จาก ห อ ม สู่ #เฟมินิสต์ปลดแอก (2) : ใครว่าการเป็นผู้ชายไม่เจ็บปวด?

ตอน 2 ชวนคุยไปกับ 'ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง' นักวิชาการผู้ศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดและโครงสร้างชายเป็นใหญ่ กับมุมมองต่อประเด็น 'ห อ ม' และการยินยอมของสองฝ่าย ตลอดจนเหตุผลที่อาจทำให้ทุกคนเข้าใจว่า ทำไมการบอกว่าผู้ชายทุกคนไม่เจ็บปวดจากระบอบปิตาธิปไตยนั้นเป็นเรื่องไม่จริง?

  • ไม่ใช่ผู้ชายทุกคนที่เห็นดีกับคำว่า ห อ ม
  • ปิตาธิปไตย 101 ว่าด้วยระบอบชายเป็นใหญ่
  • ขุดรากความคิดของชายเป็นใหญ่
  • ปิตาธิปไตย ความรุนแรง และการกดปราบเฟมินิสต์
  • LGBTIQ+ และการสร้างความชอบธรรมให้แนวคิด Transphobia
  • เพราะความไม่เท่าเทียมทางเพศเป็นปัญหาของทุกคน

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศถูกหยิบยกมาพูดในวงการนักขับเคลื่อนประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสิทธิในการจัดสรรที่นั่งในสภาให้มีสัดส่วนทางเพศที่เท่าเทียม (Gender Quota) สิทธิการมีอนามัยเจริญพันธุ์ที่ดีของสตรีและกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ หรือแม้แต่สิทธิการได้รับการจัดสรรงบประมาณเรื่องเพศอย่างเท่าเทียม แม้ประเด็นดังกล่าวจะยังไม่ถูกนำมาพูดในวงกว้างนัก แต่การถูกหยิบนำมาพูดก็ทำให้เรามีความหวังมากขึ้นว่า เราจะมีโอกาสได้เห็นสังคมที่เป็นประชาธิปไตย พร้อมทั้งให้สิทธิ และสวัสดิการกับคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัยอย่างเท่าเทียมกัน

ถึงอย่างนั้น ประเด็นสิทธิทางเพศเหล่านี้กลับเป็นเรื่องที่ใช้เวลาอย่างมากในการสร้างความเข้าใจ เนื่องจากสังคมไทยถูกขับเคลื่อนผ่านแนวคิดที่เชิดชูความเป็นชาย สิทธิหลายประการจึงถูกผูกขาดไว้กับความเป็นชาย จนผู้ผลักดันในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศหลายคนกล่าวว่า เป็นเรื่องยากหากจะให้ผู้ชายทุกคนเข้าใจทฤษฎีความเท่าเทียมทางเพศ เนื่องจากสังคมได้ยกสถานะเพศชายไว้สูงกว่าเพศอื่นมาเป็นเวลานาน อภิสิทธิ์ที่เขาเหล่านั้นได้รับจึงไม่ต่างอะไรกับคนบนหอคอยงาช้างที่ไม่มีทางรับรู้และเข้าใจปัญหาของคนที่อยู่บนผืนดินข้างล่างได้

แต่แล้วความคิดเหล่านั้นก็ได้มลายหายไป เมื่อผู้เขียนได้พูดคุยกับ “ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง” อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดชายเป็นใหญ่ และโครงสร้างในสังคมไทยที่เกี่ยวเนื่องกับชายเป็นใหญ่นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กับมุมมองต่อประเด็น ห อ ม และการยินยอมของคนสองฝ่าย ตลอดจนเหตุผลที่อาจทำให้ทุกคนเข้าใจว่า ทำไมการบอกว่าผู้ชายทุกคนไม่เจ็บปวดจากระบอบปิตาธิปไตยนั้นเป็นเรื่องไม่จริง?

ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ไม่ใช่ผู้ชายทุกคนที่เห็นดีกับคำว่า ห อ ม

แม้กระแสการใช้คำว่า ห อ ม จะเริ่มบางเบาลงแล้ว หากแต่แง่ปมของความขัดแย้งในเรื่องนี้ กลับยังไม่ถูกคลี่คลายออกไป ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเมื่อคนสองกลุ่ม (เฟมทวิต vs เบียวทวิต) มาถกเถียงกันในพื้นที่ที่จำกัดความยาวของเนื้อหา แต่มีลักษณะไหลลื่นไปเร็วอย่าง ทวิตเตอร์ เป็นผลให้การส่งสารอาจไม่ครบถ้วนในเชิงหลักการ และไม่นำพามาซึ่งการสร้างเข้าใจให้คนทุกกลุ่มอย่างจริงจัง แต่ ติณณภพจ์ กลับมีมุมมองที่แตกต่างออกไป กล่าวคือ ผู้คนบางส่วนในสังคมกำลังทำให้การแซวผ่านตัวหนังสือในโซเชียลมีเดียเป็นเรื่องปกติ (Normalize)

“การที่คุณไปพิมพ์ว่า ห อ ม ซ้ำๆ เรื่อยๆ ท่าทีลักษณะเช่นนั้น จนกระทั่งอีกฝ่ายรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคงกับคำนั้น แน่นอนมันคือการล่วงละเมิดทางเพศ”

ติณณภพจ์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาจากการใช้คำว่า ห อ ม คือ การดึงดันของกลุ่มผู้ใช้ที่ต้องการจะยืนยันความบริสุทธิ์ของคำดังกล่าว ด้วยการใช้ซ้ำๆ กับกลุ่มคนที่ไม่ยินยอมให้ใช้ เพื่อต้องการผลักภาระไปยังกลุ่มผู้ไม่ยอมรับการใช้คำดังกล่าวว่า เป็นคนที่อ่อนไหวทางความรู้สึก คิดไปเองว่าคำดังกล่าวกำลังคุกคามหรือลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของตนเอง ซึ่งติณณภพจ์มองว่า การกระทำเช่นนี้นำมาซึ่งปัญหาการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมาก เพราะขณะที่สังคมกำลังสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ แต่ปัญหาจาก Rape Culture หรือ วัฒนธรรมการข่มขืนยังคงมีอยู่และถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ ทุกคนสามารถเป็นผู้กระทำหรือเป็นผู้ถูกกระทำก็ได้ โดยไม่ได้ใส่ใจถึงรากเหง้าของปัญหาว่ามีต้นสายปลายเหตุมาจากอะไร

หากจะพูดเรื่องวัฒนธรรมการข่มขืน ติณณภพจ์ อธิบายว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้หมายความแค่การสมยอมให้การข่มขืนบนเนื้อตัวร่างกายเกิดขึ้นเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้การคุกคามทางเพศรูปแบบต่างๆ ยังเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างชอบธรรม แน่นอนว่า การใช้คำว่า ห อ ม ในเชิงประชดประชันนั้นถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยต่อลมหายใจให้วัฒนธรรมการข่มขืนยังคงดำรงอยู่ และถูกทำให้เป็นเรื่องปกติในสังคมไทย ดังจะเห็นจากการแสดงความคิดเห็นบนสื่อโซเชียลมีเดียว่า ไม่ได้มีแค่ผู้ชายที่ออกมาตอบโต้กลุ่มคนที่ไม่ยินยอมให้ใช้คำดังกล่าวเท่านั้น แต่ผู้หญิงบางส่วนก็ออกมาแสดงความคิดเห็นเชิงขั้วตรงข้ามว่า “โอ้ยพวกดัดจริต มันไม่เห็นจะเป็นการคุกคามทางพศตรงไหนเลย พวกหล่อนมันก็แค่คิดไปเอง” ซึ่งความคิดเห็นลักษณะดังกล่าวก็ทำให้เราเข้าใจภาพของวัฒนธรรมการข่มขืนได้ชัดเจนขึ้นว่า วัฒนธรรมดังกล่าวถูกทำให้เป็นเรื่องปกติแล้วจริงๆ

หากจะถามว่า วัฒนธรรมการข่มขืนเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เหตุใดจึงถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติในสังคม คำตอบเดียวที่สามารถนำมาตอบได้ คือ เพราะปิตาธิปไตยได้ถูกนำมายึดโยงกับสังคมไทยจนกระทั่งสามารถทำงานอย่างเป็นระบอบแล้วนั่นเอง

 กลุ่มผู้หญิงปลดแอกจัดแสดง "สีดาลุยไฟ" ในกิจกรรม#ไพร่พาเหรดเพื่อประชาธิปไตย สื่อสารประเด็นการข่มขืนและความรุนแรงทางเพศผ่านการเต้น เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2563 ที่แยกสามย่าน บริเวณหน้าห้างสามย่านมิตร​ทาวน์​

ปิตาธิปไตย101 ว่าด้วยระบอบชายเป็นใหญ่

ติณณภพจ์ กล่าวว่า เหตุที่นิยามปิตาธิปไตยว่าเป็นระบอบ เนื่องจากปิตาธิปไตยได้ถูกฝังรากลงลึกให้อยู่ในอณูของสังคมไทยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่านิยม บรรทัดฐานทางเพศสภาวะ และอุดมการณ์ ซึ่งทั้งหมดสามารถนำมาอธิบายความเป็นสังคมไทยได้ดังนี้

ปิตาธิปไตยเชิงค่านิยม กล่าวคือ สังคมไทยให้ค่านิยมและคุณค่าทางสังคมผูกติดกับลักษณะความเป็นชายว่า เป็นสิ่งที่ดี เลอเลิศ และเป็นมาตรฐาน ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “กล้าหาญ” แม้คำคุณศัพท์นี้จะเป็นคำคุณศัพท์เชิงบวกที่ผู้คนต่างให้ความเห็นว่าเป็นคุณลักษณะที่ดี แต่เมื่อวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนแล้ว คำว่า “กล้าหาญ” ถูกทำให้มีความหมายในลักษณะผูกติดกับเรือนร่างและความเป็นเพศชาย

“แม้การ์ตูนดิสนีย์จะมีตัวละครหญิงอย่าง “มู่หลาน” ที่มีคุณลักษณะความกล้าหาญในการต่อกรกับตัวร้ายในเรื่อง ซึ่งในแง่หนึ่งผู้คนตั้งถามว่า ผู้หญิงก็กล้าหาญได้ แต่ผู้คนกลับยังไม่ตั้งคำถามไปถึงว่า แล้วคำว่ากล้าหาญเป็นคำที่ผูกติดกับความเป็น Masculinity หรือ Femininity”

ติณณภพจ์ จึงมองว่า สิ่งนี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความตระหนักรู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง แม้ว่าในแง่หนึ่งสังคมเกิดการตั้งถามว่า ผู้หญิงก็กล้าหาญได้ แต่คำถามดังกล่าวไม่นำไปสู่คำถามถัดไปว่า คำว่า กล้าหาญ จำเป็นต้องยึดโยงกับความเป็นเพศใดเพศหนึ่งหรือไม่? เนื่องจากปัจจุบัน คำว่า กล้าหาญ ยังคงยึดโยงกับค่านิยมที่ยกยอปอปั้นความเป็นชาย ให้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง และเป็นมาตรฐาน

ขณะที่ ปิตาธิปไตยเชิงบรรทัดฐานทางเพศสภาวะ คือ การที่สังคมตั้งมาตรฐานเพื่อตรวจวัดคนในสังคมว่า เป็นไปตามมาตรฐานหรือค่านิยมของสังคมหรือไม่? คำถามที่ตามมาคือ ปิตาธิปไตยถูกทำให้กลายเป็นบรรทัดฐานได้อย่างไร? ติณณภพจ์ ตอบว่า เนื่องจากสังคมไทยยึดถือค่านิยมชายเป็นใหญ่ สังคมไทยจึงนำคุณลักษณะความเป็นชายมาเป็นมาตรวัดคุณค่าของคนในสังคมว่า เป็นไปตามมาตรฐานที่สังคมต้องการมากน้อยเพียงใด อาทิ มีความกล้าหาญมากน้อยเพียงใด? ดังจะเห็นจากกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนออกมาวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ว่า ไม่มีความกล้าหาญที่จะหยัดยืนในหลักการและความถูกต้อง สมควรจะนำกระโปรงมาใส่แทนหรือไม่? จากคำพูดดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมยังมองกระโปรงเป็นสิ่งที่ต่ำศักดิ์กว่ากางเกง สะท้อนให้เห็นภาพที่ชัดเจนกว่าเดิมว่า ปิตาธิปไตยได้แทรกซึมเข้าไปเป็นบรรทัดฐานและค่านิยมของคนในสังคมอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว

และสุดท้าย ปิตาธิปไตยเชิงอุดมการณ์ กล่าวคือ อุดมการณ์เป็นสิ่งที่คอยผลักดันให้คนคิดและแสดงออกบางอย่างซึ่งความคิด ความเชื่ออันประกอบสร้างตัวตนของพวกเขา เช่น เมื่อเราบอกว่า เรามีอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ดังนั้นเราจึงมักพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพอยู่ตลอดเวลา หรือเมื่อต้องมีการตัดสินใจร่วมเป็นหมู่คณะ ก็จะชอบให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นก่อนเสมอ เพราะเราเคารพในสิทธิเสรีภาพของทุกคน แสดงว่าเรายึดถือและปฏิบัติตามอุดมการณ์ของเรา เป็นผลให้เราเลือกจะคิด พูด และแสดงออกเช่นนั้น ขณะที่ปิตาธิปไตยเชิงอุดมการณ์มีส่วนผลักดันให้ผู้คนออกมาไล่คนที่ไม่ยืนหยัดในความกล้าหาญไปใส่กระโปรง สะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนในสังคมถูกสั่งการด้วยอุดมการณ์บางอย่าง แล้วทุกคนต่างเชื่อไปโดยปริยายแล้วว่า ความกล้าหาญเป็นสิ่งที่ผูกติดกับการสวมกางเกง และคิดไปว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แทนที่จะแสดงออกซึ่งความกล้าหาญในรูปแบบอื่น ทั้งหมดนี้จึงเป็นบทสรุปว่า ผู้คนในสังคมต่างยังคงเชื่อ และแสดงออกซึ่งอุดมการณ์แบบปิตาธิปไตยเป็นศูนย์กลาง เป็นต้น

เมื่อปิตาธิปไตยเชิงค่านิยม บรรทัดฐาน และอุดมการณ์ ถูกประกอบร่างเข้าด้วยกัน ส่งผลให้ปิตาธิปไตยสามารถทำงานได้อย่างเป็นระบอบในสังคม อันเนื่องมาจากปิตาธิปไตยอยู่ในทุกอณูชีวิตของปัจเจกบุคคล และทุกระดับสังคมอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ โดยปิตาธิปไตยสามารถปรากฏให้เห็นตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติการ หรือแม้ระดับครอบครัว และความคิดของปัจเจกบุคคล เป็นต้น

ขุดรากความคิดของชายเป็นใหญ่

แต่แล้วระบอบปิตาธิปไตยอันประกอบไปด้วย 3 สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นก็ถูกตั้งข้อสงสัยว่า จะสามารถดำรงอยู่และสืบทอดต่อไปอย่างแข็งแกร่งได้อย่างไร เป็นเหตุให้กลุ่มผู้สมาทานแนวคิดปิตาธิปไตยจำเป็นจะต้องสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับระบอบชายเป็นใหญ่ ส่งผลให้เกิดการลดทอนคุณค่าความเป็นเพศอื่นลงไป เพื่อให้แนวคิดที่พวกเขาสมาทานเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่า และมีความศักดิ์สิทธิ์กว่าแนวคิดแบบอื่น

สิ่งกล่าวมาข้างต้นนี้ ติณณภพจ์ สามารถอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวผ่านทฤษฎีทั้งหมด 2 แบบได้แก่ ทฤษฎีแรกคือ ทฤษฎีสตรีนิยมจิตวิเคราะห์ หรือ Psycho Analytic Feminism ว่า เมื่อปิตาธิปไตยพยายามหล่อเลี้ยงเพื่อธำรงรักษาระบอบของตัวเองให้อยู่คู่กับสังคม ดังนั้นการกดปราบลดทอนคุณค่าของความเป็นเพศอื่น จึงอาจเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้ผู้สมาทานแนวคิดปิตาธิปไตยรู้สึกว่า แนวคิดที่พวกตนยึดถือเป็นสิ่งที่แข็งแกร่งและทรงคุณค่ามากขึ้น ซึ่งแนวคิดการกดปราบลดทอนคุณค่าฝ่ายตรงข้ามนี้เป็นสิ่งที่ถูกใช้ในการขับเน้นคุณค่าของเผด็จการเช่นกัน เนื่องจากผู้สมาทานระบอบเผด็จการไม่แน่ใจว่าระบอบพวกเขายึดถือนั้นมีคุณค่าและสูงส่งได้ด้วยตนเอง การกดปราบลดทอนคุณค่าของประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่เผด็จการมักใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง

“แต่ทั้งหมดนี้ ไม่อาจหมายรวมได้ว่าปิตาธิปไตยเท่ากับเผด็จการ สองสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เพียงแต่มีลักษณะคล้ายคลึงกันบางอย่างเท่านั้น และแม้แต่สังคมประชาธิปไตยก็สามารถหล่อเลี้ยงแนวคิดปิตาธิปไตยเอาไว้ได้ และใช่ว่าเฟมินิสต์ทุกกลุ่มจะสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยเสมอไป”

ขณะที่ทฤษฎีที่สอง ได้แก่ ทฤษฎีเพศสังคมวิทยา หรือ Sociology Gender ที่ศึกษาปรากฏการณ์ดังกล่าวจากโครงสร้างสังคมกล่าวว่า นอกจากปิตาธิปไตยจะพยายามสั่นคลอนค่านิยมแบบเฟมินิสต์ เพื่อทำให้คุณค่าของตัวเองสูงขึ้น อีกหนึ่งกลไกที่ทำให้ปิตาธิปไตยสามารถขับเคลื่อนไปได้คือ ปิตาธิปไตยพยายามจะขับเน้นสิ่งที่เรียกว่า การจัดช่วงชั้นทางเพศภาวะ หรือ Gender Stratification ขึ้นมา เพื่อทำให้เห็นเด่นชัดยิ่งขึ้นว่า เพศใดสูงศักดิ์กว่าเพศใด สิ่งใดควรค่าแก่เพศชาย และสิ่งใดควรค่าแก่เพศหญิง เช่น การกำหนดว่า ผู้ชายคือเหตุผล ผู้หญิงคืออารมณ์ และจัดวางให้เหตุผลเป็นสิ่งที่ต้องอยู่เหนืออารมณ์ หรือแม้แต่การกำหนดด้านการศึกษาว่า สาขาวิชาชีพใดเป็นของผู้ชาย สาขาวิชาชีพใดเป็นของผู้หญิง สิ่งใดเป็นค่ามาตรฐาน สิ่งใดเป็นความเบี่ยงเบน ทั้งหมดนี้คือ การจัดคู่ตรงข้าม เพื่อกำหนดบทบาททางเพศ หรือ Gender Role และธำรงรักษาให้เป็นเช่นนั้นเรื่อยไป เพื่อให้ผู้คนในสังคมเชื่อว่า “สังคมก็เป็นเช่นนี้”

คำถามถัดมาก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นหากผู้ชายเลือกจะไม่สมาทานระบอบปิตาธิปไตย?

“สมัยผมเรียนชั้นประถม คุณครูที่โรงเรียนเคยเรียกผมไปคุยว่า ทำไมไม่ไปเตะฟุตบอลกับเพื่อน ทำไมไปเล่นกิจกรรมอะไรที่มันไม่ต้องออกแรงเยอะ หรือแม้แต่สมัยเรียนมัธยม เพื่อนผู้ชายในห้องต้องมีปัญหาเรื่องชกต่อย คุณครูก็เรียกผมไปคุยว่า เป็นผู้ชายมันก็ต้องมีปัญหาเรื่องชกต่อยบ้าง ทำไมถึงไม่มีปัญหาชกต่อยเลย เป็นผู้ชายแบบไหน เป็นตุ๊ดหรือเปล่า?”

ติณณภพจ์ อธิบายถึงประสบการณ์ส่วนตัวของตน ที่อาจเชื่อมโยงไปถึงผู้ชายส่วนหนึ่งในสังคมไทยที่ไม่พึงสมาทานระบอบปิตาธิปไตยว่า เมื่อผู้ชายเหล่านี้ไม่สมาทานคุณค่าของความเป็นชายแล้ว ผู้ชายกลุ่มนี้จะถูกขับออกมาจากช่วงชั้นทางเพศสภาวะของสังคม เนื่องจากไม่ได้ยึดถือหลักการ ค่านิยม บรรทัดฐาน และอุดมการณ์เช่นเดียวกับสังคม และจะถูกจัดลำดับให้ลดหลั่นลงมาอยู่ในพื้นที่ของความเบี่ยงเบนทางเพศสภาวะ

เช่นเดียวกับ กรณีการใช้คำว่า ห อ ม เมื่อผู้ชายคนใดไม่เห็นด้วยกับการเล่นมุกเชิงคุกคามทางเพศเช่นนี้ และไปเข้าข้างกลุ่มเฟมทวิต ผู้ชายคนนั้นจะถูกมองว่ามีปัญหาทันที เพราะผู้ชายที่สมาทานปิตาธิปไตยจะมองว่า “ต้องเป็นผู้ชายแบบไหนถึงไปเข้าข้างเฟมทวิต ทั้งๆ ที่เฟมทวิตด่าผู้ชายทุกคนบนโลกใบนี้” ส่งผลให้ผู้ชายคนนั้นถูกผลักให้กลายเป็นอื่นจากกลุ่มผู้ชายในสังคมทันที

ดังนั้น หากอ้างอิงจากคำอธิบายของทฤษฎีเพศสังคมวิทยา ปัญหาข้างต้นคือ ปัญหาการจัดประเภทของคนออกเป็นช่วงชั้น เพื่อขับเน้นความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ และตอกย้ำให้คนในสังคมดังกล่าวยอมรับ และอยู่ต่อไปเช่นนั้น

ปิตาธิปไตย ความรุนแรง และการกดปราบเฟมินิสต์

“ปิตาธิปไตยถือเป็นความรุนแรงอยู่แล้ว เพราะท้ายที่สุดมันกำหนดว่า ใครสมควรเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่า และใครไม่ถูกจัดว่าเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่า มันคือการจัดประเภทคุณค่าของคนให้อยู่สูงต่ำไม่เท่ากัน เท่านี้ก็เป็นความรุนแรงแล้ว”

ติณณภพจ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัญหาของปิตาธิปไตย นอกจากการกำหนดคุณค่าของคนให้ไม่เท่าเทียมกันแล้ว เมื่อผู้คนเติบโตมากับการขัดเกลาทางสังคมในเชิงค่านิยม บรรทัดฐาน และอุดมการณ์ว่า หากเป็นผู้ชายต้องเป็นแบบนี้ ใช้ชีวิตแบบนี้ หรือถ้าเป็นผู้หญิงอย่าไปใช้ชีวิตแบบนั้น ต้องป้องกันตัวเอง คำถามคือ  หากผู้หญิงอยากเป็นผู้นำ อยากเที่ยวกลางคืน หรือเปลี่ยนคู่นอนตามใจชอบจะสามารถกระทำได้หรือไม่? แค่คิดผู้หญิงก็โดนประณามแล้ว ทั้งหมดนี้จึงถือเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ที่ต้องการจำกัดสิทธิเสรีภาพผู้หญิงให้เป็นไปตามค่านิยม บรรทัดฐาน และอุดมการณ์ที่สังคมกำหนด

คำถามก็คือ ทำไมการออกมาของกลุ่ม #เฟมินิสต์ปลดแอก (เดิมชื่อ #ผู้หญิงปลดแอก) ถึงสร้างความสั่นคลอนให้กับปิตาธิปไตย?

ติณณภพต์ ให้คำตอบว่า เมื่อผู้หญิงรวมตัวกันแล้วป่าวประกาศว่า พวกเราคือกลุ่มเฟมินิสต์ ต้องติด #เฟมินิสต์ปลดแอก ต้องต่อสู้และช่วยเหลือผู้หญิงด้วยกัน เพื่อไม่ให้ผู้หญิงเป็นผู้ถูกคุกคามอีกต่อไป กลุ่มผู้สมาทานปิตาธิปไตยก็จะมองว่า “นี่ไงศัตรูของเรามาแล้ว พวกเฟมินิสต์” และถือเป็นภารกิจที่กลุ่มผู้สมาทานปิตาธิปไตยต้องหาเรื่องลดทอนคุณค่าของเฟมินิสต์ ไม่เข่นนั้นเฟมินิสต์จะมาลดทอนคุณค่าปิตาธิปไตยที่พวกเขาเชื่อ การกดปราบเฟมินิสต์ จึงเป็นหนทางที่ผู้สมาทานปิตาธิปไตยจะสามารถทำได้เพื่อให้กลุ่มเฟมินิสต์ด้อยค่า ไม่เป็นที่เชิดชู และเป็นผลให้ทุกคนอยู่ภายใต้ระบอบปิตาธิปไตยต่อไป

แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือ เมื่อกลุ่มเฟมินิสต์และกลุ่มผู้สมาทานปิตาธิปไตยต่างมาเผชิญหน้าและถกเถียงกันเพื่อสร้างพื้นที่ในจุดยืนของตนเองบนพื้นที่สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์ หรือเฟซบุ๊ก แต่การถกเถียงเหล่านั้นกลับไม่สามารถหาจุดลงตัวได้ แม้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสื่อโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่เคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็ว หากแต่ใจความใหญ่ของปัญหาคือ ผู้ชายที่สมาทานปิตาธิปไตยปฏิเสธข้อเท็จจริงว่า พวกเขาไม่สามารถตกเป็นเหยื่อของผู้หญิงได้ เพราะพวกเขาถูกขัดเกลาจากค่านิยม บรรทัดฐาน และอุดมการณ์ทางสังคมที่บอกว่า ผู้หญิงคือเพศที่อ่อนแอ และผู้ชายคือเพศที่แข็งแกร่งและมีอำนาจ ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้ชายที่สมาทานปิตาธิปไตยชะล่าใจว่า ผู้หญิงไม่มีวันมีอำนาจเหนือผู้ชาย และยืนกรานว่าผู้ชายเท่านั้นที่จะเป็นผู้คุกคามทางเพศผู้อื่น

“หากดูตามโพสต์ข่าวต่างๆ ที่ผู้หญิงข่มขืนผู้ชาย คุณจะเจอความคิดเห็นจำนวนหนึ่งที่มองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องตลก อย่างเช่น “หูย อิจฉาจังเลย ต้องรู้สึกฟินแน่ๆ” โดยพวกเขาไม่ได้มองด้วยซ้ำว่า ผู้หญิงจะสามารถเป็นผู้คุกคามได้ และหยอกล้อราวกับว่ามันเป็นเรื่องไม่จริง”

ติณณภพจ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การที่ผู้สมาทานปิตาธิปไตยมองว่า ผู้ชายคือจุดสูงสุดของช่วงชั้นทางเพศสภาวะ มีผลอย่างมากในการขับเน้นให้เกิดวาทกรรม “ความเป็นธรรมชาติ” อันเป็นวาทกรรมที่สร้างความชอบธรรมให้ผู้ชายส่วนหนึ่งในสังคมเชื่อว่า การคุกคามทางเพศผู้หญิงนั้นไม่เป็นปัญหา และถือเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้

“ผู้ชายเป็นเพศที่มีอารมณ์ทางเพศเยอะ มันก็ต้องมีระบายกันบ้าง มันห้ามกันไม่อยู่ ก็ผู้หญิงแต่งตัวโป๊ ไปยั่วยวนเขา เขาจะห้ามใจได้อย่างไร”

ประโยคข้างต้นถือเป็นประโยคหากินของวาทกรรมธรรมชาติ และขับเคลื่อนให้เรื่องดังกล่าวเป็นความชอบธรรมที่สังคมจะต้องยอมรับ เฉกเช่นเดียวกับประโยค “ผู้ชายก็ต้องเจ้าชู้อยู่แล้ว เพราะมันเป็นธรรมชาติของผู้ชาย” ทั้งหมดนี้คือ การทึกทักไปเองว่า ชุดความคิดความเชื่อดังกลาวคือ ความชอบธรรม โดยอ้างว่าเป็นเรื่องที่ธรรมชาติของผู้ชาย ผู้ชายตามธรรมชาติต้องมีลักษณะเป็นเช่นนี้ทุกคน และเป็นเรื่องที่สังคมต้องยอมรับได้ด้วยตัวเอง เพราะธรรมชาติสร้างผู้ชายให้เป็นเช่นนี้ ดังนั้นเวลาผู้ชายหยอกล้อผู้หญิง จับเอวผู้หญิง แซวผู้หญิง เมื่อถูกผู้หญิงแสดงความไม่พอใจ ผู้ชายที่สมาทานปิตาธิปไตยก็มักจะอ้างวาทกรรมดังกล่าวเพื่อสร้างความชอบธรรมว่า “ผู้ชายก็เป็นแบบนี้แหละ” เป็นต้น

LGBTIQ+ และการสร้างความชอบธรรมให้แนวคิด Transphobia

“แต่การที่เกย์ กะเทยมาคุกคามทางเพศผู้ชาย อันนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เป็นปกติไม่ได้โดยสิ้นเชิง จะปล่อยให้เกิดขึ้นไม่ได้”

แม้ผู้ชายที่สมาทานปิตาธิปไตยจะเชื่อว่า พวกเขาไม่มีทางตกเป็นเหยื่อของผู้หญิง หากแต่ ติณณภพจ์ กลับอธิบายต่อว่า ผู้ชายเหล่านี้กลับเลือกจำกัดความว่า คนหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTIQ+ เป็นผู้คุกคามผู้ชาย กล่าวคือ เมื่อผู้ชายกลุ่มใดที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่สังคมปิตาธิปไตยกำหนด พวกเขาจะถูกขับออกให้กลายเป็นกลุ่มความเบี่ยงเบน ซึ่งหากพิจารณาตามอัตลักษณ์ทางเพศเบื้องต้น ผู้ชายเป็นผู้คุกคาม ขณะที่ผู้ถูกคุกคามคือ กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนกลุ่มนี้มีความพยายามจะแสดงออกถึงพฤติกรรมลวนลามผู้ชาย ผู้ชายที่สมาทานปิตาธิปไตยจึงมองว่า “นี่คือการคุกคามทางเพศ LGBTIQ+ คือพวกที่มาลดทอนคุณค่าความเป็นชายของพวกเรา แล้วคนพวกนี้จะมาลดทอนคุณค่าพวกเราได้อย่างไร ในเมื่อผู้ชายคือมาตรฐาน ค่านิยมของสังคม เพราะฉะนั้น LGBTIQ+ คือความผิดปกติ นอกจากจะผิดปกติทางเพศแล้ว ยังผิดปกติทางสังคมอีกด้วย”

นอกจากที่ LGBTIQ+ จะถูกกดทับจากสังคมที่ขับพวกเขาออกไปเป็นอื่น เป็นความผิดปกติและไม่อยู่บนมาตรฐานทางสังคมแล้ว ผู้สมาทานปิตาธิปไตยยังมองว่า คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่มักไม่ได้รับการตอบสนองทางเพศ กล่าวคือ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชาย ทั้งเกย์และกะเทยต่างเคยเป็นผู้ชายมาก่อน แต่พวกเขาเบี่ยงเบนทางเพศ เป็นเหตุทำให้หาคู่ยากขึ้น และไม่ได้รับการตอบสนองทางเพศ ผู้สมาทานปิตาธิปไตยจึงมองว่า LGBTIQ+ เป็นพวกมีปมจากการไม่ถูกตอบสนองทางเพศ ทำให้พวกเขาต้องแสวงหามากขึ้น คนกลุ่มนี้จึงต้องวิ่งไล่ตามผู้ชาย เนื่องจากโหยหาความรักและการถูกตอบสนองทางเพศ

เมื่อผู้สมาทานปิตาธิปไตยมองว่า LGBTIQ+ เป็นกลุ่มคนที่มีปัญหา ไม่อยู่บนบรรทัดฐานสังคม วิปริตผิดเพศ และไม่ถูกตอบสนองทางเพศ พฤติกรรมวี้ดว้ายกระตู้วู้ ตลกขบขัน กรี้ดกร้าด จึงเป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้อธิบายว่า LGBTIQ+ คือความผิดปกติเบี่ยงเบนที่สามารถเข้ามาคุกคามความเป็นชายอันเป็นมาตรฐานทางสังคมได้ ดังนั้นพวกเขาจึงมีความชอบธรรมที่จะเป็นพวกรังเกียจคนข้ามเพศ หรือ Transphobia ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างเกิดขึ้นมาเพื่อธำรงรักษาค่านิยม บรรทัดฐาน และอุดมการณ์ปิตาธิปไตยในสังคมให้ดำรงอยู่ต่อไปได้

เพราะความไม่เท่าเทียมทางเพศเป็นปัญหาของทุกคน

“ถ้าเช่นนั้น เราจะพูดแบบนี้ได้หรือไม่ว่า การเป็นเหยื่อนั้นไม่เกี่ยวกับธรรมชาติว่า ผู้ชายถูกสร้างมาแบบนั้น ผู้หญิงถูกสร้างมาแบบนั้น แต่การเป็นเหยื่อคือ ไม่ว่าคุณจะมีเครื่องเพศแบบไหน หรือมีอารมณ์ทางเพศมากน้อยเพียงใด ทุกคนก็สามารถเป็นเหยื่อได้หมด มันมีวิธีพูดแบบนี้หรือเปล่า?”

เมื่อการคุกคามทางเพศ และความเท่าเทียมทางเพศกลายเป็นปัญหาที่ถกกันเท่าไรก็ไม่มีวี่แววจะจบสิ้น ติณณภพจ์จึงชวนผู้เขียนร่วมกันหารือ เพื่อหาวิธีการอันทางออกในการสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกคน รวมทั้งกลุ่มผู้สมาทานปิตาธิปไตยให้เข้าใจว่า ทุกคนสามารถเป็นเหยื่อได้ไม่ว่าจะมีเครื่องเพศแบบใด

จริงอยู่ที่ กรอบคิดเรื่องความเป็นมนุษย์ อันมีใจความว่า “เราทุกคนต่างเป็นมนุษย์ เราไม่ใช่สัตว์ เราควรจะให้เกียรติซึ่งกันและกัน” ถือเป็นกรอบคิดหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ต่อต้านวาทกรรมความเป็นธรรมชาติของผู้สมาทานปิตาธิปไตยได้อย่างดี แต่ท้ายที่สุดกรอบคิดดังกล่าวก็มีทางตันเช่นกัน เพราะเมื่อเราอ้างอิงความเป็นมนุษย์แล้ว ผู้สมาทานปิตาธิปไตยก็สามารถเชื่อมโยงกรอบคิดนี้ให้เข้ากับวาทกรรมธรรมชาติได้อีกต่อหนึ่ง อาทิ “เมื่อผมเป็นมนุษย์ แล้วมนุษย์เพศชายถูกสร้างให้มีความต้องการทางเพศที่พรั่งพรูตลอดเวลา ไม่สามารถควบคุมยับยั้งได้ เหตุนี้ผมจึงต้องแสดงความเป็นมนุษย์ออกมา” ที่เป็นเช่นนี้ เพราะผู้สมาทานปิตาธิปไตยไม่ได้มองว่า ความเป็นมนุษย์จะต้องปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม แต่กลับมองว่า ผู้หญิงและผู้ชายถูกสร้างขึ้นมาให้มีกายสรีระและธรรมชาติที่ต่างกันตั้งแต่ต้น

“วิธีการที่เหมาะสมที่สุดคือ พวกคุณเชื่อในความเท่าเทียมกันของการเป็นมนุษย์ไหมล่ะ? ถ้าคุณเชื่อในความเท่าเทียมมนุษย์ และออกไปชุมนุมเรียกร้องการมีสิทธิเสรีภาพแบบประชาธิปไตยแล้ว อย่างน้อยที่สุด คุณต้องเชื่อว่า ไม่ว่าคุณจะเกิดมามีเครื่องเพศแบบใด เราทุกคนต่างมีโอกาสเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศทั้งสิ้น และเมื่อเรามองทุกคนสามารถเป็นเหยื่อได้ ผู้ชายก็สามารถเป็นเหยื่อของเกย์ กะเทย และผู้หญิงได้”

ติณณภพจ์ จึงสรุปว่า มนุษย์ทุกคนไม่สมควรตกเป็นเหยื่อของกันและกันไม่ว่าจะในมิติการมอง การแซว หรือการคุกคามโดยการกระทำก็ตาม หากสังคมประชาธิปไตยเป็นสังคมที่ทุกคนต่างใฝ่ฝัน ทุกคนต้องเคารพกันด้วยหลักพื้นฐานของประชาธิปไตยว่า ทุกคนสามารถใช้เสรีภาพได้อย่างเต็มที่ แต่ไม่ได้หมายความว่า เป็นเสรีภาพที่จะกระทำอันใดก็ได้ แต่ต้องเป็นเสรีภาพใช้ชีวิตและอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย

แม้ปัจจุบัน ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยจะให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น ประเด็นปัญหาของผู้หญิงและกลุ่มคนหลากหลายทางเพศถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่ขบวนการขับเคลื่อนสิทธิทางเพศ ไม่ว่าจะเป็น #เฟมินิสต์ปลดแอก หรือขบวนการอื่นๆ จำเป็นจะต้องคำนึง คือ

“ทุกครั้งไม่ว่าเพศใดก็ตามออกมาบอกเล่าประสบการณ์การถูกกระทำ ไม่ควรพุ่งเป้าไปว่าเพศอื่นไม่มีวันเข้าใจเรื่องราวของตน แต่จงเชื่อมโยงไปยังโครงสร้างที่มันกำกับความเป็นเพศของแต่ละเพศได้ นี่แหละคือ The Real Enemy

เมื่อประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ใช่ประเด็นที่ผูกติดกับเครื่องเพศ หรือการมีอัตลักษณ์ทางเพศแบบใดแบบหนึ่ง เนื่องจากการสมาทานความเป็นปิตาธิปไตยไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นเพศชายแต่เพียงเท่านั้น ตราบใดที่ระบอบปิตาธิปไตยยังเป็นค่านิยมกระแสหลักของสังคม การจะรับรู้ได้ว่าคนไหนเป็นพันธมิตรกับเราหรือไม่ จึงจำเป็นจะต้องดูจากการคิด การพูด และการแสดงออกของคนๆ นั้นว่า เขามีอุดมการณ์ที่ตระหนักรู้เรื่อง ความละเอียดอ่อนทางเพศ  (Gender Sensitivity) หรือไม่? หรือหากเขาคือคนที่เผชิญกับปัญหาการถูกกดทับจากระบอบปิตาธิปไตยหรือไม่? ถ้าใช่ ให้กวักมือเรียกพวกเขามาได้เลย เขาคือพันธมิตรของพวกคุณ

เช่นนั้นแล้ว การพูดถึงความสำคัญของประเด็นสิทธิความเท่าเทียมทางเพศเพียงด้านเดียวไม่อาจทำให้คนทุกคนเข้าใจอย่างถ่องแท้ในประเด็นดังกล่าวได้ เนื่องจากผู้คนบางส่วนอาจไม่เห็นภาพของตนเองในฐานะผู้ถูกกระทำทางสังคม ดังนั้นการเปิดพื้นที่ให้ผู้คนออกมาพูดถึงปัญหาที่ตนเคยถูกสังคมกดทับในลักษณะต่างๆ ร่วมกัน เพื่อทำให้ผู้รับฟังรู้สึกร่วมไปกับปัญหาของผู้พูด หรือสามารถทำให้ผู้รับฟังตระหนักรู้ได้ว่าเขาก็เคยพบเจอกับการถูกกดทับเช่นกัน จึงเป็นวิธีในการสร้างแนวร่วมที่แข็งแกร่งยิ่งกว่า เพราะทุกคนต่างเป็นผู้ถูกกดทับจากระบอบปิตาธิปไตยทั้งสิ้น แม้จะต่างประสบการณ์ตามวิถีเพศก็ตาม ดังนั้นขบวนการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศจึงไม่ควรผลักคนที่เจอปัญหาต่างกันออกไปเป็นอื่น เพียงเพราะคิดว่าเขาอาจไม่เข้าใจปัญหาของตน แต่ควรเป็นพื้นที่สร้างความเข้าใจถึงปัญหาที่แต่ละกลุ่มคนได้รับร่วมกัน

 กลุ่มผู้หญิงปลดแอกและกลุ่มเสรีเทยพลัสจัดกิจกรรม #ไพร่พาเหรดเพื่อประชาธิปไตย 
เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2563 เดินจากแยกสามย่าน ไปสีลม

ติณณภพจ์ ชวนคุยต่อว่า เป็นไปได้หรือไม่ หากผู้ชายสามารถออกมาพูดเรื่องปัญหาที่ผู้หญิงต้องพบเจอ และทำให้ผู้ชายด้วยกันสามารถเข้าใจได้? การจะสร้างบรรยากาศร่วมของปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดได้ จำเป็นจะต้องมีการขับเน้นผ่านประสบการณ์ของผู้พูดที่ถูกกระทำทางใดทางหนึ่งในปัญหานั้น ซ้ำไปเรื่อยๆ อย่างระมัดระวัง การสื่อสารลักษณะนี้จึงจะเป็นการสื่อสารสาธารณะที่เหมาะสมกับการขับเน้นขบวนการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ และผู้เรียกร้องจะต้องไม่โจมตีแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่พุ่งเป้าโจมตีไปยังระบอบโครงสร้างที่เรียกว่า “ปิตาธิปไตย”

ที่เป็นเช่นนี้ ติณณภพจ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประสบการณ์ทางเพศที่แตกต่างกันไม่ได้แปลว่าจะไม่มีทางเข้าใจได้เสมอไป ยกตัวอย่างเช่น เรื่องผ้าอนามัยของผู้หญิง แม้ว่าตอนนี้กลุ่ม #เฟมินิสต์ปลดแอก และกลุ่มคนทำงานด้านสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของเพศหญิงจะมาออกเรียกร้องและส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาลเพื่อให้ควบคุมราคาสินค้าประเภทนี้ และสนับสนุนให้ผู้หญิงทุกคนสามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้ (เช่นเดียวกับถุงยางอนามัย) แต่สิ่งที่พบเห็นคือ ผู้หญิงบางส่วนมักพูดว่า ประสบการณ์เรื่องผ้าอนามัยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงอย่างเดียว เนื่องจากเมื่อผู้หญิงออกมาเรียกร้อง ผู้ชายจำนวนหนึ่งจะเกิดความไม่เข้าใจ เป็นเหตุให้ผู้หญิงบางส่วนจึงพูดว่า “ผู้ชายไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นผู้ชายไม่มีวันเข้าใจหรอก”

“ผมคือคนหนึ่งที่ต้องออกไปซื้อผ้าอนามัยให้แม่บ่อยมาก แล้วทุกครั้งที่ออกไปซื้อผ้าอนามัย ผมก็มักจะตั้งคำถามเสมอว่า เฮ่ย ทำไมผ้าอนามัยมันแพงจังวะ”

ประสบการณ์ข้างต้นของ ติณณภพจ์ ทำให้เกิดคำถามเสมอมาว่า เมื่อผู้หญิงไทยทุกคนจำเป็นต้องใส่ผ้าอนามัย เหตุใดผ้าอนามัยถึงมีราคาสูง และจัดอยู่ในประเภทสินค้าฟุ่มเฟือย แทนที่จะเป็นสิ่งที่รัฐควรจัดสรรให้ผู้หญิงทุกคน ตัวอย่างนี้จึงเป็นหลักฐานที่ชัดแจ้งว่า ถึงผู้ชายจะไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าอนามัย แต่สามารถมีประสบการณ์ร่วมในเรื่องผ้าอนามัยได้ ดังนั้นเมื่อผู้ชายบางส่วนบอกว่า “เราไม่เห็นจะเกี่ยวเลย ผู้ชายไม่ได้ใช้ผ้าอนามัย” จึงจำเป็นต้องชวนผู้ชายเหล่านี้กลับมาทบทวนอีกครั้งว่า แม้ผู้ชายทุกคนไม่เกี่ยวข้องกับผ้าอนามัย แต่ถ้าคุณเป็นลูก เป็นพี่เป็นน้อง หรือเป็นแฟนของใครสักคน และต้องหารค่าใช้จ่ายในครัวเรือนร่วมกัน เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ทั้งผู้หญิงและผู้ชายล้วนเกี่ยวข้องกับผ้าอนามัยทั้งสิ้น เมื่อผ้าอนามัยคือราคาที่ประชาชนทุกคนต้องแบกรับเพื่อการมีสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ที่ดี ดังนั้นรัฐไทยจึงจำเป็นต้องสนับสนุนสิ่งนี้แก่ผู้หญิงทุกคน

ทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้คำว่า ห อ ม หรือเรื่องผ้าอนามัยเป็นสิ่งที่รัฐต้องสนับสนุนให้กับผู้หญิงทุกคน แต่ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยจำเป็นจะต้องเดินหน้าต่อไป และการพูดถึงเรื่องสิทธิทางเพศ และความเท่าเทียมทางเพศก็เช่นกัน หากสังคมยังปล่อยให้การคุกคามทางเพศเป็นเรื่องปกติ เพราะเราทุกคนไม่สมควรเป็นเหยื่อของกันและกัน ดังเช่นประโยคที่ว่า “ไม่มีประชาชนคนใดสมควรเป็นเหยื่อของรัฐบาลชุดนี้”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท