Skip to main content
sharethis

ตำรวจ สน.บางเขน ออกหมายเรียกผู้ต้องหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์รายที่ 35 จากการชุมนุมที่กรมทหารราบที่ 11 ด้าน สน.ลุมพินี แจ้งข้อหาผู้ชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ 4 คน โดย ‘ขนุน’ สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ และ ‘จัสติน’ ชูเกียรติ แสงวงค์ ถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ด้วย

18 ธ.ค. 2563 เมื่อ 13.31 น. พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ โพสต์เฟซบุ๊กว่าได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาจาก สน.บางเขน ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และยุยงปลุกปั่น โดยให้ไปพบพนักงานสอบสวนวันที่ 21 ธ.ค. 2563 เวลา 10.00 น. คาดว่าเป็นคดีจากการชุมนุมที่บริเวณกรมทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2563

ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและไอลอว์ รายงานว่า 18 ธ.ค. 2563 พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี นัดให้ผู้ต้องหา 4 คน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากการร่วมชุมนุมวันที่ 18 พ.ย. 2563 บริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แก่ ‘ขนุน’ สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ, ‘จัสติน’ ชูเกียรติ แสงวงค์, ธานี สะสม และชินวัตร จันทร์กระจ่าง โดยสิรภพและชูเกียรติถูกแจ้งข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ด้วย

ทั้งสี่คนเดินทางมาถึง สน.ลุมพินี เวลาประมาณ 10.00 น. พร้อมกับทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และผู้มาให้กำลังใจราว 30 คน สิรภพประกาศว่าจะใส่ "เสื้อเหลือง" มาทำกิจกรรมเพื่อทวงคืนความหมายของเสื้อสีเหลืองที่ประชาชนทุกคนควรจะใส่ได้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มที่ต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น

ทั้งสี่คนทยอยเดินเข้าไปในสถานีตำรวจ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาทีละคนตามที่ตำรวจเรียก เนื่องจากตำรวจใช้มาตรการป้องกันการระบาดของโรคโควิด จึงแยกทุกคนสอบสวนคนละห้อง และดำเนินการไปทีละคน โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงก็เสร็จสิ้น ทั้งสี่คนให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการในวันนี้ว่า พวกเขาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาทุกคน และตำรวจไม่ใช้อำนาจควบคุมตัว พวกเขาจึงไม่ต้องวางหลักทรัพย์เพื่อประกันตัว และจะเดินทางไปทำกิจกรรมต่อที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติหลังจากเสร็จการรับทราบข้อกล่าวหา

สิรภพ ถูกตั้งข้อหาฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 จากการปราศรัยบริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ฐานจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และฐานจัดกิจกรรมโดยฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สิรภพเล่าว่า เขาไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกรับทราบข้อกล่าวหา แต่เขียนลงในเอกสารว่า “112 ก็แค่ตัวเลขที่ศักดินาทำให้ประชาชนกลัว”

ชูเกียรติ ถูกตั้งข้อหาฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 จากกิจกรรมเดียวกัน, และฐานจัดกิจกรรมโดยฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชูเกียรติเล่าว่า เขาไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกรับทราบข้อกล่าวหา

ชินวัตร ถูกตั้งข้อหาฐาน จัดกิจกรรมโดยฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชินวัตรเล่าว่า เขาไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกรับทราบข้อกล่าวหา แต่เขียนว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" 

ธานี ถูกตั้งข้อหาฐานจัดกิจกรรมโดยฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

(จากซ้ายไปขวา) ธานี, ชินวัตร, ชูเกียรติ, และสิรภพ ภาพจาก iLaw

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้รายละเอียดว่า พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ มนัสชน และ ร.ต.อ.สุทวัฒน์ ศรีพรวรรณ์ แจ้งข้อกล่าวหาโดยบรรยายพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของทั้ง 4 คนว่า วันที่ 18 พ.ย. 63 ผู้ถูกกล่าวหานัดหมายมวลชนให้มารวมตัวกันบริเวณสี่แยกราชประสงค์ มีประชาชนผู้ชุมนุมเข้าร่วมจนเต็มพื้นผิวจราจรบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ทำให้การจราจรติดขัด รถไม่สามารถสัญจรผ่านได้โดยสะดวก นอกจากนั้น การชุมนุมดังกล่าวยังไม่มีการแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งตามกฎหมายก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาแก่ทั้งสี่คนใน 2 ข้อหา คือ จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคอันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

นอกจากนั้นจากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี ซึ่งจัดทำบันทึกคำปราศรัยจากการชุมนุมดังกล่าว พบว่ามีข้อความปราศรัยบางส่วนของสิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ และชูเกียรติ แสงวงค์ ที่ใช้วาจาจาบจ้วงพระมหากษัตริย์โดยมิบังควร เพื่อให้ประชาชนผู้มาชุมนุม และประชาชนทั่วไป เกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชังพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขแห่งรัฐ อันเป็นการล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน จึงได้แจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่มเติมแก่ทั้งสอง โดยมีการถอดคำปราศรัยบรรยายไว้ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา

ทั้งสี่คน ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยชินวัตร จันทร์กระจ่าง และธานี สะสม จะให้การเป็นหนังสือภายใน 20 วัน ส่วนสิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ และชูเกียรติ แสงวงค์ ซึ่งถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 จะให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน พนักงานสอบสวนนัดหมายส่งตัวผู้ต้องหาทั้งสองชุดพร้อมสำนวนการสอบสวนในวันที่ 8 และ 13 ม.ค. 2564 ตามลำดับ ก่อนที่จะปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งสี่โดยไม่มีการควบคุมตัว 

คดีนี้ยังมีผู้ถูกออกหมายเรียกอีก 3 คนคือ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และพรพจน์ แจ้งกระจ่าง ซึ่งยังไม่ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้

หลังเสร็จสิ้นกระบวนการ ชินวัตรเล่าว่า กระบวนการของตำรวจที่ สน.ลุมพินี ไม่เห็นใจผู้ต้องหาเท่าที่ควร เนื่องจากตำรวจบอกให้เขามารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 8 ม.ค. 2564 แต่ตัวเขาไม่สะดวกจึงแจ้งว่าขอให้นัดหมายเป็นวันอื่น แต่ตำรวจกลับไม่ยอมและต้องให้นัดในวันดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ทนายความมีภาระเพิ่มที่จะต้องทำหนังสือขอเลื่อนการรายงานตัวมายื่นในวันหลังให้มีความยุ่งยากมากขึ้น โดยสรุปแล้วชินวัตรกับธานี ต้องมารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 8 มกราคม 2564 ส่วนสิรภพ กับชูเกียรติต้องมารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 13 มกราคม 2564

ด้าน ธานี กล่าวว่า เขาถูกตั้งข้อหามาเป็นสิบเรื่องแล้ว แต่กลับเห็นว่า การชุมนุมของฝ่ายตรงข้ามที่สนับสนุนรัฐบาล แม้จะมีลักษณะไม่แตกต่างกันมากนักแต่กลับไม่ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีใดเลย จึงแสดงให้เห็นถึงมาตราฐานของกระบวนการยุติธรรมในปัจจุบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net