ คสช และระบบยุติธรรมเจอกับวิกฤติศรัทธาของประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่วัยหนุ่มสาว ขบวนการของคนหนุ่มสาวกำลังขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ แต่การเปลี่ยนแปลงที่ขาดการศึกษารากเหง้าของสังคมให้ถ่องแท้ อาจไม่สามารถการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่าได้ เวลานี้ ฐานะทางการคลังรัฐบาลมีความเสี่ยงมากขึ้นตามลำดับ รัฐบาลเก็บภาษีพลาดเป้าค่อนข้างมากและจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มอีกจำนวนมาก เมื่อสองเดือนก่อนหน้านี้ รัฐบาลก็ได้กู้เงินเพิ่มไปแล้ว 2.14 แสนล้านเพื่อเสริมสภาพคล่อง ต้องถือว่า รัฐบาลยังไม่ได้ถังแตกตอนนี้ เพราะยังกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องได้อยู่ ปัญหาคือ มีการประมาณสถานการณ์เศรษฐกิจไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เก็บภาษีพลาดเป้าค่อนข้างมากและค่าใช้จ่ายภาครัฐในการบรรเทาผลกระทบความเดือดร้อนของประชาชนมากเกินคาด ความเสียหายทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสองซึ่งมีมาตรการปิดเมืองและการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท การกู้เงินเพิ่มเพียง 2.14 แสนล้านนั้นจะไม่เพียงพอต่อการบริหารประเทศและการบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป การแก้ไขวิกฤตการณ์และฟื้นฟูเศรษฐกิจและการจ้างงาน ขอเสนอให้กู้เพิ่มไว้เลยอีกอย่างน้อย 3-5 แสนล้านบาทในช่วงปลายปี รัฐบาลสามารถกู้เงินในประเทศเพิ่มเติมได้ การก่อหนี้สาธารณะเพื่อดูแลเศรษฐกิจและการจ้างงานมีความจำเป็น แต่ต้องชะลอการจัดซื้ออาวุธจากต่างประเทศทั้งหมด 100% นำงบมาพัฒนากำลังพลและจัดสรรงบให้สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศแทนเพื่อทดแทนการนำเข้าและมุ่งให้เกิดการจ้างงานในประเทศ การก่อหนี้เพิ่มต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า รัฐบาลต้องยกเลิกหรือชะลอหรือปรับลด โครงการและการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนทั้งหมดก่อน รวมทั้งไม่ควรเลื่อนการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไปอีกแล้ว เนื่องจากประเทศไทยมีรายได้จากฐานภาษีทรัพย์สินต่ำมากๆ และควรพิจารณาจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน เช่น การจัดเก็บภาษีเพิ่มค่าของทรัพย์สินอันเป็นผลจากการลงทุนของรัฐ (Betterment Tax) การจัดเก็บภาษีการเพิ่มค่า (Betterment Tax) เช่น ตอนซื้อทรัพย์สินมาในราคา 1 ล้านบาท ตอนขายไปราคาขึ้นไป 10 ล้านบาท อันเป็นผลจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็น ถนน การขนส่งมวลชนระบบราง หรือ มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐ (เช่น สนามบิน ศูนย์ราชการ) ก็ต้องเก็บภาษีจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในอัตราก้าวหน้าเพื่อนำเงินภาษีมาใช้พัฒนาประเทศต่อไป ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ควรต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับประชาชนหรือธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่มาก่อนก่อนที่โครงการที่ก่อให้เกิดมลพิษทางเสียง มลพิษทางกลิ่นจะมาจัดตั้ง นอกจากมี Betterment Tax แล้วก็ควรมี Worsening Subsidy ซึ่งอาจใช้เป็น ภาษี Betterment Tax ในอัตราติดลบได้

รัฐบาล คสช รวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง กว่า 5-6 ปีที่ไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ทำให้การตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของประชาชนในระดับพื้นที่มีความล่าช้า อย่างไรก็ตาม การจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนนี้จะทำให้สถานการณ์การแก้ปัญหาต่างๆของประชาชนดีขึ้นบ้าง การเป็นรัฐรวมศูนย์ทำให้การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนมีความล่าช้า  ทางการต้องปล่อยให้เงินบาทอ่อนค่าเพื่อกระตุ้นภาคส่งออกและสินค้าเกษตร สิ่งนี้มีความสำคัญอย่างมากในขณะนี้ในการช่วยพลิกฟื้นและก่อให้เกิดการขยายตัวของตลาดแรงงาน กระตุ้นให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น  ปัญหาหนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างมากในระบบธนาคารว่า ระบบธนาคารไทยยังแข็งแกร่งด้วยเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 19.2% ส่วนปัญหาหนี้เสียในที่พุ่งขึ้นเป็นผลจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในภาคเศรษฐกิจจริงที่ต้องช่วยกันไม่ให้เกิดการลุกลามสู่ภาคการเงิน

12 ข้อค้นพบว่าด้วยงานวิจัย 'พัฒนาการของระบบทุนนิยม กลุ่มทุนและผู้ใช้แรงงานในสมัย ร. 7'

อนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่า การศึกษาจากงานวิจัยเรื่อง พัฒนาการของระบบทุนนิยม กลุ่มทุนและผู้ใช้แรงงานในสมัย ร. 7 ที่ผมและท่านอาจารย์ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ มีข้อค้นพบในงานวิจัย (Key Finding) ที่น่าสนใจหลายประการ ยุคสมัยของรัชกาลที่ 7 ถือเป็นระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สำคัญเช่นเดียวกับปัจจุบัน ความเป็นไปในช่วงเวลาดังกล่าวอาจนำมาเป็นบทเรียนเพื่อประเมินสถานการณ์ในปัจจุบันเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองในปัจจุบันในระยะเปลี่ยนผ่านได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ข้อสรุปของการศึกษาจากรายงานทางวิชาการดังกล่าว มีดังนี้

ประการที่หนึ่ง การยกเลิกระบบทาสและระบบแรงงานเกณฑ์ของไพร่ในสมัย ร.5 เป็นสิ่งที่ตอบสนองต่อการผลิตในระบบทุนนิยมที่ต้องการแรงงานรับจ้างเสรี การปฏิรูประบบการศึกษาและการจัดการศึกษาให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ห้าต่อเนื่องมายังสมัยรัชกาลที่เจ็ด (โดยเฉพาะหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระหว่างปี พ.ศ.2475-2478) ทำให้แรงงานรับจ้างเข้าสู่ตลาดแรงงานได้รับการศึกษาและมีทักษะในการทำงานที่ดีขึ้น เป็นผลดีต่อระบบการผลิตในระบบทุนนิยม การพัฒนาระบบเงินตรา ระบบกฎหมาย และระบบกรรมสิทธิ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้าต่อเนื่องมาถึงรัชกาลที่เจ็ด ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยามนั้นไม่เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการของระบบทุนนิยมในสยาม ทั้งยังเกื้อหนุนต่อการขยายตัวของทุนนิยม ขณะที่ราชสำนักและเจ้านายเองก็ได้ทำกิจการธุรกิจต่างๆ ร่วมกับทุนต่างชาติและทุนไทยเชื้อสายจีน นอกจากนี้ ราชสำนักยังจัดตั้ง แบงก์สยามกัมมาจล (ธนาคารไทยพาณิชย์) บริษัทปูนซิเมนต์ เป็นต้น แต่ผลประโยชน์จากระบบทุนนิยมในช่วงเวลาดังกล่าวไม่กระจายตัวมายังราษฎรส่วนใหญ่และกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้นำในสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจดังกล่าวยังคงดำรงอยู่จนปัจจุบัน  

ประการที่สอง ในส่วนของการศึกษาพัฒนาการของกลุ่มทุนนั้น รายงานศึกษาฉบับนี้ได้ศึกษาบทบาทของกลุ่มทุนจีน กลุ่มสยามเชื้อสายจีนต่อพัฒนาการของทุนนิยม สำรวจถึงการสะสมและการเติบโตที่อาศัยความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ ทุนสยามเชื้อสายจีนและกลุ่มทุนภาครัฐ (กรมพระคลังข้างที่ หรือ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) มีบทบาทต่อพัฒนาการของระบบทุนนิยมไทยเป็นอย่างยิ่ง การผลิตและการส่งออกข้าว การพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วงรัชกาลที่เจ็ดล้วนมีผลต่อพัฒนาการและโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองในระยะต่อมา พัฒนาการของทุนไทยต้องพิจารณาร่วมกับโครงสร้างการเมืองไทยด้วย กลุ่มทุนทั้งหมดก่อนยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยล้วนสะสมทุนผ่านการยึดโยงกับอำนาจของรัฐ แสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจและแสวงหาผลประโยชน์จากความไม่มีประสิทธิภาพของตลาดในระดับเข้มข้น

ประการที่สาม บทบาทของของกลุ่มทุนที่มีผลต่อธุรกิจอุตสาหกรรมการค้า ระบบเศรษฐกิจโดยรวมย่อมมีผลต่อกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งการวิจัยนี้มุ่งศึกษาต่อกลุ่มผู้ใช้แรงงานในภาคการคมนาคมในกรุงเทพฯ คือรถรางและรถลาก และแรงงานขนส่งในการค้าข้าว เมื่อมีการเปิดประเทศ แรงงานท้องถิ่นมีไม่เพียงพอจึงมีการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากประเทศจีน แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานอพยพเพื่อหนีภัยสงคราม ความยากลำบากทางเศรษฐกิจในประเทศของตัวเอง

ประการที่สี่ เมื่อพิจารณาผลกระทบจากสนธิสัญญาเบาว์ริงที่มีต่อไทย สิ่งสำคัญที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการเป็นปัจจัยให้ระบบเศรษฐกิจไทย เปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพมาเป็นระบบเศรษฐกิจแบบใช้เงินตรา ตัวอย่างที่ลงไปสัมพันธ์กับประชาชนในระดับรากหญ้าที่แผ่ขยายเป็นวงกว้างไปทั่วประเทศคือ การเปลี่ยนค่าเงินต่ำสุดที่ใช้กันที่หน่วยเงินเป็น อัฐ (ยุคก่อนหน้านั้นขึ้นไป หน่วยเงินต่ำสุดเป็น เบี้ย ที่ทำมาจากเปลือกหอยที่สืบทอดมาจากยุคสมัยอยุธยา) มาเป็นหน่วยเงิน สตางค์ ในกลางสมัยรัชกาลที่ 5 ดังนั้นกล่าวได้ว่าเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยรัชกาลที่ 7 ระบบเศรษฐกิจแบบเงินตราก็แผ่ขยายไปถึงวิถีชีวิตของประชาชนในทุกมุมของประเทศไทย

ประการที่ห้า ด้านโครงสร้างการผลิต ไทยได้ปรับเปลี่ยนเป็นการผลิตเพื่อการค้ามากขึ้นและมุ่งสนองความต้องการของตลาดโลก ได้แก่ ข้าว พื้นที่การเพาะปลูกเริ่มขยายตัวในเขตปริมณฑลของกรุงเทพฯ จากโครงการขุดคลองใหม่ๆ เพื่อเปิดพื้นที่รกร้างให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวและขยายพื้นที่การปลูกข้าวเพื่อการค้าบางส่วนไปยังพื้นที่ในภาคอีสานและภาคเหนือ ตามเส้นทางรถไฟสายอีสานและสายเหนือที่ขยายออกไป ที่จะมีทางเกวียนจากที่ต่างๆ เชื่อมมายังสถานีรถไฟเพื่อนำส่งสินค้าข้าวของป่ามาขาย และรับสินค้าอุปโภคบริโภคใหม่ๆ ไปยังตลาดในชนบทที่ห่างไกล กล่าวได้ว่า เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 7 พื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ก็เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตข้าวขายส่งมายังตลาดโรงสีในกรุงเทพฯ เพื่อการส่งออกที่สำคัญยิ่ง ไม้สักในพื้นที่ป่าทางภาคเหนือยังคงเป็นอุตสาหกรรมป่าไม้อย่างต่อเนื่องมาหลายทศวรรษจนถึงรัชสมัยนี้ ขณะที่ดีบุกก็เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญในภาคใต้ของยุคสมัยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะด้านชายฝั่งทะเลอันดามัน ขณะที่ทางรถไฟสายใต้ที่ไปถึงอำเภอสุไหง-โกลก ชายแดนใต้ติดกับมาเลเซีย ก็เป็นเส้นทางของการเปิดพื้นที่ในการปลูกยางพาราในภาคใต้มากขึ้น 

ประการที่หก ด้านพัฒนาการของกลุ่มทุน ประเทศไทยยังมีลักษณะเศรษฐกิจแบบทุนนิยมกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาอยู่ในสมัยรัชกาลที่เจ็ด อันสัมพันธ์กับรากฐานระบอบการเมืองเศรษฐกิจที่ตกทอดมาจากยุคอดีตของพัฒนาการระบอบศักดินาและการมีสภาพเป็นรัฐกึ่งอาณานิคม อันเนื่องมาจากผลของสนธิสัญญาเบาว์ริงที่เป็นแม่แบบในการทำสนธิสัญญาดังกล่าวกับประเทศอื่นๆ อีกรวม 15 ประเทศทั้งในยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ดังนั้น กลุ่มทุนที่มีบทบาทสำคัญในการลงทุนและดำเนินการด้านเศรษฐกิจการค้าจึงพัฒนามาจากกลุ่มทุนดั้งเดิมในสังคมไทย ได้แก่ กลุ่มทุนภาครัฐหรือกรมพระคลังข้างที่ ที่เป็นกลุ่มทุนที่ลงทุนบุกเบิกในกิจการใหม่ๆ เช่น ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ในย่านกรุงเทพฯ การให้กลุ่มทุนอื่นกู้ยืม การลงทุนในกิจการธนาคารและลงทุนในอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ ในกิจการรถรางในกรุงเทพฯ กรมพระคลังข้างที่เป็นหุ้นสำคัญในกิจการและบริษัทต่างๆเหล่านี้ด้วย และในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้เพิ่มทุนและนำเอาบริษัทรถรางที่เป็นบริษัทสังกัดต่างชาติหรือกลุ่มทุนตะวันตก ให้เปลี่ยนย้ายมาเป็นบริษัทสัญชาติไทยเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีของชาติยุโรปที่จัดเก็บแพงขึ้น โดยที่กลุ่มทุนตะวันตกยังเป็นทุนใหญ่ในบริษัทรถราง แต่อยู่ภายใต้การคุ้มครองและร่วมทุนของกลุ่มทุนภาครัฐ

กลุ่มทุนที่สำคัญกลุ่มที่สองในภาคเศรษฐกิจของไทยคือกลุ่มทุนสยามเชื้อสายจีน กลุ่มทุนเหล่านี้มักจะมีต้นตระกูลจากการเป็นจีนอพยพ เพียงแต่ไม่กี่ทศวรรษผ่านไป ก็กลายเป็นกลุ่มทุนที่แผ่ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจสาขาต่างๆ โดยทั่วไป กลุ่มทุนสยามเชื้อสายจีนตระกูลสำคัญๆ มักจะอยู่ในแวดวงธุรกิจการค้าข้าวและโรงสี โดยมักมีสายสัมพันธ์กับกลุ่มเจ้านายสยามทั้งในด้านเงินทุนและความสัมพันธ์ทางเครือญาติผ่านการแต่งงานระหว่างลูกสาวกลุ่มสยามเชื้อสายจีนกับเจ้านายฝ่ายสยาม ก่อให้เกิดพลวัตด้านอำนาจและเงินทุนที่มีอิทธิพลในทางการเมืองและการลงทุน กลุ่มทุนที่สามคือกลุ่มทุนตะวันตก ทั้งทุนยุโรปและทุนอเมริกา เป็นกลุ่มทุนที่เข้ามายังไทยมากขึ้นหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง

จากการศึกษาพบว่า ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2468-2478 ไม่ปรากฏว่ามีการปรับปรุงเทคนิคการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ หรือ มีการลงทุนเพิ่มขึ้น สัดส่วนของทุนต่อแรงงานสยามในช่วงเวลาดังกล่าวจึงมิได้มีการเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด การสะสมทุนและการลงทุนจึงไม่ได้เกิดขึ้นจากเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการอิสระเหล่านี้ ไม่มีวิธีการผลิตแบบใหม่ๆ ไม่มีการพัฒนาสินค้าชนิดใหม่ๆ สินค้าส่งออกในช่วงนี้จึงไม่ได้แตกต่างจากช่วงสี่ทศวรรษก่อนหน้าแต่อย่างใด เป็นการเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณมากกว่าประเภทของสินค้า การพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้ทุนเพื่อปรับปรุงเทคนิคการผลิตไม่ได้เกิดขึ้นมากนัก การพัฒนาทางเศรษฐกิจจึงยังไม่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัว นอกจากนี้โครงสร้างทางเศรษฐกิจยังมีการผูกขาดสูง ผลประโยชน์ของการพัฒนาทางเศรษฐกิจจึงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มเล็กๆ ไม่กระจายไปยังราษฎรส่วนใหญ่  ระบบเศรษฐกิจแบบเงินตราและการค้าได้กระจายไปทั่วประเทศแล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับการไหลบ่าเข้ามาของแรงงานและทุนจากต่างชาติ ปัจจัยการผลิตไม่ว่าจะเป็นทุนหรือแรงงานถูกจัดสรรไปยังธุรกิจการค้า และ อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร เป็นส่วนใหญ่ ภาษีนำเข้าที่ต่ำและการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและบริการสาธารณะ ทำให้อุตสาหกรรมใหม่ๆ ไม่เกิดขึ้นมากนัก                   

ประการที่เจ็ด จากการศึกษาสามารถสรุปผลการศึกษาเกี่ยวกับแรงงานได้ว่า เมื่อแรงงานสยามได้ถูกปลดปล่อยออกจากระบบไพร่ทาสได้ไม่นานนัก ก็เริ่มมีการขยายเส้นทางคมนาคมไปยังท้องถิ่นต่างจังหวัดในสมัยรัชกาลที่ 7 นั้น ความต้องการแรงงานของภาคส่วนต่างๆ ก็ได้แรงงานคนจีนอพยพเข้ามาเป็นแรงงานหลักในระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาเป็นแบบทุนนิยมมากขึ้นตามลำดับ กรรมกรรถลากที่มีราว 3,000-6,000 คนในกรุงเทพฯ สามารถรวมตัวกันประท้วงเพื่อต่อสู้กับราคาค่าเช่ารถที่จะเพิ่มสูงขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นบางครั้ง ส่วนกรรมกรขนข้าวโรงสีนั้นเป็นกลุ่มกรรมกรที่มีกว่า 3,000 คนหรือมากกว่านั้นกระจายอยู่ตามโรงสีในกรุงเทพฯธนบุรีและต่างจังหวัด ไม่ได้ถูกรายงานความเคลื่อนไหวต่างๆ ในสื่อสาธารณะมากนัก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกรรมกรรถลากเป็นแรงงานที่เปิดเผยในเมืองหลวงและสัมพันธ์กับผู้ใช้บริการที่เป็นชนชั้นกลางในเมืองหลวง จึงมีการกล่าวถึงหลากด้านมากในสื่อสิ่งพิมพ์

ประการที่แปด พบว่ากลุ่มทุนที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของไทยมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้า คือ กรมพระคลังข้างที่ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กลุ่มทุนกรมพระคลังข้างที่เป็นทุนภาครัฐบุกเบิกการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้า การขยายตัวของกรุงเทพและการรวมศูนย์อำนาจสู่ส่วนกลาง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กรมพระคลังข้างที่เติบโตและเข้มแข็งขึ้น ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงินของสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นสิ่งที่เกื้อหนุนต่อกลุ่มทุนพระคลังข้างที่ให้ขยายบทบาททางธุรกิจท่ามกลางการขยายตัวของการผลิตและการค้าข้าวหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง รัฐศักดินารวมศูนย์ที่ก่อตัวมาตั้งแต่สมัย ร.4 และสมัย ร.5 ไม่ก่อให้เกิดโอกาสให้สะสมทุนและเกิดศูนย์กลางการค้าแบบในยุโรป ชนชั้นพ่อค้าต้องอิงอำนาจจากกษัตริย์และขุนนางในการประกอบกิจการตามขอบเขตที่รัฐกำหนด จึงไม่มีการพัฒนาการผลิตและเทคนิคการผลิต พ่อค้าเหล่านี้จำนวนไม่น้อยก็เป็นเพียง นายทุนนายหน้า (Compradore Capitalists) ให้กับทุนตะวันตก ทำหน้าที่ติดต่อกับชาวพื้นเมืองในการซื้อสินค้าต่างๆ เพื่อส่งออก ไม่ว่าจะเป็นข้าว ดีบุก ไม้สัก นายทุนนายหน้าเหล่านี้จึงมีบทบาทไม่มากนักในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองในช่วง พ.ศ. 2468-2477

ประการที่เก้า ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทุนพ่อค้าและกลุ่มผู้ใช้แรงงานสยามในยุค พ.ศ. 2468-2477 นั้นเป็นความสัมพันธ์ที่ยังคงไม่มีความเท่าเทียมกัน กลุ่มผู้ใช้แรงงานไม่ได้มีอำนาจต่อรองมากนัก แต่การเอารัดเอาเปรียบถูกกำกับด้วยความเห็นอกเห็นใจเนื่องจากกลุ่มนายทุนพ่อค้าสยามเชื้อสายจีนจำนวนมากล้วนเคยเป็นกรรมกรผู้ใช้แรงงานมาก่อน เป็นแรงงานอพยพที่ค่อยๆ สะสมทุนจากการทำงาน เศรษฐกิจไทยนั้นขาดชนชั้นกระฎุมพีอิสระ (bourgeoisie)     ชนชั้นนี้ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับเจ้านายและขุนนางหรือข้าราชการในเวลาต่อมา ไม่มีอำนาจทางการเมืองและไม่เป็นผู้นำทางวัฒนธรรม การขาดพัฒนาการของชนชั้นนี้ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจสู่ระบบทุนนิยมและประชาธิปไตยเป็นไปอย่างติดขัดในเวลาต่อมา ทุนนิยมไทยเป็นทุนนิยมที่ไม่เป็นอิสระจากรัฐศักดินา เป็นทุนนิยมอาศัยอำนาจผูกขาดจากรัฐ เห็นได้ชัดจากระบบเจ้าภาษีนายอากรเอาเปรียบราษฎรในหมู่บ้านชนบท และรับเอาจิตสำนึกแบบรัฐศักดินา ที่ใช้อำนาจรีดเอาส่วนเกินทางเศรษฐกิจไปจากชาวบ้าน แทนที่จะใช้วิธีปรับปรุงการเกษตรกรรมและจัดตั้งโรงงานผลิตสินค้า และแบ่งปันผลประโยชน์กับชาวบ้านในฐานะแรงงาน

ประการที่สิบ การศึกษายังพบอีกว่า กลุ่มทุนในสยามในช่วง พ.ศ. 2468-2477 นั้นอ่อนแอ จากการที่กลุ่มทุนส่วนใหญ่เป็นทุนการค้าจึงไม่ได้มีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจไทยได้ การพัฒนากิจการอุตสาหกรรมก็เป็นไปอย่างล่าช้า ไม่มีทุนอุตสาหกรรมภายในที่เข้มแข็ง กิจการสำคัญๆยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มทุนตะวันตก กลุ่มพ่อค้าและนายทุนจีนที่เติบโตภายใต้การอุปถัมภ์ของรัฐบาลสยามจึงไม่อาจแข่งขันได้กับกลุ่มทุนตะวันตก อัตราภาษีนำเข้าที่ต่ำและการไม่มีอำนาจอธิปไตยทางศุลกากรอย่างเต็มที่ทำให้กิจการอุตสาหกรรมภายในไม่เติบโต 

ประการที่สิบเอ็ด ผู้วิจัยพบว่า  ในส่วนของผู้ใช้แรงงานและองค์กรผู้ใช้แรงงานได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นตามการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจและการผลิตแบบทุนนิยมที่ต้องการแรงงานเสรี การยกเลิกระบบทาสและระบบแรงงานเกณฑ์ของไพร่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นสิ่งที่ตอบสนองต่อการผลิตในระบบทุนนิยมที่ต้องการแรงงานรับจ้างเสรี อุปสงค์ต่อแรงงงานขยายตัวอย่างรวดเร็วหลังสยามเปิดประเทศ มีการให้สัมปทานทุนต่างชาติในกิจการต่างๆ เช่น สัมปทานเหมืองแร่ สัมปทานป่าไม้ กิจการยาสูบ กิจการโรงสีข้าว กิจการน้ำตาล เป็นต้น ขณะที่อุปทานแรงงานไม่เพียงพอ จึงได้มีการเปิดให้แรงงานอพยพโดยเฉพาะจากจีนได้เข้ามาทำงานในสยาม ด้วยระบบการเมืองการปกครองที่มีการเปิดกว้างมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยเฉพาะหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้ใช้แรงงานและองค์กรผู้ใช้แรงงานจึงได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิและค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม การเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายของรัฐบาลคณะราษฎรหลังการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 2475 มีความสำคัญกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานมากขึ้น เปิดให้มีเสรีภาพในการเคลื่อนไหว เสรีภาพในการรวมกลุ่มมากขึ้น รวมทั้งเปิดให้มีเสรีภาพในการเผยแพร่ความคิดทางการเมือง

ประการที่สิบสอง ผู้วิจัยยังเห็นว่า องค์กรผู้ใช้แรงงานยังห่างไกลต่อการพัฒนาไปสู่องค์กรที่เป็นสถาบันอันเข้มแข็งในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน หรือขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหรือสังคมในทศวรรษ 2470 ผู้วิจัยพบเพียงการเคลื่อนไหวและต่อสู้ในประเด็นค่าจ้างและการเรียกร้องสภาพการจ้างที่เป็นธรรมเป็นครั้งคราวเท่านั้น สภาพโดยรวมของขบวนการแรงงานสยามในยุคนี้ยังห่างไกลบทบาทในการเป็นพลังขับเคลื่อนทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม     

ตลอดระยะเวลาอันยาวนานของประชาธิปไตยแบบไทยไทยนั้นต้องสะดุดหยุดอยู่เป็นระยะๆ บางเวลาก็ถอยหลังไปมาก ทุกๆครั้งก็จะมีการฉีกรัฐธรรมนูญ หากเราสามารถสถาปนาร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้ในอนาคตพร้อมกับความเข้มแข็งของขบวนการประชาธิปไตยของประชาชน ย่อมทำให้ประเทศเดินหน้าได้เป็นอย่างดี เราควรใช้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในการสร้างฉันทามติว่าต้องการระบบสวัสดิการและระบบประกันสุขภาพอย่างไร หลังจากนั้นรัฐธรรมนูญใหม่ควรกำหนดให้มีกรอบการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ชัดเจนในการยกระดับเศรษฐกิจไทยสู่การเป็นระบบเศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ลดอำนาจการผูกขาด ส่งเสริมการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ ขยายโอกาสและสิทธิทางเศรษฐกิจ อันจะนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น มีนวัตกรรมมากขึ้น ประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจสูงจะนำไปสู่ประชาธิปไตยทางการเมืองที่สมบูรณ์ขึ้น มีความเข้มแข็งมีคุณภาพมากขึ้น มีสันติธรรม สังคมมีสันติสุข มีตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจน ในประเทศยุโรปเหนือโดยเฉพาะประเทศสแกนดิเนเวีย หรือ อย่างประเทศสหรัฐอเมริกาก็เป็นประเทศที่มีนวัตกรรมสูงและมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เพราะมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ เสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพในการคิด การแสดงออกได้อย่างหลากหลาย รัฐธรรมนูญควรมีระบบและกลไกทำให้ความคิดเห็น ความเชื่อ วัฒนธรรม ศาสนาที่แตกต่างสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและเป็นประโยชน์ รัฐธรรมนูญควรกำหนดให้สวัสดิการสังคม การศึกษาและหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิที่ประชนชนชาวไทยได้รับอย่างเสมอภาคเป็นธรรมและทั่วถึง ระบบสวัสดิการพื้นฐาน ระบบการศึกษาพื้นฐานและการเข้าถึงระบบสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลพื้นฐานเป็นสิ่งที่รัฐพึงจัดให้ประชาชนอย่างมีคุณภาพและเป็นธรรม 

การได้มาซึ่ง “รัฐธรรมนูญประชาชน”

อนุสรณ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า อย่างไรก็ตาม การได้มาซึ่ง “รัฐธรรมนูญประชาชน” นั้น ต้องอาศัยการต่อสู้เรียกร้องของประชาชนผู้กล้าหาญและเสียสละ และ สิ่งนี้คงไม่ได้เกิดขึ้นจากหยิบยื่นให้ของผู้อำนาจอย่างแน่นอน การพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เมื่อ 88 ปีที่แล้วโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า กษัตริย์พระองค์แรกภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เป็นผลต่อเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายม พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร และ และ เรามีรัฐธรรมนูญฉบับแรกในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 ผลแห่งการประนีประนอมกันระหว่าง “คณะเจ้านาย” และ “คณะราษฎร” ทำให้ “สยาม” เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยไม่สูญเสียชีวิตของผู้คน ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้และเป็นทางออกจากวิกฤติแห่งความขัดแย้ง โดยมี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า กษัตริย์ผู้ยึดถือในแนวทางสันติวิธี และ ผู้นำของคณะราษฎร พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เชษฐบุรุษ ผู้เสียสละกระทำการเพื่อประเทศชาติ รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ผู้ยึดถือแนวทาง “ภราดรภาพนิยม” และ แกนนำคณะราษฎร 2475 ท่านอื่นๆที่ได้กระทำการเพื่อผลประโยชน์ของราษฎร การจัดงานในวันนี้จึงเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรก และ เป็นการรำลึกถึงความเสียสละกล้าหาญของสี่ทหารเสือประชาธิปไตยและสมาชิกคณะราษฎรทั้ง 102 คน ที่ได้ร่วมกันเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจาก “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็น “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” หรือในปัจจุบัน เราเรียก ระบอบการปกครองของเราว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข” หรือ เรียกว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็ได้

ขอให้วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2563 นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์เพื่อให้ได้มาซึ่ง “รัฐธรรมนูญประชาชน” อันจะเป็นทางออกจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองของประเทศ   

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net