Skip to main content
sharethis

ครม.มีมติรับทราบหนี้สาธารณะสิ้นปีงบฯ63 แตะ7.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 49.34 ของจีดีพีจากปีก่อนซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 41.10 เผยเพิ่มจากหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อนำไปพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

16 ธ.ค. 2563 เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ รายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ และรายงานสถานะหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐ และความเสี่ยงทางการคลัง ตามมาตรา 50 และมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ณ วันสิ้นปีงบประมาณ 2563 โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจริงในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา (เดือน เม.ย. - ก.ย. 2563) ยังคงอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2563 มีดังนี้ 

1.สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) กรอบไม่เกินร้อยะ 60 ณ วันที่ 30 ก.ย. 2563 สัดส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นจริง ร้อยละ 49.34  

2.สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ ไม่เกินร้อยละ 35 ณ วันที่ 30 ก.ย. 2563 สัดส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นจริงร้อยละ 25.38 

สำหรับสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันสิ้นปีงบประมาณ 2563 มีจำนวน 7,848,155.88 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 49.34 ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 41.10 เนื่องจากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อนำไปพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสร้างขีดความสามารถของประเทศผ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

การวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการคลังที่เกิดจากหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 มีหนี้สาธารณะจำนวน 7,848,155.88 ล้านบาท สามารถจำแนกตามการเป็นภาระต่องบประมาณได้ ดังนี้ (1) หนี้ที่เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรง จำนวน 6,267,230.04 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 79.86 ของหนี้สาธารณะทั้งหมด โดยเป็นหนี้เงินกู้ที่เป็นภาระตามกฎหมาย สัญญา มติคณะรัฐมนตรี หรือข้อตกลงที่รัฐบาลต้องชำระคืนเมื่อถึงกำหนด ทั้งนี้ หนี้ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟู เศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) ที่รัฐบาลรับภาระเป็นสำคัญ

และ (2) หนี้ที่ไม่เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรง คือ หนี้ที่หน่วยงานเป็นผู้รับภาระการชำระหนี้หรือมีแหล่งรายได้อื่นที่ไม่ใช่งบประมาณมาชำระหนี้ จำนวน 1,580,925.84 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.14 ของหนี้สาธารณะทั้งหมด เช่น หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และหนี้รัฐวิสาหกิจและหนี้หน่วยงานของรัฐที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ภาระหนี้ประกอบกับแผนการกู้เงินและการชำระหนี้ในอนาคตพบว่า อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดไว้

 

อ้างอิง: วอยซ์ทีวี

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net