ปธ.วุฒิสภา แนะเปิดโควตา 'ผู้ทรงคุณวุฒิ-เยาวชน' ร่วมวง ส.ส.ร.

ประธานวุฒิสภา ย้ำ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งได้แต่ต้องไม่ใช่ทั้งหมด แนะควรเปิดโควตา 'ผู้ทรงคุณวุฒิ-เยาวชน' ร่วมวง - กมธ.แก้ รธน. เผยเตรียมเชิญผู้ชุมนุม-องค์กร นศ. ให้ความเห็นที่มา ส.ส.ร.กลุ่มเยาวชน

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2563 นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นไปตามการดำเนินการของคณะกรรมาธิการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทรายว่าตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็น ส่วนกระบวนการคงเป็นไปตามการพิจารณากฎหมายปกติ เร่งรัดมากไม่ได้ เพราะบทบัญญัติบางบทบัญญัติไม่สามารถลอกของเก่าได้ เนื่องจากอาจเกิดการขัดกันของกฎหมาย จึงต้องพิจารณาให้มาตราต่าง ๆ สอดคล้องกัน

ส่วนข้อเรียกร้องของฝ่ายต่าง ๆ ให้ ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด นั้น นายพรเพชร มองว่า ส.ส.ร.ควรมาจากการเลือกตั้ง แต่ควรรับฟังความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ ทางด้านการเมือง รัฐธรรมนูญ และการปกครองด้วย รวมไปถึงควรให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เคยพบว่าเสียงผู้ทรงคุณวุฒิเพียงไม่กี่คนจะมีบทบาททำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงขออย่ามองในแง่ร้าย เพราะผลสรุปสุดท้ายต้องเป็นไปตามเสียงข้างมาก

นายพรเพชร ยังกล่าวถึงการส่งตัวแทนร่วมเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ในสัดส่วนของวุฒิสภา 2 คน ว่ามีการทาบทามบุคคลที่เหมาะสมแล้ว แต่ปรากฏว่า เมื่อนํารายชื่อเข้าสู่ที่ประชุมวิปวุฒิสภา มีคนถอนตัวไป เหลือเพียงคนเดียว โดยจะดำเนินการคัดเลือกให้แล้วเสร็จภายในปีนี้เพื่อส่งรายชื่อให้กับ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และคงต้องพูดคุยกัน ให้หนักแน่นมากขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดการถอนตัวอีก ซึ่งที่ผ่านมาก็ตั้งสเปคผู้ที่จะมาเป็นกรรมการสมานฉันท์ค่อนข้างสูง ไม่เอาคนที่เคยร่างรัฐธรรมนูญ

ส่วนที่ผู้เห็นต่างยืนยันไม่เข้าร่วมเป็นกรรมการสมานฉันท์นั้น นายพรเพชร มองว่าเบื้องต้นไม่ทราบ เพราะไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการเทียบเชิญ แต่มองว่าต้องทำความเข้าใจกันมากขึ้น ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องพยายามทำให้ครบองค์ประกอบ และคาดว่านายชวน จะพูดคุยกับฝ่ายค้านอีกรอบ

กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ เตรียมเชิญผู้ชุมนุม-องค์กร นศ. ร่วมออกแบบ ที่มา ส.ส.ร.กลุ่มเยาวชน

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2563 นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่. ….) พ.ศ….. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยสภาร่างรัฐธรรมนูญ) รัฐสภา ให้สัมภาษณ์ว่า กมธ. เข้าสู่การพิจารณาเนื้อหาเป็นรายมาตราแล้ว คือ มาตรา 3 ว่าด้วยการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อปลดล็อคการใช้เสียงเห็นชอบจากเดิมที่ให้มีส.ว.ร่วมลงมติ 1 ใน 3 สำหรับวาระแรก และให้ใช้เสียงของส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ร้อยละ 20 ร่วมลงมติเห็นชอบในวาระสาม ทั้งนี้ยอมรับว่าการแก้ไขจำนวนเสียงนั้น มีความเห็นต่าง ระหว่างจำนวน 3 ใน 5 หรือตามร่างแก้ไขของพรรคร่วมรัฐบาล และ มากกว่ากึ่งหนึ่ง ตามร่างแก้ไขของพรรคฝ่ายค้าน ทั้งนี้มีส.ว.เสนอให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ทำให้กมธ.ฯ รอการสรุปไว้ก่อน เพื่อพิจารณารายละเอียดให้รอบด้านอีกครั้ง

“ส่วนตัวผมเห็นว่า การลงมติเพื่อแก้ไขกฎหมายสำคัญ หรือ กฎหมายแม่ ไม่ควรแก้ง่ายจนเกินไป เพราะอนาคตส.ส.ร่วมรัฐบาลอาจใช้สิทธิเสนอแก้ไขมาตราและรายละเอียดใดก็ได้ เพียงแค่รวมกับเสียงส.ว.ไม่กี่คน ขณะที่การใช้เสียง 2 ใน 3 หรือ 500 คนจากเสียงสมาชิก 750 คนนั้น อาจเป็นปัญหาเพราะต้องใช้เสียง ส.ส.ทั้งหมดของสภาฯ และกรณีที่มี ส.ส.ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ ต้องออกเสียงอาจทำให้เป็นปัญหา ส่วนตัวเห็นว่า เสียง 3 ใน 5 นั้นเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมต้องหารือให้รอบด้าน ก่อนจะกลับมาตัดสินใจอีกครั้ง ทั้งนี้ยืนยันว่าการลงมติจะไม่ใช้เสียง กมธ.ข้างมากลากไปแน่นอน” นายนิกร กล่าว

นายนิกร กล่าวว่า ในประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไป คือที่มาของส.ส.ร.ที่พบว่า มีรายละเอียดแตกต่างกันระหว่างร่างของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน อย่างไรก็ดี ในเนื้อหาของพรรคร่วมรัฐบาลที่เสนอให้ ส.ส.ร.มาจากเลือกตั้ง 150 คน และคัดสรร 50 คนนั้น เบื้องต้น ตนในฐานะผู้ทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ขัดข้องต่อการแก้ไขที่มาของ ส.ส.ร.ที่มาจากการคัดสรร ส่วนของเยาวชน จำนวน 10 คน ซึ่งร่างเดิมกำหนดให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ดำเนินการ แต่เมื่อพิจารณาให้รอบคอบแล้ว เห็นว่าควรให้ตัวแทนเยาวชนเป็นผู้เสนอ ดังนั้น ในกมธ.เตรียมเชิญตัวแทนเยาวชน เช่น สภาเยาวชน, องค์การนิสิตนักศึกษา หรือ ตัวแทนม็อบ ให้ความเห็น และร่วมออกแบบที่มา นอกจากนั้นแล้วในการกำหนดคุณสมบัติของ ส.ส.ร. นั้นได้เปิดกว้างให้เยาวชนที่อายุ 18 ปี ขึ้นไปลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ร.ด้วย.

'ชวน' ชี้มีปัญหาจากผู้ใช้ ไม่ได้เกิดจากรัฐธรรมนูญ

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวปาฐกถาเนื่องในโอกาสวันรัฐธรรมนูญ และครบรอบการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 86 ปี ที่จัดโดยสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับชมรมเพื่อนโดม เรื่องประชาธิปไตยไทยบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลง เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมา

นายชวน กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ตนได้รับเชิญไปให้ความเห็น ซึ่งได้บอกกับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า ปัญหาที่ทำให้เกิดการยึดอำนาจ มาจากพฤติกรรมคนที่ใช้รัฐธรรมนูญไม่เคารพรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เกิดปัญหาจากรัฐธรรมนูญ ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกในวันที่ 10 ธ.ค. 2475 ในสมัยนั้นบทบัญญัติของกฎหมายเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในหลวงของเราไม่ได้ใช้อำนาจเผด็จการรังควานผู้อื่น ยกตัวอย่างลายพระราชหัตถเลขา รัชกาลที่ 7 เขียนขณะที่ทรงสละราชสมบัติ ปี 2477 ทรงเขียนว่า แม้พระองค์ท่านจะอยู่มาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ไม่เคยใช้อำนาจอย่างนี้อย่างที่คณะราษฎร์ใช้ พระองค์จึงตัดสินใจสละราชสมบัติในขณะนั้น จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองหลังมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกผ่านมา 2 ปี

และเมื่อวันเวลาเปลี่ยน แต่เราไม่พร้อมมาแต่ต้น ก็ไม่มีวันที่ประชาธิปไตยจะสมบูรณ์ อีกทั้งประชาธิปไตยกับปัญหาบ้านเมืองเป็นของคู่กัน เพียงแต่ระบอบเผด็จการมีการปกปิดข้อมูล

และจากประสบการณ์ที่ผ่านมาที่ใช้รัฐธรรมนูญมากที่สุด พบว่าปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ แต่เกิดจากคนใช้ อีกทั้งรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมีจุดอ่อนจุดแข็ง ซึ่งจะมีความเปลี่ยนแปลงมาก เมื่อถูกยึดอำนาจ รัฐธรรมนูญจะถูกออกแบบให้ผู้ยึดอำนาจอยู่ในอำนาจต่ออีกหนึ่งสมัย ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 60 ให้อำนาจ 2 สมัย เพราะมีการแต่งตั้ง ส.ว.ให้มีวาระ 5 ปี ส่วน ส.ส.มีวาระ 4 ปี เท่ากับว่ามีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี 2 สมัย และยังให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็น ส.ว.โดยตำแหน่งด้วย จึงเป็นที่มาให้ตนเองและพรรคประชาธิปัตย์ประกาศไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถอยหลัง แต่ก็เข้าใจสถานการณ์ หลังได้พูดคุยกับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอาจารย์จากธรรมศาสตร์ ว่าถ้าไม่เขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้จะเป็นอย่างไร

ประธานวิปรัฐบาล เผยรอ ครม. เสนอรายชื่อตัวแทนร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์

10 ธ.ค. 2563 นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเสนอชื่อตัวแทนเข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ ว่า ขณะนี้วิปรัฐบาลได้รายชื่อตัวแทนที่จะเสนอแล้ว ส่วนคณะรัฐมนตรีก็เตรียมบุคคลไว้เช่นกัน แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นใคร ซึ่งวิปรัฐบาลได้เสนอรายชื่อไป 3 คน โดยน่าจะเป็นส่วนของคณะรัฐมนตรีเลือกอีก 1 คน ขณะที่หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฝ่ายค้านและกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์จะทำงานได้หรือไม่นั้น คงต้องขึ้นอยู่ประธานรัฐสภา แต่ไม่อยากให้คิดไปก่อน เพราะอาจจะเข้าร่วมก็ได้

นายวิรัช ยังกล่าวในฐานะประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พุทธศักราช ... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) ต่อกรณีการพิจารณาประเด็นโครงสร้างสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ยึดตามที่วิปรัฐบาลเสนอ โดยยืนยันว่าจำเป็นต้องพิจารณาตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านสภา คือ ร่างฉบับพรรคร่วมรัฐบาล แต่ร่างของฝ่ายค้านก็นำมาพิจารณาร่วมด้วย ตามความเหมาะสม ส่วนในรายละเอียดต่าง ๆ ก็มีการหารือกัน โดยหากความเห็นไม่ตรงกันก็ต้องใช้การโหวต ทั้งนี้ คาดว่าเดือนมกราคม ปีหน้า จะพิจารณาแล้วเสร็จ

พร้อมกันนี้ นายวิรัช กล่าวเนื่องในโอกาสวันรัฐธรรมนูญ ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นไปตามความต้องการของประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยึดร่างของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นหลักตามกฎหมาย

ที่มาเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย [1] [2] | มติชนออนไลน์ |สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท