Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พื้นเพของเขาเป็นคนชั้นล่างโดยทั่วไปของสังคม อาศัยอยู่จังหวัดนครศรีธรรมราช การศึกษาไม่สูง ชีวิตวัยเด็กยากลำบากจนเรียกได้ว่าอยู่อย่างอดๆ อยากๆ เมื่อเติบใหญ่มีอาชีพซ่อมวิทยุโทรทัศน์ และจับพลัดจับผลูเข้าสู่ “การเมือง” ด้วยสถานการณ์ที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน ม็อบเบ่งบาน รวมถึงม็อบไล่ผู้ว่าฯ ในพื้นที่บ้านของเขาด้วย คุณสมบัติส่วนตัว ที่พูดเก่ง โน้มน้าวใจคนเก่งและรักความเป็นธรรม ประกอบกับช่วงนั้นม็อบขาดคนปราศรัย เพียงเท่านี้ก็ลากเขาจากโต๊ะซ่อมวิทยุมาสู่เวทีปราศรัยเสียฉิบ! ทั้งที่จริงแค่ตั้งใจแวะไปดูการชุมนุม

“ผมไม่เคยผ่านการอบรมวิชาการใดๆ แต่ผมเชื่อว่า การที่ประชาชนคนส่วนใหญ่ยากจนทนทุกข์ แต่คนส่วนน้อยมั่งคั่งมีสุข เป็นเพราะการจัดสรรปันส่วนทางเศรษฐกิจไม่เป็นธรรมนั่นเอง และแม้ผมจะไม่เคยผ่านโรงเรียนการฝึกพูด แต่ผมก็สามารถกล่าวคำพูดให้ประชาชนนิยมชมชื่นได้ เพราะสิ่งที่ผมกล่าวคือ คำพูดที่ถอดออกมาจากหัวใจอันเป็นดวงเดียวกันกับประชาชนผู้ทุกข์ยากนั่นเอง”

(น.143 หนังสือ “ตำนานนักสู่ สุรชัย แซ่ด่าน” ,2530.)

จากผู้นำปราศรัยเรียกร้องความเป็นธรรม สถานการณ์ระลอกที่สองก็ผลักให้เขาไปไกลยิ่งขึ้น เนื่องจากเหตุการณ์ประท้วงผู้ว่าฯ บานปลายจนมีการเผาจวนผู้ว่าฯ แน่นอน จับใครไม่ได้ก็ต้องแกนนำผู้ปราศรัย เขาจึงหลบหนีเข้าป่าหาพรรคคอมมิวนิสต์ ก่อนคลื่นนักศึกษาจะเข้าป่าหลังถูกปราบในปี 19 ไม่นาน คือ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2519 และใช้ชีวิตอยู่ในนั้นจนวันที่ 23 มิถุนายน 2524 ในวันที่นักศึกษา “อกหัก” พากันกออกจากป่าด้วยนโยบาย 66/23 เขาก็ยังอยู่ที่นั่น และลงจากป่าครั้งสุดท้ายด้วยหน้าที่ “ทูตสันติภาพ” มาเจรจาระหว่างทางการไทยกับ พคท. แต่สุดท้ายถูกจับกุม เขายังคงเรียกการกระทำนั้นว่า “การหักหลัง” มาจนทุกวันนี้

สุรชัย ถูกขังที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน (สถานที่เดียวกับเรือนจำหลักสี่ คุมขังนักโทษการเมืองช่วงหลังการสลายการชุมนุม นปช.) ในวันที่ 29 มิถุนายน 2524 ก่อนจะนำมาขังที่เรือนจำบางขวางเมื่อ 27 พฤษภาคม 2525 จากนั้นวันที่ 21 ตุลาคม 2526 ศาลพิพากษาคดีเผาจวนผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราช ก่อการจลาจลเป็นคดีแรก ลงโทษจำคุก 23 ปี ตามมาด้วยคดีคอมมิวนิสต์และปล้นรถไฟ ในวันที่ 29 มกราคม 2529 ซึ่งศาลทหารพิพากษาประหารชีวิต จากนั้นเขาทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษและได้รับพระเมตตาจากโทษประหารก็เหลือจำคุกตลอดชีวิตในปลายปีเดียวกันนั้นเอง สุรชัยอยู่ในเรือนจำเรื่อยมา ได้รับพระราชทานอภัยโทษในวาระต่างๆ เหมือนนักโทษโดยทั่วไปอีก 5 ครั้ง จึงสามารถออกจากเรือนจำได้ในกลางเดือน มิถุนายน 2539 รวมระยะเวลาในเรือนจำครั้งนั้น 16 ปี ในปี 2540 เขาแต่งงานกับปรานี (ป้าน้อย) ซึ่งเป็นครูสอนเด็กยากจนอยู่ในภาคเหนือและติดต่อกันทางจดหมายระหว่างที่สุรชัยติดคุกอยู่หลายปี

ความขัดแย้งทางการเมืองไทยนับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง สุรชัยออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารอีกครั้ง แต่เป็นกลุ่มอิสระ ท้ายที่สุดเขาติดคุกด้วยข้อหาหมิ่นสถาบัน อีก 2 ปี 7 เดือน (ระหว่าง. 22 ก.พ.54 – 4 ต.ค. 56 ) จากโทษจริง 12 ปี 6 เดือน อันที่จริง คดีของเขามีความน่าสนใจในแง่ที่เจ้าหน้าที่พื้นที่ต่างๆ ทยอยแยกกันแจ้งความ โดยอ้างอิงถ้อยคำจากการเดินสายปราศรัยของเขาในหลายพื้นที่ คำปราศรัยของเขาส่วนใหญ่จะตรงไปตรงมาและติดตลก แต่ไม่หยาบคายหรือรุนแรง เช่น การติงการเซ็นรับรองรัฐประหาร ฯลฯ

หลังออกจากคุกปลายปี 2556 สุรชัยยังไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองอะไรมากนัก มีเพียงความตั้งใจจะจัดการศึกษาที่มหาวิทยาลัยสนามหลวง ภรรยาของสุรชัยบอกว่า เมื่อมีการรัฐประหาร 2557 เขาจำเป็นต้องลี้ภัยเพราะมีการเรียกอดีตนักโทษคดี 112 เข้าค่ายทหาร ซึ่งสุรชัยยังมีคดี 112 ที่เคยตระเวนปราศรัยรอบก่อนค้างอยู่อีก 1 คดี และเป็นจริงดังที่พวกเขากลัว เพราะปรากฏข้อเท็จจริงว่าหลังรัฐประหารมีการ "ล้างท่อ" แจ้งข้อหา 112 กับทุกคนที่มีคดีค้างอยู่ในชั้นตำรวจ ทำให้เกิดปรากฏการณ์คดี 112 จากเหตุเล็กๆ น้อยๆ หรือมีผู้ต้องหาที่ป่วยเป็นจิตเภทเกิดขึ้นมากมาย เช่น กรณีที่คนหนึ่งไปร้องทุกข์ว่าในหลวงเป็นตัวปลอม, กรณีที่คนหนึ่งโพสต์หมิ่น คิดว่าตนเป็นหนึ่งในราชวงศ์ เป็นต้น

หลังลี้ภัย สุรชัยและผู้ลี้ภัยอีกหลายคนยังคงต่อสู้ต่อด้วยการ(ปราศรัย) สนทนาทางยูทูป ผู้คนเรียกรวมๆ ว่า วิทยุใต้ดิน ซึ่งแบ่งเป็นหลายกลุ่มจัดรายการหลายช่อง ด้วยทิศทางหลายแบบ และมีไม่น้อยที่ก็ขัดแย้งกันเอง โดยรวมแล้วเนื้อหาของกลุ่มดังกล่าวทะลุเพดานมากกว่าตอนที่พวกเขาอยู่ในประเทศไทย สุรชัยยังคงรักษาบุคลิกการวิเคราะห์ที่มีกลิ่นอายฝ่ายซ้ายในการวิเคราะห์วิวัฒนาการของสังคม ไม่หยาบคาย และมีผู้ให้ข้อมูลว่าหากจัดเฉดการโจมตีเขาถือว่าเป็นผู้ที่โจมตีรัชกาลที่ 10 น้อยกว่าใครด้วยเชื่อว่าสำหรับระบบการเมืองประชาธิปไตย กษัตริย์ที่อ่อนแอนั้นย่อมดีกว่ากษัตริย์ที่เข้มแข็ง

คืน 12 ธ.ค.2561 ระหว่างที่ผู้ลี้ภัยพากันหลบจากที่พำนักไปซ่อนตัว เพราะฝ่ายความมั่นคงไทยกำลังจะมาประชุมร่วมกับลาว สุรชัยและคนสนิทของเขา 2 คน คือ กาสะลองและภูชนะ ไม่ได้หลบ มีผู้ใกล้ชิดเล่าว่า มีแขกไปเยี่ยมเยือนแล้วเผาข้าวหลามกินกันในคืนนั้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ญาติของทั้งสามก็ติดต่อพวกเขาไม่ได้อีกเลย จนกระทั่งมีการพบศพที่ถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมอืดลอยบนแม่น้ำโขงในจังหวัดนครพนมในวันที่ 27 ธ.ค. และ 29 ธ.ค.ผลตรวจดีเอ็นเอพบว่าคือ ภูชนะ และกาสะลอง แต่จะว่าไม่มีศพสุรชัยเสียทีเดียวก็ไม่ใช่ เพราะ 26 ธ.ค.มีศพหนึ่งลอยขึ้นมา ชาวบ้านนำมาผูกไว้ริมตลิ่ง แต่สุดท้ายก็หายไป ภรรยาสุรชัยแจ้งความกับตำรวจท้องที่ว่านั่นอาจเป็นสุรชัยและขอให้สืบหาศพ เจ้าหน้าที่ใช้เวลาเกือบปีแล้วจำหน่ายคดี ระบุว่า เป็นศพกาละลองที่ผูกไว้แล้วหลุดไปกับกระแสน้ำจึงไปเจออีกจุดหนึ่ง ขณะที่ภรรยาสุรชัยไม่เชื่อเช่นนั้น เพราะคนในพื้นที่ให้ข่าวกลับไปกลับมาหลายครั้งดูมีพิรุธ

เรื่องราวความโหดร้ายนี้ถูกรายงานสาธารณะอยู่บ้าง แต่ไม่มีการติดตามสืบเสาะอย่างจริงจัง เนื่องจากข้อมูลแทบไม่มี และญาติผู้เสียชีวิตเต็มไปด้วยความหวาดกลัว กล่าวสำหรับกาสะลอง มีข้อมูลระบุว่า เขาน่าจะไม่ได้โดนคดีใด เพียงแต่เป็นคนเสื้อแดงที่นับถืออาจารย์สุรชัย จึงเดินทางไปดูแล ขับรถและช่วยจัดการด้านเทคนิคให้แก่รายการวิทยุใต้ดิน

หลังจากการเสียชีวิตและสูญหายของคนกลุ่มนี้ ผู้ลี้ภัยกลุ่มอื่นที่จัดรายการทางยูทูปเริ่มหลบหนีจากประเทศเพื่อนบ้าน บ้างสามารถไปยังประเทศในยุโรปได้สำเร็จ บ้างกลายเป็นผู้หายสาบสูญ เช่นกรณีของลุงสนามหลวง (ชูชีพ ชีวะสุทธิ์) สยาม ธีรวุฒิ และสหายยังบลัด ทั้งสามอยู่บ้านเดียวกัน หลบหนีออกไปยังประเทศอื่นก่อนจะหายไปอย่างไร้ร่องรอย ท่ามกลางข่าวลือว่าพวกเขาถูกทางการเวียดนามจับกุมตัวได้เและส่งกลับประเทศไทย

ส่วนคนล่าสุดที่สั่นสะเทือนสังคมไทยได้มากที่สุดเห็นจะเป็นวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นคนหนุ่มที่ไม่ได้จัดวิทยุใต้ดิน และไม่มีการวิจารณ์สถาบันเช่นผู้ลี้ภัยนักจัดรายการ

ทั้งหมดนี้นับเป็นการอวสาน 'วิทยุใต้ดิน' ของกลุ่มผู้ลี้ภัยไทย ที่ครั้งหนึ่ง พวกเขาเป็นเพียง active citizen ธรรมดาที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้ และลุกขึ้นมาพูดถึงปัญหาของสถาบันด้วยความตรงไปตรงมา "น้อยกว่าหรือเทียบเท่า" ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net