'เสรีพิศุทธ์' แนะแก้ ม.112 แยกดูหมิ่น ออกจากอาฆาตมาดร้าย

หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เสนอแก้ ม.112 แยก ระหว่าง การดูหมิ่น หมิ่นประมาท และ อาฆาตมาดร้ายออกจากกัน โดยดูหมิ่น หมิ่นประมาท ไปรวมไว้ใน ม.326 เพื่อให้ผู้เสียหายฟ้องร้องหรือมอบอำนาจให้ดำเนินคดี ขณะที่การแสดงความอาฆาตมาดร้าย ม.112 อย่างเดิม เพื่อไม่ใช้กลั่นแกล้งกัน และระคายเคืองสถาบัน

14 ธ.ค.2563 จากกรณีกลุ่มราษฎรและมีกระแสเรียกร้องพร้อมเปิดเว็บให้ประชาชนลงชื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือ ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ หลังถูกนำกลับมาใช้ดำเนินคดีกับกลุ่มเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จำนวนมากขึ้น โดยที่หลังจากนั้นปฏิกิริยาจาก ส.ว. และ ส.ส.รัฐบาลออกมาแสดงออกในเชิงคัดค้านและไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขเนื้อหาพร้อมสนับสนุนให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น 

วันนี้ (14 ธ.ค.63) สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานตรงกันว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย แถลงที่พรรคเพื่อสนับสนุนต่อการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยระบุว่า ตนเชื่อว่าการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมจะไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะเจ้าหน้าที่ที่พิจารณาคดีนั้นต้องดำเนินคดีเข้าข้างผู้มีอำนาจ ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ฐานะปฏิปักษ์กับผู้ชุมนุม เชื่อว่าการดำเนินคดีจะไม่ให้ความเป็นธรรมแน่นอน เพราะพล.อ.ประยุทธ์​มีอำนาจสั่งย้ายตำรวจฐานะประธาน ก.ตร.​หากเจ้าหนาที่ไม่ดำเนินการกับแกนนำผู้ชุมนุม ทั้งนี้ตนฐานะผู้ที่เคยถูกฟ้องตามมาตราม 112 นั้นเชื่อว่ามาตราดังกล่าวสามารถกลั่นแกล้งได้  ดังนั้นรัฐบาลควรคิดให้รอบคอบ อย่าทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ กองเชียร์คือตัวส่งเสริมและทำลายสถาบัน

“กฎหมายหมิ่นประมาทสถาบันต้องมี ใครหมิ่นสถาบันต้องผิด อาฆาตมาดร้ายต้องผิด แต่เพื่อให้ความเป็นธรรมต้องแยก ระหว่าง การดูหมิ่น หมิ่นประมาท และ อาฆาตมาดร้ายออกจากกัน โดยประเด็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท ไปรวมไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 เพื่อให้ผู้เสียหายฟ้องร้องหรือมอบอำนาจให้ดำเนินคดีกับคนที่กระทำการดูหมิ่น และให้โทษหนัก ขณะที่การแสดงความอาฆาตมาดร้าย ไว้ในมาตรา 112 อย่างเดิม เพื่อไม่ใช้กฎหมายกลั่นแกล้งกัน และระคายเคืองสถาบัน ทั้งนี้พรรคเสรีรวมไทยหรือพรรคฝ่ายค้านคงไม่ยื่นเสนอแก้ไข เพราะเสียงมีน้อยกว่า และเชื่อว่าแค่วาระแรก ส.ส.ฝั่งรัฐบาลคงไม่เอาด้วย” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ แถลง

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวด้วยว่าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยถูกดำเนินคดี แต่หากลงจากอำนาจเมื่อใด ตนจะดำเนินการ เพราะหากใช้กฎหมายดังกล่าวไปกลั่นแกล้งบุคคลอื่น ซึ่งบุคคลอื่นสามารถดำเนินคดีได้

ส.ว. ส.ส. รัฐบาลค้านแก้

ขณะที่ก่อนหน้านั้น ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมามา ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวไม่เหมาะสม อยากให้ประชาชนจับตา เพราะเป็นการไปยกเลิกกฎหมายที่ตัวเองกระทำความผิด ตรงนี้ยิ่งกว่าการนิรโทษกรรมและยังเข้าข่ายขัดกันแห่งผลประโยชน์อีกด้วย ถือว่าไม่มีความชอบธรรมที่จะมายกเลิกมาตรา 112 กฎหมายอาญามาตรา 112 มีมานานแล้ว ถ้าไม่คิดจะทำความผิดมาตรา 112 ก็ไม่มีความผิดอยู่แล้ว ไม่ใช่พอพวกตัวเองทำความผิดเข้าข่ายมาตรา 112 แล้วจะมาให้ยกเลิก แบบนี้มันไม่ถูกต้อง อีกหน่อยถ้าไปทำผิดกฎหมายอะไรอีกคงต้องออกมาขอให้ยกเลิกเพื่อตัวเองและพวกพ้องแบบนี้ไปเรื่อยๆ มันใช้ไม่ได้

เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวถึงกรณีม็อบราษฎรเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 ให้ยุติการดำเนินคดี ล้างมลทินและชดเชยเยียวยาผู้ถูกดำเนินคดี คืนความยุติธรรม ให้กระบวนการประชาธิปไตย เดินหน้าต่อได้ ว่า ปัจจุบันสถานการณ์ม็อบ มีพฤติกรรมชัดเจนเรื่องจาบจ้วง ดูหมิ่น เหยียดหยาม อาฆาตมาดร้าย จึงชัดเจนอย่างยิ่งว่าจะยกเลิกมาตรา 112 ไม่ได้โดยเด็ดขาด ข้อเรียกร้องม็อบที่มีออกมาในช่วงนี้ เพราะคุณไปกระทำผิด ดังนั้นต้องรับผิดชอบการกระทำ ไม่ใช่พอโดนคดีก็มาเรียกร้องเพื่อตัวเองแบบนี้ ก่อนที่จะกระทำต้องรู้แล้วว่าโทษของความผิดมีความร้ายแรง แต่คุณพูดว่ามันเลยความกลัวไปแล้ว ทั้งพูด ทั้งขีด เขียน ประกาศ โฆษณา แสดงความอาฆาต มาดร้ายไม่เกรงกลัวกฎหมาย ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าผิด

 

สำหรับมาตรา 112 เป็นมาตราหนึ่งในประมวลกฎหมายอาญา ถูกเรียกย่อๆ ว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

ก่อน ม.112 จะมีการปรับรูปแบบการดำเนินคดี ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาระหว่างความขัดแย้งทางการเมืองมีการนำเอามาตรา 112 มาใช้ดำเนินคดีจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ที่มีการใช้ดำเนินคดีและลงโทษที่สูง โดยเฉพาะผ่านศาลทหาร เช่น วิชัย ถูกกล่าวหาว่าสร้างบัญชีเฟซบุ๊กปลอมด้วยชื่อและภาพคนอื่น พร้อมโพสต์ข้อความเข้าข่ายความผิดตาม ม.112 และ พ.ร.บ.คอมฯ ศาลตัดสินลงโทษ ม.112 กรรมละ 7 ปี รวมทั้งหมด 70 ปี ส่วน พ.ร.บ.คอม ยกฟ้อง แต่เนื่องจากเขาสารภาพจึงลดโทษเหลือ 35 ปี 'พงษ์ศักดิ์' หรือ Sam Parr ชายอายุ 40 กว่าปี ถูกกล่าวหาว่าใช้เฟซบุ๊กชื่อบัญชี ‘Sam Parr’ โพสต์ข้อความเข้าข่ายความผิดตาม ม.112 ศาลตัดสินลงโทษ ม.112 กรรมละ 10 ปี รวมทั้งหมด 60 ปี สารภาพลดเหลือ 30 ปี ศศิวิมล หญิงแม่ลูกสอง อายุ 30 ปี ถูกกล่าวหาว่าใช้เฟซบุ๊กชื่อ “รุ่งนภา คำภิชัย” โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดตาม ม.112 ศาลตัดสินลงโทษ ม.112 กรรมละ 8 ปี รวมทั้งหมด 56 ปี สารภาพลดเหลือ 28 ปี เป็นต้น และเกือบทั้งหมดที่โดนคดีนี้มักไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว

อ่านรายละเอียดที่ https://prachatai.com/journal/2020/11/90530

สำหรับในอดีตมีการวิพากษ์วิจารณ์ก็หมายมาตรานี้ จากข้อมูลของ คณะรณรงค์แก้ไข ม.112 เมื่อปี 2555 ระบุเช่น

1. มรดกของคณะรัฐประหาร หลังเหตุล้อมปราบและสังหารหมู่ 6 ตุลา 19

มาตรา 112 อย่างที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ได้รับการบัญญัติขึ้นโดยคณะรัฐประหาร 6 ต.ค.2519 ที่นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ในนาม คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ดำเนินการอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ลงตามแผนที่วางสถานการณ์ไว้ล่วงหน้าได้ก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ พร้อมประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ หลังเหตุการณ์ล้อมปราบและสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดังกล่าว 

ซึ่ง พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล เขียนไว้เมื่อปี 2554 เผยแพร่ทางประชาไท ในหัวข้อ "มาตรา 112 : ผลพวงรัฐประหาร 6 ตุลา 2519" ว่า  21 ตุลาคม 2519 , คณะรัฐประหาร เพิ่มโทษบทบัญญัติมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ข้อ1 โดยปรับโทษจากเดิม "จำคุกไม่เกินเจ็ดปี" เพิ่มขึ้นเป็น "จำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี" อัตราโทษนี้ดำรงอยู่เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

กฎหมายดังกล่าวจึงเป็น "กฎหมาย" หรือ "ผลพวง" ของคณะรัฐประหาร และขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ซึ่ง คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก. 112) ได้เสนอทางออกไว้เมื่อปี 55 ว่า ทางออก เพื่อสร้างอุดมการณ์ประชาธิปไตยให้มั่นคงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลบล้างผลพวงอันเป็นสิ่งปฏิกูลที่เกิดเนื่องมาจากการทำรัฐประหาร และยิ่งกว่านั้่น แม้แต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โทษสูงสุดเพียง 3 ปี และไม่มีโทษขั้นต่ำ

2. คุ้มครองยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ

ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. 2475 ได้กำหนดให้ “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” แสดงให้เห็นว่า มุ่งคุ้มครองตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ ซึ่งเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญอนุญาตให้ดำรงอยู่ หาได้มุ่งคุ้มครองไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อันครอบคลุมไปยังตำแหน่งพระบรมวงศานุวงศ์อื่นใดอีกไม่ ขณะที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้ขยายความผิดออกไปโดยครอบคลุมทั้ง “พระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”

นอกจากนั้น การที่มาตรา 112 เป็นการกระทำผิดทางวาจา กลับอยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐ ทำให้มีอัตราโทษที่รุนแรงโดยมีโทษขั้นต่ำ 3 ปี และสูงสุด 15 ปี ขณะที่ความผิดฐานก่อการร้ายซึ่งร้ายแรงระดับมนุษยชาติกฎหมายกำหนดโทษจำคุกเพียงตั้งแต่ 2 ปีถึง 10 ปี สะท้อนความไม่สมเหตุสมผลของบทบัญญัติโทษตามมาตรา 112 อีกทั้งการกระทำผิดโดยวาจา ไม่ทำให้กระทบหรือสูญสิ้นความเป็นรัฐ

ทางออก : ต้องยกเลิกมาตรา 112 แล้วให้การคุ้มครองพระเกียรติยศพระมหากษัตริย์เป็นความผิดที่อยู่ต่างหากจากหมวดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยนำการกระทำความผิดดังกล่าว มาอยู่ในหมวดความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยกำหนดโทษให้พอสมควรแก่เหตุ โดยนำโทษของบุคคลธรรมดาเป็นฐาน แล้วกำหนดโทษสูงกว่าบุคคลทั่วไปโดยไม่สูงเหลื่อมล้ำจนเกินไป และแยกบทลงโทษเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ออกจาก พระราชินี รัชทายาท ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

3. ใครๆ ก็ฟ้องได้

ด้วยเหตุที่ ม.112 เป็นความผิดฐานความมั่นคง ทำให้ใครๆก็สามารถหยิบยกข้อกล่าวหานี้มาใช้กลับใครก็ได้ ขณะเดียวกันกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ก็มีแนวโน้มที่จะ "รับฟ้อง" ทุกกรณี ปรากฏเป็นปัญหาของระบบกฎหมายไทยทียัดเยียดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของราษฎรให้เป็นอาชญากรรมต่อรัฐ ภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ไม่นาน ปรากฏสถิติการดำเนินคดีในปี 2553 สูงถึง 478 คดี โดยก่อนหน้านั้นมีไม่ถึง 10 คดีต่อปี

ทางออก : ต้องจำกัดตัวบุคคลมีอำนาจผู้ฟ้องคดีให้มีความชัดเจน สำนักราชเลขาธิการ ซึ่งในทางกฏหมายมีลักษณะเป็น "กรม" ซึ่งสำนักราชเลขาธิการก็มีหน่วยงานในสังกัด คือ "กองนิติกร" ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว ตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติในกฎหมาย ใช้งบประมาณแผ่นดินของราษฎรตามพระราชบัญญัติ ฉะนั้น สำนักราชเลขาธิการซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ และมีหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการได้อยู่เดิมแล้ว กล่าวคือกองนิติการในสำนักราชเลขาธิการ ย่อมผูกพันโดยตรงในการริเริ่มฟ้องคดีหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ไม่สมเหตุสมผลที่จะให้บุคคลทั่วไปร้องทุกข์กล่าวโทษตามอำเภอใจ

4. ห้ามพิสูจน์ความจริง

กฏหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา มาตรา 329 ยกเว้นความผิดถ้าเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตและติชมด้วยความเป็นธรรม ขณะที่มาตรา 330 ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็น "ความจริง" ก็ไม่ต้องรับโทษ(เว้นแต่เป็นเรื่องส่วนตัว และไม่เป็น "ประโยชน์สาธารณะ")

แต่มาตรา 112 นั้นไม่อนุญาตให้พิสูจน์ "ความจริง" ขณะที่มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ 50 และ มาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญ 60 กลับรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อการดังกล่าว

ทางออก : เพิ่มเติมเหตุยกเว้นความผิด โดยกำหนดให้ "ผู้ใด ติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริตเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิด"

5. โทษที่ไม่เป็นธรรม

ขณะที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้กำหนดความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไว้สูงสุดไม่เกิน 3 ปี แต่ปัจจุบันโทษในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกลับสูงสุดถึง 15 ปี และมีโทษขั้นต่ำ 3 ปี นั้นหมายความว่าถ้าใครถูกพิพากษาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้วจะไม่มีเหตุยกเว้นการรับโทษแต่อย่างใด

ทางออก : ต้องไม่มีอัตราโทษขั้นต้่ำเพราะศาลได้ใช้ดุลยพินิจในการกำหนดโทษน้อยเพียงใดก็ได้ตามควรแก่กรณี และลดอัตราโทษให้เป็นจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับสำหรับความผิดต่อพระมหากษัตริย์และจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับสำหรับความผิดต่อพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยเทียบเคียงจากฐานของบุคคลทั่วไปในความผิดเดียวกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท