Skip to main content
sharethis

ดาวฝันดวงแล้วดวงเล่าเรียงหน้าประดับผนัง กับคำถามถึงภาพฝันของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่คนภาคเหนืออยากจะเห็น ข้อความที่ว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร” “กระจายอำนาจการจัดการทรัพยากร” “สิทธิชุมชนมีผลในทางปฏิบัติ” “ที่ดินเป็นของราษฎร” “รัฐธรรมนูญที่กินได้” “รัฐธรรมนูญที่ใหญ่กว่ากฎหมายลำดับรอง” “อิสระจากความหิวโหยและความหวาดกลัว” ปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของข้อความบนดาวกว่าร้อยดวงที่สะท้อนภาพฝันของประชาชนคนเหนือได้เป็นอย่างดี

หลังจากเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา “เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม” อันเป็นเครือข่ายที่เป็นการรวมตัวกันขององค์กรภาคประชาชนกว่า 121 องค์กร ได้ถือกำเนิดขึ้น ย้ำจุดยืนสำคัญว่ารัฐธรรมนูญต้องร่างใหม่ทั้งฉบับ และ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งแถลงแนวทางการดำเนินงานต่อจากนี้ 3 เรื่อง ได้แก่ การจัดเวทีระดมความเห็นตามภูมิภาค ติดตามการดำเนินงานของฝ่ายการเมืองและ ส.ส.ร. และให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนคู่ขนานไปด้วย นำมาสู่การจัดเวทีภูมิภาคขึ้นครั้งแรกที่ภาคเหนือ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ “คนเหนือกับการเดินหน้ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีภาคประชาสังคม นักวิชาการ และเครือข่ายชุมชนเข้าร่วม เพื่อระดมข้อเสนอรายประเด็นและภาพฝันที่อยากเห็นในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

การกระจายอำนาจ การจัดการที่ดินและทรัพยากร รัฐสวัสดิการ และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม คือ 4 หัวใจหลักที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด รวมทั้งการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ และการทำให้รัฐธรรมนูญมีผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง ไม่ควรมีกฎหมายลำดับรองใดขัดต่อรัฐธรรมนูญได้

สิทธิชุมชน: ลายลักษณ์ในกฎหมาย ไร้ความหมายในทางปฏิบัติ

“กฎหมายลำดับรองใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ” คือเสียงสะท้อนถึงระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญในสังคมไทยที่ปราศจากรัฐธรรมนูญนิยม ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือประเด็น “สิทธิชุมชน” ที่ถูกสถาปนาไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 แต่ชุมชนชาติพันธุ์ในพื้นที่ป่าเห็นว่า รัฐและศาลยึดกฎหมายป่าไม้เป็นหลักในทางปฏิบัติ ไม่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพโดยชอบธรรมของประชาชนที่อยู่ในกฎหมายสูงสุดของประเทศ

ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และเครือข่ายชุมชนภาคเหนือในเวทีระดมความเห็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ปราโมทย์ เวียงจอมทอง สมาชิกเครือข่ายเยาวชนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จากชุมชนกะเหรี่ยงบ้านขุนแม่เหว่ย-แม่ปอคี ตำบลท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก อันเป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานมายาวนานกว่า 150 ปี ภายหลังถูกประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าสองยางทับพื้นที่ และปัจจุบันอยู่ในพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติแม่เงา ภายหลังมีพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฉบับใหม่ในปี 2562 ที่แม้จะพูดถึงการอนุญาตให้ทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ใช่การรับรองสิทธิชุมชน รวมถึงการเพิ่มบทกำหนดโทษที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้ชุมชนต้องดำเนินชีวิตด้วยความรู้สึกหวาดระแวงและไม่มั่นคง

“เจ้าหน้าที่เขาไม่ยึดรัฐธรรมนูญในการปฏิบัติงาน เขาใช้แต่กฎหมายของเขา กฎหมายอุทยานฯ ที่โทษจำคุกขั้นต่ำ 4 ปี รัฐธรรมนูญเขาบอกว่าเรามีสิทธิชุมชน แต่กฎหมายป่าไม้ละเมิดสิทธิ อย่างบ้านผมอยู่ในพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานฯ พอประกาศแล้วเขาก็จะบังคับใช้กฎหมายของเขา ภาพฝันรัฐธรรมนูญของผมคือรัฐธรรมนูญที่ไม่มีกฎหมายอะไรมาขัดได้ และเป็นกฎหมายที่คืนอำนาจให้ประชาชนจริงๆ” ปราโมทย์กล่าว

เช่นเดียวกับ รังสรรค์ แสนสองแคว ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จากพื้นที่ปฏิรูปที่ดินบ้านไร่ดง ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ที่ย้ำภาพฝันเรื่องการกระจายการถือครองที่ดินในรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมายังไม่สามารถขับเคลื่อนได้มากนัก ยังไม่สามารถทวงคืนที่ดินจากกลุ่มทุนและผู้มีอำนาจมากระจายให้เกษตรกรและคนยากจนได้ตามเจตนารมณ์ รวมถึงเรียกร้องให้ออกกฎหมายลำดับรองที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

“ต้องมีหมวดว่าด้วยการกระจายการถือครองที่ดินในรัฐธรรมนูญ แล้วออกกฎหมายลูกให้สอดคล้อง มีบทบัญญัติในเชิงปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ เช่น กฎหมายสิทธิชุมชน กฎหมายธนาคารที่ดิน มาตรการภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า รวมถึงมาตรการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมไม่ให้ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ที่ผ่านมามีสิทธิชุมชนอยู่ในรัฐธรรมนูญจริง แต่หน่วยงานเพิกเฉย ไม่ทำตาม” รังสรรค์กล่าว

บางส่วนจากดาวภาพฝันรัฐธรรมนูญ จากเวทีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา

ด้าน สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น เห็นว่า การที่ทำให้สิทธิชุมชนไม่มีผลในทางปฏิบัติเป็นเพราะที่ผ่านมารัฐธรรมนูญเป็นเพียงเสื้อคลุมเผด็จการในรัฐที่อภิสิทธิ์ชนมีอำนาจเหนือประชาชน รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมไทยที่ไม่เคยยึดโยงกับประชาชน เหมือนอยู่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทำให้ศาลไม่เคยนำหลักสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญไปตัดสินคดีความ ยึดแต่กฎหมายของหน่วยงาน

“สิทธิชุมชนไม่เคยเป็นจริงในทางปฏิบัติ ไม่เคยถูกนำมาบัญญัติเป็นกฎหมาย ศาลไม่เคยนำไปใช้ตัดสินคดี อย่างคดีปู่คออี้ ศาลปกครองยอมรับว่าชุมชนกะเหรี่ยงใจแผ่นดินเป็นชุมชนพื้นถิ่นดั้งเดิม แต่ศาลตัดสินว่า ไม่สามารถตัดสินให้ปู่คออี้กลับไปอยู่ที่เดิม ง่ายๆ คือไม่ยอมรับว่าสิทธินั้นเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรอง เหตุผลของศาล ศาลเขาบอกว่าเนื่องจากประกาศเป็นอุทยานฯ แล้ว นั่นหมายความว่าศาลตัดสินว่า พ.ร.บ.อุทยานฯ ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ นี่คือภาพสะท้อนโครงสร้างที่สำคัญ” สุมิตรชัยกล่าว

นอกจากนั้น สุมิตรชัยยังย้ำว่า คำตอบคือเราต้องทำลายอำนาจอภิสิทธิ์ตรงนี้ให้ได้ ไม่เช่นนั้นรัฐธรรมนูญจะเป็นเพียงเสื้อคลุมเผด็จการ ถ้าไปเทียบรัฐธรรมนูญในโลกเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ของเราไม่แพ้ใคร เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีฉบับหนึ่งของโลก แต่ไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ เรามีสิทธิ เสรีภาพ ภายใต้ความไม่เสมอภาคที่สังคมนี้มีอยู่ หากจะทำให้อภิสิทธิชนและอำนาจเหนือประชาชนนี้หายไปหรือลดลงได้ เราต้องมีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยแท้จริงๆ

มองขบวนการเคลื่อนไหวปัจจุบัน การจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ สู่การฝังหมุด “ราษฎร์ธรรมนูญ”

“การจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่” เป็นหมุดหมายสำคัญที่จะทำให้คนผู้ไม่มีอำนาจได้มีอำนาจมากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้มีอำนาจต้องลดอำนาจตัวเองลง ลดความอึดอัดของประชาชนที่ต้องตกอยู่ภายใต้โครงสร้างทางอำนาจแบบที่เป็นมา ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาเชียงใหม่ ชี้ว่า อำนาจทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ อำนาจเศรษฐกิจ อำนาจวัฒนธรรม และอำนาจทางการเมือง เริ่มขยายตัวเข้าไปในอาณาเขตอำนาจของกันและกัน โดยเฉพาะอำนาจวัฒนธรรมที่แทรกแซงเข้าไปในอำนาจเศรษฐกิจและการเมืองนั้นเองที่ทำให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน

“รัฐธรรมนูญคืออะไร ก็คือกฎหมายสูงสุดที่พูดถึงเรื่องการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจว่าใครจะอยู่ในระดับไหน ใครจะใหญ่ ใหญ่ตอนไหน ใครจะเล็ก เล็กตอนไหน แต่ตอนนี้สิ่งที่เกิดคืออำนาจวัฒนธรรม คืออำนาจราชการที่อยู่ในอำนาจการเมือง อำนาจเศรษฐกิจเองก็อึดอัดไม่รู้จะเดินอย่างไร ส่วนคนข้างล่างเขามองว่าเขาต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เขาได้รับการจัดสรรอำนาจให้เสมอภาคมากขึ้น ไม่ได้แปลว่าจะหักล้างเป็นค้อนกับเคียวแบบที่รัฐคิด สิ่งที่คนแก่ๆ รับไม่ได้ในข้อเสนอ ไปอ่านดีๆ นั่นคือข้อเสนอที่ทำให้ความอึดอัดหายไป” ศ.ดร.อรรถจักร์กล่าว

นอกจากนั้น อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ยังย้ำว่า สังคมไทยเป็นสังคมชนชั้นกลางที่ใช้ทักษะส่วนตัวในการประกอบอาชีพ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การเลื่อนชนชั้นถูกทำให้หยุดชะงัก การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดชนชั้นกลางใหม่นี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อสิ่งที่ชนชั้นนำพูด จะเห็นว่าสิ่งที่เด็กๆ เรียกร้อง เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าเขานั่นแหละที่ซื่อสัตย์กับสิ่งที่พูด เช่น เรื่องคอร์รัปชัน เรื่องผัวเดียวเมียเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นคือทำให้เกิดเป็น Moral (ศีลธรรม) ใหม่ ซึ่งทำให้ชนชั้นกลางเก่าเขาทนไม่ได้ เพราะมันไปขัดต่อ Moral ของเขา

ด้าน รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นว่า การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันได้นำมาสู่การฝังหมุด “ราษฎร์ธรรมนูญ” หรือธรรมนูญของราษฎรไว้ในใจคนรุ่นใหม่แล้ว และข้อเรียกร้องจะอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยตนรวบรวมได้เป็น 6 ประเด็นหลัก ได้แก่

  1. สถาบันกษัตริย์ต้องพ้นจากการเมือง ในทางนิติรัฐศาสตร์นี่คือข้อเรียกร้องที่ธรรมดามากสำหรับเสรีประชาธิปไตย แต่ในสังคมไทยกลายเป็นข้อเสนอที่แหลมคม
  2. รัฐสวัสดิการ เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ทำให้พวกเราสามารถพัฒนาศักยภาพตัวเองได้โดยที่รัฐต้องเกื้อหนุน เช่น ระบบการศึกษา เป็นต้น
  3. สังคมพหุวัฒนธรรม เช่น กลุ่มเพศหลากหลาย ความรุนแรงต่อสตรี พี่น้องภาคใต้ ชนเผ่าในภาคเหนือ เป็นข้อเรียกร้องที่สะท้อนว่าสังคมไทยหลากหลายมาก และแต่ละกลุ่มต้องการอำนาจในการจัดการตัวเอง
  4. ระบบนิติรัฐ ต้องการองค์กรตุลาการที่เป็นอิสระ ปัญหาพวกนี้ในระบบการเมืองแบบนี้มันเห็นภาพชัดเจนว่านี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่ปัญหาที่พุ่งตรงไปที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
  5. ระบอบประชาธิปไตยที่เสมอภาคและเป็นธรรม ตนคิดว่าต่อให้มีรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้หมายความว่าจะสร้างระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทยเป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีรัฐธรรมนูญแต่ไม่มีระบอบรัฐธรรมนูญนิยม
  6. อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร ประชาชนต้องมีอำนาจสูงสุดทางการเมือง ต้องเห็นหัวประชาชนก่อน ไม่ใช่เอาหัวประชาชนไปไว้หลังสุด แล้วไม่ให้ความสำคัญ

“ข้อเสนอที่พวกเขาเคลื่อนตอนนี้มันฝังในสังคมไทยแล้ว นี่คือความยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ข้อเสนอทั้ง 6 ข้อมันฝังไปกับคนรุ่นใหม่แล้ว ถ้าโชคดี ชนชั้นนำจะเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ ต้องถอยบางอย่าง ถ้าไม่ถอยคนรุ่นใหม่ๆ จะเติบโตขึ้นพร้อมอุดมการณ์ชุดนี้ คนรุ่นใหม่เขาทวงถามอนาคตตัวเอง คนขวางได้ แต่ขวางได้ไม่นานหรอก” รศ.สมชายย้ำ

จาก 2540 ถึง 2560 สู่ภาพฝันรัฐธรรมนูญที่ดีกว่าเดิม

รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง กรรมการบริหารสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง 4 ประเด็นหลักที่เคยได้รับการผลักดันไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่เลือนหายไปจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้แก่ หนึ่ง สิทธิชุมชน ที่ถูกบัญญัติไว้ในหมวดหน้าที่ของรัฐ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือไม่มีกลไกเชิงสถาบันรองรับ นำมาสู่ปัญหาที่เห็นว่ากฎหมายลำดับรองใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ สอง การมีส่วนร่วมทางตรง ที่ควรจะต้องขยายไปมากกว่าการหย่อนบัตรเลือกตั้ง เช่น การริเริ่มออกกฎหมายโดยประชาชน สาม การกระจายอำนาจ และสี่ นโยบายแห่งรัฐ ซึ่งพบว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะยังมีน้อยมาก ประเด็นเหล่านี้เองที่ควรต้องพิจารณาในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ด้าน ชยันต์ วรรธนะภูติ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นว่า ข้อถกเถียงอยู่ที่ว่าถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างขึ้นมาตามความต้องการของประชาชน ต้องมองว่าประชาชนมีสิทธิหรือหน้าที่อะไร มากกว่ามองว่ารัฐมีหน้าที่อะไร เป็นการเขียนจากมุมมองของชาวบ้าน ให้ความสำคัญกับสิทธิของปัจเจกชนและชุมชนในความสัมพันธ์เชิงอำนาจ รวมถึงให้นำบทเรียนการมีส่วนร่วมของ ส.ส.ร. มาปรับใช้ โดยต้องให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง

“ถ้ามีราษฎร์ธรรมนูญ เราไม่ควรปล่อยให้เรื่องนี้เป็นของสมาชิก ส.ส.ร. เท่านั้น แต่ให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง เช่น คนรุ่นใหม่ เราจะเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างไร มีพื้นที่กลางให้เขาแลกเปลี่ยนโดยที่เขาสามารถพูด อภิปราย ถกเถียงในเรื่องต้องห้าม ทำให้เกิดพื้นที่กลาง ไม่ต้องกระซิบกัน ที่ผ่านมาเราไม่พูดถึงหมวด 1 และ 2 เลย มองว่าแตะต้องไม่ได้ แต่บัดนี้มันถึงเวลาแล้วที่จะใช้พื้นที่ตรงกลางในการพูดคุยเรื่องนี้ ทำงานวิจัยเปรียบเทียบด้วยว่าอำนาจวัฒนธรรมในสังคมไทย เปรียบเทียบกับสังคมอื่นๆ เป็นอย่างไร เขาทำกันอย่างไร ทำไมสถาบันกษัตริย์สามารถอยู่ภายใต้ระบบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญได้ ที่ผ่านมานี้เราไม่ค่อยได้มีโอกาสในการพูดในที่สาธารณะเพราะกลัว 112 หรือ 116” อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ย้ำ

ภาคประชาสังคมจะยืนหยัดอย่างไร ในสึนามิการเมือง

“กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญอันเป็นที่ยอมรับ มีความชอบธรรม และสร้างสมดุลอำนาจอย่างเท่าเทียมเป็นธรรมเท่านั้น ที่จะเป็นทางออกของประเทศภายใต้สภาวะวิกฤตทางการเมืองในขณะนี้” คือถ้อยแถลงในช่วงท้ายของเวทีภูมิภาคดังกล่าวจากผู้แทนเครือข่ายเยาวชนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) แต่คำถามสำคัญคือ ในภาวะวิกฤตทางการเมืองขณะนี้ ควบคู่กับกระแสการผลักดันร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน บทบาทของภาคประสังคมกำลังถูกตั้งคำถามว่าจะแสดงบทบาทอย่างไรเพื่อเอื้อให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว รวมถึงคลี่คลายสถานการณ์ทางการเมืองโดยเกิดการณ์ความรุนแรงน้อยที่สุด หรือไม่เกิดขึ้นเลย

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน

เดินหน้าดันร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ยกกรณีข้อเสนอเรื่องรัฐสวัสดิการขึ้นเป็นตัวอย่าง เชื่อมโยงกับภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิชุมชน โดยตนฝากคำถามไว้ว่า กระบวนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน มันสอดรับกับแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการไหม ตนก็ไม่รู้ว่าทิศทางการขับเคลื่อนไปข้างหน้าภายใต้การทำงานกับชุมชนมันจะไปถึงรัฐสวัสดิการได้ไหม คอนเซ็ปต์มันต่างกัน ทางออกที่เป็นไปได้อาจเป็นการพยายามเชื่อมร้อยอุดมการณ์ของคนสองรุ่นให้สอดคล้องกันให้ได้

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอว่า ภาคประชาสังคมต้องทำงานสร้างประสานเครือข่าย โดยตนคิดว่าการเคลื่อนไหวจะไม่จบลงโดยเร็ว เราต้องสร้างประสานเครือข่ายไปเรื่อยๆ เป็นจังหวะที่ดี ตนคิดว่าปัญหาป่าไม้ที่ดินเกิดขึ้นเพราะอยู่ภายใต้รัฐรวมศูนย์ เราก็ประสานเครือข่ายที่มีเป้าหมายทางอุดมการณ์ร่วมๆ กัน ช่วยเหลือ ปกป้องกันด้วยทักษะของแต่ละกลุ่ม ยืนเป็นหลังพิงให้แต่ละกลุ่มประชาชนต่อไป

ด้าน ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่าบทบาทของภาคประชาสังคมต้องมานัดประชุมกันบ้าง นอกจากเข้าใจแล้ว เราจะขยับอย่างไร ถ้าหากเราเสนอได้แหลมคมและมีน้ำหนักพอ ประชาสังคมจะดึงประชาสังคมอีกก้อนมหึมาที่ไม่ได้อยู่กับเรามาร่วมกับเรา เมื่อนั้นก็จะเกิดการผ่อนคลายภาวะความขัดแย้งลงไปได้ระดับหนึ่ง สังคมไทยจะได้ไม่ฆ่ากันอีก รวมทั้งเสนอแนะว่าภาคประชาคมต้องทบทวนบทบาทของตนเอง ในวันที่คำว่า “จิตอาสา” และ “จิตสาธารณะ” ถูกรัฐขโมยไปใช้ในงานความรับผิดชอบของสังคม หรือ CSR

“คำว่า ‘จิตอาสา’ ถูกขโมยไปใช้ในงาน CSR สองคือ รัฐทุกรัฐสร้างพื้นที่การเมืองให้เรา อีกด้านคือรัฐจะสร้างความสมยอม ความสยบยอมของเรา การต้องเปลี่ยนรัฐ เราก็ต้องช่วงชิง ทบทวนตัวเอง หาทางเดินตัวเอง เพื่อจะบอกว่าเราพยายามจะเปลี่ยนความหมายของประชาสังคม ไม่ให้ไปอยู่ในงาน CSR ผมคิดว่างานประชาสังคมโดยรวม ด้านหนึ่งอ่อนแรง ถูกทำให้เป็นเรื่องจิตสาธารณะที่เป็นเรื่องจิตใจของปัจเจกชน เราต้องคิดเรื่องอำนาจให้มากขึ้น อำนาจในทุกรูปแบบ หมายถึงบางอย่างที่บังคับให้เราทำอะไรบางอย่าง เราต้องคิดเรื่องอำนาจที่มากำหนดเราในทุกเรื่อง”

เสียงอ่านแถลงการณ์ของเกษตรกรชาติพันธุ์คนรุ่นใหม่ยังคงดังแว่วถึงเพื่อนพ้องเครือข่าย ว่า “เราขอเชิญชวนไปยังองค์กรภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม และภาคประชาชนทั่วประเทศ ให้ออกมาสนับสนุนและมีส่วนร่วมสำคัญต่อการขับเคลื่อนกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายการเมืองเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อจะนำไปสู่ทางออกของสังคมไทยอย่างแท้จริง” ล้อไปกับแถลงการณ์ของเครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม รัฐธรรมนูญในฝันของภาคประชาชนยังคงเป็นภาพฝัน แต่หากดาวฝันเกิดขึ้นทั่วภูมิภาค ทั่วประเทศ เสียงเพรียกหาความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ในสังคมไทยคงเกิดขึ้นได้ในสักวัน

“ยังไม่เห็นปลายทางว่าจะจบอย่างไร แต่เราพอจะมองเห็นแสงสว่างรำไรอยู่บ้าง ถ้าเราช่วยกันประคับประคองกันต่อไป” รศ.สมชายย้ำ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net