Skip to main content
sharethis

เครือข่ายเยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลากหลายภูมิภาคร่วมเวทีเสวนา ชูการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกถือเป็นสิทธิทางรัฐธรรมนูญ พร้อมเปิดสถิติเยาวชนถูกข่มขู่คุกคามมากถึงร้อยละ 87.9 พบครูทำร้ายจิตใจสูงสุด นักเรียนเลวเปิดข้อมูลรับเรื่องร้องเรียนกว่าพันกรณี จี้เจ้าหน้าที่รัฐหยุดพฤติกรรมดังกล่าว ย้ำยูนิเซฟต้องเข้ามาดูแลเยาวชนทั้งเรื่องการต่อสู้คดี การถูกคุกคาม และการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหว ขณะที่ตัวแทนคณะก้าวหน้าจี้ ศธ. ดำเนินการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กอย่างเคร่งครัด เนื่องจากรัฐธรรมนูญ รับรองสิทธิเด็กในการแสดงออกอย่างชัดเจน

ทีมสื่อโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนลรายงานว่า 17 ธ.ค. 2563  ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย โพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนลร่วมกับกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และประชาธิปไตย, นักเรียนเลว, กลุ่มเด็กเปรต, แนวร่วมนักเรียนล้านนา และภาคีนักเรียนมหาสารคาม จัดแถลงข่าวพร้อมเวทีเสวนา “เมื่อเยาวชนลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ แล้วรัฐไทยปกป้องใคร” โดยมีตัวแทนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเยาวชนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในประเด็นเรื่องการศึกษา สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย จากหลายหลายภูมิภาคเข้าร่วมเวทีเสวนา

เยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกข่มขู่คุกคามมากถึงร้อยละ 87.9 พบครูทำร้ายจิตใจสูงสุด

ปรานม สมวงศ์ โพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล  กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของนักเรียนมัธยมในประเทศไทยได้ตั้งคำถามและท้าทายระบบอำนาจนิยมในสังคมและในโรงเรียนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบเครื่องแต่งกายและทรงผมที่ละเมิดสิทธิของนักเรียนในโรงเรียน การข่มขู่คุกคาม และการล่วงละเมิดทางเพศ ตลอดจนนโยบายที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่รัฐบาลทหารกำหนด เช่น ค่านิยมหลัก 12 ประการ ในขณะที่เด็กและนักเรียนระดับมัธยมศึกษาลุกขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ รวมถึงการปฏิรูปการศึกษาเพื่ออนาคตที่ดีกว่า แต่พวกเขากลับถูกข่มขู่และคุกคามโดยรัฐ รวมถึงจากครูในโรงเรียนอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ปรานมให้ข้อมูลว่า มีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี อย่างน้อย 5 คน ถูกตั้งข้อหาละเมิด พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อหายุยงปลุกปั่น และอย่างน้อย 1 คน ถูกตั้งข้อหา 112 ขณะที่การสำรวจโดยเพจลูกศิลป์ เผยว่านักศึกษาร้อยละ 87.9 ที่ตอบแบบสำรวจถูกครูทำร้ายจิตใจ การล่วงละเมิดในรูปแบบอื่นๆ ยังได้แก่ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตาม หรือไปหาที่บ้าน ถูกครูในโรงเรียนเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวแก่เจ้าหน้าที่รัฐ และถูกสั่งพักการเรียน

ตัวแทนโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า เป็นเวลา 28 ปีแล้วที่ประเทศไทยให้สัตยาบันในอนุสัญญาสิทธิเด็กของสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา เกิดคำถามว่า รัฐบาลไทย รวมถึงองค์การของสหประชาชาติอย่างยูนิเซฟ สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแค่ไหน เพื่อพิทักษ์ปกป้องสิทธิของเด็กและเยาวชน จึงทำให้เกิดเวทีเสวนาในวันนี้เกิดขึ้น

ปรานมกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องใหญ่มาก น่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่นักเรียนถูกลงโทษจากการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิที่จะแสดงออกทางการเมือง และน่าจะเป็นรัฐบาลแรกที่ใช้อำนาจในลักษณะเช่นนั้นคุกคามนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การสหประชาชาติอย่างยูนิเซฟที่มีอาณัติหรือหน้าที่โดยตรงในการเรียกร้องการปกป้องสิทธิของเด็ก เพื่อไปสู่เป้าหมายขององค์การในการส่งเสริมสิทธิในความเท่าเทียมของเด็กหญิงในการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และการพัฒนาของชุมชนของตนเอง ที่ผ่านมายูนิเซฟออกแถลงการณ์และอะไรอีกนิดหน่อย แต่ไม่มีผลอะไรเพราะการคุกคามยังเกิดขึ้นอยู่ ดังนั้นองค์การยูนิเซฟต้องปกป้องสิทธิเด็กอย่างจริงจังและเรียกร้องให้รัฐสมาชิกอย่างรัฐบาลไทยยุติการคุกคามโดยทันที น.ส.ปรานมกล่าว

ตำรวจคุกคามหนัก กดดันครอบครัว

ณพร สมศักดิ์ เยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากแนวร่วมนักเรียนล้านนา กล่าวในเวทีเสวนาว่า ประเด็นเจ้าหน้าที่รัฐข่มขู่คุกคาม ทราบว่ามีเพื่อนในแนวร่วมจำนวน 17 คน มีรายชื่อเฝ้าระวังจากตำรวจ หนักสุดมีเพื่อน 2-3 คน ตำรวจตามไปถึงที่บ้านและถ่ายรูปไว้ด้วย หลังเคลื่อนไหวจากการชุมนุมครั้งแรกในชื่อม็อบก้านกล้วย มีภาพผ่านสื่อออกไป เพื่อนบางคนถูกตำรวจขอรายชื่อ ขอข้อมูลส่วนตัวจากทางโรงเรียน ซึ่งตนได้รับแจ้งจากครูมา

ณพรกล่าวถึงกรณีตนเองว่า หลังขึ้นเวทีปราศรัยเรื่องสถาบัน ความเหลื่อมล้ำในโรงเรียน และสังคมชายเป็นใหญ่ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีตำรวจมาหาแม่ตนที่บ้าน ถามว่าตอนนี้ลูกคุณอยู่ไหน ทำอะไรอยู่ นอกจากนี้ ในวันนี้สดๆ ร้อนๆ (17 ธ.ค. 2563) เมื่อตอนเย็นมีเจ้าหน้าที่ไปหาครอบครัวของตนตามทะเบียนบ้านและถามว่าตนอยู่ที่ไหนทำอะไรอยู่ ซึ่งถือเป็นการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอย่างมาก

“การคุกคามของตำรวจแบบนี้ ยอมรับว่ารู้สึกกลัวอยู่บ้าง  แต่เมื่อมาคิดทบทวน ที่เราพูด ที่เราแสดงความเห็น เป็นสิทธิของเราตามกฎหมาย ที่เราออกมาสู้ก็เพื่อสิทธิที่เท่าเทียม โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะในสถานศึกษา การที่ตำรวจคุกคามเราถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แทนที่จะปกป้องเรา เขากลับเป็นคนมาคุกคามเสียเอง เขาไม่มีสิทธิที่จะทำแบบนี้ ขณะนี้ความกลัวน้อยกว่าความโกรธแล้ว ยืนยันว่า เราจะสู้ต่อไปเพื่ออนาคตที่ดีของเรา” แนวร่วมนักเรียนล้านนา กล่าว

แนวร่วมนักเรียนล้านนากล่าวต่อว่า อยากให้ภาครัฐมีความจริงใจในการพูดคุยกับนักเรียนเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยในหลายเรื่อง การประชุมพูดคุยกันต้องถ่ายทอดสด และเปิดรับฟังความคิดเห็นแบบรอบด้านด้วย

ส่วนข้อเรียกร้องไปยังภาครัฐ เพื่อที่จะปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในฐานะเยาวชน ณพรกล่าวว่า ภาครัฐเองต้องมีหน้าที่ปกป้องเยาวชน แต่ที่ผ่านมากลับกลายเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง และต้องหยุดคุกคามพวกตนได้แล้ว กรณีเยาวชนถูกดำเนินคดี มีเพียงศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเท่านั้น ที่ช่วยเหลือหรือให้คำปรึกษา ส่วนองค์กรเกี่ยวกับเด็ก เช่น ยูนิเซฟ รวมทั้งองค์กรอื่นๆ ไม่เคยมาเหลียวแล หลังมีเยาวชนจำนวนมากถูกดำเนินคดี ทั้งที่องค์กรเหล่านี้มีบทบาทหน้าที่อย่างมากตั้งข้อสังเกตว่า มีอะไรไปปิดตา ปิดปากไว้หรือไม่

จี้องค์กรเด็กเลิกปิดหูปิดตาตัวเอง

ขณะที่อิศรา วงศ์ทหาร เยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มภาคีนักเรียนมหาสารคาม กล่าวว่า  หลังตนขึ้นเวทีปราศรัยเรื่อง Sex worker ยอมรับว่าถูกคุกคามเช่นกัน แต่ไม่ได้มาจากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้ใหญ่ในโรงเรียน แต่เป็นชาวเน็ตที่นำชื่อ นามสกุล รวมทั้งชื่อโรงเรียนไปเผยแพร่ หลังจากนั้นก็มีคนมาขอเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กจำนวนมาก จนต้องปิดเฟซบุ๊กชั่วคราว

“พูดในเชิงว่าเราเป็น sex object ทำไมถึงทำให้การที่เราเป็นผู้หญิงและเป็นนักเรียน เป็นค่าใช้จ่ายที่เราต้องเสียไปกับการออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม คนที่ด่าเราเป็นบุคคลที่บอกว่าตัวเองมีศีลธรรม มีธรรมะธัมโม ในเฟซบุ๊กลงรูปทำบุญตักบาตรเข้าวัด แต่ในโลกโซเชียลกลับว่าร้ายเราด้วยถ้อยคำหยาบคายซึ่งเราสามารถฟ้องร้องทางกฎหมายได้ด้วยซ้ำ ดังนั้น มันเป็นข้อย้อนแย้งที่ผู้ใหญ่เช่นนั้นทำย้อนแย้งในตนเอง ซึ่งเขาไม่เคยย้อนกลับไปดูตนเองเลยว่าสิ่งที่เขาทำถูกต้องหรือไม่ มันเป็นสิ่งที่ควรทำกับเด็กเยาวชนที่ยังไม่อายุยังไม่ถึง 18 ปี และยังอยู่ในยูนิฟอร์มนักเรียน นี่คือสิ่งที่ผู้ใหญ่บางคนยังมองว่าเด็ก ต้องห้ามพูดเรื่องเซ็กส์ ห้ามพูดเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องใกล้ตัวของตัวเองทั้งๆ ที่เราสามารถสนใจได้ทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษาเพียงอย่างเดียว” เยาวชนจากกลุ่มภาคีนักเรียนมหาสารคามกล่าว

ส่วนข้อเรียกร้อง กรณีให้มีการใส่ชุดไปนเวทไปโรงเรียน อิศรากล่าวว่า ผู้บริหารของโรงเรียนรับฟัง เบื้องต้นจะให้ใส่ 1 วันต่อสัปดาห์ จะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ แต่ยอมรับว่า กลุ่มเพื่อนในกลุ่มอื่นที่รู้จักกันถูกคุกคามพอสมควร โดยเฉพาะที่ จ.ขอนแก่น และ จ.มหาสารคาม มีคนนอกไปคุกคามถึงที่โรงเรียนทั้งที่เป็นสถานที่ที่ปลอดภัย

“ยืนยันว่า สิ่งที่เราทำถือเป็นสิทธิการแสดงออกที่เราสามารถทำได้ ทุกวันนี้การเมืองไม่ถือเป็นเรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป มีหลายคนถามว่า เสียงของพวกหนูที่ถือว่าเป็นเด็กตัวเล็กๆ ใครจะมารับฟัง หรือสนใจ นั่นเป็นเพราะผู้ใหญ่ไม่ปรับเปลี่ยนความคิด ยึดอำนาจนิยมที่มักมองว่าผู้ใหญ่มักเป็นใหญ่เสมอ  ไม่ใช่มองแต่พวกหนูเป็นพวกยุยงปลุกปั่น สร้างความเดือดร้อน อยากให้ฟังเสียงของพวกหนูบ้าง ไม่ใช่เพื่อใครก็เพื่ออนาคตของหนูที่ดีในอนาคต” เยาวชนจากกลุ่มภาคีนักเรียนมหาสารคามกล่าว

ลูกถูกไล่ออกจากบ้านแค่ความเห็นต่าง

ส่วนข้อเรียกร้องไปยังภาครัฐเพื่อปกป้องเยาวชน อิศรากล่าวว่า การคุกคามถึงบ้าน การออกหมายเรียก และการจับกุมคุมขังไม่ใช่ทางออก ที่ผ่านมาภาครัฐบอกเสมอว่าอยู่ฝั่งเรา แต่สุดท้ายก็เป็นเเพียงคำพูด ไม่มีการกระทำ ทั้งที่หน่วยงานรัฐรับภาษีจากประชาชน แต่ไม่ทำเพื่อประชาชน ต้องรับใช้ประชาชน ไม่ใช่เลือกข้างแล้วรอเพียงแต่คำสั่งนายเท่านั้น

ส่วนเรื่องที่องค์กรเกี่ยวกับเด็กไม่เหลียวแล กลุ่มภาคีนักเรียนมหาสารคามยืนยันว่า ที่ผ่านมา หน่วยงานหรือองค์กรที่ว่านี้ ไม่เคยเข้ามาพบ พูดคุย หรือดูแลอะไรเลย ทั้งที่เป็นหน้าที่ มีพันธกิจที่ชัดเจน

“มีอยู่เคสนึงที่มีการแชร์ในทวิตเตอร์ ที่ลูกมีความเห็นต่างทางการเมืองกับครอบครัว แต่กลับถูกพ่อแม่ไล่ออกจากบ้าน กรณีนี้ชัดมากที่องค์กรหรือหน่วยงานเหล่านี้ต้องมาดูแล มาสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ที่ลูกสามารถฟ้องบุพการีได้ แต่องค์กร หน่วยงานเหล่านี้ก็เงียบกริบ ไม่มีการช่วยเหลือใดๆ” อิศรากล่าว

กฎอัยการศึก 15 ปี จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเยาวชนชายแดนใต้

ธนัดดา แก้วสุขศรี เยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มเด็กเปรต  กล่าวว่า เมื่อช่วงเย็นของวันนี้ (17 ธ.ค. 2563) ที่บ้านติดต่อมาว่า ตำรวจมาถามพ่อแม่ถึงที่บ้านว่า ตนทำอะไรที่ไหนอย่างไร ตรงนี้ถือว่าเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามอย่างชัดเจน ตนรู้สึกโกรธมาก ที่มีการกดดันผ่านครอบครัว

ส่วนเรื่องประเด็นสิทธิ การแสดงความเห็นในพื้นที่ภาคใต้ ธนัดดากล่าวว่า ที่  3 จังหวัดชายแดนใต้มีปัญหาอย่างมาก เนื่องจากการคงกฎอัยการศึกมากกว่า 15 ปี เยาชนจะออกมาแสดงความเห็นถึงข้อเรียกร้องต่างๆ ก็ถูกตำรวจทหารมาประกบทุกครั้ง ถือเป็นการคุกคามต่อการแสดงความเห็นเป็นอย่างมาก

ส่วนข้อเรียกร้องไปยังภาครัฐ เพื่อที่จะปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในฐานะเยาวชน ตัวแทนกลุ่มเด็กเปรตกล่าวว่า แทนที่เจ้าหน้าที่รัฐจะมาคุ้มครองเรา ทุกวันนี้ภาครัฐกลับกลายเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ที่ผ่านมาภาครัฐไม่เคยแสดงออกใดๆ ถึงการคุ้มครองเราเลย มีแต่ต้องการให้พวกตนหยุด โดยอ้างว่าสร้างความวุ่นวาย สิ่งที่ทำโดยเฉพาะการคุกคาม ก็เพราะนายสั่ง และต้องการอยู่ในตำแหน่งเพื่อให้มีอำนาจก็เท่านั้น  จึงอยากขอร้องภาครัฐหยุดคุกคามเราได้แล้ว ยืนยันว่า สิ่งที่พวกตนเรียกร้องไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวาย เพียงแต่อยากสะท้อนให้เห็นถึงปัญหา เพื่อแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นเท่านั้น

นักเรียนเลวเปิดข้อมูลเด็กร้องเรียนถูกคุกคามกว่า 1,000 กรณี

ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลว กล่าวว่า ลักษณะการคุกคามเพื่อนนักเรียน กลุ่มนักเรียนเลวได้รับเรื่องร้องเรียนจากทั่วประเทศ ทั้งเหมือนและแตกต่างกันออกไป เช่น การดุด่าว่ากล่าว การส่งตำรวจเข้าไปคุกคาม ไปล่าตัวหาตัว บุกเข้าไปหาถึงที่บ้าน หรือการบุกเข้าไปหาผู้ปกครอง ส่วนในโรงเรียนก็ใช้ความรุนแรงเช่นการตี การลงโทษต่าง ๆ

“ตั้งแต่กลุ่มนักเรียนเลวเปิดตัวมา 5-6 เดือน เราได้รับเรื่องร้องเรียนหลายพันเรื่อง ซึ่งเป็นอะไรที่เยอะมาก เป็นคำถามว่า ทำไมนักเรียนส่วนใหญ่ถึงส่งเรื่องร้องเรียนมาที่เราซึ่งเป็นนักเรียนเหมือนกัน นั่นหมายความว่ารัฐบาล หน่วยงานราชการ ไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาของเด็กๆ ที่ผ่านมาแม้กลุ่มนักเรียนเลวเองจะมีการเรียกร้องไปยังหน่วยงานรัฐผ่านตัวหนังสือ แต่กลับไม่มีการตอบสนอง เราจึงเดินหน้าเรียกร้องข้อเสนอต่างๆ ด้วยตนเองจนถึงวันนี้” ลภนพัฒน์กล่าว

ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลวเผยด้วยว่า ตนเพิ่งโดนหมายเรียกฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีไปชุมนุมที่แยกราชประสงค์เมื่อ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา แม้ไม่ได้พูดถึงประเด็นเรื่องการศึกษา แต่ออกไปในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่พูดถึงปัญหาภายในประเทศนี้ สิ่งที่ต้องตั้งคำถาม คือ รัฐเลือกที่จะดำเนินคดีกับผู้เรียกร้องที่ชุมนุมอย่างสงบ อย่างที่ตนได้เกริ่นไปว่า ทำไมเราถึงต้องออกมาเรียกร้อง เพราะวิธีการทางราชการตามปกติไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จึงต้องมาออกชุมนุม

“การชุมนุมของผมที่แยกราชประสงค์ คือการโดน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง โดยออกวันที่ 15 ต.ค. ซึ่งก็การการออกตอนที่ผมไปชุมนุมวันนั้นเลย ในช่วงเย็นต่อมา มีการอ้างว่า ออกมาเพื่อคุมคุมผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร การที่ออกหมายกับผมเพื่อดำเนินคดี ผมอายุยังไม่ครบ 18 ปีเต็ม ผมยังเป็นเยาวชนที่ไม่ควรถูกดำเนินคดี เนื่องจากการดำเนินคดีเยาวชนมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก มีกลไกลต่างจากพลเมืองทั่วไปที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ซึ่งประเทศไทยเองก็มีการเซ็นอนุสัญญาภาคีสิทธิเด็ก จึงไม่เข้าใจว่า รัฐไทยดำเนินคดีได้อย่างไร ทั้งที่ชุมนุมอย่างสงบ นั่นแสดงให้เห็นว่า รัฐไทยดำเนินคดีก็เพื่อกำจัดคนที่เห็นต่างเท่านั้น” ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลวกล่าว

จี้ ศธ. ดูแลเด็กถูกคุกคามในโรงเรียน

ด้านกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ตัวแทนจากคณะก้าวหน้า กล่าวว่า จากเรื่องร้องเรียนของเด็กๆ ในหลายโรงเรียน พบว่า หลายคนถูกคุกคามในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎระเบียบหลังนักเรียนแสดงความคิดเห็นหรือทำกิจกรรมต่างๆ โดยเริ่มจากการตัดคะแนน ตัดสิทธิต่างๆ ที่อยู่ในโรงเรียน เป็นต้น  และยังพบคนนอกมาคุกคามนักเรียนถึงที่โรงเรียนด้วย ทั้งที่เป็นสถานที่ปลอดภัย โดยมีคนนอกเข้ามาถ่ายภาพถึงที่โรงเรียน ยังไม่นับรวมเจ้าหน้าที่รัฐไปคุกคามถึงที่บ้าน

ส่วนข้อเรียกร้องไปยังเจ้าหน้าที่รัฐ กุลธิดากล่าวว่า อยากให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก อย่างเคร่งครัด เนื่องจากรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิเด็กในการแสดงออกอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เช่น การชูกระดาษขาว และโบว์ขาว ไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด การชุมนุมโดยสงบและเข้าร่วมการชุมนุมไม่ใช่การประพฤติผิดระเบียบของโรงเรียนหรือสถานศึกษา ตามกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2562 ซึ่งออกตามอำนาจ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

ตัวแทนคณะก้าวหน้ากล่าวด้วยว่า ไทยเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก กฎหมายภายในประเทศมีทั้งกฎกระทรวง ของกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา ที่อ้างอิงมาจาก พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กฎกระทรวงฉบับนี้ร่างขึ้นมา โดยระบุพฤติกรรมที่นักเรียนนักศึกษาจะต้องไม่ปฏิบัติ ส่วนใหญ่เป็นพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การเล่นการพนัน การพกพาอาวุธ หรือวัตถุระเบิด ลักทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ แต่จะมี (6) ที่เปิดโอกาสให้รัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้ตีความได้กว้างขวางซึ่งเมื่อกฎกระทรวงออกมาในลักษณะนี้ เวลาที่โรงเรียนเขียนกฎระเบียบ ก็จะมีข้อ 6 อยู่ในวิธีการร่างกฎระเบียบของโรงเรียน

“เคสที่ชัดเจนมากๆ ถ้าเราจำได้ นักเรียนที่ผูกโบว์ขาวไปโรงเรียน พบว่ามีการลงโทษนักเรียนในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกเข้าห้องปกครอง การตัดคะแนน การไม่ให้สอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผิดระเบียบว่าด้วยการลงโทษนักเรียนทั้งสิ้น เพราะไม่ได้อยู่ในระเบียบการลงโทษนักเรียนที่มีทั้งหมด 4 สถาน" ตัวแทนพรรคก้าวไกลกล่าว

กุลธิดากล่าวอีกว่า  กระทรวงศึกษาธิการออกจดหมายเวียนมา 1 ฉบับ ว่าเด็กนักเรียนสามารถแสดงความเห็นของตนเองได้ แต่ไม่มีมาตรการอะไรไปมากกว่านั้น และถ้าได้ฟังจากนักเรียนทุกคนที่นั่งอยู่บนโต๊ะนี้ เขาเจอการคุกคามหลากหลายรูปแบบในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นจากบุคลากรในโรงเรียน หรือการคุกคามจากบุคลากรนอกโรงเรียนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับเยาวชนเหล่านี้กับนักเรียนเหล่านี้ในตอนนี้ ถือว่ากระทรวงศึกษาธิการยังไม่ได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเพียงพอ มาตรการที่ใช้มีเพียงหนังสือเวียนชัดเจนแล้วว่าไม่เพียงพอที่จะปกป้องสิทธิของนักเรียนในสังกัดของตนเองได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานยังมีการตั้งกล่องรับบริจาคไอเดียให้แก่ยูนิเซฟ ในการดูแลปกป้องคุ้มครองเยาวชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิมนุษยชนด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net