Skip to main content
sharethis

เพจเยาวชนปลดแอกโพสต์สัญลักษณ์ RT Movement ประกาศ Restart Thailand แต่ใช้ภาพ RT คล้ายค้อนเคียว ทำคนรุ่นเก่าดิ้นพล่าน มองว่าต้องการรื้อฟื้นลัทธิคอมมิวนิสต์ ประยุทธ์ก็สั่งสอบว่าหมายถึงสาธารณรัฐหรือเปล่า

บ.ก.ลายจุดขำกลิ้ง ใครหนอนิยมจีน แนะนำหนังสือสีจิ้นผิง คนชั้นกลางเชื้อสายจีนนิยมรัฐประหาร โหนระบอบพรรคคอมมิวนิสต์จีน ยกก้นเผด็จการพรรคเดียวนำชาติเจริญ แต่พอคนรุ่นใหม่โพสต์ภาพค้อนเคียวบ้าง ก็ด่าทอคลุ้มคลั่ง ทั้งที่เพิ่งหาว่าอเมริกาหนุนหลังม็อบ

ม็อบคนรุ่นใหม่จะนิยมเผด็จการคอมมิวนิสต์ได้อย่างไร คนรุ่นใหม่ไทยเป็นพันธมิตรชานมกับม็อบประชาธิปไตยฮ่องกง-ไต้หวัน เผด็จการจารีตนิยมต่างหากฉวยทุกอย่างเข้าข้างตัวเอง 40 กว่าปีก่อนไล่ฆ่านักศึกษาว่าเป็นจีนญวนคอมมิวนิสต์ มาวันนี้พลิกไปเชียร์จีนต้านประชาธิปไตยฝรั่ง

ถ้าดูแนวโน้มทางความคิด คนรุ่นใหม่ไม่ได้นิยมเผด็จการคอมมิวนิสต์ แต่เป็นกระแสโลกที่คนรุ่นใหม่หันมานิยม “สังคมนิยมประชาธิปไตย” มากขึ้น หลังเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่เกิดวิกฤต ตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์ปี 2008 ป่านนี้ยังไม่ฟื้น รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้แต่ใช้มาตรการอัดฉีด เงินกู้ 0% หรือดอกเบี้ยต่ำ จนเงินล้นโลก วิ่งพล่านเก็งกำไร คนจนยิ่งจนลง คนรวยยิ่งรวยขึ้น ความเหลื่อมล้ำสูงลิบ แล้วโควิดก็ยิ่งซ้ำเติม คนตกงานจำนวนมากแต่หุ้นขึ้น

คนรุ่นใหม่ในอเมริกา จึงนิยมเบอร์นี แซนเดอร์ส แม้ไม่ผ่านด่านเป็นตัวแทนเดโมแครต และนโยบายยังมีจุดอ่อนในด้านความเป็นไปได้ แต่เดโมแครตก็ประกาศนโยบายขึ้นภาษีนิติบุคคล ออกกฎหมายควบคุมยักษ์ใหญ่กลุ่ม Tech

สังคมนิยมประชาธิปไตยที่พูดกันในยุคนี้ ไม่ใช่เอาวิสาหกิจใหญ่ไปเป็นของรัฐ แต่เน้นไปที่รัฐสวัสดิการ และบริการเท่าเทียม ซึ่งจะเห็นคนรุ่นใหม่เสมอในม็อบ เป็นจุดร่วมของคนยุค Disruption ที่ต้องพึ่งตัวเองสูง อนาคตไม่แน่นอน จึงต้องการรัฐสวัสดิการ รัฐบริการ ไม่ใช่รัฐเจ้าขุนมูลนายใหญ่โตเปลืองภาษี

แม้ติติงได้ว่า สัญลักษณ์ RT ชวนให้คนเข้าใจผิด ค้อนเคียว out ตกยุคไปแล้ว ยุคสมัยปัจจุบันไม่ใช่การต่อสู้ทางชนชั้นของ “ผู้ใช้แรงงาน” เป็นการต่อสู้ร่วมกันของคนหลากอาชีพหลายฐานะ เพื่อเสรีประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิส่วนบุคคล

แต่อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนว่า ประชาธิปไตยในทัศนะคนรุ่นใหม่ต้องมาพร้อมกับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ลดเหลื่อมล้ำ ซึ่งยังไม่ต้องไปถึงสังคมนิยมประชาธิปไตย เอาแค่กติกาทุนนิยมปกติ ประเทศไทยก็ล้าหลังชาวโลก เช่น ไม่มีที่ไหนในโลกที่คณะกรรมการแข่งขันการค้ายอมให้ควบรวมกิจการค้าปลีกจนมีส่วนแบ่งตลาดเกือบ 70% หรือธุรกิจส่งอาหารออนไลน์ สตาร์ตอัพหัวใสทั้งหลาย ที่ยกย่องมอเตอร์ไซค์เป็นพาร์ตเนอร์ (ประสบอุบัติเหตุตายเจ็บรับผิดชอบเอง) ในหลายประเทศก็หนุนให้ตั้งสหภาพแรงงานแล้ว

การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่จึงสอดประสานกับผู้เรียกร้องความเป็นธรรมด้านต่างๆ เช่น ม็อบคนพิการ หรือให้กำลังใจชาวจะนะ จะไปประท้วงทำเนียบถูกตู้คอนเทนเนอร์กั้น

มองมุมนี้จะเห็นว่าม็อบคนรุ่นใหม่มีด้านที่คล้ายพันธมิตร NGO ไล่ทักษิณ “ทุนสามานย์” แต่มีด้านตรงข้ามที่ไม่เอารัฐประหาร ไม่ผูกทุกอย่างไว้กับทักษิณคนเดียว และเห็นว่าอำนาจอภิสิทธิ์ที่ตรวจสอบไม่ได้ ยิ่งเอื้อทุนสามานย์ ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำ

ความคิดสังคมนิยมหากนำมาสังเคราะห์ใหม่ในโลกยุคเหลื่อมล้ำสูง ไม่ใช่เรื่องผิดคิดร้ายอะไร หากอยู่ในกรอบ 2 ข้อคือ หนึ่ง ไม่ใช่นำไปสู่ “เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ” แบบที่รัสเซียและจีนหายนะมาแล้ว สอง ไม่ปิดกั้นการแข่งขัน แต่มีกติกาถ่วงดุลเพื่อความเป็นธรรม มีสวัสดิการรองรับ

ประชาธิปไตยทุนนิยมไม่ได้ดีที่สุด แต่ยังไม่มีอะไรดีกว่านี้ คอมมิวนิสต์คือความใฝ่ฝันถึงโลกพระศรีอาริย์ ทุกคนเท่าเทียม ไม่ต้องสั่งสมทรัพย์สินซึ่งเป็นที่มาของกิเลส ความโลภ แต่ผลที่เกิดขึ้นในจีนโซเวียตคือการใช้อำนาจบังคับกวาดล้าง เช่นปฏิวัติวัฒนธรรม นอกจากฆ่ากันตายเป็นเบือ ยังทำให้เศรษฐกิจหายนะเพราะไม่มีแรงกระตุ้น ขยันทำงานได้รางวัลเป็นธงแดง เติ้งเสี่ยวผิงจึงหวนสู่ทุนนิยมโดยรัฐ

กระนั้นทุนนิยมถ้าอยู่ในระบอบเผด็จการก็เลวร้าย ยุค 1960-70 ประเทศที่คอมมิวนิสต์ชนะส่วนใหญ่ ไม่ใช่โลกเสรี แต่เป็นเผด็จการโลกที่สามที่โหดร้ายทารุณ ทุนนิยมปรับตัวได้เพราะมีการต่อสู้ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เช่น สหภาพแรงงาน องค์กรสิทธิต่างๆ ภาคประชาสังคม (ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือฝ่ายซ้าย) จนมีกลไกถ่วงดุล มีอำนาจต่อรอง

ถามว่าทำไมจีนยังเป็นทุนนิยมใต้ระบอบพรรคเดียวได้ ก็มีหลายปัจจัย แต่ข้อสังเกตหนึ่งคือ รัฐจีนไม่ใช่รัฐไทย พรรคคอมมิวนิสต์จีนแม้ผูกขาดอำนาจก็พยายามเป็นรัฐบริการ สร้างความพึงพอใจให้ประชาชน ไม่ใช่รัฐเจ้าขุนมูลนาย

จีนไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ก็ยังก้าวหน้ากว่าเผด็จการจารีตนิยม ซึ่งไปเที่ยวโหนเขา แล้วอ้างทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองครองอำนาจ

 

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/newspaper-column/news_5512349

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net