Skip to main content
sharethis

หากยังจำกันได้ ช่วงส่งท้ายปีเก่าขึ้นปีใหม่เมื่อ 2 ปีก่อน (2561) ปรากฏข่าวการพบศพในกระสอบป่านที่ลอยมาติดริมฝั่งแม่น้ำโขงในจังหวัดนครพนม ต่อมาสามารถพิสูจน์ดีเอ็นเอจนยืนยันได้ในภายหลังว่าเป็นศพผู้ลี้ภัยการเมืองไทย 2 รายที่ลี้ภัยหลังการรัฐประหาร 2557 ไปยังประเทศลาว คือ ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือสหายภูชนะ พบศพที่วัดหัวเวียง ใกล้ตลาดนัดไทย-ลาว ต.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. อีกคนคือ ไกรเดช ลือเลิศ หรือสหายกาสะลอง พบศพที่บ้านสำราญเหนือ ต.อาจสามารถ อ.เมือง เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานสภาพศพว่าถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม ลำคอถูกรัดด้วยเชือกป่านขนาดใหญ่ ถูกของแข็งทุบใบหน้า คว้านท้องยัดด้วยเสาปูนยาว 1 เมตร ใส่กุญแจมือไขว้ไว้ด้านหน้า ห่อด้วยกระสอบป่าน เย็บติด 2-3 กระสอบแล้วหุ้มด้วยตาข่าย

เรื่องนี้กลายเป็นคดีสะเทือนขวัญทั้งจากสภาพศพและพฤติการณ์ก่อนหน้าที่มีข่าวว่าผู้ลี้ภัยทั้งสองพร้อมด้วยสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณณ์ (แซ่ด่าน) ผู้ลี้ภัยคนสำคัญที่ทำ ‘วิทยุใต้ดิน’ และอาศัยอยู่บ้านเดียวกันได้หายตัวไปอย่างลึกลับตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. โดยคนในครอบครัวของทั้งสามไม่สามารถติดต่อได้ ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นเวลาเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในเวลานั้น เดินทางไปเยือนนครเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาชนลาว เพื่อประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการไทย-ลาว ครั้งที่ 3 และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ซึ่งเหล่าผู้ลี้ภัยในลาวก็จะรู้กันว่าต้องหลบจากจุดที่พักอาศัยอยู่ แต่สุรชัยกลับเลือกที่จะอยู่ในที่พักต่อ

ตลอด 2 ปี ที่ผ่านมายังคงไม่พบศพของสุรชัย แม้คนใกล้ชิดจะเชื่อว่าศพแรกที่ลอยมาขึ้นที่บ้านท่าจำปา อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ในวันที่ 26 ธ.ค.2561 น่าจะเป็นสุรชัย แต่ต่อมากลับมีข่าวว่าศพดังกล่าวได้หลุดลอยไปตามกระแสน้ำแม้ภาพที่แพร่หลายในโซเชียลมีเดียจะพบว่ามีเชือกขนาดใหญ่ผูกที่ศพปลายเชือกอีกด้านมัดไว้กับไม้ริมตลิ่งก็ตาม

ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ ป้าน้อย ภรรยาของสุรชัยเดินทางไปแจ้งความเอาไว้ที่ สภ.ท่าอุเทน เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2562 เนื่องจากเชื่อว่าภาพที่ปรากฏเป็นข่าวตั้งแต่เมื่อวัน 26 ธ.ค. ที่บ้านท่าจำปา เป็นศพของสุรชัย หลังจากนั้นมาคดีของทั้งสามก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ

ล่าสุด ปราณีเล่าว่า เธอเพิ่งทราบจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทนายความได้ทำเรื่องร้องทุกข์ขอให้ติดตามคดีสุรชัยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ท่าอุเทน แจ้งว่าได้ยุติการสอบสวนเรื่องนี้แล้วตั้งแต่ปลายปี 2562 เพราะการสอบปากคำและหลักฐานต่างๆ มีเหตุอันควรเชื่อว่าห่อกระสอบที่ติดริมฝั่งท่าอุเทนเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.นั้นเป็นศพเดียวกับกันที่พบในพื้นที่บ้านสำราญเหนือ โดยน่าจะลอยจากท่าอุเทนไปสำราญเหนือและถูกพบในวันที่ 29 ธ.ค.ตามที่ปรากฏในข่าว และต่อมาผลการพิสูจน์บุคคลก็พบว่าเป็นศพของไกรเดช ลือเลิศ

ปราณีเล่าว่า ตำรวจอาศัยการสอบปากคำผู้ใหญ่บ้านและคนในพื้นที่ โดยผู้ใหญ่บ้านเป็นคนพบกระสอบดังกล่าว แต่ไม่ได้แจ้งตำรวจเพราะไม่คิดว่าเป็นศพ ส่วนอีกคนหนึ่งบอกว่าคิดว่าเป็นกระสอบขยะซึ่งมักลอยมาติดริมฝั่งบ่อยๆ
“ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมตำรวจไม่แจ้งป้าโดยตรงเพราะเราเป็นผู้เสียหายที่ไปแจ้งความ ถ้าไม่ได้ถามที่กรมคุ้มครองสิทธิก็คงไม่รู้ แต่ป้าก็ไม่ได้คาดหวังกับกระบวนการทางการแล้ว เพราะทุกคนพูดความไม่จริงกันทั้งนั้น” ปราณีกล่าว

เมื่อยังไม่พบศพของสุรชัย ทำให้จึงไม่สามารถยืนยันอย่างชัดเจนว่าสุรชัยเสียชีวิตไปแล้วหรือไม่อย่างไร ส่งผลต่อคดีที่สุรชัยตกเป็นจำเลยและอยู่ระหว่างสู้คดีก่อนจะลี้ภัย นั่นคือ คดีบุกรุกที่ประชุมอาซียน ที่พัทยา เมื่อปี 2552 ซึ่งเขาได้ติดคุกก่อนได้รับการประกันตัวมาต่อสู้คดี เมื่อลี้ภัยทำให้ไม่สามารถมาศาลได้ ศาลได้สั่งปรับนายประกันเป็นเงิน 500,000 บาทและปราณีต้องผ่อนชำระ ต่อมาเมื่อมีข่าวการอุ้มหายและฆาตรกรรมผู้ลี้ภัยดังกล่าว ปราณีได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอยกเลิกค่าปรับ แต่ศาลไม่อนุญาตโดยอ้างว่าปราณีไม่มีหลักฐานว่าสุรชัยเสียชีวิตแล้วทั้งนี้

ก่อนหน้ากรณีนี้ก็มีผู้ที่ถูกอุ้มหายไประหว่างลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ “โกตี๋” (2559) และ อิทธิพล สุขแป้น หรือ “ดีเจซุนโฮ” (2560) และมีกรณีที่เกิดขึ้นภายหลังด้วย เช่น ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ “ลุงสนามหลวง” (กลุ่มสหพัธรัฐไท) สยาม ธีรวุฒิ และ กฤษณะ ทัพไทย หรือ “สหายยังบลัด” (2562) และล่าสุดคือ กรณีของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 4 มิ.ย.2563 หรือเพียง 6 เดือนที่แล้วนี้เอง

การหายตัวไปของพวกเขาล้วนติดตามในทางคดีได้ยากยิ่ง ทั้งจากเหตุแห่งการลี้ภัยที่เกี่ยวข้องกับการมีอยู่ของรัฐบาล คสช. การเดินสายติดตามผ่านหน่วยงานรัฐฝั่งไทยล้วนไม่มีความคืบหน้าใด หากครอบครัวจะเดินทางไปติดตามถึงต่างแดนก็ยิ่งยากลำบากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่าย และเมื่อการเข้าประเทศของผู้ลี้ภัยไม่ได้เข้าประเทศอย่างถูกกฎหมาย หน่วยงานรัฐในประเทศที่เกิดเหตุจึงไม่อยากให้ความร่วมมือ แม้แต่กรณีวันเฉลิมที่มีหลักฐานวิดีโอจากกล้องวงจรปิดชัดเจนว่าเหตุเกิดขึ้นที่โรงแรมกลางกรุงพนมเปญ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดศาลพนมเปญได้รับคำร้องของสิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิมไว้พิจารณาแล้ว ซึ่งก็ยังต้องรอดูกันต่อว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net