Skip to main content
sharethis

ฝ่ายรัฐบาลเริ่มเปิดชื่อคณะกรรมการสมานฉันท์ 'แรมโบ้-ธนกร-เทอดพงษ์' ประธานวิปฝ่ายค้านเผยพรุ่งนี้(16 ธ.ค.) ชวนจะหารือฝ่ายค้านเรื่องเข้าร่วมคณะกรรมการฯ อีก ส่วนเพื่อไทยสรุปความคืบหน้าจาก กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ มีจุดที่ฝ่ายค้านและรัฐบาลยังเห็นไม่ตรงกันทั้งเรื่องต้องใช้สัดส่วน 2 สภาเท่าไหร่เพื่อแก้ไข ส.ส.ร.ต้องเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่และต้องทำประชามติในขั้นตอนใดของการแก้รัฐธรรมนูญ

15 ธ.ค.2563 ฝ่ายรัฐบาลเริ่มให้ข่าวบุคคลที่จะเข้ามานั่งในคณะกรรมการสมานฉันท์ ส่วนฝ่ายค้านที่มีมติไม่เข้าร่วมไปเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. สุทิน คลังแสงระบุว่าชวน หลีกภัยประธานสภาจะหารือกับฝ่ายค้านอีกครั้งในวันพรุ่งนี้(16 ธ.ค.63) เรื่องขอให้เข้าร่วมคณะกรรมการฯ

มติชนออนไลน์ รายงานความคืบหน้าตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ในวันนี้ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวที่รัฐบาลจะส่ง สุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรัฐบาลร่วมคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ว่าคงต้องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรับว่าได้ส่งชื่อทั้งสองคนให้ ครม.รับทราบ

แฟ้มภาพ

นอกจากนั้นไทยรัฐออนไลน์รายงานประเด็นเดียวกันนี้จากทางพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาปัตย์ โดยจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ว่าทางพรรค ปชป.ได้เสนอชื่อเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ เป็นตัวแทนไปร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ในสัดส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล และวิษณุ เครืองามรองนายกรัฐมนตรีก็ได้รับทราบแล้ว และเชื่อว่าเทอดพงษ์มีคุณสมบัติพอเนื่องจากมีประสบการณ์ยาวนานและมีท่าทีประนีประนอม สามารถเข้าไปทำหน้าที่แทน ครม.ในคณะกรรมการชุดนี้ได้ ส่วนตัวแทนของ ครม.อีก 1 คน เป็นเรื่องผู้มีหน้าที่ต้องพิจารณา

จุรินทร์ให้สัมภาษณ์อีกว่า ตนทราบว่าพรรคร่วมรัฐบาลได้ส่งรายชื่อไปแล้ว 2 คน ส่วนสัดส่วนจากมหาวิทยาลัย 5 คนทางมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งกำลังดำเนินการอยู่ และเขาคาดว่าจะได้รายชื่อกรรมการครบในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนธันวาคมนี้ เมื่อครบแล้วประธานสภาจึงจะเรียกประชุมนัดแรก

ส่วนทางด้านพรรคฝ่ายค้าน มติชนออนไลน์รายงานโดยสัมภาษณ์ สุทิน คลังแสง พรรคเพื่อไทยในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีที่ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เตรียมหารือกับฝ่ายค้านวันที่พรุ่งนี้(16 ธ.ค.63) เพื่อให้ฝ่ายค้านมาร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ สุทินคิดว่าคงจะมีการหารือกับ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้าน ว่าจะมีท่าทีอย่างไร หากมีการขอความร่วมมือก็ขึ้นกับท่าทีพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 6 พรรคจะมีมติอย่างไร

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ข่าวสดออนไลน์รายงานถึงการประชุมคณะกรรมการพรรคเพื่อไทย โดยในรายงนาข่าวดังกล่าวได้กล่าวถึงประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคได้กล่าวว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติไม่เข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ชุดนี้

ในรายงานของข่าวสดออนไลน์ยังระบุอีกว่า สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคระบุอีกว่าในส่วนของพรรคเพื่อไทยที่ได้รับหนังสือที่รัฐสภาขอให้ฝ่ายค้านเสนอชื่อบุคคล 2 คน เข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ที่ประชุมพรรคเองก็มีมติไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วม โดยให้เหตุผล 2 ข้อคือ องค์ประกอบคณะกรรมการยังไม่เป็นกลางและคู่ขัดแย้งบางส่วนปฏิเสธที่จะเข้าร่วม เมื่อคู่ขัดแย้งไม่เข้าร่วมแล้วจะมีทางออกอย่างไร ฝ่ายค้านจึงไม่ขอร่วม

เพื่อไทยประชุม คกก.ผลักดันแก้รัฐธรรมนูญฯ

พรรคเพื่อไทย รายงานถึงผลการประชุมนัดแรกของคณะกรรมการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยมีมติตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ภาพจากพรรคเพื่อไทย

ในรายงานระบุว่า ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย แถลงว่าจากที่ข้อความคืบหน้าจากกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฯ สรุปได้ว่า

  1. มีประเด็นที่พรรคฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลเห็นไม่ตรงกันเรื่องที่จะต้องใช้เสียงของทั้ง 2 สภาในสัดส่วนเท่าไหร่ พรรคฝ่ายค้านเห็นว่าใช้เสียงของทั้ง 2 สภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ในขณะที่รัฐบาลเห็นว่าต้องใช้ 3 ใน 5 ซึ่งฝ่ายค้านเห็นว่าการใช้สัดส่วน 3 ใน 5 เท่ากับทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขไม่ได้เลย
  2. ประเด็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ควรต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือมีการแต่งตั้งด้วย ฝ่ายค้านเห็นว่าควรเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน แล้วค่อยมี กมธ.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป โดย กมธ.ต้องมี สสร.ส่วนหนึ่งร่วมด้วย และมีผู้ทรงคุณวุฒฺที่มีความรู้ส่วนหนึ่ง แต่รัฐบาลเห้นว่าควรมีการแต่งตั้งเข้ามาเป็น ส.ส.ร.ด้วย ซึ่งพรรคเพื่อไทยเห็นว่าระบบที่ดีควรให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของอธิปไตยเลือกตั้ง ส.ส.ร.เข้ามาโดยตรงมากกว่า
  3. ส่วนประเด็นการทำประชามติ ฝ่ายค้านก็เห็นว่าควรให้ถึงวาระ 3 ก่อนจึงขอมติจากประชาชน แต่ของรัฐบาลจะเห็นว่าถ้า ส.ส.ร.ร่างเสร็จแล้วเสนอเข้าสภาและทูลเกล้าฯ ได้เลย ยกเว้นสภาไม่เห็นด้วยจึงทำประชามติถามประชาชน ดังนั้นถ้าสภาและรัฐบาลเห็นชอบก็จะมีการผ่านมาถึงประชาชนเลย ซึ่งพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย

มติชนฯ รายงานอีกว่าในการแถลงนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ซึ่งเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ แถลงว่าสำหรับการแก้ไขหมวด 1 และ 2 ในญัตติยืนยันว่าไม่มีการแก้ เว้นแต่แต่ทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความสมบูรณ์มากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net