Skip to main content
sharethis
  • กองทัพอากาศแจง เหตุผลต้องใช้งบปรับปรุงห้องน้ำบน เครื่องบิน VVIP 54 ล้าน พร้อมย้ำตรวจสอบได้ 
  • ขณะที่ BBC ไทย เปิดข้อมูลเพิ่มเติม กองทัพอากาศจ้างการบินไทยปรับปรุงห้องที่ประทับในเครื่องบินพระที่นั่ง 750 ล้าน
  • เปิดสมุดปกขาว ทอ. วางงบ 10 ปี เพิ่มขึ้นปีละ 4.25% เปิด 2 โครงการจัดหาเครื่องบินรับ-ส่งบุคคลสำคัญ หวังผลลัพธ์อย่างสมพระเกียรติ
  • เปิดงบสำนักเลขานายกฯ มีทั้ง ฮ.ติดตามและพระราชพาหนะ รวมถึงโรงเก็บเครื่องบินพระที่นั่ง

จากเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ เอกสารราคากลางการใช้งบประมาณปรับปรุงห้องน้ำเครื่องบินรับส่งบุคคลสำคัญ วีวีไอพี A340-500 รหัส HS-TYV จำนวน 1 ห้อง มูลค่า 54.43 ล้านบาทของกองทัพอากาศ จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมนั้น ต่อมา กองทัพอากาศได้ออกมายอมรับว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นเอกสารจริง และเป็นข้อมูลที่มีการเปิดเผยข้อมูลในเว็บไซต์กรมช่างอากาศ ที่ประกาศตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พร้อมระบุว่ามูลค่าการปรับปรุงห้องน้ำ 54.43 ล้านบาทถือว่าไม่ได้แพงไปกว่าราคาท้องตลาด และยังสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ดัดแปลงอากาศยานที่มีการเปรียบเทียบราคาไว้อย่างสมเหตุสมผลด้วย

นอกจากนี้ กองทัพอากาศยังระบุว่าการปรับปรุงห้องน้ำบนเครื่องบินไม่ได้ปรับปรุงง่ายเหมือนกับห้องน้ำบ้าน เนื่องจากต้องมีการวางระบบท่อและออกแบบใหม่ ถือเป็นวิศวกรรมราคาสูง ใช้เทคนิคของประเทศเยอรมัน และเครื่องบินลำดังกล่าวเป็นเครื่องบินมือสองที่ซื้อต่อมาจากบริษัทการบินไทย จำกัด และได้มีการปรับปรุงครั้งแรกไปแล้ว 1 ครั้งด้วยการเปลี่ยนเก้าอี้ที่นั่ง เพราะของเดิมผ่านการใช้งานมานาน และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ในการปรับปรุงห้องน้ำ

BBC เปิดข้อมูล กองทัพอากาศจ้างการบินไทยปรับปรุงห้องที่ประทับในเครื่องบินพระที่นั่ง มูลค่า 750 ล้าน

ในช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา บีบีซีไทย รายงานว่า เว็บไซต์กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ระบุว่ากองทัพอากาศเลือกให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการนำเสนอราคาจ้างปรับปรุงสภาพห้องที่ประทับพร้อมระบบที่เกี่ยวข้องของเครื่องบินพระที่นั่งแบบ โบอิง 737-800 โดยวิธีเฉพาะเจาะจง

ประกาศดังกล่าวลงนามโดย พล.อ.ท.ภานุวัชร์ เปี่ยมศรี เจ้ากรมช่างอากาศ และประกาศเมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาสำคัญ คือ

"ตามที่ กองทัพอากาศได้มีโครงการ จ้างปรับปรุงสภาพห้องที่ประทับพร้อมระบบที่เกี่ยวข้องของ บ.พระที่นั่งแบบ โบอิง737-800 หมายเลข HS-MVS โดยวิธีเฉพาะเจาะจง จำนวน 1 งาน ผู้ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (ส่งออก, ขายส่ง, ขายปลีก, ให้บริการ, ผู้ผลิต) โดยเสนอราคาเป็นเงินทั้งสิ้น 750 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ๆ ค่าขนส่ง ค่าจดทะเบียน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งปวง" 

บีบีซีไทย ยังระบุด้วยว่า ติดต่อไปที่โฆษกกองทัพอากาศ เพื่อขอคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ

วางงบ 10 ปี เพิ่มขึ้นปีละ 4.25% เปิด 2 โครงการจัดหาเครื่องบินรับ-ส่งบุคคลสำคัญ หวังผลลัพธ์อย่างสมพระเกียรติ

นอกจากนี้ สมุดปกขาว พ.ศ.2563 หรือ RTAF White Paper 2020 เป็นเอกสารสื่อสารสาธารณะของกองทัพอากาศ โดยวางกรอบงบประมาณขั้นต้นและคาดการณ์งบประมาณ ซึ่งกำหนดแผนความต้องการระยะ 10 ปี (พ.ศ.2563 - 2573) โดย คำนึงถึงความเป็นไปได้และความเหมาะสมด้านงบประมาณ จึงวิเคราะห์จากสถิติงบประมาณ ใน 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2553 - 2563)  และคาดการณ์งบประมาณ ระยะ 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2563 - 2573) โดยคาดการณ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.25 ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2563 ดังแสดงตามตาราง

ซึ่งพบว่าตามแผนความต้องการระยะ 10 ปี ได้กำหนดโครงการต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ โดยมีอย่างน้อย 2 โครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงการจัดหาเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์รับ-ส่งบุคคลสำคัญ 2 โครงการ คือ

1. งบประมาณประจำปี 2567: โครงการจัดหาเครื่องบินรับ-ส่งบุคคลสำคัญ โดยจะจัดหาเครื่องบินพระราชพาหนะจำนวน 1 เครื่องพร้อมอะไหล่ อุปกรณ์ ระบบส่งกำลังบำรุงและการฝึกอบรม โดยมีระยะเวลาดำเนินการ ผูกพันงบประมาณ 3 ปี (2567 - 2569)

2. งบประมาณประจำปี 2569: โครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์รับ-ส่งบุคคลสำคัญ โดยจะจัดหาเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะจำนวน 3 เครื่อง พร้อมอะไหล่ อุปกรณ์ ระบบส่งกำลังบำรุง และการฝึกอบรม ใช้งบประมาณผูกพัน 3 ปี (2569-2571)

ทั้งนี้ผลลัพธ์ของโครงการทั้งสองคือ คือ การรับ-ส่งเสด็จในขบวนพระราชดำเนินและพระบรมวงศานุวงศ์ได้อย่างสมพระเกียรติ

เปิดงบสำนักเลขานายกฯ มีทั้ง ฮ.ติดตามและพระราชพาหนะ รวมถึงโรงเก็บเครื่องบินพระที่นั่ง

เกี่ยวกับงบประมาณสำหรับเครื่องบินรับ-ส่ง บุคคลสำคัญ และพระราชพาหนะนั้น ยังมีในส่วนของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ตั้งงบประมาณปี 2564 จำนวน 5,988,779,100 บาท โดยเกือบทั้งหมดนำมาใช้จ่ายในแผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง โดยเฉพาะ ผลผลิตที่ 1 การบริหารจัดการของรัฐบาลด้านความมั่นคง ที่มีวัตถุประสงค์ พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ได้รับความสะดวก ปลอดภัยสูงสุด ตลอดจนประเทศมีความมั่นคงปลอดภัยและมีความสงบเรียบร้อย

รายละเอียด ดังนี้

ผลผลิต: การบริหารจัดการของรัฐบาลด้านความมั่นคง จำนวน 5,184,510,000 บาท

1.งบลงทุน 2,618,857,700  บาท
1.1 ค่าครุภัณฑ์ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง 2,618,857,700 บาท
1.1.1 ค่าครุภัณฑ์ 2,405,395,400 บาท

(1) รถโดยสารขนาด 12 ที่นั่ง 1 คัน 1,364,000 บาท

(2) เฮลิคอปเตอร์ติดตามในขบวนเสด็จพระราชดำเนิน จำนวน 2 เครื่องรวมค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น 967,335,100 บาท

จากวงเงินทั้งสิน 2,802,085,100 บาท
ปี 2562 ตั้งงบประมาณ 549,441,100 บาท
ปี 2563 ตั้งงบประมาณ 786,153,300 บาท
ปี 2564 ตั้งงบประมาณ 967,335,100 บาท
ปี 2565 ผูกพันงบประมาณ 499,155,600 บาท
(3) เฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะ จำนวน 3 เครื่อง รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น 142,554,500 บาท
จากวงเงินทั้งสิ้น 2,970,932,600 บาท
ปี 2561 ตั้งงบประมาณ  662,746,000 บาท
ปี 2562 ตั้งงบประมาณ 1,275,400,000 บาท
ปี 2563 ตั้งงบประมาณ 890,232,100 บาท
ปี 2564 ตั้งงบประมาณ 142,554,500 บาท
(4)เครื่องบินรับ-ส่ง บุคคลสำคัญ จำนวน 1 เครื่องรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น 325,068,300 บาท
จากวงเงินทั้งสิ้น 3,279,745,400 บาท
ปี 2561 ตั้งงบประมาณ 712,651,000 บาท
ปี 2562 ตั้งงบประมาณ 1,363,900,000 บาท
ปี 2563 ตั้งงบประมาณ 878,126,100 บาท
ปี 2564 ตั้งงบประมาณ 325,068,300 บาท
(5) เครื่องบินรับ-ส่งบุคคลสำคัญ จำนวน 3 เครื่อง รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น 969,073,500 บาท
จากวงเงินทั้งสิ้น 2,703,688,500 บาท
ปี 2562 ตั้งงบประมาณ 529,420,000 บาท
ปี 2563 ตั้งงบประมาณ 555,760,000 บาท
ปี 2564 ตั้งงบประมาณ 969,073,500 บาท
ปี 2565 ผูกพันงบประมาณ 649,435,000 บาท

1.1.2 ค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 213,462,300 บาท

(1)โรงเก็บเครื่องบินพระที่นั่ง1 หน่วยบินเดโชชัย 3  จำนวน 1 หลัง 76,931,499 บาท
จากวงเงินทั้งสิ้น 281,800,000 บาท
ปี 2562 ตั้งงบประมาณ 56,519,000 บาท
ปี 2563 ตั้งงบประมาณ 148,349,600 บาท
ปี 2564 ตั้งงบประมาณ 76,931,400 บาท
(2)โรงเก็บเครื่องบินพระที่นั่ง2 หน่วยบินเดโชชัย 3 จำนวน 1 หลัง 41,530,900 บาท
จากวงเงินทั้งสิ้น 187,500,000 บาท
ปี 2562 ตั้งงบประมาณ  38,121,200 บาท
ปี 2563 ตั้งบประมาณ 107,847,900 บาท
ปี 2564 ตั้งงบประมาณ 41,530,900 บาท
(3) โรงเก็บเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะ ฝูงบิน 201 กองบิน 2 พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก 95,000,000 บาท

2.งบรายจ่ายอื่น 2,565,652,400 บาท
1)ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง 1,969,441,400 บาท
2)ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอากาศยานรับรองผู้บังคับบัญชาชั้นสูง 36,333,000 บาท
3)ค่าใช้จ่ายในการส่งกำลังบำรุงม้าทรงประจำพระองค์ 1,825,000 บาท 
4)เงินราชการลับ 19 รายการ  558,053,000 บาท

4.1 เงินราชการลับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 60,000,000 บาท
4.2 เงินราชการลับสำนักสภาความมั่นคงแห่งชาติ 50,000,000 บาท
4.3 เงินราชการลับสำนักข่าวกรองแห่งชาติ 232,000,000 บาท
4.4 เงินราชการลับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 40,000,000 บาท
4.5 เงินราชการลับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 40,000,000 บาท
4.6 เงินราชการลับกรมศุลกากร 15,000,000 บาท
4.7 เงินราชการลับกรมสรรพสามิต  12,000,000 บาท
4.8 เงินราชการลับกรมสรรพากร  10,000,000 บาท
4.9 เงินราชการลับกรมทางหลวง (ตำรวจทางหลวง) 1,000,000 บาท
4.10เงินราชการลับสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย 9,000,000 บาท
4.11เงินราชการลับกรมการปกครอง 1,680,000 บาท
4.12เงินราชการลับกระทรวงการต่างประเทศ 8,000,000 บาท
4.13เงินราชการลับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 10,000,000 บาท
4.14เงินราชการลับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้  20,000,000 บาท
4.15เงินราชการลับกรมราชทัณฑ์ 5,000,000 บาท
4.16เงินราชการลับกรมสอบสวนคดีพิเศษ 35,000,000 บาท
4.17เงินราชการลับสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน 2,375,000 บาท
4.18เงินราชการลับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 1,998,000 บาท
4.19เงินราชการลับกรมการจัดหางาน 5,000,000 บาท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net